พินิจพิเคราะห์ปูมหลัง "ผู้เล่นรายใหม่" ที่พาเหรดกันเข้ามาวอร์มอัพซื้อซองประมูลดิจิทัลทีวีแล้ว ทำให้มองเห็นภาพกระบวนการ "หลอมรวม" หรือ Convergence ธุรกิจสื่อ-โทรคมนาคม-บันเทิงทุกแขนงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่กำลังเริ่มก่อร่างขึ้นในปีหน้าอย่างรวดเร็ว ทันทีที่การประมูลดิจิทัลทีวีเสร็จสิ้นในช่วงเดือนธ.ค.2556-ม.ค.2557 จำนวนรวม 33 บริษัทจาก 24 กลุ่มธุรกิจที่ได้ซื้อซองประมูลดิจิทัลทีวีไปทั้งหมด 49 ซองหรือ 49 ช่อง เพื่อแข่งขันประมูลให้ได้ 24 ช่อง ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) จัดสรรด้วยวิธีการประมูลราคา "สูงสุด" โดยไม่ได้พิจารณา "ผังรายการ" เป็นหลัก พอจำแนกออกมาได้ดังนี้ กลุ่มผู้เล่นเดิมในฟรีทีวีระบบอนาล็อก คือ กลุ่มช่อง 3 ซื้อ 4 ซองครบทุกประเภท (HD,SD,NEWS,KID), กลุ่มช่อง 7 ซื้อ 2 ซอง (HD,SD) และกลุ่มอสมท.ซื้อ 3 ซอง (HD,SD,KID) ประเมินว่าจะประมูลได้รวมกัน 5-6 ช่อง กลุ่มผู้เล่นใหม่สายบันเทิงที่มีทีวีดาวเทียม คือ กลุ่ม GMM ซื้อ 2 ซอง (HD,SD ), กลุ่ม RS ซื้อ 1 ซอง (SD) ประเมินว่าจะประมูลได้รวมกัน 2 ช่อง กลุ่มผู้เล่นใหม่สายสิ่งพิมพ์ที่มีทีวีดาวเทียม คือ กลุ่มเนชั่น ซื้อ 3 ซอง (SD,NEWS,KID ), กลุ่มทีวีพูล ซื้อ 3 ซอง (SD,NEWS,KID), กลุ่มอัมรินทร์ซื้อ 2 ซอง (HD,SD), กลุ่มเดลินิวส์ ซื้อ 1 ซอง NEWS, กลุ่มสยามสปอร์ต ซื้อ 1 ซอง NEWS ประเมินว่าจะประมูลได้รวมกัน 4-5 ช่อง กลุ่มผู้เล่นใหม่สายสิ่งพิมพ์ที่ยังไม่มีทีวีดาวเทียม คือ กลุ่มไทยรัฐ ซื้อ 3 ซอง (HD,SD,KID), กลุ่มบางกอกโพสต์ซื้อ 1 ซอง NEWS ประเมินว่าจะประมูลได้รวมกัน 2 ช่อง กลุ่มผู้เล่นใหม่สายโทรคมนาคม คือ กลุ่มทรู ซื้อ 4 ซอง (HD,SD,NEWS,KID ), กลุ่ม IN-Touch ซื้อ 2 ซอง (SD,KID), กลุ่มจัสมิน (MONO) ซื้อ 3 ซอง (HD,SD,NEWS) ประเมินว่าจะประมูลได้รวมกัน 4-5 ช่อง กลุ่มทีวีดาวเทียมคือ VOICE TV ซื้อ 2 ซอง (SD,NEWS ), SPRING News ซื้อ 1 ซอง NEWS, กลุ่ม ROSE ซื้อ 1 ซอง KID ประเมินว่าจะประมูลได้รวมกัน 2-3 ช่อง กลุ่มผู้เล่นใหม่สายคอนเทนท์ คือ กลุ่มเวิร์คพอยท์ ซื้อ 2 ซอง (HD,SD) กลุ่ม "คุณแดง" สุรางค์ เปรมปรีดิ์บ ริษัทจันทร์ 25 (ผลิตละครให้ช่อง 3,ช่อง 5) ซื้อ 1 ซอง HD, กลุ่มนายสมชาย รังษีธนานนท์ บริษัท 3A มาร์เก็ตติ้ง (ผลิตข่าวให้ช่อง 5) ซื้อ 1 ซอง NEWS ประเมินว่าจะประมูลได้รวมกัน 2-3 ช่อง กลุ่มผู้เล่นใหม่จากธุรกิจอื่นๆ คือ กลุ่มคุณหมอประเสริฐ ปราสาททองโอสถ ธุรกิจโรงพยาบาล-สายการบิน ซื้อ 2 ซอง (HD,SD), กลุ่มนายประยุทธ์ มหากิจศิริ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์-อุตสาหกรรม ซื้อ 2 ซอง (HD,SD), กลุ่มนายสราญ เลิศเจริพงศา กลุ่มธุรกิจโฆษณา ซื้อ 2 ซอง (SD,KID ) ประเมินว่าจะประมูลได้รวมกัน 1-2 ช่อง
มองข้ามไปหลังประมูลดิจิทัลทีวีเสร็จสิ้น จะทำให้สนามแข่งขันดิจิทัลทีวีมีผู้เล่นใหม่ ไม่น้อยกว่า 15 ราย โดยจะมาจากสายบันเทิง,สิ่งพิมพ์, โทรคมนาคม, คอนเทนท์ที่แต่ละรายจะกลายเป็นเจ้าของช่องฟรีทีวีดิจิทัล ที่เป็น "คู่แข่งขัน" ที่พอสมน้ำสมเนื้อกับผู้เล่นรายเก่าอย่างช่อง 3, ช่อง 7 และ อสมท. กลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์กำลังก้าวมาสู่ธุรกิจทีวีอย่างเต็มตัว ในรูปแบบของ Convergence ระหว่างคนทำงานผลิตเนื้อหาสิ่งพิมพ์กับทีวีให้เป็นหน่วยผลิตเดียวกัน ที่น่าจะถือเป็นจุดแข็งของกลุ่มสิ่งพิมพ์ที่มี "บุคลากร" สายคอนเทนท์ที่มีประสบการณ์ เพียงแต่ในแต่ละค่ายสิ่งพิมพ์ยังต้องผ่านกระบวนการ "หลอมรวม" วัฒนธรรมการทำงานของคนข่าว นสพ. กับคนทำงานทีวีให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่มักไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เช่น เนชั่น, ไทยรัฐ, โพสต์, เดลินิวส์, ทีวีพูล, อัมรินทร์, สยามกีฬา แม้ว่าทุกค่ายมี "เงินทุน" บนหน้าตักมากกว่าค่ายสิ่งพิมพ์รายอื่นๆ ที่ไม่ได้กระโจนเข้ามาประมูลดิจิทัลทีวี แต่ค่ายสิ่งพิมพ์เหล่านั้นรายรองๆ ลงมาก็ได้เริ่มเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์หรือ Content Provider เช่นเดียวกัน เช่น มติชนจับคู่ผลิตให้กลุ่มเวิร์คพอยต์, สยามรัฐผลิตรายการโทรทัศน์ให้ช่อง TNN 24 ฯลฯ ปรากฏการณ์ที่ชวนระทึกและน่าจับตามองอย่างยิ่ง คือ กลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์ทุกค่ายทั้งรายใหญ่-รายกลาง-รายเล็กกำลังอยู่ในขั้นเร่งปรับกระบวนการ เปลี่ยนผ่านจากธุรกิจสิ่งพิมพ์มาสู่ธุรกิจบอรดแคสติ้งอย่างเต็มตัว ส่วนใหญ่ได้ผ่านเข้าสู่ทีวีดาวเทียมและนิวมีเดีย แล้วอยู่ในขั้นตัดสินใจกำ "เงินทุนก้อนสุดท้าย" กระโจนเข้าสู่การประมูลดิจิทัลทีวีในทางใดทางหนึ่ง ด้วยความเชื่อเหมือนๆ กันว่าน่าจะเป็น "ทางหนีไฟ" วิ่งหนีภาวะยอดคนอ่านและรายได้ทรงกับทรุดของธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพื่อเข้าสู่ "เค้กเม็ดเงินก้อนใหญ่ที่สุด" งบโฆษณาเกินกว่า 55% ประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี กระจุกอยู่ในฟรีทีวีแค่ 4 ช่องเทียบกับเค้กงบโฆษณานสพ.ทุกฉบับรวมกันแค่ 15% ที่มียอดหลักหมื่นล้านบาทเท่านั้น
ในมุมมองของเจ้าของธุรกิจสิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่คาดว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้า รายได้จากธุรกิจสิ่งพิมพ์อาจจะหดตัวลงอย่างเฉียบพลัน เมื่อทั้ง 3 โครงข่ายหรือแพลทฟอร์มคือบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต, เครือข่ายมือถือ 3G และ ดิจิทัลทีวี มีอัตราการเข้าถึงเต็มพิกัดเกือบทุกครัวเรือนในอีก 3-5 ปีข้างหน้า "สื่อสิ่งพิมพ์" ในรูปแบบกระดาษกำลังจะกลายเป็นสื่อที่คนอ่านหดหายไปอย่างรวดเร็ว มากกว่าสื่อใหม่แบบอื่นที่สะดวกและรวดเร็วกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ยักษ์ใหญ่หัวเขียว-ไทยรัฐกับยักษ์ใหญ่ค่ายสีบานเย็น-เดลินิวส์ ได้กระโจนเข้าสู่ธุรกิจบรอดแคสติ้งอย่างเต็มตัวในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ด้วยการส่งไม้ความรับผิดชอบในการบริหารจากทายาทรุ่นที่สองไปสู่ทายาทรุ่นที่สามเหมือนๆ กัน ธุรกิจนิวมีเดียและบรอดแคสติ้งของค่ายไทยรัฐอยู่ในมือของ "จูเนียร์" วัชร วัชรพล ที่กระจายไปทั้งนิวมีเดีย, แพลทฟอร์มโทรทัศน์บอกรับสมาชิกที่ถือหุ้น 25%ใน CTH และกำลังทุ่มเทสร้างสตูดิโอโทรทัศน์ช่องใหม่เพื่อเปิดทีวีดาวเทียมกับดิจิทัลทีวีไปพร้อมๆ กัน ส่วนค่ายเดลินิวส์อยู่ในมือของ ปารเมศ เหตระกูลกับภาณุชัย เหตระกูล ศรีนวลนัด ที่สร้างความแปลกใจให้กันวงการ เมื่อตัดสินใจอย่างฉับพลัน เปิดสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมในนาม "เดลินิวส์ทีวี" เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ส่วนเนชั่น-โพสต์ ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นทั้งคู่ได้เปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจบอร์ดแคสติ้งมานานพอสมควร การบริหารงานธุรกิจบรอดแคสติ้งอยู่ในมือของ "ผู้บริหารรุ่นที่สอง" มาระยะหนึ่งแล้ว ในขณะที่ทีวีพูล, อัมรินทร์, สยามกีฬาที่มี "เงินทุน" แน่นหนา มองเห็นโอกาสการเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ เพื่อให้ "ทายาทรุ่นที่สอง" ที่ส่วนใหญ่ยังอายุน้อยประมาณ 30-40 ปี ได้ใช้จังหวะนี้ รับไม้ต่อจากรุ่นก่อตั้งที่เริ่มจากธุรกิจสิ่งพิมพ์ในสายนิตยสารและกีฬา เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจใหม่ของพวกเขาจะเติบโตทันกับการทรุดตัวของธุรกิจสิ่งพิมพ์-นิตยสาร ธุรกิจบันเทิงในสายเพลงก็เช่นเดียวกัน ยักษ์ใหญ่ 2 ค่าย คือ แกรมมี่ กับ อาร์เอส เจอกับภาวะเสื่อมทรุดของธุรกิจซีดีเพลงมาหลายปี แม้สามารถปรับ Business Model ของเพลงไปสู่รูปแบบดิจิทัลให้ดาวน์โหลดแทนการผลิตแผ่นซีดีที่แม้สามารถทดแทนรายได้ที่หายไปได้พอสมควร แต่ยังมองไม่เห็นอนาคตว่าจะเติบโตสักเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับการละเมิดลิขสิทธิ์ที่แทบไม่มีหนทางแก้ไขได้สักเท่าไหร่ ทั้งกลุ่มแกรมมี่กับอาร์เอสอยู่ในธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์ป้อนสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีมายาวนานกว่า 10 ปี แต่เพิ่งก้าวเข้าสู่การเปิดสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมในช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมาที่มีการเปิดช่องแข่งกันเป็นว่าเล่น แล้วใช้ศิลปินในสังกัดเข้ามาจัดรายการเพลง และวาไรตี้แทนการทุ่มเทเปิดอัลบั้มเพลงใหม่ๆที่เห็นด้ชัดว่าจำนวนน้อยลงไปมาก เส้นทางลงทุนของค่ายแกรมมี่ที่เป็นยักษ์อันดับหนึ่งของค่ายบันเทิงคล้ายๆ ยักษ์ใหญ่สิ่งพิมพ์ไทยรัฐ แกรมมี่ บุกตะลุยธุรกิจบรอดแคสติ้งทุกทิศทุกทางเช่นกัน เปิดช่องทีวีดาวเทียมมากกว่า 10 ช่อง และทุ่มซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโรเพื่อป้อนแพลทฟอร์มในธุรกิจ Pay per View ผ่านกล่อง GMM-Z ที่ยังเป็นภาระหนักอกของ "ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม" ที่จำใจขายหุ้นในมติชน, โพสต์และออฟฟิศเมทเพื่อนำมาเป็น "หน้าตัก" เงินประมูลดิจิทัลทีวีแบบ HD ที่เดิมพันสูงมาก "ต้องได้" สถานเดียว ในขณะที่ค่ายอาร์เอสที่เป็นเบอร์สองธุรกิจบันเทิงเช่นเดียวกับค่ายเดลินิวส์ได้ลงทุนเปิดโทรทัศน์ดาวเทียมอย่างระมัดระวัง 5 ช่อง แต่กลับสามารถสร้างเรทติ้งติดอันดับสูงได้ถึง 3 ช่อง มากกว่าช่องของค่ายแกรมมี่ที่เรทติ้งช่องอันดับหนึ่งของค่ายยังห่างจากอันดับหนึ่งของอาร์เอสมาก ทำให้ค่ายอาร์เอสมีเงินทุนสำหรับประมูลช่องดิจิทัลทีวีแบบสบายๆ และไม่ได้เดิมพันสูงแบบแกรมมี่เพราะซื้อซองประมูลช่องวาไรตี้ SD เพียง 1 ซองเท่านั้น กลุ่มอาร์เอสยังมุ่งไปสู่ธุรกิจกีฬาเช่นเดียวกันด้วยการทุ่มซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกและลาลิกาสเปน แต่ไม่ได้ทุ่มเทสร้างแพลทฟอร์มกล่อง SUNBOX เท่ากับค่ายแกรมมี่ทำให้ไม่ได้เป็นภาระ "แน่นอก" เท่ากับค่ายแกรมมี่ แม้ผู้เล่นใหม่ในสนามประมูลดิจิทัลทีวีในสายสิ่งพิมพ์กับสายบันเทิงที่มีทั้งยักษ์ใหญ่-ยักษ์กลาง ล้วนมีจุดแข็งด้านคอนเทนท์และบุคลากรที่มีประสบการณ์ รวมทั้งเงินทุนบนหน้าตักที่สะสมไว้ไม่น้อย แต่สนามดิจิทัลทีวียังมี "จ้าวตลาด" ในสนามเก่าอนาล็อกที่ยังยึดครอง "ลูกตา" (Eyeball) ของครัวเรือนไทย 22 ล้านครัวเรือนไปได้อีกไม่น้อยกว่า 5 ปีกว่าจะปิดสนาม แต่เดิมพันของผู้เล่นใหม่สายสิ่งพิมพ์กับบันเทิงคือวิ่งหนีภาวะทรง-ทรุดในธุรกิจเดิมให้เร็วที่สุด ด้วยการกระโจนเข้ามาเสี่ยงในสนามใหม่ที่มีจ้าวตลาดอยู่แล้ว ใครจะอยู่ใครจะไปก่อนกันน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง
|