ความสลับซับซ้อนของการเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกไปสู่ทีวีดิจิทัลของประเทศไทยว่าด้วยการกำหนด"หมายเลขช่องเดียวกันทุกแพลตฟอร์ม" น่าจะเป็น"งานท้าทาย"อีกงานที่เป็น"ความฝัน"ของพ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.)
พ.อ.ดร.นทีประกาศอย่างมั่นใจว่าภายในเดือนมีนาคมนี้จะจัดการปัญหาการจัดเรียงหมายเลขช่องทีวีดิจิทัลในระบบภาคพื้นดินกับกฎ Must Carry ในทุกโครงข่ายเป็นหมายเลขเดียวกัน เหมือนกันตั้งแต่หมายเลข 1-36 ที่เป็นลำดับช่องทีวีดิจิทัล เริ่มจากช่องทีวีสาธารณะ 1-12 ,ช่องเด็ก 13-15 , ช่องข่าว 16-22 , ช่องวาไรตี้ SD 23-29 และช่องวาไรตี้ HD 30-36
อนาคตของช่องโทรทัศน์ดาวเทียมจะเริ่มตั้งแต่หมายเลข 37 เป็นต้นไปแล้วจะกลายเป็น Pay TV ทั้งหมด เพื่อจะทำให้ช่องทีวีดิจิทัลที่ภาคเอกชนประมูลมาได้มีมูลค่าสูงขึ้นกว่าจำนวนเงินที่ผู้ประมูลมาได้
"แล้วจะได้เห็นกันว่าราคาประมูลที่พวกท่านบอกว่าสูงจะกลายเป็นคุ้มค่ามากที่ประมูลได้"พ.อ.ดร.นทีกล่าวอย่างมั่นอกมั่นใจ บอกว่า"เป็นความฝันที่จะทำให้ทีวีดิจิทัลของประเทศประเทศไทยเป็น Success Story ที่หาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน"
พาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์หลายฉบับในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ตอกย้ำคำพูดของพ.อ.ดร.นทีว่าเลือกหยิบประเด็นนี้พาดหัวทำนองว่ากสท.จะกำหนดให้ช่องทีวีดิจิทัลเรียงเบอร์ช่อง 1-36 เหมือนกันทุกแพลตฟอร์ม เพื่อลดความสับสนของผู้บริโภคที่ช่องทีวีดิจิทัลบนโครงข่ายตามกฎ Must Carry จะต้องบวกไป 10 ทุกช่อง เช่น
ช่อง Nation อยู่บนภาคพื้นดินได้เลือกหมายเลข 22 แต่พอวันที่ 1 เมษายนออกอากาศในระบบดิจิทัลจะเข้าไปในโครงข่ายอย่างทรูวิชั่นส์และจานดาวเทียมตามกฎ Must Carry จะกลายเป็นหมายเลข 32 ที่ไปตรงกับเบอร์ช่องไทยรัฐทีวีที่อยู่บนภาคพื้นดินหมายเลข 32 แล้วช่องไทยรัฐทีวีในทรูวิชั่นส์และจานดาวเทียมจะต้องเป็นหมายเลข 42

คงเป็นเพราะช่องไทยรัฐทีวีเป็นโทรทัศน์ช่องใหม่ซิงๆ ที่กำลังจะเปิดตัวในวันที่ 22 เมษายนนี้ กลุ่มนสพ.ไทยรัฐไม่เคยทำโทรทัศน์ดาวเทียมคงไม่คุ้นเคยกับถูกโยกย้ายหมายเลขช่องบนจานดาวเทียม PSI ที่มีส่วนแบ่งในตลาดมากกว่า 50 % ทำให้มีข่าวเล่าลือกันสะพัดวงการว่าทายาทไทยรัฐได้ตัดสินใจใช้เงินก้อนโตระดับ 7 หลักต่อเดือน
จองซื้อหมายเลข 3 บนกล่องจานดาวเทียม PSI ด้วยความเชื่อว่าผู้บริโภคจะกดรีโมทง่ายและหมายเลข 3 เดิมเคยเป็นช่อง 7 ที่เป็นทีวีที่ได้รับความนิยมสูงสุด จนกลายเป็นข้อพิพาทกับช่อง 3 ระบบอนาล็อกที่ชะล่าใจไม่จองหมายเลขนี้ไว้ แต่ตอนนี้อยากได้ใจจะขาด แล้วใครจะยอม?
ช่อง Workpoint TV ที่เดิมมีข้อตกลงทางธุรกิจกับเจ้าของจานพีเอสไออยู่หมายเลข 7 จะขอขยับมาอยู่หมายเลข 1 แล้วตามด้วยช่อง RS หมายเลข 2 ช่องไทยรัฐทีวี หมายเลข 3 และช่องข่าวทีวีพูล THV หมายเลข 7
10 ช่องแรกบนโครงข่ายที่ให้เจ้าของโครงข่ายจัดการเอง หมายถึง 10 ช่องแรกบนจานดาวเทียมในระบบ C-Band,KU-Band ของดาวเทียมไทยคม
10 ช่องแรกของโครงข่ายประเภทผู้ประกอบการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก เช่น ทรูวิชั่นส์, เคเบิลท้องถิ่น ฯลฯ ก็มีสิทธิเลือกช่องเองได้
10 ช่องแรกกลายเป็นสมบัติล้ำค่าของเจ้าของโครงข่ายในการจัดการได้เอง เมื่อกสท.ออกประกาศเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2556 ลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2556 ที่แทบไม่มีใครมีโอกาสได้ไถ่ถามว่าประกาศนี้เป็นมาอย่างไร ก่อนการประมูลทีวีดิจิทัลเพียงแค่ประมาณ 1 เดือนเท่านั้น
10 ช่องแรกในอดีตบนจานดาวเทียมโดยทั่วไปก่อนจะมีโทรทัศน์ดาวเทียมเกิดขึ้นมา 200 ช่องในปี 2553-55 แทบไม่มีราคาค่างวดใดๆ แต่ใช้เรียงช่องฟรีทีวีไว้ลำดับแรกเพื่อให้ผู้บริโภคสะดวกในการเลือกดูช่องฟรีทีวี เพราะส่วนใหญ่ผู้ติดตั้งจานดาวเทียมในยุคแรกๆ ต้องการดูฟรีทีวีชัดเป็นหลัก
รวมทั้งทรูวิชั่นส์ที่ในยุคแรกชื่อ UTV ที่ตัดสินใจยอมอัพลิงก์สัญญาณเองนำช่องฟรีทีวีลงไปในระบบบอกรับสมาชิกเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนดูที่ไม่สามารถรับโทรทัศน์ได้ชัดมารับผ่านจานหรือเคเบิ้ล UTV แทนที่ได้ผลตอบรับดีมาก ทำให้ยอดสมาชิกของ UTV ในสมัยนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ผู้ประกอบกิจการจานดาวเทียม C-Band หรือจานดำ จึงมักจัดเรียงช่องฟรีทีวี 6 ช่องเรียงลำดับกันจากช่อง 3 หมายเลข 1 , ช่อง 5 หมายเลข 2,ช่อง 7 หมายเลข 3, ช่อง 9 หมายเลข 4, ช่อง 11 หมายเลข 5 และช่องไทยพีบีเอส หมายเลข 6 แล้วหลักจากนั้นก็ไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆ ในการเรียงช่อง จนกระทั่งเกิดช่องทีวีดาวเทียมมากมาย ทำให้เกิดความต้องการหมายเลขช่องในลำดับต้นๆ เพื่อสะดวกต่อการกดรีโมทของผู้บริโภค
Nation Channel น่าจะเป็นช่องแรกที่ได้รับ"ข้อเสนอ"จากบริษัทพีเอสไอที่พัฒนาเทคโนโลยีเขียนโปรแกรมการจัดเรียงหมายเลขช่องให้เลือกหมายเลขช่องเบอร์เดียวคือหมายเลข 5 แล้วพีเอสไอขยับช่อง 11 ไปอยู่หมายเลข 11 ตามชื่อช่อง แลกกับโฆษณาให้จานดาวเทียมพีเอสไอเป็นเวลา 1 ปี ด้วยมูลค่าต่อเดือนเท่าๆ กับค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม แล้วครบ 1 ปีก็มีข้อเสนอที่แตกต่างจากเดิมทำให้ช่อง nation Channel อยู่ที่หมายเลข 87 บนจานพีเอสไอ ถือเป็นความเก่งของฝ่ายวิจัยและพัฒนาธุรกิจของบริษัทพีเอสไอที่ทำให้"หมายเลขช่อง"มีมูลค่าขึ้นมาได้อย่างน่าประหลาดใจ
คู่แข่งขันของกลุ่มพีเอสไอเป็นกลุ่มผู้ผลิตและค้าจานดาวเทียมอันดับรองๆ ลงมารวมตัวกันในนาม BIG4 ประกอบด้วยบริษัท Infosat, IdeaSat, ThaiSat และ LeoTech เสนอสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียมแห่งประเทศไทยจัดเรียงช่องแบบกลุ่มเนื้อหารายการให้อยู่ในหมวดเดียว เช่น กลุ่มช่องข่าว, ช่องเด็ก ,ช่องเพลง,ช่องวาไรตี้ ฯลฯ เพื่อแก้เกมการตลาดของจานพีเอสไอ
ว่ากันว่าที่มาของแพลตฟอร์มกล่อง GMMZ เกิดมาจากอารมณ์ขุ่นมัวอย่างยิ่งของอากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผู้ถือหุ้นของกลุ่มแกรมมี่ที่ถูกเจ้าของจานพีเอสไอเรียกเก็บเงินค่าเบอร์ช่องเป็นหลักช่องละหลายๆ แสนบาท หากช่องทีวีดาวเทียมของแกรมมี่ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดร่วม 10 ช่องในช่วงนั้นต้องการจะอยู่ในลำดับต้นๆ ของจานพีเอสไอที่มีส่วนแบ่งตลาดจานมากกว่า 50 %แล้วจัดเรียงเบอร์ติดต่อกัน
กลุ่มแกรมมี่ไม่ยินยอมจ่ายค่าเบอร์ช่องก็ถูกจัดเรียงไปอยู่ในลำดับท้ายๆ เป็นเลข 3 หลักแล้วโยกย้ายเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลา แต่คู่แข่งขันสำคัญอย่างกลุ่มอาร์เอสยินยอมจ่ายเพื่อให้ได้เบอร์เรียงกันลำดับต้นๆ แล้วไม่เคยถูกเปลี่ยนเลย
ในขณะที่การมาหลังสุดของช่อง Workpoint TV ที่เจาะจงหมายเลขช่อง 7 ยินยอมจ่ายค่าบริการอัพลิงก์และเก็บข้อมูลเรทติ้งคนดูให้ ซึ่งเวิร์คพอยท์บอกคุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายเพื่อทำให้คนดูช่อง Workpoint TV จดจำง่ายกดรีโมทสะดวกมีเรทติ้งแน่นอน เพราะช่อง Workpoint TV มาทีหลังใครทั้งหมด
บริษัทพีเอสไอยืนยันว่าค่าใช้จ่ายนี้ไม่ใช่การขายเบอร์ช่อง แต่เป็นค่าบริการการให้บริการข้อมูลคนดูและการบริการทางเทคนิคของกล่องรับสัญญาณในระบบ OTA ที่บริษัทได้ลงทุนพัฒนาขึ้นมาให้ผู้บริโภคมีความสะดวกในการอัปเดตช่องรายการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน
กสท.ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2556 ลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 19 ธ.ค. 2556 ว่าด้วยการจัดเรียงลำดับช่องบนโครงข่ายอนุญาตให้ 10 ช่องแรกอยู่ในการตัดสินใจของผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายที่ทำให้กฎ Must Carry ทีวีดิจิทัลต้องบวกลำดับช่องไปอีก 10 ช่อง
แต่ประกาศของกสท.เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2556 ลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 26 เม.ย. 2556 ว่าด้วยการจัดหมวดหมู่และการจัดเรียงลำดับเรียงได้ระบุว่าห้ามผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายนำการจัดเรียงหมายเลขช่องไปแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ
แล้วความฝันของพ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ที่อยากให้ช่องหมายเลข 1-36 เป็นช่องทีวีดิจิทัลหมายเลขเดียวกันบนทุกโครงข่ายตามกฎ Must Carry จะเกิดขึ้นได้อย่างไร พ.อ.ดร.นทีจะมี"ไม้เด็ด"แบบไหนในเมื่อกสท.มีประกาศยินยอมไปแล้ว ก่อนการประมูลทีวีดิจิทัลแค่ประมาณเดือนเดียวที่ดูเหมือนว่าจะขัดแย้งกับประกาศเดิมเมื่อ 17 เม.ย. 2556 อย่างที่ยังไม่มีคำอธิบายความเป็นมาอย่างไร
|