ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาแวดวงทีวีดิจิทัลมีความเคลื่อนไหวคึกคักสุดๆ ภายหลังผู้ชนะประมูล 24 ช่อง ได้จ่ายเงินก้อนแรกไปครบถ้วนกว่า 1.1 หมื่นล้านบาทไปเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่เป็นการ "ตีตั๋ว" สิทธิ์การเข้าไปสนามแข่ง พร้อมกับยื่นเอกสารเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ไปในวันสุดท้าย 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาที่ถือเป็นการลงทะเบียนเพื่อให้กสท.ตรวจความเรียบร้อยของเอกสารอีกภายใน 90 วัน
นับจากนี้เป็นต้นไป จะเริ่มต้นการนับถอยหลังไปสู่การออกอากาศทีวีดิจิทัลในเชิงธุรกิจ 24 ช่อง เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญเป็นอย่างยิ่ง นับจากการเริ่มต้นหน้าประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์ไทยที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2498 สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ออกอากาศเป็นครั้งแรก ในสมัยรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงครามที่เป็นโทรทัศน์ของราชการ ซึ่งผ่านมาเกือบ 60 ปี แล้วยังมีโทรทัศน์ภาคพื้นดินแค่ 6 ช่อง
ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการโทรทัศน์ยุคดิจิทัลที่กำลังเริ่มต้น หากภายใน 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2561 สามารถเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ หรือยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบอนาล็อกโดยสิ้นเชิง ( Analogue Switch-Off/Digital Switch-Over) จะกลายเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงหรือชิ้นงานในระดับมาสเตอร์พีซของ พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ที่ใครๆ ก็ยอมรับในความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังของ "ดร.น้ำ" เป็นคีย์แมนคนสำคัญที่ทำให้การประมูลทีวีดิจิทัลผ่านพ้นไปอย่างไร้ข้อกังขาข้อสงสัยใดๆ ได้เงินประมูลเข้าประเทศไปกว่า 50,000 ล้านบาท
ถือเป็นกรณีตัวอย่างของการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อใช้สำหรับกิจการทีวีดิจิทัลที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก แล้วประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จนกำลังจะกลายเป็น "กรณีศึกษาในระดับโลก" สำหรับวงการโทรคมนาคมและบรอดแคสติ้งที่ทำให้มูลค่าการประมูลคลื่นความถี่เพื่อใช้ในกิจการบรอดแคสติ้งมีมูลค่าเป็น"เงิน"สูงกว่ากิจการโทรคมนาคมที่มีมูลค่าทางธุรกิจมากกว่า ซึ่งตรงกันข้ามกับความเชื่อในอดีตที่ในโลกนี้ไม่เคยมีการประมูลคลื่นความถี่สำหรับทีวีดิจิทัล เพราะเชื่อว่าไม่สามารถจะมีมูลค่าแบบเดียวกับคลื่นความถี่ด้านโทรคมนาคมที่ทุกประเทศใช้วิธีประมูล
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ได้จัดประชุมนัดสำคัญ เชิญดร.นทีมาไขข้อข้องใจกับผู้บริหารช่องทีวีดิจิทัล 24 ช่อง
ดร.นทีบอกว่ากำลัง "ไล่ล่าความฝัน" เพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล เกิดขึ้นเร็วกว่ากำหนด อาจจะแค่ภายใน 2 ปี ไม่ใช่ 5 ปีตามกำหนดเดิม แต่ยอมรับว่ายังมีภารกิจยากๆ อีกหลายอย่างที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย แม้ว่าประเทศของเราจะเพิ่งเริ่มต้นกระบวนการเปลี่ยนผ่าน แต่สามารถเรียนรู้บทเรียนความล้มเหลวของหลายประเทศไม่ให้เกิดขึ้นอีก และใช้บทเรียนความสำเร็จจากประเทศอื่นมาปรับใช้เพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัลเสร็จสิ้นเร็วที่สุดในโลก ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วประเทศส่วนใหญ่ที่เปลี่ยนจากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิทัลใช้เวลาเฉลี่ย 8-10 ปี
"ผมอยากให้ประเทศไทยมี Success Story ในช่วงสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่สงบที่ทีวีดิจิทัลน่าจะเป็นเรื่องเดียวที่มีโอกาสที่สุด" ดร.นที บอกว่าได้ออกคำสั่งแต่งตั้งให้ตัวแทนของ 17 บริษัท ที่ประมูลได้มาเป็นคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการเปลี่ยนระบบการออกอากาศวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ไปสู่ระบบดิจิทัล เพื่อให้ทุกช่องได้เข้ามามีส่วนในการเสนอแนะหารือในกระบวนการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ที่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังเป็นอุปสรรค"
ผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัล 24 ช่อง ที่มีภาระ "ดอกเบี้ย" จากเงินประมูลก้อนโตเพิ่มขึ้นทุกนาทีในภาวะที่ยังไม่สามารถออกอากาศได้ ฟังน้ำเสียงที่มุ่งมั่นของ ดร.นที แล้วน่าจะทำให้ความรู้สึกว้าวุ่นกระวนกระวายใจผ่อนคลายลงไปได้บ้างเพียงแต่ยังมีคำถามอีกหลายข้อที่อยากให้ ดร.นที ไขข้อข้องใจเพื่อจะได้ "ไล่ล่าหาความฝัน" ร่วมกัน
คำถามแรก กสท. กำหนดจะให้ออกอากาศได้เมื่อไหร่? ซึ่งมีความสับสนว่า กสท. ให้เลื่อนการออกอากาศจากวันที่ 1 เมษายน ไปเป็น 1 มิถุนายนหรือไม่
ดร.นที อธิบายว่ากรอบระยะเวลาในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลกำหนดไว้ 90 วัน นับจากวันที่ผู้ชนะประมูลได้ยื่นเอกสารคำขอรับใบอนุญาตไปหมดแล้วเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คาดว่า กสท. จะออกใบอนุญาตแบบมีเงื่อนไขภายในกลางเดือนมีนาคม โดยกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติของผู้ยื่นขอใบอนุญาตฯ ไว้ 3 ขั้นตอนคือ

ขั้นตอนแรกในเดือนแรก ช่องทีวีดิจิทัลสามารถออกอากาศวันละกี่ชั่วโมงก็ได้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละช่อง แต่ผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายระบบทีวีดิจิทัลทั้ง 4 ราย จะต้องมีความพร้อมให้บริการในวันที่ 1 เม.ย. ในพื้นที่ 4 จังหวัดคือกรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, นครราชสีมา และ สงขลา
ขั้นตอนที่สองในเดือนที่สอง ช่องทีวีดิจิทัลจะต้องให้สถานีดาวเทียมไทยคมดำเนินการไปตามกฎ Must Carry ในระบบ C-Band และ KU-Band เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายประเภทจานดาวเทียม, โทรทัศน์บอกรับสมาชิก (ทรูวิชั่นส์) สามารถนำไปให้บริการต่อตามข้อกำหนดของกสท. ซึ่งบริษัทไทยคมได้ชี้แจงรายละเอียดความพร้อมให้กับช่องทีวีดิจิทัลไปแล้วเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ว่าพร้อมจะดำเนินการทดลองตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคมแล้วจะให้บริการ Must Carry อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เมษายนนี้
ขั้นตอนที่สามในเดือนที่สาม ช่องทีวีดิจิทัลจะต้องปฏิบัติตามกฎทุกอย่างของ กสท. ในการให้บริการโทรทัศน์เป็นการทั่วไป เช่น ข่าวราชสำนัก, การกำหนดเรทติ้งรายการ ฯลฯ และ ออกอากาศตามผังที่ได้ยื่นกับกสท.
หากผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัลสามารถปฏิบัติได้ครบทั้ง 3 ขั้นตอน จะถือว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนในการได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2557
แต่ถ้ารายใดมีความพร้อมสามารถปฏิบัติข้ามขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่เดือนแรกของการออกอากาศก็สามารถทำได้ทั้งหมดทันทีเลย แต่กสท.จะถือว่าใบอนุญาตเริ่มมีผลนับอายุ 15 ปีตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2557
ดร.นทีบอกว่าประเด็นที่ยังเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ขอให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาอีกครั้งว่า ในระหว่างทดลองออกอากาศจะสามารถปล่อยโฆษณาไปด้วยได้หรือไม่ เพราะมีกรรมการกสท.บางท่านได้ท้วงติงว่าไม่สามารถทำได้
"ผมเข้าใจโดยสุจริตว่าโฆษณาได้และไม่มีค่าธรรมเนียม 2% การออกใบอนุญาตแบบมีเงื่อนไขให้ปฏิบัติภายใน 90 วัน เป็นคำสั่งทางปกครองถือเป็นช่วง Soft Opening ที่เสมือนจริงมากที่สุด เหมือนกับการเปิดศูนย์การค้าที่มีช่วงก่อนเปิดจริงก็ให้ร้านค้าไปเปิดขายสินค้าได้" ดร.นทียืนยันหนักแน่นว่ามั่นใจว่าช่วง 90 วัน ดังกล่าวสามารถโฆษณาได้
ในฐานะที่เนชั่นเป็นผู้ชนะประมูลช่องดิจิทัลด้วย ผมได้ยกตัวอย่างเทียบเคียงว่าฟรีทีวี 6 ช่อง ที่ไม่มีใบอนุญาตดิจิทัลได้รับอนุญาตให้ทดลองออกอากาศระบบดิจิทัลผ่านโครงข่ายช่อง 5 มาตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว ยังสามารถปล่อยโฆษณาได้ มิเช่นนั้นก็คงต้องทำเป็นเพลทคั่นช่วงโฆษณาหรือเป็นจอดำไม่ให้โฆษณาหลุดออกไปจะทำให้การทดลองออกอากาศเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
ความฝันของ ดร.นที ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง เช่น อนาคตโทรทัศน์ในประเทศไทยจะมีโทรทัศน์ดิจิทัล 36 ช่อง ที่ออกทุกโครงข่ายทั้งภาคพื้นดินและดาวเทียมที่มีหมายเลขเรียงเหมือนกันตั้งแต่ 1-36 เพื่อให้คนไทยได้รับชมทีวีดิจิทัลอย่างทั่วถึง , การรับชมโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมใน 36 ช่องแรกจะเป็นช่องทีวีดิจิทัล และนอกเหนือจากนั้นจะเป็นแบบ Pay TV, การออกใบอนุญาตการวัดเรทติ้งเพื่อกำกับดูแลได้ , การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้วยการแจกคูปองเพื่อนำไปแลกกล่องรับสัญญาณ ฯลฯ
กุญแจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านการออกอากาศโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิทัลยังมีอีกหลายประเด็น หากปล่อยให้ดร.นทีเดินหน้าไล่ล่าความฝันแต่เพียงลำพัง น่าจะต้องเจอขวากหนามและกับระเบิดเป็นระยะๆ
เพราะวงการโทรทัศน์ไทยยังไม่เคยเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่อย่างมีนัยสำคัญในรอบกว่า 50 ปีที่มีสภาพ "กึ่งผูกขาด" จากกลุ่มผู้เล่นรายเก่าที่ครองส่วนแบ่งคนดูและเม็ดเงินโฆษณาจำนวนมหาศาลเป็นเดิมพันให้ยังคงอยู่ในมือให้มากที่สุดและนานที่สุด แต่ด้วยเงื่อนไขการแข่งขันจากจำนวนช่องที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดสภาพภูเขาน้ำแข็งละลายลงมาสู่ "ผู้เล่นรายใหม่" 24 ช่อง ที่ในอนาคตคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หวังว่าสนามแข่งขันที่เท่าเทียมกันน่าจะเกิดขึ้นภายใน 3-5 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอนเมื่อระบบอนาล็อกยุติลง สภาพกึ่งผูกขาดในวงการโทรทัศน์ไทยที่เป็นมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษจะค่อยๆ คลายตัวลง สุดท้ายผู้บริโภคและสังจะได้ประโยชน์จากการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัลอย่างแน่นอน
|