
ผมต้องเปลี่ยนใจขอเขียนถึง"ช่อง 3"อีกครั้ง หลังจากคอลัมน์นี้เมื่อ 31 ส.ค.ได้พูดถึง"เกมวัดใจกสท."ว่าด้วยคำร้องของช่อง 3 ที่ไป"อวดอ้าง"ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับ 27 ว่าให้การคุ้มครองช่อง 3 อนาล็อกสามารถออกอากาศทางโครงข่ายดาวเทียมและเคเบิลทีวีได้ หลังระยะเวลาการทุเลาให้ออกอากาศได้สิ้นสุดเที่ยงคืนวันที่ 1 ก.ย.และศาลปกครองกลาง"ยกคำร้อง"ของช่อง 3 ให้คุ้มครองระหว่างการฟ้อง
จนกระทั่งพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกต้องออกมาพูดชัดถ้อยชัดคำว่าประกาศคสช.ฉบับที่ 27 ไม่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์(กสท.)และทีวีดิจิทัล แล้วเกิด"ดราม่า"ภายในกสท.กับช่อง 3 อีกหลายระลอกสั่นสะเทือนไป ทั้งกสท.ซอยสายลมและช่อง 3 อาคารมาลีนนท์
บนหน้าจอช่อง 3 ทุกรายการข่าวตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาดูเหมือนว่า"จงใจ"ใช้วิธีการอธิบายข่าวในรูปแบบที่ไม่แตกต่างจาก"โฆษณาชวนเชื่อ"ในยุคสุดท้ายของอนาล็อก ด้วยการบอกข้อมูล"ไม่ครบถ้วน"และคลาดเคลื่อนอย่างน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ได้รับสัมปทานการใช้คลื่นความถี่ 1 ช่องอนาล็อกและใบอนุญาต 3 ช่องดิจิทัล
ช่อง 3 ชักธงรบแบบเต็มอัตราศึก ระดมพิธีกรระดับแนวหน้าของช่อง 3 ดาหน้ากันออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมกรณีถูกคำสั่ง"จอดำ" และทำข่าวกับทำกราฟฟิกข้อมูลสร้างกระแสเชิงลบกับการขยายโครงข่ายทีวีดิจิทัลเพื่อทำให้เหตุผลของตัวเองชอบธรรมในการไม่ออกคู่ขนาน เนื้อหาทำนองนี้จะปรากฏในแทบทุกช่วงของรายการเรื่องเล่าเช้านี้-สรยุทธ สุทัศนะจินดา, รายการจอโลกเศรษฐกิจ-บัญชา ชุมชัยเวทย์และรายการข่าว 3 มิติ-กิตติ สิงหาปัด
กรณีล่าสุดคือการให้ข้อมูลเรื่องโครงข่ายที่เข้าขั้น"มั่ว"เอาดีใส่ตัว เพื่อทำให้การขยายโครงข่ายดูเป็น"ผู้ร้าย" พิธีกรคนดังทั้ง"สรยุทธ-บัญชา"ใช้ข้อมูลชุดเดียวกันแสดง % ของโครงข่ายทีวีดิจิทัล พูดทำนองว่ากทม.โครงข่ายทำไปได้แค่ 26% และหัวเมือง 3 แห่งไปได้แค่ 2-3 % โดยข้อเท็จจริงตัวเลขเหล่านี้คือเปอร์เซ็นต์ประชากรแต่ละพื้นที่เทียบกับประชากรทั้งหมด ไม่ใช่การขยาย"พื้นที่"โครงข่าย(อ่านกราฟฟิกประกอบ) ช่วงข่าวของช่อง 3 หลายช่วงก็ทำสกู๊ปข่าวให้ชาวบ้านที่ไม่มีความเข้าใจในกฎกติกาอันยุ่งเหยิงของกสท .เรียกร้องไม่ให้กสท.ออกคำสั่ง"จอดำช่อง 3 " เป็นการทำข่าวแบบ"ด้านเดียว"โดยไม่ได้ให้มีความคิดเห็นหลายๆ ด้าน
รายการข่าวของช่อง 3 ไม่เคยเอ่ย"สักครั้งเดียว"ถึงเสียงก่นด่าชะยันโตช่อง 3 ในโลกออนไลน์บนเว็บบอร์ด pantip.com #ทีวีดิจิทัล ที่มีภาษาดุเดือดเข้าข่าย Hate Speech เป็นส่วนใหญ่ หลังจากเสียงอ้อนวอนให้คู่ขนานไม่ได้รับการตอบสนอง ผิดวิสัยของรายการเล่าข่าวของช่อง 3 ที่ทำเป็นนิสัย หยิบข่าวประเภท"ดราม่า"เรื่องไร้สาระบนเว็บบอร์ด pantip.com มาเล่าแบบเวิ้นเว้อมากๆ อยู่เป็นประจำ

แล้วก่อนสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา"นายใหญ่"ประวิทย์ มาลีนนท์ได้เวลาออกโรงยื่นหนังสืออุทธรณ์ถึง"ฐากรตัณฑสิทธิ์"เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชา ติ(กสทช.)ที่"รับปาก"จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมกสทช.ชุดใหญ่ในวันที่ 17 ก.ย.
และไม่มีใครคาดมาก่อนว่า"นายใหญ่ช่อง 3 "คนนี้จะไปปรากฏตัวในงานเสวนาประจำปีของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอนั่งฟังแถวหน้าเผชิญหน้าแบบตรงๆ กับ"สุภิญญา กลางณรงค์" กรรมการกสท.ที่มีบทบาทมากที่สุดในการยืนหยัดให้โครงข่ายยุติการเผยแพร่ช่อง 3 ภายใน 15 วัน
ผมขอให้"ข้อมูลเพิ่มเติม"หรือ"ความจริงอีกด้าน"ที่ช่อง 3 ละเลยในแต่ละประเด็นเพื่อให้"สาธารณชน"ได้ใช้วิจารณญาณว่าระหว่างกสท.กับช่อง 3 ที่เป็นคู่กรณีโดยตรง ใครมีความชอบธรรมมากกว่ากัน
แม้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 21 ช่อง (ไม่นับอีก 3 ช่องของช่อง 3) ไม่ใช่คู่กรณีโดยตรงของช่อง 3 แต่จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง หากกสท.ไม่ยึดมั่นในการปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจอย่างตรงไปตรงมาตามที่ให้คำมั่นและประกาศฉบับต่างๆ
ในช่วง 2-3 สัปดาห์ผ่านมา "นายใหญ่ช่อง3" และ "มือขวานายใหญ่ช่อง3-สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธ์" ดูเหมือนว่าจะพร้อมใจกันออกมาพูดในแบบที่ไม่ใช่ตัวตนของนักธุรกิจที่เคยพูดจาเรียบร้อยไม่เคย Hate Speech ใส่คนอื่น แต่คราวนี้กลับร่วมกันสร้างวาทกรรมที่เข้าข่าย Hate Speech ทำให้อีกฝ่ายเกิดความรู้สึกเกลียดชัง ผู้คนในแวดวงทีวีดิจิทัลได้ฟังได้อ่านแล้วบอกตรงๆ ว่ามีหลายคนเกิดอารมณ์เดือดดาลมากๆ "ตัวเลขเรทติ้งของทีวีดิจิทัลทั้งหมด รวมกันยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของช่อง 3 "หรือ"ตอนนี้ตัวเลขเรทติ้งก็มีแล้ว ตัว เลขน่าเกลียดมาก"
คำว่า"น่าเกลียดมาก"เป็นคำดูถูกคนอื่น ทั้งๆที่ทีวีดิจิทัลเพิ่งออกอากาศมาได้ 6-7 เดือน แต่อัตราการเติบโตของส่วนแบ่งคนดูเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 %และเรทติ้งช่อง Workpoint กับ ช่อง 8 RS ได้เอาชนะช่อง 5 และ ช่อง 9 กำลังจะจ่อช่อง 3 กับช่อง 7 ที่คงจะทำให้ช่อง 3 เกิดอาการวิตกกังวลว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้า เมื่อการแข่งขันบนสนามทีวีดิจิทัลจะเริ่มเท่าเทียมกันมากขึ้นๆ ช่อง 3 ที่เคยแข่งกับช่อง7 ช่องเดียวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายังไม่น่าจะเตรียมความพร้อมในการแข่งขันได้ทัน
"ช่องที่ประมูลดิจิทัลไม่มีสักช่องที่เตรียมบุคลากรไว้ เราไม่ได้เตรียมคน" ลองไปถามผู้บริหารช่องทีวีดิจิทัลจะได้คำตอบยันกลับมาว่าช่อง 3 นั่นแหละเป็นช่องที่ไม่เคยสร้างคนของตัวเอง แต่จะใช้"เงิน"เลือก"ช็อป"คนเก่งๆ จากช่องอื่นๆ เช่น กว้านคนหน้าจอไทยพีบีเอส , ชวนยกทีมข่าวอาชญากรรมกับโต๊ะการเมืองของช่องเนชั่น ฯลฯ

ข้อเรียกร้องล่าสุดของช่อง 3 ที่ใช้เป็น"วาทกรรม"ในทางสาธารณะผ่านหน้าจอช่อง 3 ตลอด 1-2 วันที่ผ่านมาหลังจาก"เสียรังวัด "กับประกาศคสช.ฉบับที่ 27 ที่"สรยุทธ" พูดขึงขังอธิบายเป็นฉากๆ เมื่อเช้าวันที่ 4 ก.ย.ถึง ขั้นยกให้มีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติและไม่สามารถใช้กลยุทธ์ฟ้องอาญา"ดักหน้า"การทำหน้าที่กรรมการกสท. 3 คนที่เป็น"เสียงข้างมาก"เพื่อสกัดไม่ให้ลงมติออกหนังสือไปถึงโครงข่ายไม่ให้นำช่อง 3 ไปเผยแพร่ต่อภายใน 15 วัน
1.ขอให้ทบทวนมติบอร์ดกสท.วันที่ 8 ก.ย.ที่มีมติส่งหนังสือถึงผู้ให้บริการโครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียมยุติการแพร่ภาพช่อง 3 ระบบอะนาล็อกภายใน 15 วัน
2.ขอให้ทบทวนมติบอร์ดกสท.วันที่ 3 ก.ย.ที่ให้โทรทัศน์ในระบบอนาล็อกหมดความเป็นฟรีทีวีตามประกาศการให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปหรือมัสต์แครี่
3.ขอให้มีมติคุ้มครองและมีมาตรการเยียวยาช่อง 3 ระหว่างที่กสทช.พิจารณาในเรื่องนี้เพื่อให้ช่อง 3 ออกอากาศต่อไปได้จนกว่ามีข้อยุติ
ทั้งสามเรื่องเป็นสิ่งที่ช่อง 3 ควรจะหาทาง"แก้ปัญหา"ให้จบสิ้นแล้วเดินตามกติกาของกสท.และคำสั่งศาลปกครองกลาง ช่อง 3 มีเวลาในระหว่างวันที่ 28 พ.ค.- 1 ก.ย.ครบ 100 วันที่กสท.ให้ทุเลาการบังคับใช้มติ 3 ก.พ.และศาลปกครองกลางได้ออกคำสั่งยกคำร้อง"คุ้มครอง"ของช่อง 3 ไปแล้วเมื่อวันที่ 29 ก.ค.แล้วระหว่างการต่อสู้คดีนี้ขอให้ปฏิบัติตามมติ 3 ก.พ.ไปก่อน
แต่ช่อง 3 กลับไม่ได้"ใส่ใจ"ในการแก้ปัญหาที่ทราบมาล่วงหน้าหลายเดือน แม้ว่าเป็น"สิทธิอันชอบธรรม"ของช่อง 3 ที่ไม่จำเป็นต้องยื่นขอออกอากาศคู่ขนานช่องอนาล็อกกับช่องดิจิทัล แต่หากแผนธุรกิจเป็นเช่นนั้นมาแต่ต้นตามที่ผู้บริหารช่อง 3 ยืนยันว่าจะไม่ออกคู่ขนานก็ควรจะทราบสถานะของฟรีทีวีอนาล็อกที่เหลือแค่"ใบอนุญาตภาคพื้นดิน" ไม่มีสิทธิ์ออกอากาศผ่านโครงข่ายดาวเทียมและเคเบิลทีวี ช่อง 3 ควรจะต้องขอใบอนุญาตเพิ่มเติมไว้ก่อนแล้วทำตามเงื่อนไขลดจำนวนนาทีโฆษณาเหลือ 6 นาทีต่อชั่วโมงใน ระหว่างการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางที่ไม่คุ้มครองชั่วคราวแล้ว
แต่ในอีกด้านช่อง 3 น่าจะกำลังเดินเกม"ต่อรอง"กับกสท.เพื่อขอ"ลดภาระค่าใช้จ่าย"ในการออกอากาศ"คู่ขนาน" เพราะช่อง 3 ได้ยื่นข้อเสนอโดยตรงกับพ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานกสท.เสียงข้างน้อยกรณีมติจอดำขอให้กสท.หาทางออกอากาศ"ทั้งช่อง"ในรูปแบบ Realtime Pass Though ห้ามตัดต่อดัดแปลงใดๆ
ข้อเสนอนี้เป็นวิธีการเลี่ยงใช้คำว่า"ช่องทีวีสาธารณะ"ที่เป็นข้อเสนอแรกๆ จะขอใช้ช่องหมายเลข 12 ออกอากาศคู่ขนานช่อง 3 ที่กรรมการกสท."สุภิญญา"ยืนยันว่าทำไม่ได้เพราะช่องทีวีสาธารณะไม่มีโฆษณาและเป็นการเอาเปรียบช่องทีวีดิจิทัลอื่นๆ แม้ว่าจะเลียบๆเคียงมีข้อเสนอแลกเปลี่ยนให้ช่องทีวีดิจิทัลทุกช่องได้รับอนุมัติ"ชะลอการจ่ายเงินประมูล"งวดที่ 2 ไป 1-2 ปีเพื่อไม่ให้ช่องทีวีดิจิทัลคัดค้าน
ภาระของช่อง 3 อนาล็อกกรณีออกอากาศคู่ขนานดิจิทัลน่าจะเป็นตัวเลข 4 %ของรายได้ช่องทีวีดิจิทัลเพราะช่อง 3 อนาล็อกมีภาระจ่ายค่าสัมปทานให้อสมท.ปีละ 250 ล้านบาท ถ้าจะต้องจ่ายอีก 4 %จากรายได้ช่อง 3 ปีละประมาณ 15,000 ล้านบาทจะเป็นภาระเพิ่มอีกประมาณปีละ 600 ล้านบาท
กสทช.ชุดใหญ่จึงไม่ควรจะเข้ามา"แทรกแซง"การใช้อำนาจอย่างเป็นขั้นเป็นตอนของกสท.ที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 24 ช่องรับรู้เหมือนกันและ 2 ช่องอนาล็อกคือช่อง 7 และช่อง 9 ได้ปฏิบัติตามในการออกคู่ขนานไปก่อน โดยช่อง 7 ได้ยื่นหนังสือขอให้กสท.พิจารณายกเว้นการเก็บเงิน 4 %จากรายได้เพื่อเข้ากองทุนวิจัย และพัฒนาสื่อและกองทุน USO ที่เป็นภาระซ้ำซ้อนกับสัมปทานเดิม
ลองไปอ่านตำนานตระกูลมาลีนนท์ว่าด้วยการได้มาของสัมปทานช่อง3 จะเข้าใจดีว่า กว่ารุ่นบุกเบิกจะต้อง"กล้ำกลืน"ทำหลายสิ่งหลายอย่างที่"ไม่ถูกต้อง"และศิโรราบกับ"ผู้มีอำนาจ"ในแต่ละยุค แล้วสมบัติชิ้นสำคัญของหัวหน้าตระกูลคนปัจจุบัน"วิชัย มาลีนนท์"วัย 92 ปี อาจจะเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายที่ดูเหมือนมีคำปะกาสิตว่าลูกหลานจะต้องกอดไว้จนถึงวันที่ 24 มีนาคม 2563 วันสิ้นสุดสัญญาสัมปทานที่ยาวนานร่วมครึ่งศตวรรษ
|