ทุกสังคมทั่วโลก แม้จะมีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน แต่ทุกสังคมก็ประกอบไปด้วย "ภูมิปัญญา (MENTALITY)" ที่พัฒนาและมีการวิวัฒนาการมาจากประวัติศาสตร์ที่ถูกสั่งสมและสะสมด้วยกระบวนการเรียนรู้อย่างยาวนานจนมีการ "ตกผลึกทางความคิดและปัญญา" ที่อาจคล้ายคลึงกันหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็หมายความว่า รากฐานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอาจแตกต่างกัน แต่ก็ยังมีความคล้ายคลึงกันในกรณีของ "วิธีคิด-วิธีมอง" ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็น "องค์ของภูมิปัญญา" ในการเข้าใจ "สัจธรรม" ทางธรรมชาติของ "การดำรง-การดำเนินชีวิต" ที่จะผ่านไปกี่ร้อยกี่พันปีก็ยังเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่รู้จักจบจักสิ้น "การคิด-การกระทำ" ของมนุษย์ที่ทับถมกันมาอย่างยาวนานนั้นอาจผิดแผกแตกต่างไปจากเดิมบ้าง แต่โดย "แก่นแท้ (SUBSTANCE)" ของความเป็นมนุษย์นั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากมายไม่ว่าวิวัฒนาการและการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจะรุดหน้าทันสมัยเพียงใด มนุษย์ก็ยังคงเป็นมนุษย์ที่ "แก่งแย่ง-เห็นแก่ตัว-โลภ-เอาเปรียบ-หลอกลวง ฯลฯ" ทั้งนี้คงไม่สามารถครอบคลุมได้ว่ามนุษย์ทั้งหมดมี "แก่นแท้" เช่นนั้น แต่อย่างน้อยไม่มีใครสมบูรณ์แบบเชิงอุดมคติที่ "เสียสละ!" ได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งกลุ่มบุคคลที่วนเวียนอยู่ใน "รั้วศาสนจักร" มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐที่มีความชาญฉลาดในการ "คิด-วางแผน" ที่จะ "ตบตา-หลอกลวง" สังคมว่า "ประพฤติปฏิบัติ-ยึดมั่น" อยู่ใน "ความดี" และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมและไม่สำคัญเท่ากับ "การสร้างภาพ" เป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งมนุษย์ในลักษณะนี้มักจะเป็นมนุษย์ที่มีระดับความรู้และการศึกษาที่สูงจนสามารถ "สร้างเล่ห์เหลี่ยม-เทคนิค" สารพัดอย่างเพื่อมิใช่อยู่รอดแต่เพื่อหวังรุกคืบหรือจะเรียกว่า "เอาเปรียบ" สังคมได้ ไม่ว่าจะด้วยกลยุทธ์ และ/หรือ เทคนิคใดๆ เพื่อ "ตักตวงประโยชน์" แด่ตนและพรรคพวกให้ได้มากที่สุด กลุ่มมนุษย์ที่อยู่ในระดับนี้มักจะเป็น "กลุ่มชนชั้นนำ (ELITE GROUP)" ที่สามารถเข้าไปอยู่ใน "วงจรอำนาจรัฐ" เพื่อที่จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนด "กรอบสังคม" ทางกฎหมาย นโยบาย และกระบวนการตัดสินใจต่างๆ โดยกำหนดทิศทางและวาระชัดเจนว่า เพื่อประโยชน์ส่วนตนและกลุ่ม ส่วนกลุ่มต่างๆ ในสังคมขนาดใหญ่หรือประชาชนโดยทั่วไปที่ "ด้อย" หรืออยู่ใน "ระดับที่ต่ำกว่า" ทางการศึกษาและความรู้ ตลอดจน "สถานะทางสังคมเศรษฐกิจ" ก็จะตกอยู่ภายใต้การครอบงำของกลุ่มบุคคลระดับที่สูงกว่าข้างต้น ซึ่งประชาชนกลุ่มล่างหรือ "รากหญ้า" ตามคำฮิตนี้จะถูก "เอาเปรียบ-หลอกลวง" ตลอดโดยได้รับเพียงอานิสงส์ที่ถูกหยิบยื่นให้เพียงน้อยนิดหรือ "เศษ" เท่านั้น แต่ไม่สำคัญเท่ากับ "การหลงเชื่อ-เคลิ้ม" ไปกับ "ภาพลวงตา-วัตถุ" ของกลุ่มบุคคลชั้นนำ อย่างไรก็ตาม "สัจธรรม" ที่กล่าวข้างต้นทั้งหมดนั้นล้วนเป็นอนิจจัง กล่าวคือ "แก่นแท้" ของมนุษย์ที่มุ่งหวังหลอกลวง เอาเปรียบสังคมโดยปราศจากความบริสุทธิ์ใจที่มุ่งสร้างประโยชน์แก่สังคม ก็จะถูก "เปิดเผย-ฉีกหน้ากาก" ออกมาในที่สุด เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ไม่มีใครในโลกนี้สามารถ "ปกปิด-เล่นละคร-ตบตา-หลอกลวง" ได้ตลอดเวลา เพราะ "ธาตุแท้-แก่นแท้" ก็จะค่อยๆ โผล่ออกมาให้เห็นโดยเกิดจากการ "เผลอตัว !" หรือ "ลืมตัว" โดยเชื่อมั่นตนเองว่าไม่มีใคร "จับได้ไล่ทัน" หรือไม่ก็ "หลงระเริง-มัวเมา" อยู่กับ "สถานะแห่งอำนาจ" ที่เชื่อว่า "ควบคุมได้" ตลอดกาล ทุกประเทศทั่วโลกไม่ว่าระดับการพัฒนาจะอยู่ในระดับใด และ/หรือ ความยาวนานของประวัติศาสตร์รวมทั้งวัฒนธรรมจะแตกต่างกันเช่นไร แต่ความซ้ำซ้อนและทับถมของปรากฏการณ์ต่างๆ ในกรณีนี้หมายถึง "พฤติการณ์และพฤติกรรม" มนุษย์ที่ในที่สุดก็จะสะท้อน (REFLECT) ออกมาให้เห็นถึง "ความจริง-แก่นแท้" ของมนุษย์จนถูกนำมากล่าวเป็น "สุภาษิต" บ้าง "อุปมาอุปไมย" บ้าง หรือแม้กระทั่ง "คำสั่งสอน" ของเหล่าบรรดาปราชญ์ทั้งหลาย ทั้งนี้เราลองสังเกตได้ว่าปราชญ์จีนก็ดี ปราชญ์ชาวตะวันตกก็ดี หรือปราชญ์เอเชียก็ดี เมื่อกล่าวถึง "สัจธรรม" ต่างๆ ในโลกนี้มักจะตกอยู่ใน "กรอบภูมิปัญญา" ที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการเมืองและการปกครองที่เน้นเรื่องของ "อำนาจ (POWER)" อาทิ ขงจื๊อ เพลโต โซเครติส อริสโตเติ้ล วอลแตร์ รูซโซ หรือ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน เป็นต้น ไม่ว่าความสลับซับซ้อนทางสังคมจะลึกซึ้งละเอียดอ่อนมากน้อยเพียงใดเชิงประวัติศาสตร์ ความก้าวหน้าทันสมัยมีมากน้อยแค่ไหนแต่ "สุภาษิต-คำสั่งสอน-คำกล่าว" ต่างๆ ที่แต่ละสังคมสะท้อนออกมานั้นล้วนสื่อนัยชัดเจนว่า "มนุษย์ก็คือมนุษย์" ที่มิได้แตกต่างกันมากน้อยเท่าใด ไม่ว่ายุคใดสมัยใด ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า "หลอกลวง-เอาเปรียบ-แก่งแย่ง ฯลฯ" กันมาโดยตลอด ยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันกลับตอกย้ำ "ความเลวร้าย-ความชั่ว" มากกว่าในอดีตที่สลับซับซ้อนและ "ซ่อนเงื่อน" มากยิ่งขึ้น แต่ไม่สำคัญเท่ากับ "ความแนบเนียน" ของการ "แย่งชิง-เอาเปรียบ-หลอกลวง" จนจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ไม่ว่าจะอยู่ในระดับภายในประเทศหรือระดับระหว่างประเทศ ในกรณีของการเจรจาต่อรองจนเลยเถิดไปถึง "การปล้นชาติ" และ "การก่อทำสงครามยึดครอง" ประเทศอื่นอย่างหน้าด้านๆ โดยอ้างว่าเป็นการทำลายล้าง "ผู้ร้ายโลก" โดยตัวอย่างชัดเจนในกรณีของสงครามอิรักและอัฟกานิสถานที่กลุ่มประเทศมหาอำนาจรวมตัวกันยึดครองแบบเบ็ดเสร็จนอกเหนือจากนั้นการรุกคืบทาง "สงครามเศรษฐกิจ" ก็เป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งที่มุ่ง "เอาเปรียบ" กลุ่มประเทศที่อ่อนแอกว่า จากกรณีข้างต้นนั้นสามารถยกตัวอย่างที่อ่านแล้วเข้าใจชัดเจนกับคำกล่าวคือ "ซ่อนดาบในรอยยิ้ม" ซึ่งหมายถึงการเจรจาทักทายกัน ที่มีแต่รอยยิ้มดูเป็นมิตรอย่างมาก แต่ลึกๆ ในใจแล้วต่างซ่อนความรู้สึกเก็บอาการที่มุ่งจะเอาชนะคะคานกันหรืออาจเลยเถิดถึงขนาดที่ว่าถ้ามีอะไรที่ไม่ดีไม่งามก็พร้อมจะฆ่ากันได้ หรือกล่าวอย่างภาษาชาวบ้านก็หมายความถึง "ความไม่จริงใจที่มอบให้กัน" นั่นก็เป็นหนึ่งตัวอย่างหรืออีกคำกล่าวคือ "ฤทธิ์มีดสั้น" ซึ่งหมายความว่าในหมู่มิตรนั้นมักมีการทิ่มแทงข้างหลังตลอดเวลา ปราศจากความจริงใจหรือ "ต่อหน้าอย่างลับหลังอย่าง" อะไรทำนองนั้น ที่มีแต่การใส่ร้ายป้ายสีกับผู้บังคับบัญชา และ/หรือ เพื่อนร่วมงานตลอดเวลา เรียกว่าเผลอเมื่อไหร่ถูกมีดสั้นเสียบหลังทุกคราไป "น้ำลดตอผุด" ก็หมายความว่าเมื่อน้ำเต็มคูคลองหรือบึงบ่อที่ใด อะไรที่จมอยู่ใต้น้ำ ไม่มีทางที่ใครจะเห็นเด็ดขาด แต่เมื่อน้ำลดลง สรรพสิ่งทั้งหลายที่จมอยู่ใต้น้ำก็จะโผล่มาให้เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยในอดีต ชาวบ้านจะปลูกบ้านอยู่ชายน้ำหรือล้ำลงไปในคลอง พอย้ายบ้านก็จะทิ้งตอไม้หรือเสาไม้ยึดบ้านไว้ คลองในอดีตในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดจึงมี "ตอไม้" เยอะ เวลาน้ำลดตอจะโผล่ ในเชิงอุปมาอุปมัยเปรียบเทียบก็หมายความว่าเวลาที่มีอำนาจเต็มเหมือนน้ำนั้น สิ่งไม่ดีไม่งามก็จมน้ำหรือปกปิดได้ แต่พอหมดอำนาจในการควบคุมหรืออำนาจลด "ความชั่ว" ที่จมอยู่ก็จะโผล่ออกมาให้เห็น ทั้งนี้สัจธรรมนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากกับสังคมการเมืองไทย ซึ่งครอบคลุมถึงบรรดาข้าราชการด้วย และก็คล้ายๆ กับคำกล่าวที่ว่า "ซุกไว้ใต้พรม" "ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่" เปรียบเปรยว่าต่างฝ่ายต่างรู้ไส้กันหรือรู้จักความลี้ลับของแต่ละฝ่ายว่า "ซุกซ่อน" อะไรไว้ โดยที่คนทั่วไปไม่มีทางจะได้รู้ว่าใครมีพฤติการณ์และพฤติกรรมอย่างใด หรืออีกนัยหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ "การรู้เท่าทันกัน" ระหว่างสองฝ่าย เพราะโดยธรรมชาติแล้ว งูไม่มีตีนและไก่ก็ไม่มีนม แต่ความชั่วหรือความไม่ดีของทั้งสองฝ่ายที่รู้เท่าทันกันก็เลยปกปิดกันได้หรือไม่ได้ เหมือนกับคำกล่าวของฝรั่งที่เอ่ยว่า "IT TAKES ONE TO KNOW ONE" ซึ่งก็หมายความว่าต้องใช้บุคคลที่ชนิดเดียวกันหรือประเภทเดียวกันถึงจะรู้เท่าทันกัน อย่างกรณีตัวอย่างของกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจที่ประท้วงคัดค้าน "การแปรรูปการไฟฟ้าและการประปา" อยู่ขณะนี้ ก็อาจจะเป็นไปได้ที่กลุ่มแกนนำรู้เท่าทันกลุ่มบุคคลบางกลุ่มในรัฐบาลที่เป็น "กลุ่มทุน" มิได้ต้องการปรับปรุงและพัฒนาองค์กรรัฐวิสาหกิจ เพียงแต่ต้องการนำเข้าตลาดหลักทรัพย์และกระจายหุ้นส่วนใหญ่กันเองภายในองคาพยพของกลุ่มทุน ดังเช่น ปตท. และการท่าอากาศยานฯ เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าการประท้วงของสหภาพฯ ในครั้งนี้เพื่อไม่ต้องการให้กลุ่มทุนฮุบกิจการสาธารณูปการและสาธารณูปโภคของรัฐ ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบและผลประโยชน์ควรเป็น "ประชาชน" คำปรารภก็ดี คำกล่าวก็ดี คำอุปมาอุปไมยก็ดี สุภาษิตก็ดี มักเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ จากการตอกย้ำของเหตุการณ์ และ/หรือ ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำซาก จนมีสถิติความถี่ที่พิสูจน์ได้จนเป็น "คำ-สุภาษิต" ต่างๆ เหล่านั้นที่ยกตัวอย่างไปแล้ว และที่สำคัญที่สุดคือ นานาอารยประเทศทั่วโลกไม่ว่ามีประวัติศาสตร์ยาวนานเพียงใด วัฒนธรรมล้ำลึกขนาดไหน "คำ-สุภาษิต" ต่างๆ เหล่านั้นสะท้อนให้เห็นถึงพฤติการณ์และพฤติกรรม ตลอดจนสัจธรรมที่แท้จริงของหมู่มวลมนุษย์ว่า "แก่นแท้" ที่แท้จริงแล้วต่าง "หลอกลวง-เอาเปรียบ-แก่งแย่ง" กันตลอดศก แต่ก็พยายาม "อำพราง-ปกปิด-สร้างภาพ" ว่า ทำเพื่อส่วนรวม |