เส้นทางประมูลช่องดิจิทัลทีวียังลุ่มๆ ดอนๆ เงื่อนไขการประมูลยังไม่นิ่ง แล้วยิ่งมาได้ฟังความเห็นของพ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) เสนอให้ปรับลดสัดส่วนภาคบังคับผังรายการข่าว และ สาระในช่องข่าวดิจิทัลลงจาก 75% เหลือ 50% ด้วยเหตุผลที่ยกขึ้นมาฟังแล้วไม่ค่อยจะเป็นเหตุเป็นผลกันสักเท่าไหร่
เหตุผลแรกเนื่องจากช่องบริการสาธารณะ 12 ช่อง มีการกำหนดสัดส่วนข่าวและสาระ 75% อยู่แล้ว จึงคิดว่าช่องข่าวดิจิทัลไม่จำเป็นจะต้องไปกำหนดสัดส่วนข่าว และสาระไว้อย่างน้อย 75% ลดลงมาเหลือ 50% และอีกเหตุผลคือเอกชนร้องมาในระหว่างประชาพิจารณ์
ขอแสดงความเห็นตรงไปตรงมาที่ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือบริษัทที่ผมบริหารอยู่แต่อย่างใด พร้อมจะประมูลช่องข่าวตามร่างหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่ กสท. กำหนดออกมาที่ยอมรับว่า มีข้อจำกัดสำคัญคือการกำหนดสัดส่วนข่าวและสาระจะต้องไม่น้อยกว่า 75% แม้ได้ราคาขั้นต่ำ 220 ล้านบาท น้อยกว่าช่องวาไรตี้, จำนวนช่องที่ให้ประมูล 7 ช่อง, ข้อห้ามผู้ประมูลช่องข่าวไม่สามารถประมูลช่องความคมชัดสูงกว่าปกติ (High Definition) และเคาะเพิ่มราคาเพิ่มครั้งละ 2 ล้านบาท
อยากจะเตือนความจำของ กสท. ว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ที่คลี่คลายมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มุ่งให้เกิดประโยชน์ในการจัดสรรคลื่นความถี่ ที่เป็นทรัพยากรสาธารณะให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคม เช่น การเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชน ได้มีสัดส่วนการใช้คลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สำหรับชุมชน การจัดสรรคลื่นความถี่ให้มีข่าว และสาระมากขึ้นในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฯลฯ
ข้อเสนอใหม่ของท่านประธาน กสท. ที่จะมีการพิจารณาอีกครั้ง ในการประชุม กสท. วันจันทร์ 15 ก.ค. เสนอว่า ควรจะลดสัดส่วนข่าวและสาระในช่องข่าวดิจิทัลทีวีจาก 75% เหลือ 50% มองทุกมุมไม่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้นได้อย่างไร
มิหนำซ้ำ การเพิ่มสัดส่วนรายการประเภทวาไรตี้ และบังเทิง ในช่องข่าวจากไม่เกิน 25% เป็น 50% กลับเอื้อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นในผู้เข้าประมูลช่องข่าว แล้วเท่ากับไปลดระดับความรุนแรงของการแข่งขันในการประมูลช่องวาไรตี้ที่กำหนดราคาขั้นต้นสูงกว่าช่องข่าว
เดิมมีการประเมินกันว่าผู้สนใจประมูลช่องวาไรตี้ จะมีผู้เข้าแข่งขันประมาณ 15-20 ราย หรือเทียบสัดส่วนการแข่งขัน 1 ช่องต่อ 2-3 ราย ที่ถือว่าเป็นการแข่งขันที่รุนแรงมากอาจจะทำให้ราคาประมูลสุดท้ายสูงไปถึง 2-3 พันล้านบาทได้แต่ช่องข่าวที่มีข้อจำกัดให้มีข่าวและสาระมากถึง 75% ที่เป็นที่รู้กันว่าศักยภาพการหารายได้โฆษณาต่ำกว่ารายการประเภทละคร-วาไรตี้-บันเทิง ทำให้คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าประมูลประมาณ 10 รายหรือ 1 ต่อ 1.5 รายที่การเสนอราคาแข่งขันกันคงไม่รุนแรงเท่ากับช่องวาไรตี้ที่มีคู่แข่งขันมากกว่า
ถ้าหากบอกว่ามีเอกชนเสนอในระหว่างประชาพิจารณ์ให้ลดสัดส่วนลง อยากจะให้เปิดเผยชื่อออกมา ว่าเอกชนรายไหนที่ตั้งใจประมูลช่องข่าว แล้วไปขอลดสัดส่วนข่าวและสาระลงจาก 75% เหลือ 50% เพื่ออะไร? ทั้งๆ ที่เงื่อนไขการประมูลช่องวาไรตี้กำหนดไว้ว่า ให้มีข่าวและสาระอย่างน้อย 25% ถ้าหากเอกชนรายนั้นไม่มีความสามารถในการทำข่าวและสาระได้ไม่ถึง 75% ก็ควรจะไปประมูลช่องวาไรตี้ที่สามารถทำข่าวได้ต่ำกว่า 75%
มองได้สถานเดียวข้อเสนอลดสัดส่วนข่าว และสาระ ในช่องข่าวเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายนั้นแบบเต็มๆ ทั้งที่ตัวเองไม่มีความพร้อมในการทำข่าวในสัดส่วนอย่างต่ำ 75% ที่โอกาสขายโฆษณาได้ราคาต่ำกว่าคอนเทนท์แบบวาไรตี้อย่างแน่นอน

เข้าทำนองอยากได้ "ของดี-ราคาถูก" อยากได้ราคาประมูลขั้นต่ำแบบช่องข่าว 220 ล้านบาท ที่ต่ำกว่าช่องวาไรตี้ถึง 160 ล้าน และช่วงราคาเคาะของช่องข่าว 2 ล้านบาท ส่วนช่องวาไรตี้ครั้งละ 5 บาท แต่ไม่พร้อมทำข่าวแบบสุดซอยอย่างต่ำ 75% ความคิดนี้น่าจะเกิดขึ้นหลังจากได้ไปลองเคาะราคาเมื่อวันที่ 1 ก.ค. แล้วน่าจะได้ข้อสรุปชัดเจนว่าราคาประมูลสุดท้ายของช่องข่าวคงจะต่ำกว่าช่องวาไรตี้ไม่น้อยกว่า 50%
อันที่จริงแล้วสูตรการประมูล 3-7-7-7 ช่องเด็ก ช่องข่าว-ช่องวาไรตี้ SD-ช่องวาไรตี้ HD แล้วอนุญาตให้ผู้เข้าประมูลถือครองได้ไม่เกิน 3 ช่อง แต่มีข้อห้ามถือครองช่องข่าวกับช่องวาไรตี้ HD น่าจะลงตัวที่สุดแล้ว
ลองคำนวณสัดส่วนข่าวและสาระของช่องข่าว 7 ช่อง และในช่องวาไรตี้ 14 ช่องๆ ละ 25% เทียบกับสัดส่วนวาไรตี้ ในช่องข่าว 25% และ75% ในทุกช่องวาไรตี้จะพบว่าสัดส่วนข่าวและสาระรวมกันเทียบกับวาไรตี้รวมกันเป็นสัดส่วน 1 ต่อ 1.4
แต่ถ้าหากข้อเสนอลดสัดส่วนข่าวและสาระในช่องข่าวลงจาก 75% เหลือ 50% จะทำให้พื้นข่าวในช่องดิจิทัลทีวีลดสัดส่วนลงมากเหลือประมาณ 1 ต่อ 2.25 สัดส่วนวาไรตี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนับสำคัญ โดยยังไม่ได้ไปรวมกับช่อง 3, ช่อง 5 และช่อง 7 ที่อยู่ในระบบอนาล็อคมีเนื้อหาวาไรตี้เป็นส่วนใหญ่ของผัง
ผมมีความเห็นว่าการอ้างเหตุผลว่า ข่าวและสาระในช่องบริการสาธารณะ 12 ช่อง มากเพียงพอแล้ว เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างมาก เพราะช่องทีวีสาธารณะทั้งหมดน่าจะเป็นช่องโทรทัศน์ดิจิทัลของรัฐ ข่าวสารและสาระที่ผลิตออกมาในเชิงคุณภาพสร้างสรรค์ปัญญาให้สังคมน่าจะอยู่ในระดับอ่อนมากๆ ส่วนใหญ่น่าจะเป็นการยัดเยียดเนื้อหาของเจ้าของช่องทีวีสาธารณะให้ผู้ชมเสียมากกว่า
จึงไม่เข้าใจเหตุผลจริงๆ ว่า ทำไมข้อเสนอนี้ที่มีนัยสำคัญในการประมูลดิจิทัลทีวี 24 ช่อง ที่เป็นประโยชน์กับเอกชนบางรายที่ไม่มีความพร้อมในการผลิตข่าวและสาระให้สังคมไปมีอิทธิพลกับกสท.มาก จนถึงขั้นประธาน กสท. ออกโรงเอง "โยนหินถามทาง" ท่ามกลางความสงสัยว่าทำไมกสท.จะต้องไปกังวลแทนภาคเอกชนที่กำลังจะประมูลช่องข่าวดิจิทัล ว่าอาจจะทำข่าวไม่ได้ 75% จนต้องขอลดสัดส่วนลงเหลือ 50%
สิ่งที่ กสท. ควรจะทำมากกว่าคือการจัดลำดับความสำคัญของ Supply Chain อุตสาหกรรมโทรทัศน์ ในระบบดิจิทัล ความสำคัญลำดับแรกน่าจะเป็นการเร่งจัดการให้การลงทุนโครงข่าย เพื่อออกอากาศช่องดิจิทัลทีวีมีความชัดเจนเร็วที่สุด พร้อมกับการกระจายกล่องรับสัญญาณ SET-TOP-BOX ให้ไปถึงครัวเรือนไทยให้มากที่สุด
กสท. กำหนดไว้ว่า ปี ชแรกจะให้ผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายเร่งลงทุนให้ได้ 50% ของประชากร ซึ่งน่าจะหมายถึงโครงข่ายดิจิทัลทีวีจะต้องเข้าถึง ( Coverage Network) ครัวเรือนไทยไม่น้อยกว่า 11 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 35 ล้านคน แต่ กสท. กลับยังไม่เคยมีแผนปฏิบัติการสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้ครัวเรือนไทย นำกล่องรับสัญญาณไปติดตั้งให้ได้ตามจำนวนนั้น เพื่อให้ครัวเรือนไทยเข้าถึง (Penetration Rate) ช่องดิจิทัลทีวี 48 ช่อง ให้ได้มากที่สุด
เปรียบเสมือนโครงข่าย เป็นการสร้างถนนไปถึงหมู่บ้านยังไม่ทันเสร็จ แต่ กสท. กลับเร่งติดตั้งด่านเก็บเงินประมูลช่องดิจิทัลทีวี หรือเปรียบเสมือนการประมูลให้ใบอนุญาต "รถยนตร์" แบบต่างๆ จากผู้ประกอบการ "ขนส่ง" คอนเทนท์ในประเภทข่าว, วาไรตี้ และ เด็กไปส่งถึงครัวเรือนไทย หากถนนยังไม่เสร็จการประเมินราคาค่าติดตั้งด่านเก็บเงิน และค่าผ่านทางที่ยังไม่เรียบร้อย ย่อมทำให้ผู้ประกอบการลังเลจะเข้าประมูลค่าผ่านทาง แล้วยิ่งกสท.มาเสนอแก้ไขกติกาอยู่เรื่อยๆ แบบห่วงเอกชนมากเกินไปและไม่ค่อยสมเหตุสมผล
ทุกวันนี้สังคมไทยมีความจำเป็นจะต้องเพิ่มพื้นที่ "เนื้อหา" รายการในโทรทัศน์ที่ส่งเสริมสร้างปัญญาให้สังคมมากขึ้น สังคมไทยตลอดช่วง 50 ปี ที่ผ่านมาที่อุตสาหกรรมโทรทัศน์อยู่ในสภาพกึ่งผูกขาด ในระบบสัมปทานทำให้เต็มไปด้วย "เนื้อหา" ในรายการโทรทัศน์ที่มีสาระน้อยมากจนถึงไม่มีสาระใดๆ ที่เป็นประโยชน์กับสังคม, รายการละคร-บันเทิงที่มักสร้างค่านิยมผิดๆ, รายการที่ไม่ส่งเสริมปัญญา-ความรู้ล้นผัง ฯลฯ
อย่าให้การประมูลดิจิทัลทีวีครั้งนี้สูญเปล่า ด้วยการเพิ่มพื้นที่เนื้อหาที่ไม่ใช่ข่าว และสาระเข้ามาในช่องข่าว 7 ช่อง อีกเลย เท่าที่มีผลิตกันอยู่ช่องทีวีเดิมในระบบอนาล็อค และในอนาคตช่องดิจิทัลทีวีอีก 14 ช่อง ก็จะยิ่งเต็มล้นไปด้วยเนื้อหาที่ไม่เป็นสาระในการยกระดับความคิดความรู้ของสังคมไทย อยากจะขอให้พื้นที่ข่าว และสาระมีที่ยืนอย่างแน่นๆ ไม่น้อยกว่า 75% ในช่องข่าว 7 ช่องที่ผมเชื่อว่าจะทำให้สังคมได้ประโยชน์มากกว่าไปลดสัดส่วนลง
|