*/
<< | มิถุนายน 2016 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | 3 | 4 | |||
5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 |
12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 |
19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 |
26 | 27 | 28 | 29 | 30 |
ราชบุรี...เมืองพระราชาน่าเที่ยว (3) ตอน หนังใหญ่ วัดขนอน ฉันเชื่อว่า คนใต้ส่วนใหญ่ย่อมต้องรู้จักหนังตะลุง และหลายคนเคยดูการเล่นหนังตะลุง.. ฉันเป็นคนใต้.. ฉันชอบดูหนังตะลุง แม้ว่าทุกวันนี้การเล่นหนังตะลุงหาดูยากแล้ว ก็ได้แต่หาซื้อแผ่นซีดีบันทึกเทปการเล่นหนังตะลุงของนายหนังดัง ๆ มาเปิดดู เสียงพากย์หนังตะลุงของนายหนังคนเดียวที่เล่นรูปหนังอยู่หลังจอผ้าขาวที่มีดวงไฟฟ้าหลอดกลม ๆ สีเหลืองส่อง ทำให้เกิดเงาหนังปรากฏบนจอให้ผู้ชมซึ่งนั่งดูอยู่ด้านหน้าจอ..เพลิดเพลินไปกับเรื่องราวตามท้องเรื่องพร้อมทั้งหัวเราะขำกลิ้งตัวหงิกตัวงอกับมุขตลกของตัวหนังได้ แทบไม่น่าเชื่อ.. นอกจากนี้ ฉันยังซื้อตัวหนังตะลุงหลายตัวมาประดับไว้ในห้องที่ทำงานและที่บ้านด้วย ทว่า..เมื่อพูดถึง “หนังใหญ่” ..ฉันยอมรับว่า ไม่รู้จักหนังใหญ่ และไม่เคยดูหนังใหญ่ ฉันจินตนาการเองว่า ที่เรียกว่า “หนังใหญ่” คงจะเป็นเพราะหนังตัวใหญ่ ตัวไม่เล็กเหมือนหนังตะลุงปักษ์ใต้..และยิ่งไปกว่านั้น..ฉันเพิ่งมารู้ว่า..หนังใหญ่มีอยู่ที่จังหวัดราชบุรี เมืองพระราชาของฉันใกล้ ๆ กรุงเทพฯ นี่เอง แต่... อยู่ที่วัด ชื่อ วัดขนอน..ฉันแปลกใจมาก ..ทำไม..หนังใหญ่ถึงได้อยู่ที่วัด ..ทำไมไม่อยู่ในโรงละครหรือโรงหนัง แน่นอน..ฉันต้องตามไปดูหนังใหญ่ให้เห็นกับตา ฉันหาตัวช่วยในการคลำทางโดยไม่หวังพึ่งกูเกิลหรือจีพีเอส วิธีหาข้อมูลเบื้องต้นง่าย ๆ ของฉัน คือถามเพื่อนถ้ามี ก็ฉันมีเพื่อนบล็อกเกอร์ “คนสยาม” เป็นชาวราชบุรีอยู่ทั้งคน..ต้องรู้ดีแน่ ๆ เมื่อฉันโทรไปถาม คนสยามบอกว่า “เออ ต้องไปที่วัดขนอนนั่นแหละ ที่นั่นมีหนังใหญ่ แต่เค้าเล่นวันเสาร์ อาทิตย์ ต้องมาตอนวันสงกรานต์ งานใหญ่ทุกปี” “วัดขนอนอยู่ไหนคะ พี่ต๋อย ไปยังไง” ฉันถาม “ไปทางโพธาราม เลี้ยวขวาที่แยกบางแพ ทางที่ไปดูค้างคาวนั่นแหละ” คนสยามแนะนำ ต้นเดือนพฤษภาคม..วันหยุดแรกนาขวัญซึ่งไม่ตรงกับวันเสาร์อาทิตย์ ฉันจึงชวนสามีไปตามหาหนังใหญ่ที่วัดขนอน ฉันขับรถจากบ้านศาลายา ผ่านนครปฐมแวะกินข้าวหมูแดง แล้วขับต่อไปถึงแยกบางแพแล้วเลี้ยวขวาไปยังอำเภอโพธาราม..เมื่อเลี้ยวเข้ามาในอำเภอโพธาราม ขับรถตรงไป จะข้ามทางรถไฟ ผ่านวงเวียนสองวงเวียน ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง แล้วเลี้ยวขวา มีป้ายบอกทางไปวัดขนอนชัดเจนพอสมควร เมื่อถึงวัดขนอนยามบ่าย...ฉันจอดรถใต้ร่มไม้ใหญ่ร่มรื่นบริเวณในเขตรั้ววัดด้านหน้า แล้วเดินเข้าไปที่ศาลาการเปรียญไม้หลังใหญ่ ฉันเจอพระสงฆ์รูปหนึ่งกำลังสาละวนง่วนอยู่กับงานช่างไม้ใต้ถุนศาลาเรือนไม้หลังนั้น เหมือนอยู่ในระหว่างการจะสร้างอะไรสักอย่าง ฉันจึงเดินเข้าไปถามหลวงพ่อว่า
“หลวงพ่อคะ จะไปดูหนังใหญ่ อยู่ที่ไหนหรือคะ” ฉันถาม “โยม เดินไปที่ศาลาวัดด้านหลัง เป็นพิพิธภัณฑ์” พระสงฆ์รูปนั้นบอก ฉันกล่าวขอบพระคุณท่านแล้วเดินไปด้านหลังของกุฏิเรือนไม้หลังใหญ่โดยไม่เฉลียวใจ เมื่อฉันเดินมาถึง เรือนไม้ทรงไทยหลังใหญ่ ด้านหน้ามีป้ายเขียนไว้ว่า “พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน” ....แค่เห็นเรือนไม้ทรงไทย มีต้นไม้จันทน์ต้นใหญ่อายุนับร้อยปีงอกโผล่ขึ้นมาที่นอกชาน (เหมือนเรือนทับขวัญที่พระราชวังสนามจันทน์ ด้านหน้ามหาวิทยาลัยศิลปากรของฉันที่ จ. นครปฐม) ฉันก็หลงรักเสียแล้ว ยังไม่ทันได้เห็นหนังใหญ่เลย...และเมื่อก้าวขึ้นบันไดขึ้นไปบนศาลาวัดเรือนไม้หลังนี้ ..ฉันก็ได้เห็นหนังใหญ่ หลายตัว ..ว้าว..เป็นงานศิลปะการแกะสลักหนังที่ยิ่งใหญ่อลังการจริง ๆ ฉันจะนำเพื่อน ๆ ไปชมหนังใหญ่ที่วัดขนอน พร้อมกับเล่าประวัติของหนังใหญ่ให้เพื่อน ๆ ทราบนะคะ..ขอขอบคุณข้อมูลจากเอกสารที่พระครูพิทักษ์ศิลปาคมจัดพิมพ์นะคะ... ก่อนอื่น ๆ เราต้องรู้ว่าการเล่นหนังใหญ่ คือ การเล่นเงากับแสงนั่นเองก่อนที่มนุษย์จะมีวิวัฒนาการมาเป็นการแสดงหนังที่เรียกว่าภาพยนตร์ในปัจจุบัน เล่นเงา การเล่นเงา น่าจะเป็นหนึ่งในความบันเทิงแรก ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เนื่องจากแสงและเงาที่เกิดจากการก่อกองไฟในถ้ำของมนุษย์โบราณ หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่แสดงถึงการเล่นหุ่นละครเงานั้นพบในบันทึกของเพลโต เมื่อราว พ.ศ. ๔๑๙ กล่าวว่ามีการจัดแสดงเงาขึ้น หุ่นละครเงาน่าจะพัฒนามาจากหุ่นละครชัก จีน มีการเล่นหุ่นเงา เรียกว่า พิยิงชิ (pi ying xi) พบบันทึกกล่าวเกี่ยวกับการเล่นหุ่นละครเงาในสมัยจักรพรรดิหวู่ ราชวงศ์ฮั่น หุ่นทำจากหนังแกะ หนังลา หรือสัตว์อื่น ๆ ตัวละครหุ่น ประกอบด้วยชิ้นส่วนทังหมด ๑๑ ชิ้น อินเดีย หุ่นละครเงาในอินเดียทำจากหนังสัตว์มีทั้งแบบทึกบแสงและโปร่งแสง แบบที่ลงสีสันสดใสและแบบใช้เพียงสีดำและขาว แบ่งเป็น ๓ ประเภท ทั้งหมดจัดแสดงหลังฉาก คือ โตลูบอมมาลาตะ (Tolubommalata) หุ่นมีข้อต่อที่สามารถขยับได้ ราวานาชชายา (Ravanachhaya) ตัวหนังสือมีลักษณะเป็นแผ่นเดียวไม่สามารถชักเคลื่อนไหวได้ ไม่ตกแต่งรายละเอียดภายในตัวหนัง ใช้สีโทนเดียว โตลปะวะคุทุ (Tolpavakuthu) ตัวหนังมีทั้งแบบสามารถชักให้เคลื่อนไหวได้และแบบเป็นแผ่นใหญ่ อินโดนีเซีย มีการเล่นหุ่นเงา เรียกว่า “วายัง ปูร์วา” (Wayang Purwa) หรือ วายัง กุลิต (Wayang Kulit) ตัวหนังมี ๒ ลักษณะ คือ ตัวหนังที่สามารถชักเพื่อเคลื่อนไหวได้ และตัวหนังแสดงภาพปราสาทหรือภูเขามีลักษณะเป็นแผ่นรูปคล้ายใบโพธิ์ เรียกว่า กูนันกัน (Gunungan) การแสดง วายัง กุลิต พบในชวา บาหลี และมาเลเซีย ลาว แสดงหุ่นละครเงา เรียกว่า หนังประโมทัย หรือ หนังบักตื้อ หรือ หนังบักป่องบักแก้ว คล้ายกับการเล่นหนังตะลุงของภาคใต้ ตัวหนังชักให้เคลื่อนไหวได้ตามบริเวณปากและส่วนข้อพับต่าง ๆ กัมพูชา แสดงหุ่นละครเงา เรียกว่า “สะแบกธม” “สะแบก” (Sbek) เป็นภาษาเขมรแปลว่า “หนัง” ส่วน “ธม” แปลว่า “ใหญ่” สะแบกธม ปรากฏหลักฐานในราชสำนักกัมพูชา ราวหลัง พ.ศ. ๑๕๐๐ ตัวหนังย้อมสีฉลุลายและเขียนสีขึงกับไม้ไผ่ การแสดง แสดงโดยผู้เชิดหนังอยู่หน้าฉาก ไทย มีการเล่นหุ่นละครเงา ๒ ชนิด คือ หนังตะลุง เป็นตัวหนังขนาดเล็ก สามารถชักเพื่อเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ และหนังใหญ่ หนังใหญ่เป็นศิลปะการแสดงที่ใช้ตัวหนังขนาดใหญ่ เป็นตัวละคร ผู้เชิดแสดงด้านหน้าจอ ใช้การพากย์ การเจรจาเป็นการดำเนินเรื่อง หลักฐานกล่าวถึงหนังใหญ่ ปรากฏใน “สมุทรโฆษคำฉันท์” วรรณกรรมสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ มีบทประพันธ์ที่เชื่อว่า แต่งขึ้นสำหรับการเล่นหนังเงา โดยปรากฏคำเรียก “แสบก” อยู่ด้วย
หนังใหญ่ คือ อะไร หนังใหญ่ เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมไทย ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นการแสดงชั้นสูง เป็นการแสดงที่รวมศิลปะที่ทรงคุณค่าหลายแขนง ได้แก่ ด้านศิลปะการออกแบบลวดลายไทยเชิงจิตรกรรมที่มีความวิจิตรบรรจง ผสมกับฝีมือช่างแกะสลักที่ประณีต เมื่อแสดงก็จะมีการนำศิลปะทางนาฏศิลป์การละคร ที่เคลื่อนไหวอย่างได้อารมณ์ตามเนื้อเรื่อง ประกอบกับบทพากย์ บทเจรจา บทขับร้อง ดนตรีปี่พาทย์ ทำให้เกิดความเข้าใจเป็นเรื่องราว และให้อรรถรสทางศิลปะแก่ผู้ชมได้อย่างสมบูรณ์ การแสดงหนังใหญ่จึงมีคุณค่าทางศิลปะสูง และแสดงถึง อัจฉริยะภาพของบรรพบุรุษไทยได้เป็นอย่างดี การแสดงหนังใหญ่ในประเทศไทย การเข้ามาของการแสดงหนังใหญ่ในประเทศไทยไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน มีการสันนิษฐาน ๓ แนวทาง คือ น่าจะได้รับอิทธิพลจากชวา หรือเขมร หรืออินเดีย แล้วปรับรูปแบบและวิธีการแสดงให้เข้ากับความนิยม ในระยะแรก...การแสดงหนังใหญ่ ที่เก่าแก่ของไทยนี้ กล่าวกันว่า มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่หลักฐานการแสดงหนังใหญ่เริ่มมี สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) นับเป็นมหรสพที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของไทย เป็นมหรสพชั้นสูง แสดงในพระราชสำนัก ใช้ศิลปะอันทรงคุณค่าหลายแขนง เช่น หัตถศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ วาทศิลป์ และวรรณศิลป์ การแสดงหนังใหญ่สูญหายไปพร้อมกับการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ได้ฟื้นฟูขึ้นในฐานะหนังราษฎร์ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ในสมัยรัตนโกสินทร์ ..ปรากฏหลักฐานในการแสดงหนังใหญ่ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกว่า ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา เพื่อใช้แสดงเพิ่มขึ้นจากเรื่องรามเกียรติ์...ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ มีหลักฐานการสร้างตัวหนังใหญ่ เรียกว่า หนังกลางคืน และบทวรรณคดีในเรื่องรามเกียรติ์ ที่ใช้แสดงหนังใหญ่ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอันมากคือ หนังใหญ่ชุดพระนครไหว ต่อมาได้มีการนำมาเก็บไว้ ณ โรงละครแห่งชาติหลังเก่า แต่ถูกไฟไหม้เกือบหมด... ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล่าเจ้าหัวอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พบการทำหนังใหญ่ ๒ แห่ง คือ หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี และหนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีการจัดแสดงหนังใหญ่หน้าพระที่นั่ง ณ พระราชวังบ้านปืน โดยพระครูศรัทธาสุนทร (กล่อม จนทโชโต) เจ้าอาวาสวัดขนอน จังหวัดราชบุรี ในสมัยนั้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เกิดโครงการสืบสานหนังใหญ่ ๓ โครงการ คือ โครงการจัดทำหนังใหญ่วัดขนอนชุดใหม่ ตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โครงการอนุรักษ์หนังใหญ่รัชกาลที่ ๒ ชุดพระนครไหว และสร้างหนังใหญ่สำหรับแสดงนาฏศิลป์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ปัจจุบัน...การแสดงหนังใหญ่ ส่วนใหญ่พบในเขตภาคกลาง เช่น วัดขนอน จ.ราชบุรี วัดพลับ จ. เพชรบุรี วัดสว่างอารมณ์ จ. สิงห์บุรี วัดภุมรินทร์ จ. สมุทรสงคราม และวัดบ้านดอน จ. ระยอง (แต่ปัจจุบัน หนังใหญ่ในประเทศไทยที่ยังแสดงอยู่ มี ๓ แห่ง คือ ราชบุรี สิงห์บุรี และระยอง เท่านั้น) ประวัติหนังใหญ่วัดขนอน หนังใหญ่วัดขนอน ได้มีการสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ผู้ที่ริเริ่มในการแกะสลักตัวหนังคือ ท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) เกิดปีวอก พ.ศ. ๒๓๙๑ มรณภาพเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ รวมอายุได้ ๙๕ ปี ท่านมีความคิดที่จะสร้างหนังใหญ่ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม จึงได้ชักชวนครูอั๋ง ช่างจาด ช่างจ๊ะ และช่างพ่วง มาร่วมกันสร้าง ชุดแรกที่สร้าง คือ ชุดหนุมานถวายแหวน ต่อมาได้สร้างเพิ่มอีก รวม ๙ ชุด ปัจจุบันมีตัวหนัง ๓๑๓ ตัว นับเป็นสมบัติของวัดที่ได้ร่วมรักษาสืบทอดกันมา เป็นเพียงวัดเดียวที่มีมหรสพเป็นของวัด มีตัวหนัง และคณะหนังใหญ่ที่สมบูรณ์อยู่ในความอุปถัมภ์ของวัดสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ หลวงปู่กล่อม ผู้ริเริ่มแกะสลักตัวหนังใหญ่วัดขนอน ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ผู้สานต่อลมหายใจหนังใหญ่วัดขนอน เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒ การแสดงหนังใหญ่ได้หยุดไปเพราะสภาวะบ้านเมือง ไม่มีใครดูแลรักษาตัวหนัง ตัวหนังถูกทิ้งอยู่กับดินใต้ถุนกุฏิ จนกระทั่งเมื่อสงครามเลิกแล้วมีชาวต่างประเทศมาพบและขอบันทึกภาพ พระครูสุวรรณรัตนากร อดีตเจ้าอาวาสวัดขนอน รูปที่ ๓ จึงได้เก็บบนกุฏิอีกครั้งหนึ่ง ต่อมานายจาง กลั่นแก้ว ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของครูบก ได้ฝึกซ้อมเด็กรุ่นใหม่เชิดหนังใหญ่ โดยมีนายประสบ วงศ์จีน และนายวุ้น ขังเกศ เป็นผู้พากย์ ท่านทั้งสองได้เรียนพากย์หนังจากนายลออ ทองมีสิทธิ์ บางครั้งก็มีนายบุญมี เทียมจินดา มาช่วยเป็นคนออกหนัง ส่วนผู้เชิดส่วนใหญ่เป็นเด็กกำพร้าที่ทางวัดอุปการะเลี้ยงดูไว้ หนังใหญ่อยู่ภายใต้การดูแลของวัดขนอน เมื่อมีคนมาว่าจ้างหางาน ทางวัดก็รับไปแสดง รายได้จากการเล่นนำมาใช้ทะนุบำรุงวัดและคณะหนังในระยะเวลานี้ ส่วนใหญ่จะไปแสดงทางจังหวัดทางปักษ์ใต้ ฉันทราบในภายหลังว่า พระภิกษุรูปที่ฉันเดินเข้าไปถามที่ใต้ถุนกุฎิวันนั้น... ก็คือ พระครูพิทักษ์ศิลปาคม นั่นเอง ..ฉันดีใจจริง ๆ ที่ได้เจอท่านหลังจากที่เห็นในบรูชัวร์แผ่นพับ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ พระนุชิต วชิรวุทโฒ (พระครูพิทักษ์ศิลปาคม) ซึ่งบวชที่ วัดขนอนได้ร่วมกับอดีตเจ้าอาวาส และชาวบ้าน ช่วยกันรื้อฟื้นศิลปะหนังใหญ่วัดขนอนให้กลับมามีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ในอดีตเมื่อตอนเป็นเด็ก ท่านพระครูได้เรียนการแสดงหนังใหญ่กับครูจาง กลั่นแก้ว พระครูได้ติดต่อกลุ่มที่ทำงานด้านอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเพื่อช่วยกันหาทุนมาทำงานอนุรักษ์ ในปี ๒๕๓๒ ท่านและพระครูสังฆบริบาล อาจิตตธัมโม เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพฯ ในวันพระราชสมภพ พระองค์ทรงรับหนังใหญ่วัดขนอนเข้าเป็นโครงการในพระราชดำริ ได้เชิญนายวาที ทรัพย์สิน บุตรนายหนังสุชาติ ซึ่งเป็นนายหนังตลุงที่มีชื่อเสียงในจังหวัดนครศรีธรรมราช มาเป็นผู้สอนกรรมวิธีการแกะตัวหนังใหญ่ โดยสอนให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรที่รับสนองโครงการ ในเรื่องการเชิดหนังและการบรรเลงดนตรี ได้รวบรวมกลุ่มชาวบ้านรุ่นเก่าที่มีความรู้มาช่วยสอน โดยเปิดสอนให้กับเด็ก ๆ ในชุมชน ตามดำริของสมเด็จพระเทพฯ เครื่องประกอบในการแสดงหนังใหญ่ การแสดงหนังใหญ่ประกอบด้วยสิ่งต่าง ๆ ดังนี้ สถานที่ (โรงหนัง จอหนัง และแสง) ตัวหนัง เครื่องดนตรีประกอบ คนพากย์และเจรจา คนเชิดหนังและวิธีการเชิด เรื่องที่ใช้แสดง และวิธีการแสดง ลูกหลาน เด็กๆ ที่เล่นวงมโหรีเหล่านี้ เป็นนักเรียนโรงเรียนวัดขนอน ซึ่งได้มีการสอนศิลปะการแสดงเชิดหนัง ดนตรีไทย และการแกะสลักหนัง เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง องค์ประกอบการแสดงหนังใหญ่ หัตถศิลป์ คือ ศิลปะด้านการออกแบบลวดลายไทยที่มีความวิจิตรบรรจงผสมผสานฝีมือแกะสลักแผ่นหนังและการย้อมสี นาฏศิลป์ คือ การนำศิลปะทางนาฏศิลป์แสดงออกท่าทาง แสดงบุคลิกและอารมณ์ของตัวละคร คีตศิลป์ คือ วงปี่พาทย์บรรเลงเพลง จังหวะ ท่วงทำนอง สอดประสานเรื่องราวอารมณ์ของตัวแสดงสู่ผู้ชม วาทศิลป์ คือ การที่ผู้พากย์ สามารถพากย์ให้ตัวละครเสมือนมีชีวิตในการให้น้ำเสียง อันแสดงอารมณ์และคำพูดสอดแทรกในเหตุการณ์ต่าง ๆ วรรณศิลป์ คือ บทพากย์และบทประพันธ์อันไพเราะ ลักษณะคำประพันธ์จะเป็นกาพย์ฉบัง กาพย์ยานี อาจมีคำประพันธ์อื่นแต่งเพิ่มเติมประกอบการแสดง หนังใหญ่..จะแสดงการเชิดหนังหน้าจอ ต่างจากหนังตะลุง ซึ่งจะเชิดตัวหนังหลังจอ เรื่องสำหรับการแสดง ก่อนการแสดงจะต้องมีพิธีไหว้ครู วงดนตรีปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงโหมโรงขณะทำพิธีเรียกพิธีเบิกหน้าพระ ต่อจากนั้นจะเป็นการแสดงชุดเบิกโรง นิยมเล่นตอนจับลิงหัวค่ำ มีตัวหนังที่แสดง คือ ลิงขาวและลิงดำ ลิงดำชอบก่อความวุ่นวาย และสร้างความเดือดร้อนก่อการทะเลาะวิวาท ลิงขาวจะเป็นผู้ตักเตือน แต่ลิงดำไม่รับฟังคำสั่งสอน ลิงขาวจึงจับลิงดำมัดและพาไปเฝ้าพระฤาษี พระฤาษีจึงตักเตือนสั่งสอนให้แก้ไขปรับปรุงตัวใหม่ และให้ลิงขาวแก้มัด ทั้งสองจึงอยู่เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน หนังใหญ่ จะมีคนพากย์ อยู่ข้าง ๆ จอ (คนพากย์คนนี้ ก็เป็นคนที่ฉันเห็นในบรูชัวร์ ..ว้าว..ได้เห็นตัวเป็น ๆ แล้ว) การแสดงเบิกโรงนี้ เป็นการเรียกคนดูเพราะเสียงปี่พาทย์จะเร้าใจ เพลงเชิดทำให้เกิดความคึกคัก บทเจรจาที่ตลกทำให้เกิดความครึกครื้น ในขณะเดียวกับก็แฝงไปด้วยคำสอน ข้อคิด คติธรรม ความดีย่อมชนะความชั่ว หลังจากจบชุดเบิกโรง จะเป็นการแสดงชุดใหญ่ นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งจัดแสดงเป็นตอน ๆ ลักษณะตัวหนังใหญ่ ตัวหนังใหญ่ ส่วนมากทำจากหนังโค นำมาฉลุหรือสลักเป็นภาพตามตัวละครในเนื้อเรื่อง บางตัวสูง ๒ เมตร กว้างเมตรเศษ แบ่งตามลักษณ์ท่าทาง บทบาท การกระทำ ธรรมชาติ ฯลฯ ได้ดังนี้ ๑. หนังเจ้า หรือหนังครู เป็นตัวหนังที่ใช้ในการไหว้ครู มี ๓ ตัว คือ พระฤาษี พระอิศวร หรือพระนารายณ์ เรียกว่า พระแผลง เพราะเป็นภาพในท่าแผลงศร ๒. หนังเฝ้า หรือหนังไหว้ เป็นภาพหนังเดี่ยว หน้าเสี้ยว พนมมือ ใช้แสดงตอนเข้าเฝ้า ๓. หนังคเนจร หรือหนังเดิน เป็นภาพหนังเดี่ยว หน้าเสี้ยว อยู่ในท่าเดิน ๔. หนังง่า เป็นภาพหนังเดี่ยว หน้าเสี้ยว อยู่ในท่าต่อสู้เหาะแผลงศร ๕. หนังเมือง เป็นหนังภาพเดี่ยวหรือหลายภาพอยู่ในหนังผืนเดียวกัน โดยมีปราสาท ราชวัง วิมาน พลับพลา ศาลา ตามเนื้อเรื่อง อยู่ในหนังผืนนั้น เรียกหนังพลับพลา หนังปราสาทพูด หนังปราสาทโลม ๖. หนังจับ หรือหนังรบ เป็นหนังที่มีภาพตัวละครตั้งแต่ ๒ ตัวขึ้นไป ในหนังผืนเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นภาพตัวละครในการต่อสู้ ๗. หนังเบ็ดเตล็ด เป็นหนังลักษณะอื่น ที่ไม่จัดอยู่ในประเภทที่กล่าวมา แยกได้ ดังนี้ - หนังเดียว เป็นภาพหนัง ๒ ตัว ตัวหนึ่งพ่ายแพ้การต่อสู้และถูกจับมัด - หนังเขน เป็นหนังที่เป็นไพร่พลของกองทัพ - หนังเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ที่มีรูปร่างแปลกออกไป ฉันเดินขึ้นมาที่พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ วันนี้ ...โชคดีมาก ได้เจออาจารย์แกะสลักหนังใหญ่ อาจารย์จฬรรณ์ ถาวรนุกูลพงศ์ อาจารย์บอกว่า การแกะสลักหนังใหญ่ ๑ ตัว ต้องใช้หนังวัวทั้งตัว กว้างประมาณ ๑ เมตร ยาว ๒ เมตร เป็นหนังที่ฟอกแล้วจากโรงงาน กรรมวิธีการสร้างตัวหนัง ลวดลายอันอ่อนช้อย และสีสัน ที่ปรากฏอยู่บนตัวหนังใหญ่ แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ไทยอันทรงคุณค่าอีกอย่างหนึ่ง ที่บรรพบุรุษไทยสร้างไว้ การสร้างตัวหนังแต่ละตัว ย่อมต้องมีความพากเพียร พยายาม เทคนิค วิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งงานศิลปะเหล่านี้ การสร้างตัวหนัง มีดังนี้ ๑. การสร้างตัวหนังเจ้า มี ๓ ตัว คือ พระฤาษี จะใช้หนังเสือหรือหนังหมีของวัดขนอนใช้หนังเสือ รูปพระแผลงจะใช้หนังโคที่ตายทั้งตั้งท้องหรือถูกเสือกัดตาย หรือถูกฟ้าผ่าตาย โดยผู้สร้างจะต้องนุ่งขาว ห่มขาว ถือศีลแปด เขียนและลงสีให้เสร็จในวันเดียว มีการถวายเครื่องสังเวยบูชาครู ๒. การสร้างตัวหนังอื่น ๆ โดยทั่วไปจะใช้หนังโค เมื่อฟอกแล้วจะอ่อนม้วนไปมาได้สะดวก ง่ายต่อการฉลุลวดลายต่าง ๆ และเมื่อแห้งแล้วจะไม่ย่น มีวิธีการฟอกแตกต่างกันไปบ้าง ขั้นตอนต่อไป คือ การเขียนลาย (ในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ประกอบ) แล้วนำไปแกะสลักลาย การลงสี การเคลือบ เพื่อในคงทน สุดท้าย คือ นำไปผูกกับไม้ตับหนัง หรือไม้คีบหนัง ฉันดีใจมาก ที่ได้มีโอกาสเจอกับอาจารย์ผู้เป็นช่างแกะสลักตัวหนังใหญ่...คือ อาจารย์จฬรรณ์ ถาวรนุกูลพงศ์ ซึ่งเป็นผู้จัดการหนังใหญ่วัดขนอนด้วย วันนั้นอาจารย์มาสาธิตการแกะหนังให้ดูด้วย ..นับว่าเป็นบุญที่ได้เจออาจารย์ (เคยเห็นแต่ในบรูชัวร์) การอนุรักษ์ วัดขนอน มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการอนุรักษ์หนังใหญ่ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทางวัดได้ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ในการนำหนังใหญ่วัดขนอนนี้ ไปแสดงเผยแพร่ยังที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาแล้วหลายครั้ง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปถัมภกมรดกไทย ทรงเห็นคุณค่าในการแสดงและศิลปะในตัวหนังใหญ่ ทรงมีพระราชดำริให้ทางวัดช่วยอนุรักษ์หนังใหญ่ทั้ง ๓๑๓ ตัว และจัดทำหนังใหญ่ชุดใหม่ขึ้นแสดงแทน โดยมีมหาวิทยาลัยศิลปากรรับผิดชอบงานช่างจัดทำหนังใหญ่ทั้งหมด ได้นำหนังใหญ่ชุดใหม่ที่สร้างนี้ทูลเกล้าถวาย เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๓๘ ณ โรงละครแห่งชาติ และทรงพระราชทานให้ทางวัดขนอนนำมาใช้ในการแสดงต่อไป ที่วัดขนอน จะมีโรงเรียนวัดขนอนซึ่งตั้งอยู่ภายในวัด..อาจารย์จฬรรณ์ฯ บอกกับฉันว่า...ที่โรงเรียนจะมีการสอนสัปดาห์ละครั้งให้เด็กนักเรียนเรียนรู้วิธีการแกะสลักหนัง การเต้นเชิดหนัง และการเล่นดนตรีไทยประกอบการเชิดหนัง เพื่อเป็นการถ่ายทอดศิลปะการแสดงหนังใหญ่ให้อนุชนรุ่นหลังได้อนุรักษ์สืบไป ภายในวัดขนอน มีโรงมหรสพหนังใหญ่ ติดแอร์เย็นจุผู้เข้าชมได้เป็นร้อย ก่อนการแสดงจะเริ่ม...เราได้ยินเสียงสวดมนต์ไหว้ครู ดังสนั่นมาจากข้างหลังจอผ้านั่น ปัจจุบันนี้ ทางวัดได้จัดพิพิธภัณฑ์สถานแสดงนิทรรศการหนังใหญ่ เปิดให้ประชาชนและผู้สนใจเข้าร่วมชมศึกษา พร้อมทั้งการสาธิตการแสดงหนังใหญ่ ตลอดจนการฝึกเยาวชน (นักเรียนที่โรงเรียนวัดขนอน) ให้เรียนรู้และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่านี้ครบทุกกระบวนการ เพื่อสนองโครงการตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สืบต่อไป กว่าคณะหนังใหญ่วัดขนอนจะเป็นที่รู้จักในปัจจุบัน ทางคณะล้วนเผชิญกับปัญหานานัปการ ทั้งความนิยมในการเล่นหนังใหญ่ที่นับวันจะซบเซาลงไปเรื่อย ๆ เนื่องจากการเข้ามาแทนที่ของสื่อบันเทิงสมัยใหม่ และด้วยตัวหนังที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม การช่วยกันอนุรักษ์ศิลปะการแสดงแขนงนี้ของทั้งวัด ชาวบ้าน หน่วยงานราชการในจังหวัด และพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงให้จัดทำหนังใหญ่ชุดใหม่ทดแทนชุดเก่าที่ชำรุด ทำให้คณะหนังใหญ่วัดขนอนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง วัดขนอนได้กลายเป็นแหล่งอนุรักษ์และเรียนรู้ฝึกฝนศิลปะการทำหนัง การเชิดหนัง การบรรเลงปี่พาทย์ประกอบการแสดงหนัง รวมถึงมีพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ที่เก็บรักษาตัวหน้าเก่าแก่ล้ำค่าเอาไว้ หนังใหญ่วัดขนอน ได้รับรางวัลจากยูเนสโก คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทางวัฒนธรรมของยูเนสโกประกาศให้ “การสืบทอดและฟื้นฟูหนังใหญ่วัดขนอน” ได้รับรางวัลจากองค์กรการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) และได้รับยกย่องให้เป็น ๑ ใน ๖ ชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานในการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรม (The safeguarding of Intangible Cultural Heritage: ICH) มองไปเห็นต้นจันทน์ และสนามหญ้าด้านหน้าศาลาพิพิธภัณฑ์นั้น..ในวันที่ 13 เมษายน ทุกปี จะมีการแสดงหนังใหญ่กลางแปลง โดยใช้เปลวไฟกะลาเผาให้แสงสว่างเหมือนการแสดงในสมัยโบราณ น่าชมมาก ต้องหาโอกาสมาชมให้ได้สักครั้ง มิเพียงตัวหนังใหญ่เท่านั้น ที่ทรงคุณค่าด้วยความเก่าแก่มีอายุมานาน ถึง ๑๕๐ ปี แต่เรือนไม้ศาลาการเปรียญวัดขนอนแห่งนี้ ก็สวยงามทนทานและมีอายุมาเป็นร้อย ๆ ปีเช่นกัน เรือนไม้ที่งดงาม ด้านล่างใต้ถุนศาลายังมีวัตถุโบราณต่าง ๆ ให้ดูมากมาย หอระฆังโบราณอายุหลายร้อยปี ยังสวยงาม พิพิธภัณฑ์เฉลิมราช นอกจากศาลาเรือนไม้ที่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่แล้ว ยังมีอีกศาลาการเปรียญเรือนไม้หลังใหญ่ด้านหน้า เรียกว่า พิพิธภัณฑ์เฉลิมราช ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจัดเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงงานในพื้นที่จังหวัดราชบุรี จัดแสดงโบราณวัตถุ มรดกภูมิปัญญาโดยเผยแพร่ให้แก่คนในชุมชนและผู้สนใจทั่วไปได้เข้าชม รวมทั้งยังเป็นสถานที่ในการศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย ที่ศาลาไม้พิพิธภันฑ์หนังใหญ่วัดขนอน ฉันชอบมากที่เดินขึ้นบันไดแล้วเจอต้นจันทน์ใหญ่อายุหลายร้อยปีแทรกตัวอยู่ที่นอกชานของเรือนไม้ศาลาวัดแห่งนี้ การเดินทางไปยังวัดขนอน รถยนต์ส่วนตัว ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๔ (ถนนเพชรเกษม) ผ่านจังหวัดนครปฐม เข้าสู่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จากนั้นเลี้ยวขวาบริเวณสี่แยกอำเภอบางแพ ไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๐๙๐ เข้าสู่อำเภอโพธาราม ขับตรงไปเรื่อย ๆ ข้ามสะพานแม่น้ำแม่กลอง เจอวงเวียน และปั้มปตท. แล้วเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๓๐๘๙ ประมาณ ๓ กิโลเมตร วัดขนอนตั้งอยู่ทางขวามือ รถโดยสารประจำทาง มีรถโดยสารปรับอากาศของบริษัทโพธารามทัวร์จำกัด ออกเดินทางจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๖.๓๐ -๑๙.๓๐ น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ๐-๒ ๔๓๕-๕๐๓๖ พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน เปิดบริการให้เข้าชม ทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ -๑๗.๓๐ น. เปิดการแสดง ณ โรงแสดงหนังใหญ่วัดขนอน วันเสาร์ เวลา ๑๐.๐๐ -๑๑.๐๐ น. วันอาทิตย์ เวลา ๑๑.๐๐ -๑๒.๐๐ น. งานเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน วันที่ ๑๓-๑๔ เมษายน ของทุกปี ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล จากเอกสารแจกเรื่อง “หนังใหญ่ วัดขนอน” จัดพิมพ์โดย พระครูพิทักษ์ศิลปาคม พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ วัด ขนอน อย่าลืม ไปเที่ยว ชมหนังใหญ่ ที่วัดขนอน จ. ราชบุรี นะคะ แล้วคุณจะรักหนังใหญ่ค่ะ |
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |