“ไตรภาคี”ทางออกคดีโพงพาง
เมื่อประมงพื้นบ้านสวนทางก.ม.
โดย ธนิสา ตันติเจริญ
คดีระหว่างชาวประมง ต.ยี่สาร อ.อัมพวา และต.นางตะเคียน ต.บ้านปรก ต.แม่กลอง อ.เมืองสมุทรสงคราม ฟ้องคดีปกครองให้เพิกถอนประกาศกรมประมง และผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามที่ประกาศให้รื้อถอน “โพงพาง” เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เขต จ.สมุทรสงคราม ซึ่งศาลปกครองพิพากษาให้กรมประมง และผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม จัดตั้งคณะกรรมการสามฝ่าย หรือไตรภาคี เพื่อแก้ไขปัญหาหรือเยียวยาความเดือดร้อนจากความต้องเลิกอาชีพประมงโพงพางนั้น นับเป็นบทสะท้อนปัญหาที่ทับซ้อนระหว่างประมงพื้นบ้าน ระบบนิเวศ และการบังคับใช้กฎหมายได้เป็นอย่างดี
นายวชิระ ชอบแต่ง รองโฆษกสำงานศาลปกครอง กล่าวถึงคดีนี้ว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้วระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานราชการ ซึ่งในที่สุดก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการให้ลุล่วงไปได้ จนกระทั่งเมื่อปี 2555 กรมประมง ได้ออกประกาศห้ามใช้เครื่องมือโพงพางในการทำประมง เนื่องจากทำลายระบบนิเวศ และกีดขวางการสัญจรทางน้ำ ทำให้ชาวบ้านริมคลองยี่สารได้บความเดือดร้อน จึงยื่นฟ้องศาลปกครอง ว่าประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง พิพากษาให้กรมประมงจัดตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย (ไตรภาคี) ประกอบด้วย ชาวบ้านที่เดือดร้อน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานวิชาการ เพื่อที่จะหารือแก้ไขปัญหาดังกล่าว
จากที่ศาลได้รับฟังข้อมูลจากทั้ง 2 ฝ่าย อย่างเช่นชาวบ้านที่เดือดร้อนก็ระบุว่า อาชีพนี้ได้ทำเป็นเวลานานแล้ว เมื่อมีประกาศเช่นนี้ก็ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ไม่มีรายได้จากการประกอบอาชีพ
ขณะที่กรมประมง ระบุว่า เครื่องมือโพงพางทำให้ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำ เพราะสัตว์น้ำเล็กๆ ไปติดอยู่ที่เครื่องมือโพงพาง
“ศาลชั่งน้ำหนักของเหตุผลก็เห็นว่า การออกประกาศดังกล่าวของกรมประมง เป็นอำนาจที่ชอบดวยกฎหมายแล้วอีกทั้งศาลเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดคุยกันมานาน มีการเจรจาอยู่หลายครั้งยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ เพื่อที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้ลุล่วงไปด้วยดีก็ให้ทางกรมประมง และผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ไปหารือร่วมกันโดยตั้งเป็นคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ซึ่งก็แล้วแต่คณะกรรมการชุดนี้จะมีข้อสรุปอย่างไร”
อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาของศาลปกครองกลางหากทั้งสองฝ่ายไม่เห็นด้วยก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้
ด้าน นางทัดทรวง พิกุลทอง ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เห็นว่า การที่ศาลสั่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคีนั้นตรงกับสิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้อง เพื่อหาคำตอบและแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ซึ่งชาวบ้านก็ได้เตรียมข้อมูลไปเสนอในคณะกรรมการไตรภาคีแล้ว
โดยข้อมูลที่เตรียมไว้ เช่น เครื่องมือโพงพางนั้นทำลายพันธุ์สัตว์น้ำจริงหรือไม่ ผลกระทบต่ออาชีพเป็นอย่างไร การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ หรือปัญหาขยะจำนวนมากแต่ไม่มีหน่วยงานใดมาจัดการ จึงอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมาดูแลในเรื่องนี้ด้วย
“ที่ผ่านมาชาวบ้านได้มีการทำวิจัยกันเองโดยไม่มีหน่วยงานใดมารับรองการวิจัยของชาวบ้าน แต่เราก็ยืนยันข้อมูลของเราพบว่าเครื่องมือโพงพางนั้นไม่ได้ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำ หากทำลายพันธุ์สัตว์น้ำจริงตอนนี้ก็ผ่านมาหลายสิบปีสัตว์น้ำก็คงหมดไปนานแล้ว แต่สัตว์น้ำก็ยังไม่หมด เพราะมีการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบอื่น ซึ่งขณะนี้ระบบนิเวศก็ยังเหมือนเดิม”
นางทัดทรวง บอกอีกว่า การได้พูดคุยหรือหารือกับคณะกรรมการไตรภาคีครั้งนี้ เราก็จะเอาข้อมูลในการทำวิจัยวิชาการและผลกระทบของแต่ละครอบครัวไปนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ พร้อมทั้งอยากให้แต่ละฝ่ายมาร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้ แล้วกรมประมงจะช่วยแก้อย่างไรให้ชาวบ้านอยู่ได้
ทั้งนี้ชาวบ้านเข้าใจในกฎหมายที่นำมาบังคับใช้ แต่ต้องมีการยืดหยุ่นและต้องใช้ให้สอดคล้องกับชุมชนนั้นๆ ด้วย ไม่ใช่ต่างคนต่างเอาข้อมูลมาทำกัน ไม่มีการหารือ แล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ดังนั้น ต้องจับมือทำร่วมกัน แล้วหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับกันได้
“ชาวบ้านก็ยังคงหาสัตว์น้ำโดยเครื่องมือโพงพางวันละ 2-3 ชั่วโมงในเวลากลางคืน ไม่ใช่หาแบบทั้งวันทั้งคืนเหมือนเมื่อก่อน แม้ว่าจะมีการตรวจจับตามประกาศ ก็ต้องยอมให้จับไป เพราะเราทำได้แค่นี้ ไม่มีทางเลือก และยังต้องหาเงินเลี้ยงตัวเองและครอบครัว จะให้ทำอย่างไร หากเลิก ก็คงเลิกไม่ได้ เพราะเป็นอาชีพที่บรรพบุรุษเราทำมาตั้งแต่แรก”
แต่ถ้าหากจำเป็นต้องเลิกจริงๆ เธอเห็นว่า รัฐควรมีมาตรการมารองรับ เช่น การปรับเปลี่ยนอาชีพให้เราสามารถทำได้จนแก่ เพราะที่ผ่านมาเคยเปลี่ยนมาเลี้ยงปลากระพงแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ และต้องไม่ไปแย่งอาชีพของคนในพื้นที่ด้วย
เธอบอกด้วยว่า ก่อนหน้านี้เคยยื่นหนังสือต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปตั้งแต่ 15 วันแรกที่มีการจัดตั้ง คสช. แต่เรื่องก็ถูกส่งมาให้ที่กรมประมงเป็นผู้จัดการซึ่งไม่มีอะไรคืบหน้า จนเมื่อศาลอ่านคำพิพากษาให้ตั้งไตรภาคีขึ้น แต่หากกรมประมงจะยื่นอุทธรณ์เราก็คงต้องสู้กันต่อไป
นายลำจวน ปานพริ้ง ชาวบ้านผู้ร่วมฟ้องคดี บอกว่า ตัวเองทำประมงโพงพางในคลองยี่สารมากว่า 50 ปี และยืนยันว่าการทำประมงโพงพาง ไม่ได้กระทบต่อระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นการดักจับสัตว์น้ำ กลางลำคลอง ซึ่งจะมีแต่สัตว์ที่มีขนาดใหญ่มาติดโพงพาง
เขาบอกว่า ในการทำประมงโพงพางนั้นจะมีการวางเสาไม้หลักโพงพางในระยะห่างกัน สลับซ้ายขวา จึงเชื่อว่าไม่กระทบต่อการสัญจรทางน้ำ
“ส่วนตัวไม่ต้องการเงินเยียวยาใดๆ จากภาครัฐ แต่ขออาชีพที่จะเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ในระยะยาว”
ไม่ว่าบทสรุปข้อพิพาทระหว่างรัฐกับชาวบ้านในคดีนี้จะลงเอยอย่างไร แต่อย่างน้อยการหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เหตุผล และความจำเป็นของแต่ละฝ่ายก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการหาทางออกจากปัญหาได้อย่างแท้จริง
..........ll..........
ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 22 มิ.ย.2558