โหวต

"ระบบเรทติ้งทีวี" หรือการวัดความนิยมผู้ชมโทรทัศน์ที่บริษัท เนลสัน(ประเทศไทย) จำกัดได้รับการยอมรับใน"ผลสำรวจ" อย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยมายาวนานกว่า 20 ปี จึงมักจะกลายเป็น"ผู้ร้าย" ในสายตาของผู้ผลิตรายการโทรทัศน์,ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์และบริษัทเอเยนซีโฆษณา
เหตุผลของบริษัทเอเยนซีโฆษณาที่มักบอกสถานีโทรทัศน์และผู้ผลิตรายการ เมื่อยังไม่ต้องการซื้อโฆษณาคือ"รายการไม่มีเรทติ้ง"ทำให้ไม่สามารถซื้อโฆษณาได้ ทำให้"ความผิด"ของรายการที่ไม่มีเรทติ้ง จึงมักจะตกอยู่กับบริษัทเนลสัน(ประเทศไทย) ที่คงเจอข้อกล่าวหาต่างๆจนเคยชิน เช่น เนลสันผูกขาดรายเดียว, เนลสันใช้กลุ่มตัวอย่างน้อยเกินไป, เนลสันไม่เคยเปิดเผยข้อมูลเครื่องวัด,เนลสันไม่มีความน่าเชื่อถือฯลฯ
ทั้งๆที่เคยมีความพยายามเมื่อประมาณกว่า 10 ปีมาแล้ว เพื่อจัดทำระบบวัดเรทติ้งความนิยมคนดูโทรทัศน์ใหม่ โดยกลุ่มบริษัทโฆษณาจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกัน แล้วเปิดให้บริษัทวิจัยนำเสนอในลักษณะ"ประมูล"แข่งกัน ผลออกมาให้บริษัทวิดีโอรีเสิร์ซ ของประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ชนะประมูล แต่ด้วยเหตุผลที่ไม่มีใครอยากอธิบายให้กระจ่างแจ้ง
ในที่สุดการประมูลครั้งนั้นถูก"ล้ม"เพียงชั่วข้ามคืน บริษัทเอเยนซีโฆษณากลับไปใช้บริการบริษัท เนลสัน (ประเทศไทย) เช่นเดิม
ย้อนไปเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วเมื่อทีวีดาวเทียมเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด กลุ่มชมรมทีวีดาวเทียมในยุคแรกกับสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย จำยอมเรียกหาบริการจากบริษัทเนลสันประเทศไทยเพื่อตอบสนองบริษัทเอเจนซี่โฆษณาที่บอกว่า"ทีวีดาวเทียม"ยังไม่มีเรทติ้ง ทำให้ยังไม่สามารถจัดสรรเม็ดเงินโฆษณาให้ได้เพราะลูกค้าโฆษณาส่วนใหญ่เป็นบริษัทตะวันตก บริษัทเอเยนซีจำเป็นต้องใช้ตัวเลขเรทติ้งในการตัดสินใจซื้อโฆษณา มิเช่นนั้นอาจจะถูกข้อครหาได้
จึงเป็นที่มาของข้อตกลงการ"ลงขัน"ของทีวีดาวเทียมประมาณ 30 ช่องๆ ละ 30,000 บาท เพื่อให้บริษัทเนลสัน"ลงทุน"นำเข้า"อุปกรณ์วัดเรทติ้ง"มาติดตั้งในครัวเรือนที่เป็นสมาชิกเคเบิลทีวีท้องถิ่นและจานดาวเทียม เริ่มต้นจากกลุ่มตัวอย่างประมาณ 140 ตัวอย่างเท่านั้น แล้วบริษัทเนลสันก็ค่อยๆ เพิ่มกลุ่มตัวอย่างขึ้นตามการเข้าถึงของเคเบิลท้องถิ่นและจานดาวเทียมที่ขยายตัวมากมากที่สุดในช่วงปี 2548-2552 จนกลายเป็นช่องทางหลักของการรับชมโทรทัศน์ของคนไทย ปัจจุบันช่องทีวีดาวเทียมที่เป็นลูกค้าซื้อข้อมูลเรทติ้งจากบริษัทเนลสันน่าจะประมาณ 40-50 ช่อง
แม้ยังมีเสียงบ่นตลอดเวลาจากผู้ประกอบการทีวีดาวเทียม และสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียมแห่งประเทศไทย แสดงความไม่พอใจกับวิธีการสำรวจความนิยมของคนดูทีวี ที่บริษัทเนลสันไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลการสำรวจอย่างเพียงพอ และไม่ค่อยตอบสนองความต้องการของ"คนจ่ายเงิน"อย่างทีวีดาวเทียมที่แม้แต่ละช่องจ่ายไม่มากนัก แต่ถือได้ว่าผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมได้สร้างบรรทัดฐาน ของการวัดเรทติ้งที่ไม่ไปกระจุกตัวอยู่กับช่องทางก้างปลาอย่างเดียว
เม็ดเงินโฆษณาจากบริษัทเอเยนซีโฆษณาค่อยๆ ไหลรินตามระดับเรทติ้งของทีวีดาวเทียมที่กระจายตัวน้อยมากๆ ในแต่ละช่องทีวีดาวเทียม ช่องทีวีดาวเทียมที่มีเรทติ้งสูงสุดก็ยังต่ำกว่าช่อง 11 ที่เป็นช่องฟรีทีวีอันดับสุดท้าย แต่อุตสาหกรรมทีวีดาวเทียมก็ได้เริ่มตั้งตัวได้บ้าง ในปี 2556 ก่อนการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัล เม็ดเงินโฆษณารวมของทีวีดาวเทียมทุกช่องตามข้อมูลของเนลสันที่ใช้ตัวเลข Rate Card มากกว่า 10,000 ล้านบาท
ในขณะเดียวกัน บริษัทยักษ์ใหญ่จานดาวเทียม PSI ได้พัฒนาระบบวัดเรทติ้งเฉพาะจานดาวเทียมของพีเอสขึ้น ด้วยการใช้ SIM หรือ Chip ติดตั้งไปกับกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมประมาณ 2,000 บ้าน แต่เนื่องจากการกระจายกลุ่มตัวอย่างไม่ได้มีหลักวิชาการเชิงสถิติมากนัก ทำให้ตัวเลขเรทติ้งของพีเอสไอยังไม่ค่อยได้รับการยอมรับมากนัก แต่ต้องยอมรับว่าระบบของพีเอสไอพอจะมองเห็นแนวโน้มการแสดงผลเรทติ้งทีวีดาวเทียมทั้งหมดแต่ละช่องแบบเรียลไทม์ได้เช่นกัน

ปี 2557 เมื่อทีวีดิจิทัลเกิดขึ้น เสียงบ่นดังๆแบบเดิมจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลก็ไม่แตกต่างจากผู้ประกอบการทีวีดาวเทียม บริษัทเอเยนซีโฆษณาอ้างว่าทีวีดิจิทัลยังไม่มีเรทติ้ง ดังนั้นยังไม่ขอตัดสินใจซื้อโฆษณา แต่ข้ออ้างสำหรับทีวีดิจิทัลหนักหนาสาหัสกว่าทีวีดาวเทียม เช่น โครงข่ายทีวีดิจิทัลยังกระท่อนกระแท่น คนดูไม่พึงพอใจ, คูปองแลกกล่องยังไม่แจก ยังไม่มีคนดูฯลฯ
อาการของทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ในขณะนี้ผ่านมาได้กว่า 7 เดือน หลังเคาะประมูลราคาสนั่นไปกว่า 50,000 ล้านบาท พวกเขาแทบจะไม่ต่างจากอาการ"ปลาขาดน้ำ"ดิ้นกระเด่าๆ แถกเหงือกกันจนแทบจะขาดใจกันแล้ว
แม้ว่าโดยความเป็นจริงแล้วทีวีดิจิทัลมี"เรทติ้ง"จากการรับชมผ่านกฏ Must Carry ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ช่องทีวีดิจิทัล 24 ช่องได้รับ"ผลบุญ"จากหลายๆ ช่องเคยลงทุนทำทีวีดาวเทียมมาก่อน แล้วได้รวมพลังช่วยกันผลักดันให้จานดาวเทียมขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนทำให้ครัวเรือนไทยกว่า 50% ติดตั้งจานดาวเทียมและอีกประมาณ 20% ดูโทรทัศน์จากเคเบิลท้องถิ่นกับทรูวิชั่นส์(รวมทั้งจาน CTH )
บริษัทเนลสัน(ประเทศไทย)ได้จัดทำเรทติ้งเฉพาะช่องทีวีดิจิทัล 22 ช่องจากการรับชมผ่านจานดาวเทียม,เคเบิลท้องถิ่นและทรูวิชั่นส์มาได้ 3-4 เดือนแล้ว พอจะมองเห็นภาพชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าในมหาสงครามทีวีดิจิทัลแย่งชิง Eyeball 70 ล้านคนหรือ 22.9 ล้านครัวเรือน ช่องไหนมีเรทติ้งเท่าไหร่และอยู่ในอันดับไหน บริษัทเอเจนซี่โฆษณาได้เริ่มใช้ข้อมูลชุดนี้เพื่อ"ซื้อโฆษณา"ในช่องทีวีดิจิทัลหลายๆช่องแล้ว
แม้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกรายยังแคลงใจ ถึงความน่าเชื่อถือและความแม่นยำ ในระบบวัดเรทติ้งของบริษัทเนลสันแบบเดิม แต่ข้อมูลที่บริษัทเนลสันได้จัดทำขึ้นน่าจะเสมือนเป็น"หยดน้ำ"ที่พอจะทำให้ช่องทีวีดิจิทัลได้น้ำหล่อเลี้ยงจากเงินโฆษณาชิ้นเล็กๆไปได้อีกระยะหนึ่ง
ผมปูพื้นข้อมูลเพื่อจะช่วยให้ทุกท่านได้มองเห็นชัดขึ้นถึงสถานะปัจจุบันของระบบเรทติ้งทีวีกำลังจะเดินไปทางไหน ในขณะที่ฝุ่นยังตระหลบช่องทีวีดิจิทัลกำลังทำสงครามปะทะกันอย่างดุเดือดด้วยการผลิต Content ใหม่ๆเพื่อแย่งชิงคนดูหรือ Eyeball ที่ถือเป็นกรรมการตัดสินชะตากรรมของช่องทีวีดิจิทัลแต่ละช่อง จึงจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องหาทางทำให้เกิดระบบเรทติ้งทีวีใหม่ขึ้น
มิเช่นนั้นปัญหาก็ยังวนเวียนทะเลาะเบาะแว้ง แล้วหันไปชี้หน้ากล่าวโทษบริษัทเนลสันประเทศไทยว่า เป็นต้นเหตุทำให้ทีวีดิจิทัลเจ๊ง ถือเป็นวิบากกรรมของบริษัทเนลสันประเทศไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยในยุคก่อนทีวีดิจิทัลที่มีสภาพกึ่งผูกขาดแค่ 2 ช่องคือช่อง 3 กับช่อง 7 ที่มีส่วนแบ่งคนดูกว่า 70% เท่าๆ กับส่วนแบ่งเงินโฆษณา แต่เมื่อมีผู้เล่นใหม่เป็นทีวีดิจิทัล 24 ช่องย่อมจะทำให้ข้อครหานี้ค่อยๆ ลดทอนลงไปได้
ระบบเรทติ้งทีวีทำหน้าที่เสมือนเครื่องวัดความนิยม แล้วประมวลออกมาเป็น"คะแนน" เพื่อช่วยให้บริษัทเอเจนซี่โฆษณา นำไปใช้ในการตัดสินใจ"ซื้อโฆษณา" ของแต่ละช่องในอัตราเท่าไหร่ แล้วแปลงออกมาเป็น"สกุลเงิน"หรือ Currency ในการซื้อขายโฆษณาของอุตสาหกรรมทีวีทั้งระบบ การจัดระเบียบหรือจัดระบบเรทติ้งทีวีใหม่จึงยังมีหลายแนวคิดที่ยังไม่นิ่ง แต่พอจะมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของอุตสาหกรรมนี้บ้างแล้ว
เริ่มจากประธานกสท.พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์มีแนวคิดจะใช้อำนาจกสท.ออกใบอนุญาตผู้ประกอบการวัดเรทติ้งทีวี แต่กสท.อีกอย่างน้อย 2 ท่านคือ"สุภิญญา กลางณรงค์"กับ"ดร.ธวัชชัย จิตรภาษนันท์"ไม่ค่อยเห็นด้วย อยากจะให้มีการจัดทำระบบวัดเรทติ้งใหม่
สมาคมมีเดียเอเจนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย( MAAT)มีแนวคิดจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ( Media Research Bureau ) ชักชวนให้ฟรีทีวีอนาล็อก,ชมรมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล,สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย,สมาคมโทรทัศน์ดาวเทียมแห่งประเทศไทยและสมาพันธ์ผู้ประกอบการวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทยเข้ามาร่วม"ลงขัน"จัดตั้งสถาบันแห่งนี้เพื่อจัดทำระบบเรทติ้งทีวีใหม่
แล้วระบบเรทติ้งทีวีใหม่จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยประมูลเสร็จแล้วถูกล้มเพียงชั่วข้ามคืนหรือไม่ อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีผลประโยชน์ร่วม ต้องช่วยกันระดมความเห็นเพื่อผ่าทางตันออกไปให้ได้
|