*/
<< | ธันวาคม 2012 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | ||||||
2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 |
9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 |
16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 |
23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 |
30 | 31 |
ความเดิม ฟ้าหม่น ใจหมอง คิดถึงแดดสีทองที่อียิปต์ บทนำ http://www.oknation.net/blog/March/2012/11/15/entry-1
ฟ้าหม่น ใจหมอง คิดถึงแดดสีทองที่อียิปต์ 1 อรุณรางสว่างแล้วที่ Luxor http://www.oknation.net/blog/March/2012/11/21/entry-1
ฟ้าหม่น ใจหมอง คิดถึงแดดสีทองที่อียิปต์ 2 น้ำจรดทรายที่ Aswan http://www.oknation.net/blog/March/2012/11/29/entry-1
ตัวเขื่อนใหญ่ (High Dam) ซึ่งได้รับการก่อสร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ.1960-1971 ในสมัยของประธานาธิบดี Nasser มีความกว้างถึง 3,830 เมตรและสูง 111 เมตร ก่อให้เกิด Lake Nasser ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นทะเลสาบคนสร้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยเป็นอ่างเก็บน้ำที่กินอาณาบริเวณจากเมือง Aswan เรื่อยลงไปทางใต้เป็นระยะทางยาวไกลกว่า 500 กิโลเมตรและมีความลึกถึงกว่า 180 เมตร
ทะเลสาบนัสเซอร์ท่วมผืนแผ่นดินระหว่าง Aswan ถึง Abu Simbel ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวนูเบียนมาตั้งแต่ยุคฟาโรห์ ทำให้บ้านเรือนของผู้คนกว่า 800,000 คนจมหายไปใต้ท้องน้ำและโบราณสถานสำคัญมากมายสูญหายไปหรือต้องถูกโยกย้ายไปจากที่ตั้งเดิมซึ่งอยู่ริมแม่น้ำไนล์
รัฐบาลอียิปต์และ UNESCO ได้รณรงค์เรียกร้องขอความช่วยเหลือทั้งด้านเงินทุนและเทคโนโลยี่จากนานาประเทศที่ตระหนักถึงคุณค่าของโบราณสถานอันเป็นมรดกอันล้ำค่าของชาวโลก ในช่วงปี 60s เมื่อน้ำจากเขื่อนใหญ่ได้เริ่มท่วมบริเวณที่ตั้งของวิหารหลายแห่งแล้ว นักวิชาการด้านโบราณคดี นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรนานาชาติได้ช่วยกันโยกย้ายวิหารจากสมัยฟาโรห์ถึง 24 แห่งจากที่ตั้งเดิมไปสร้างใหม่ในตำแหน่งที่สูงขึ้นเช่นวิหารแห่งอาบูซิมเบล (Temple of Abu Simbel) วิหารแห่งฟีเล (Temple of Philae) วิหารแห่งคาลับชา (Temple of Kalabsha) วิหารแห่งอามาดา (Temple of Amada) ฯลฯ
วันสุดท้ายใน Aswan เป็นวันเวลาที่เราเลือกได้ว่าจะพักผ่อนนอนอาบแดด ว่ายน้ำอยู่บนดาดฟ้าเรือหรือจะซื้อทัวร์พิเศษไปชมโบราณสถานสำคัญบางแห่ง แน่นอน แม่มดก็ต้องเลือกซื้อทัวร์ซิคะ ก็แม่มดไปเที่ยว ไม่ได้ไปนอนนี่นา แต่ถึงตรงนี้ คนโลภมากอย่างแม่มดเกิดอาการรักพี่เสียดายน้องแบบที่ชาวเยอรมันเขากระแนะกระแหนเอาว่า การมีทางเลือกนี่ก็นำมาซึ่งความทุกข์เหมือนกันนะ
ก็เรามีเวลาวันเดียวนี่คะ แต่มีวิหารที่น่าเยี่ยมชมมากมาย แม่มดน่ะหมายตาวิหารแห่งอาบูซิมเบลกับวิหารแห่งฟีเลเอาไว้ แต่ตาอาลีบอกเสียงเฉียบขาดว่า มีเวลาไปได้แห่งเดียว ต้องตัดสินใจแล้วล่ะว่าจะไปที่ใด เออแน่ะ สตางค์ก็เสีย แถมยังถูกดุเสียอีก ไกด์อียิปต์เป็นอย่างนั้นค่ะ แม่มดคิดว่าบุคลิกของเขาเป็นอย่างนั้นเอง ใจอาจจะไม่เท่าไร แต่น้ำเสียงของผู้คนที่นี่ห้วนและกระด้างระดับที่ระคายหูของคนที่ไม่คุ้นเคยเลยทีเดียว ที่จริงงานนี้แม่มดไม่ต้องเสียเวลาคิดนานเพราะเสียงส่วนใหญ่ของผู้ร่วมเดินทางเรียกร้องที่จะไปอาบูซิมเบล ก็การเคลื่อนย้ายวิหารแห่งอาบูซิมเบลนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่ดังระดับโลกเลยนะคะ ไม่มีใครที่สนใจในโบราณคดีของอียิปต์แล้วจะไม่รู้จักวิหารแห่งนี้หรอกค่ะ
การเดินทางไปชมวิหารแห่งอาบูซิมเบลนั้น ถ้าจะให้สบายๆแบบเรื่อยๆมาเรียงๆ ก็สามารถไปทางเรือได้ วิธีนี้เหมาะกับคนที่มีเวลาเยอะๆเพราะจาก Aswan ต้องใช้เวลาล่องเรือนานถึง 2 วัน คนที่มีเวลาน้อยแต่มีสตางค์เยอะๆ ก็สามารถบินไปได้ Abu Simbel สำคัญเสียจนประเทศอียิปต์ต้องสร้างสนามบินเอาไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชมมหาวิหารวันละหลายพันคน แต่พวกเราเป็นคนเดินทางที่มีน้อยนิดทั้งเวลาและเงินทอง เราเลยต้องโหนรถเมล์ เอ๊ย นั่งรสบัสไปกัน งานนี้ลูกชายบ่นอุบว่า ปิดเทอมนะแม่ ผมต้องตื่นเช้ากว่าตอนไปโรงเรียนเสียอีก เพราะรถของเราออกตั้งแต่ 6 โมงเช้า พ่อครัวของเรือเตรียมอาหารกล่องไปให้เรากินกลางทางคนละ 2 กล่อง คือทั้งอาหารเช้าและอาหารกลางวัน
วิหารแห่งอาบูซิมเบลซึ่งมีอายุประมาณ 1244-1224 ปีก่อนคริสตกาล แท้จริงแล้ว ประกอบด้วยสถานที่สักการะเทพเจ้า 2 แห่ง นั่นคือ วิหารองค์ใหญ่ (Temple of Ramses) ได้รับการก่อสร้างขึ้นเพื่อประกาศแสนยานุภาพของฟาโรห์ Ramses ที่ 2 วิหารองค์นี้เป็นที่สักการะเทพผู้คุ้มครองมหานครแห่งอียิปต์ 3 เมือง คือเทพ Amun แห่ง Thebes เทพ Ptah แห่ง Memphis และเทพ Ra-Harakhty แห่ง Heliopolis ส่วนวิหารองค์เล็ก (Temple of Hathor) นั้น ฟาโรห์รามเซสที่ 2 รับสั่งให้สร้างเพื่อแสดงถึงความรักที่พระองค์มีต่อ Queen Nefertari ชายาองค์โปรด Hathor เป็นเทวีแห่งความรัก ความรื่นเริงและความงดงาม คล้ายๆกับ Aphrodite ของกรีกหรือ Venus ของพวกโรมัน ในแง่การศึกษา วิหารแห่งนี้มีความสำคัญอย่างมากเพราะเป็นที่เดียวในประวัติศาสตร์อียิปต์ที่รูปปั้นของราชินีได้รับการก่อสร้างให้มีขนาดใหญ่เท่าเที่ยมกับฟาโรห์ แสดงถึงการยอมรับขององค์ฟาโรห์ว่าพระชายามีความสำคัญเท่าเทียมกับพระองค์ ในสังคมที่ถูกครอบงำโดยเพศชายเกือบจะโดยสิ้นเชิง สุภาพบุรุษอย่างรามเซสที่ 2 นี่ unique นะคะ
วิหารแห่งอาบูซิมเบลถูกทรายกลบทับไว้เป็นเวลาหลายศตวรรษ J L Burckhardt นักโบราณคดีชาวสวิสเป็นผู้ค้นพบวิหารแห่งนี้ในสภาพที่เกือบสมบูรณ์เมื่อค.ศ. 1813 แม่มดว่าการเคลื่อนย้ายวิหารหนีน้ำจาก Lake Nasser เป็นปฏิบัติการที่น่าทึ่งพอๆกับองค์วิหารเอง เขาตัดองค์วิหารซึ่งเป็นหินทรายออกเป็นแท่งหินชิ้นโตๆ แล้วนำไปประกอบใหม่ในที่ที่เขาเตรียมไว้สูงเหนือระดับน้ำ 65 เมตรและอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินจากตำแหน่งเดิม 200 เมตร งานชิ้นนี้ใช้เวลา 4 ปีและงบประมาณ 40 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ นี่เป็นราคาเมื่อ 50 ปีที่แล้วนะคะ ตาอาลีไม่ได้เล่าหรอกค่ะ แกฉายหนังสารคดีให้ลูกทัวร์ดูในรถเลย หนังยาวมากแต่มีเนื้อหาที่น่าตื่นเต้นเร้าใจจนแม่มดลืมไปเลยว่าเราต้องอยู่ในรถตั้งหลายชั่วโมง เราได้ดูปฏิบัติการสารพัดเทคนิคในการย้ายวิหารสำคัญอื่นๆเช่น Temple of Philae ด้วยค่ะ เทพเจ้าน่ะยิ่งใหญ่แล้ว แต่มนุษย์ยิ่งใหญ่กว่าค่ะ ขอเพียงให้มีความมุ่งมั่น แทบจะไม่มีอะไรเลยที่มนุษย์ทำไม่ได้ น่าเสียดายเพียงว่า สิ่งที่คนเราทุ่มเทสติปัญญาทำไปมิได้มีเพียงการสร้างสรรค์เท่านั้น
พอเรากลับมาถึงเรือในเวลาใกล้ค่ำ Pioneer 1 ก็ถอนสมอและหันหัวกลับไปในทิศทางของ Luxor การแสดงทางวัฒนธรรมคืนนั้นอยู่ใน theme ของ The Arabian Night เราได้ชมระบำหน้าท้องด้วยนะคะ ลูกทัวร์รุ่นอาวุโสหลายคนน่ารักมาก สวมชุดอาหรับออกไปเต้นรำกับศิลปินอย่างสนุกสนาน แต่แม่มดรู้สึกระคายหูเชียวตอนลูกเรือที่เป็นพนักงานเสิร์พคนหนึ่งออกปากว่า ผู้หญิงดีๆเขาไม่มาเป็นนักแสดงแบบนี้ เลยอดโต้แย้งไม่ได้ว่า ถ้าทุกคนคิดเหมือนคุณ ศิลปะจะมีโอกาสเกิดได้อย่างไรเล่า ชาวอียิปต์ยุคนี้ยังคิดเหมือนคนไทยเมื่อหลายสิบปีก่อนที่เห็นงานด้านการให้ความบันเทิงเป็นเพียง “การเต้นกินรำกิน” ที่ต่ำต้อยและไร้เกียรติ์ ทัศนคติต่อสตรียังมีลักษณะที่มองไม่เห็นความเท่าเทียมทางเพศ ในประเด็นนี้ต้องบอกว่า Ramses ที่ 2 ทรงมีความคิดก้าวหน้ากว่ายุคสมัยหลายพันปีทีเดียว
Pioneer 1 เข้าเทียบท่าที่ Luxor ตอนเช้าตรู่....ที่สงบงดงามไม่ผิดเพี้ยนไปจากที่เราได้สัมผัสเมื่อหลายวันก่อน พอทานข้าวเช้าเสร็จ เราก็เดินตามตาอาลีต้อยๆไปขึ้นรถตู้ รายการแรกเป็นการเยี่ยมชมวิหารแห่งคาร์นัค (Karnak) หรือTemple of Amun เพื่อนๆยังจำได้ไหมคะว่า Amun เทพผู้คุ้มครอง Thebes คือเทพแห่งเทพ ประมาณเดียวกับ Zeus ของชาวกรีกยุคโบราณหรือ Jupiter ของพวกโรมันนั่นแหละค่ะ วิหารแห่งคาร์นัคจึงได้ชื่อว่าเป็นวิหารที่สำคัญที่สุดในอียิปต์ แรกเริ่มเดิมทีตอนที่ได้รับการก่อสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ที่ 11 เมื่อกว่าสองพันปีมาแล้วนั้น วิหารแห่งนี้มีขนาดเล็กจ้อย แต่ฟาโรห์ในสมัยต่อๆมาต่างก็สร้างต่อเติมขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นกลุ่มอาคารขนาดมหึมาที่เราต้องใช้เวลาเดินชมพร้อมกับการฟังคำบรรยายอยู่หลายชั่วโมง Temple of Karnak นี่ถูกกลบฝังอยู่ในทรายนับพันปีนะคะ การขุดแต่งบูรณะโบราณสถานเพิ่งจะเริ่มขึ้นตอนกลางคริสตศตวรรษที่ 19 และยังดำเนินอยู่จนถึงทุกวันนี้ค่ะ
ตอนบ่ายที่ไกด์พาลูกทัวร์ไปช้อปปิ้ง แม่มดชวนลูกชายแว้บไปเข้าพิพิธภัณฑ์แห่ง Luxor ซึ่งน่าสนใจมากๆ ไม่แน่นขนัดจนแทบจะไม่มีทางเดินเหมือนพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ไคโรด้วยค่ะ ตามด้วยการไปขี่อูฐเล่นในหมู่บ้านที่อยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ แล้วตอนค่ำๆ เราก็ปลีกตัวจากความวิเวกของแม่น้ำไนล์ไปที่วิหารแห่งคาร์นัคอีกครั้งหนึ่งเพื่อชมการแสดงแสงเสียงอันอลังการ์ แม่มดไม่มีภาพมาฝากนะคะ เพราะที่พิพิธภัณฑ์เขาไม่ให้ถ่ายรูปและฝีมือของแม่มดไม่แก่กล้าพอที่จะถ่ายภาพ Light&Sound ให้งดงามเหมือนที่ตาเห็นได้
วันสุดท้ายใน Luxor เราก็ต้องไป LuxorTemple ซิคะ วิหารแห่งนี้มีขนาดเล็กนิดเดียวเมื่อเทียบกับวิหารแห่งคาร์นัคแต่งามมาก ด้วยได้รับการก่อสร้างในสมัยของ Amenhotep ที่ 3 และ Ramses ที่ 2 โดยยึดถือรูปแบบของสถาปัตยกรรมยุคฟาโรห์อย่างเคร่งครัด แม้แต่เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชมีรับสั่งให้สร้างต่อเติมในภายหลัง ก็ทรงรักษารูปแบบของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง วิหารแห่งลักซอร์ซึ่งเป็นที่สักการะเทพ Amun เทวี Mut พระชายาและเทพ Khonsu พระโอรส ก็ถูกฝังอยู่ในทรายและโคลนตมมานานนับร้อยปีเหมือนกัน ศาสตราจารย์ Gaston Maspero นักอียิปต์วิทยาชาวฝรั่งเศสเพิ่งจะขุดค้นพบวิหารแห่งนี้ในสภาพที่ดีเยี่ยมเมื่อ ค.ศ. 1881
ตอนบ่าย ไกด์ผู้รู้วิธีหารายได้พิเศษเข้าพกเข้าห่อก็พาลูกทัวร์ไปเที่ยวย่านที่ขายทองรูปพรรณแบบอียิปต์ แต่แม่มดแยกวงแบบไม่สนใจสีหน้าไม่สบอารมณ์ของตาอาลี เรียกรถม้าให้พาไปเที่ยวตลาดสดที่ชาวลักซอร์จับจ่ายซื้อหาของกินของใช้ที่เรียกว่า Soug ได้ภาพที่มีชีวิตชีวาของชาวบ้านมาชมมากมาย น่าเสียดายแต่ว่าแม่มดไม่ได้รับอนุญาตให้ลงเดินเป็นพระยาน้อยตัวจริง สารถีที่ใช้ภาษาอังกฤษได้พอกระท่อนกระแท่นสั่งห้ามเด็ดขาดไม่ให้ลงจากรถแต่ก็รู้งานพอที่จะเคลื่อนรถม้าไปอย่างเชื่องช้าเพื่อให้แม่มดถ่ายรูปได้อย่างสบายๆ ภาพทั้งหมดจากการชมตลาดจึงเป็นภาพจากมุมสูงที่ดูประหนึ่งว่าคนถือกล้องเป็นพวกตีนไม่ติดดิน
ในเวลา 1 สัปดาห์ที่เราเดินทางท่องเที่ยวอยู่ในลุ่มแม่น้ำไนล์ เราได้ฟังเรื่องราวที่ชวนตื่นใจของปวงเทพและฟาโรห์นับองค์ไม่ถ้วน แต่กษัตริย์อียิปต์ที่มีพระประวัติน่าพิศวงจนทำให้แม่มดต้องกลับมาหาตำราอ่านเพิ่มเติมกลับเป็น Akhenaten ฟาโรห์เกเร นอกรีตพระสวามีของ Queen Nefertiti ผู้เลอโฉมที่ผู้คนรู้จักกันไปทั่วโลก ประมาณ 1400 ปีก่อนคริสตกาล ฟาโรห์ Amenhotep ที่ 4 ทรงยกเลิกจารีตการบวงสรวงเทพเจ้ามากมายหลายองค์แบบที่กษัตริย์อียิปต์ถือปฏิบัติมานับพันปี โดยเปลี่ยนไปถวายการสักการะเทพเจ้าเพียงองค์เดียวคือ องค์สุริยเทพ Aten ฟาโรห์ทรงเรียกขานพระองค์เองว่า Akhenaten ซึ่งแปลว่าทาสรับใช้ขององค์สุริยเทพ ทรงสร้างนคร Akhetaten ถวายเทพ Aten นครแห่งนี้ได้กลายเป็นเมืองหลวงของอียิปต์อยู่ 14 ปีในระหว่างรัชสมัยของพระองค์ เป็นที่แน่นอนว่า การเปลี่ยนจารีตในยุคสมัยของฟาโรห์เกเรพระองค์นี้ทำให้ผู้มีอำนาจมากมายในสังคมอียิปต์ยุคนั้นเสียผลประโยชน์ ในวันเวลาที่การสักการะเทพเจ้าเป็นหนทางเดียวที่ผู้คนเชื่อว่าจะทำให้สมประสงค์ในสิ่งที่วาดหวังไว้ บรรดานักบวชที่อ้างตนเองเป็นผู้รับใช้และเป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์และเทพเจ้าต่างๆคือผู้ที่ได้รับลาภสักการะมหาศาล จึงเป็นเรื่องที่คาดหมายได้ไม่ยากว่า เมื่อ Akhenaten สิ้นพระชนม์ลงโดยราชบุตรเขย Tutankhamun ขึ้นครองราชย์และทรงหวนไปหาจารีตของการสักการะบูชาเทพเจ้าหลายๆองค์ดังเดิม ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้รับการก่อสร้างขึ้นโดย Akhenaten จะถูกกวาดล้างทำลายโดยคำสั่งของนักบวชผู้ทรงอำนาจแห่งวิหารหลวง (Temple of Karnak) นครหลวง Akhetaten จึงกลายเป็นเพียงซากปรักหักพังในเมืองที่มีชื่อในปัจจุบันว่า Tell al-Amarna ที่ผู้มาเยือนอียิปต์น้อยคนนักจะรู้จัก
แม่มดเป็นเพียงคนเดินทางตัวเล็กๆ ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ไม่ใช่นักสังคมวิทยา ไม่อาจบอกและไม่อาจตัดสินได้ว่าสิ่งที่ฟาโรห์ Akhenaten ทรงกระทำลงไปผิดหรือถูก เป็นคุณหรือเป็นโทษต่อบ้านเมือง ทั้งรัชสมัยของพระองค์เพียง 14 ปีเมื่อเทียบกับเวลาหลายพันปีของประวัติศาสตร์อียิปต์ก็ไม่เนิ่นนานพอที่จะทิ้งร่อยรอยของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมไว้เบื้องหลังได้ แม่มดเพียงแต่สงสัยประสาปุถุชนว่า ขวัญของมนุษย์คนหนึ่งที่มีความเคารพในตัวเองสูงจนกล้าท้าทายความเชื่อที่ดำรงอยู่มานับพันปีนั้นเป็นความอาจหาญหรือความบ้าบิ่นเพียงใด องค์ฟาโรห์ทรงหวั่นไหวบ้างไหมนะตอนที่ตัดสินพระทัยกระทำในสิ่งที่พระองค์เชื่อมั่น แม่มดคิดถึงเพลง Let Me Fall…….. |
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |