
ปัญจขันธ์นั้น พระบรมศาสดาทรงย่นแสดงโดยนัย ๑ เป็น ๒ คือนาม ๑ รูป ๑
พระพุทธภาษิตว่า " เทฺว ธมฺมา อภิญฺญา ปริญฺเญยฺยา นามญฺจ รูปญฺจ,
ธรรม ๒ อย่าง รู้แล้วควรกำหนด คือนามและรูป. "
อะไรเล่าเป็นต้นของปัญจขันธ์ ?
ส่วนรูปได้แก่ธาตุทั้ง ๔ ที่เป็นเอกเทศคือส่วน ๑ ๆ ของโอกาสโลกที่แยกมาชั่วคราว
ส่วนนามนั้นเห็นยากต้องอาศัยวิจารตามนัยแห่งพุทธภาษิตในที่ต่าง ๆ เป็นหลัก,
ในอนัตตลักขณสูตรแสดงว่า " ปัญขันธ์ ( มีวิญญาณอยู่ด้วย ) ไม่ใช่ตน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์
มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา " ในท้ายพระสูตรแสดงว่า
" จิตของพระปัญจวัคคีย์พ้นจากอาสวะทั้งหลาย,
" ในอาทิตตปริยายสูตรแสดงว่า อายตนะภายใน ( มีมโนอยู่ด้วย ) เป็นต้น
เป็นของร้อน " ในท้ายพระสูตรแสดงว่า " จิตทั้งหลายของภิกษุพ้นองค์นั้นพ้นจากอาสวะทั้งหลาย, "
ในวัตถูปมสูตรแสดงว่า " เมื่อจิตเศร้าหมองแล้วทุคติก็เป็นหวังได้ เมื่อจิตไม่เศร้าหมองสุคติก็เป็นหวังได้, "
ในวิมุตตายตนะสูตรแสดงว่า " ----จิตที่ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลสย่อมหลุดพ้นได้----, "
ในเอกนิบาตอังคุตตรนิกายแสดงว่า
" จิตเป็นธรรมชาติประภัสสร ( ผุดผ่อง )
และจิตนั้น เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสที่จรมา----หลุดพ้นแล้วจากอุปกิเลสที่จรมา, "
ในวินัยมหาวิภังค์แสดงว่า " ----เมื่อเรา ( พระบรมศาสดา ) รู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตหลุดพ้นแล้ว
แม้จากกามาสวะ----แม้จากภวาสวะ---- แม้จากอวิชชาสวะ " ดังนี้เป็นต้น;
โดยนัยเหล่านี้ แสดงว่า จิตทั้งนั้นเศร้าหมองหรือไม่ หลุดพ้นหรือไม่
จึงสันนิษฐานเห็นว่า จิต ( อันเป็นธรรมชาติที่มีหน้าที่คิด และถึงไม่ได้
คิด เช่นในเวลาหลับ ก็คงชื่อว่าจิตอยู่นั่นเอง ) กับรูปคือธาตุทั้ง ๔ อันเป็น
เอกเทศของโอกาสโลกที่แยกมาชั่วคราว คุมกันเข้า อาศัยกันและกันเป็นไป
จึงแสดงอาการต่าง ๆ ออกมาให้ดวงตาเห็นรูป หูยินเสียง จมูกสูบดมกลิ่น
ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องโผฏฐัพพะมนะนึกรู้เรื่องได้,
วิญญาณ เวทนา สัญญา สังขาร จึงเกิด.
เพราะปัญจขันธ์เป็นแต่เพียงอาการ ไม่ใช่ของจริง จึงต้องเปลี่ยนแปลงอยู่
เสมอ ( อนิจฺจํ ), ทนอยู่ไม่ได้และทนยากลำบากต่าง ๆ ( ทุกฺขํ ),
บังคับให้เป็นไปตามหวังอันผิดธรรมดาไม่ได้ ไม่เป็นจริงเป็นจัง ( อนตฺตา),
ดังข้อความที่พระบรมศาสดาทรงแสดงในอนัตตลักขณสูตร;
แต่ผู้ไม่รู้ตามเป็นจริงไปยึดมั่นเข้าว่าเป็นของเราบ้าง ( เอตํ มม ),
เราเป็นปัญจขันธ์บ้าง ( เอโสหมสฺมิ ),
ปัญจขันธ์เป็นจริง ๆ จัง ๆ ของเราไม่ใช่
เป็นเพียงอาการบ้าง ( เอโส เม อตฺตา ).
ถ้าไม่มีธาตุทั้ง ๔ กับจิต รูป ( ที่เป็นอุปาทินนกะ )
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอาการ ก็มีไม่ได้.
( ขันธ์ ).
ขันธ์ ๕ แยกให้พิสดารออกไป. ว่าถึงรูป, รูปที่ท่านแสดงไว้ ถ้าว่าตามพระบาลี
โดยมากเป็นธาตุ ๔ คือ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน, อาโปธาตุ ธาตุน้ำ, เตโชธาตุ ธาตุไฟ,
วาโยธาตุ ธาตุลม, และบางแห่งมีอากาศธาตุ ธาตุว่าง, แต่พระอาจารย์ท่านแสดง
รูปเป็น ๒๘ คือ :-
ดิน น้ำ ไฟ ลม ๔ อย่างนี้เรียกว่ามหาภูตรูป.
มหาภูต เป็นใหญ่, มหาภูตรูป ก็คือ รูปที่เป็นใหญ่ นี่ว่าด้วยหลักเดิม.
แต่ว่าส่วนอาโปธาตุ บางทีท่านไม่นับเป็นรูป,
เพราะท่านแสดงว่าลำพังแต่อาโปละเอียดเหลือเกิน จนไม่สามารถจะมีอะไร
ทรง คือรองรับอยู่ได้ แต่อาศัยปฐวีธาตุ
ธาตุดินเข้าระคนอยู่ จึงปรากฏเห็นเป็นน้ำอยู่ได้ นี่แบบเก่า.
แบบใหม่ว่า อาโปธาตุ
ไม่ใช่ธาตุเดิมเป็นธาตุผสม ก็เห็นจะพอลงกันกระมัง.
รูปที่อาศัยมหาภูตรูปจึงปรากฏ เรียกว่า อุปาทายรูป แปลว่า รูปอาศัย
คืออาศัยมหาภูตรูป ได้แก่:
ปสาทรูป รูปประสาท คือ จักขุ ที่ให้สำเร็จความเห็น,
โสตะ ที่ให้สำเร็จการได้ยิน, ฆานะ ที่ให้สำเร็จการได้กลิ่น,
ชิวหาที่ให้สำเร็จการรู้รส, กายะ ที่ให้สำเร็จการการกระทบ,
เรียกว่า จักขุประสาท โสตประสาท ฆานประสาท ชิวหาประสาท กาย
ประสาท นี่เป็นปสาทรูป.
โคจรรูป ท่านว่ามี ๔ อย่าง, อย่างหนึ่งว่า วัณณะ สี ที่เราเรียกกันว่าผิว
พรรณวรรณะ, สัททะ เสียง, คันธะกลิ่น, รสะ รส, รวมเป็น ๔. วัณณะ
สัททะ คันธะ รสะ ๔ นี้ เรียกว่า โคจรรูป
หมายความว่า รูปที่เคลื่อนไปได้ แต่ต้องอาศัยมหาภูตรูป,
อีกอย่างหนึ่ง ท่านจัดเอา รูป ที่เห็นด้วยตา เสียง กลิ่นรส เป็น ๔
เหมือนกัน. โผฏฐัพพะท่านไม่จัดไว้ในโคจรรูป เพราะว่า ก็รูปเสียง กลิ่น
รส นั่นแหละที่มาประสบกาย
ไม่ใช่อื่นออกไป, ถ้านับโผฏฐัพพะด้วยก็เป็น ๕.
ภาวรูป รูปคือความเป็น มี ๒ ได้แก่
อิตถีภาวรูป รูปที่เป็นหญิง, ปุริสภาวรูป
รูปที่เป็นชาย, รูปที่ปรากฏเป็นหญิง รูปที่
ปรากฏเป็นชาย ก็ต้องอาศัยมหาภูตรูป,
ถ้าไม่มีมหาภูตรูป รูปหญิง รูปชาย ก็ไม่
ปรากฏ นี่อีก ๒.
หทยรูป รูปคือหทัย, แบบเก่าท่าน
หมายความว่า หทัย เป็นที่ให้สำเร็จความ
คิด จึงเรียกว่าหัวใจหรือใจ หมายเอา
หทยะ, แต่ภายหลังมาเห็นว่า หทัยเป็น
อวัยวะสำหรับฉีดโลหิตเท่านั้น แต่ตาม
แบบเก่าท่านเรียกว่า หทยะ นี่อีกอย่างหนึ่ง.
ชีวิตินทรียรูป รูปที่เป็นใหญ่ในความเป็น เรียกสั้นว่า ชิวิตินทรีย์,
รูปที่เป็นใหญ่ในการเป็นอยู่.
ชีวิตินทรีย์ หรือชีวิตที่ปรากฏเป็นอยู่ในบุคคลทุก ๆ คนนี้
ก็อาศัยมหาภูตรูป ถ้าไม่มีมหาภูตรูป คือ ร่างกาย ชีวิตก็ไม่ปรากฏ
เหมือนดังไฟที่ไม่มีเชื้อก็ไม่ปรากฏ.
อาหารรูป รูปคืออาหาร ท่านหมายถึง โอชะ คือสิ่งที่แทรกอยู่ในของต่าง ๆ อัน
ปรุงแต่งรูปกายให้เป็นประโยชน์
เหมือนดังเรากินอาหารจะเป็นเนื้อสัตว์ก็ตาม ผักก็ตาม แป้งก็ตาม ในสิ่ง
ของเหล่านั้นมีโอชะอาศัยอยู่.
โอชะนั้นแหละเมื่อเข้าไปในร่างกายแล้ว ก็เข้าไปปรับปรุงร่างกาย
ให้เป็นประโยชน์ สมัยนี้เห็นจะเรียกว่าวิตามิน กระมัง,
จนถึงอ้างว่า ครั้งเก่าก่อนคนยังเป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งเทวดาอยู่ กินปฐวีโอชะ
โอชะของดิน ไม่ได้กินอาหารหยาบ.
อาหารรูป รูปคืออาหาร นี่อย่างหนึ่ง.
ปริเฉทรูป รูปที่กำหนด แปลตามศัพท์ว่า ตัดรอบ
หมายความว่า อากาศที่อยู่ในช่องอันใดอันหนึ่ง,
ช่องเป็นรูปอย่างใด อากาศก็เป็นรูปอย่างนั้น
หรือร่างกายเรานี้ มีหัว มีมือ มีตัว มีขา,
กำหนดของเขตของหัว มือ ตัว ขา เหล่านี้เรียกว่า ปริจเฉทรูป
ถ้าจะหมายความภาษาไทย เห็นจะหมายความว่า ขอบเขต
จะตรงกับสัณฐานได้หรือไม่ ยังไม่แน่,
เพราะสัณฐาน แปลกันว่าทรวดทรง ๆจะเป็นอย่างไรก็ต้องอาศัยรูป
เหมือนอย่างเราจะปั้นสิ่งของให้ยาว ทรวดทรงก็
ยาว กดให้สั้น ทรวดทรงก็สั้น, นี่อีกอย่างหนึ่ง.
วิญญัติรูป รูปที่ไหวได้ คือ กายวิญญัติ ไหวกาย เช่นยกแขน ยกมือ
อ้าปาก เหล่านี้เรียกว่า กายวิญญัติ,
วจีวิญญัติ ไหววาจา คือพูด รวมเป็นวิญญัติรูป ๒.
วิการรูป รูปที่เป็นไปต่าง ๆ แต่ท่านกำหนดเอาอาการ ๓ อย่าง
คือ ลหุตาความเบาของกาย เบาก็ได้ คล่องแคล่วก็ได้
เช่นกายของคนเป็น ๆ เบา ถ้าร่างกายของคนตายหนัก,
ลหุ แปลว่าเบาก็ได้ เร็วก็ได้,
แต่ในที่นี้ท่านหมายเอาว่าเบาความเบาของรูปหรือของกายอย่างหนึ่ง;
มุทุตา ความอ่อนของรูป หรือความอ่อนของกาย ได้แก่ จะยกขา ยก
แขน ก้มศีรษะ อะไร ๆ ก็อ่อนไปได้,
แต่ถ้าเป็นรูปของคนตายก็แข็ง โน้มหรือยกให้อ่อนไม่ได้;
กัมมัญญตา ความเป็นของควรแก่การงาน,
กัมม หมายถึงการงาน คือจะให้ทำอะไรก็ทำได้;
รวมเป็น ๓ คือ ลหุตาความเบาของรูป, มุทุตา ความอ่อนของรูป,
กัมมัญญตา ความเป็นของควรที่จะทำการงานของรูป เรียกว่า วิการรูป.
ลักขณรูป รูปที่กำหนด ท่านแยกเป็น ๔ คือ อุจจยะ ความเจริญเติบโต
ขึ้นของรูปอย่างหนึ่ง,
สันตติรูป รูปที่สืบต่อกัน คือของเก่าชำรุดไป ของใหม่เกิดขึ้นแทน สืบเนื่องกันไป อย่างหนึ่ง,
ชรตา ความชำรุดของรูป คือรูปที่เกิด
ขึ้นแล้ว ทรุดโทรมอยู่เสมอ ไม่คงรูปอย่างหนึ่ง,
อนิจจตา ความไม่เที่ยงคือ
ความแปรปรวนของรูปอย่างหนึ่ง,
รวมเป็นลักขณรูป ๔ คือ อุจจยะ ความเติบโต,
สันตติ ความสืบต่อ, ชรตา ความชำรุด, อนิจจตา ความไม่เที่ยง.
รวมเป็น อุปาทายรูป รูปที่อาศัย ๒๕ ( นับโผฏฐัพพะเพิ่มเข้าในโคจร
รูป ด้วย,ถ้าไม่นับก็รวมเป็น ๒๔ )
มหาภูตรูปดิน น้ำ ไฟ ลม อีก ๔ เป็น ๒๙,
แต่ท่านยก อาโป คือ ธาตุน้ำออกเสีย นับแต่ปฐวี เตโช วาโย
ก็รวมเป็น ๒๘.รูปเหล่านี้ทั้งหมด เมื่อแยกออก ก็เป็นส่วนใหญ่ส่วนเดิม ซึ่ง
เรียกว่า มหาภูตรูป
กับส่วนที่อาศัยมหาภูตรูปปรากฏ เรียกว่าอุปาทายรูป รวมเป็น ๒.
รูปเหล่านี้เมื่อยุบเข้าก็คงเป็นธาตุ ๔ คือ มหาภูตรูปเท่านั้น นี่เป็นส่วนรูป.
ทีนี้ว่าถึง เวทนา ตามแบบของท่านแสดงว่า เวทนา ๓ คือ สุขเวทนา
ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่สุข นี่เวทนา ๓.
เวทนา ๕ คือ สุขเวทนา หมายเอาสุขกาย ทุกขเวทนา หมายเอาทุกข์กาย
โสมนัสสเวทนา หมายเอาสุขใจ โทมนัสสเวทนา หมายเอาทุกข์ใจ
ส่วนอทุกขมสุขเวทนา น่าจะแยกออกเป็น ๒ เหมือนกัน
คือเวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขทางกายและทางใจ,
แต่ท่านไม่แยกเช่นนั้น ท่านรวมกันเสีย
เรียกว่า อุเปกขาเวทนาจึงรวมเป็น ๕ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา
โสมนัสสเวทนา โทมนัสสเวทนา อุเปกขาเวทนา เป็นเวทนา ๕.
เวทนา ๖ คือเวทนาที่เกิดจากหรือเพราะสัมผัสทางอายตนะหรือทาง
ทวาร ๖คือ จากจักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส
ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัสเรียกว่าเวทนา ๖.
เวทนา ๖ แยกออกเป็นสุข ๖, ทุกข์ ๖, ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ๖,
จึงเป็นเวทนา ๑๘
ทีนี้ว่าถึง สัญญา,
ถ้าพิจารณาดูแล้วก็น่าจะเห็นว่าเท่ากับเวทนานั่นเอง เวทนาเท่าใด
สัญญาก็เท่านั้น เพราะสัญญาก็จำเวทนาและจำทั้งรูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะ และธรรม คือเรื่อง,
แต่ท่านไม่นับอย่างนั้น ท่านนับเพียงสัญญา ๖.
สัญญาที่ว่านี้เป็นสัญญาในขันธ์ ๕.
แต่สัญญาในบางแห่ง ท่านหมายถึงความสำคัญตั้งใจมุ่งหมายพิจารณา
เช่น อนิจจสัญญา หมายว่าไม่เที่ยง คือมุ่งอยู่ว่าปัญจขันธ์ไม่เที่ยง,
ทุกขสัญญา สำคัญมั่นหมายอยู่ว่าปัญจขันธ์เป็นทุกข์,
อนัตตสัญญา สำคัญมั่นหมายอยู่ว่าสังขารเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน,
สัญญานี้ไม่นับว่าเป็นสัญญาในขันธ์ ๕,
ถ้าจะจัดควรจะอยู่ในสังขาร เพราะไม่ได้เกิดมาตามลำดับ.
ต่อจากนี้ก็ถึงสังขาร,
สังขาร ก็ได้แก่ความคิดนึกประกอบกับอารมณ์คือเรื่อง
ผสมกันขึ้น น่าจะนับเข้ากับสัญญา, เพราะเมื่อถึงสัญญาแล้วก็ต่อถึงสังขาร,
แต่ว่าท่านไม่นับ ท่านจัดเป็นสังขาร ๓ คือ
ปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งบุญ, อปุญญาภิสังขาร
ปรุงแต่งไม่ใช่บุญ คือ บาป
อเนญขาภิสังขาร ปรุงแต่งความไม่หวั่นไหว นี่ว่าถึงส่วนเหตุ.
ส่วนผลก็เป็นไปตามเหตุ คือเมื่อปุญญาภิสังขารเกิดขึ้นเพราะนึกคิดแต่เรื่อง
ที่ดีที่ชอบ ก็ปรุงแต่ง
จิตให้ดีผลก็เป็นภพที่ดี,
ถ้าอปุญญาภิสังขารเกิดขึ้นเพราะนึกคิดไปในเรื่องที่ชั่ว ก็ปรุง
แต่งจิตให้เป็นจิตที่ชั่ว ผลก็เป็นภพที่ชั่ว
,ถ้าอเนญชาภิสังขารเกิดขึ้นเพราะปรุงแต่งจิตให้แน่วแน่ คือนึกมั่นอยู่ใน
อารมณ์เดียวจนจิตแน่วแน่ไม่หวั่นไหว ก็ปรุงแต่ง
ให้ไม่หวั่นไหว ผลก็เป็นภพที่ไม่หวั่นไหวคืออเนญชภพ.
วิญญาณ ท่านก็จัดเป็นวิญญาณ ๖ คือ ความรู้สึกทาง ตา หู จมูก
ลิ้น กาย
มนะ เรียกว่า จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ
กายวิญญาณ มโนวิญญาณ;
แต่พระอาจารย์ท่านจัดเอาว่าวิญญาณไปเป็นจิต
แล้วแยกเป็น ๒ คือ จุติวิญญาณ ได้แก่จิตที่เคลื่อนจากภพหนึ่งไป,
ปฏิสนธิวิญญาณ ได้แก่จิตที่ถือเอาปฏิสนธิในภพใหม่ก็มี;
แต่วิญญาณในขันธ์ ๕ ไม่เป็นเช่นนั้น เป็นแต่รู้สึกทางอายตนะ ๖ จึง
เป็นวิญญาณ ๖.
ถ้าจะจัดตามลำดับก็คือวิญญาณแล้วก็เวทนาเป็นลำดับไป,
เพราะอายตนะภายใน ๖ อาศัยรูปขันธ์เกิดขึ้น หรืออาศัยรูปเป็นทางเดินจึง
เป็นอายตนะ คือ จักขุ โสตะฆานะ ชิวหา กายะ มนะ,
เมื่อความรู้สึกออกไปทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย มนะ
ก็เป็นวิญญาณแล้วก็เป็นเวทนา เป็นสัญญาเป็นสังขาร
แล้วก็เป็นมโนวิญญาณขึ้นอีกวนเวียนกันไปเช่นนี้.
รูปเก่าก็สลายไปรูปใหม่เกิดขึ้นแทน เรียกว่ารูปสันตติ ความสืบต่อของรูป,
ส่วนวิญญาณ เวทนา สัญญา สังขาร เก่าดับไป
ใหม่เกิดขึ้นแทน สืบต่อกันไป ท่านเรียกว่า นามสันตติ ความสืบต่อของนาม,
ถ้าไม่มีสันตติ ความ สืบต่อแล้วร่างกายนี้ก็เป็นร่างกายคนตาย,
แต่เพราะมีสันตติ คือ รูปสันตติ นามสันตติประจำอยู่จึงเป็นอยู่,
ท่านสอนให้รู้จักเช่นนี้เพื่อพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริง.
เพราะฉะนั้น ผู้พิจารณาพึงรู้สึกตัวว่าเป็นผู้พิจารณา,
ส่วนรูปตลอดขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ เป็นที่ยึดหน่วงของปัญญาที่
พิจารณา. อารมณ์เราเรียกตามภาษาไทย, ภาษาบาลีเรียกว่า อารมฺมณ,
อย่าเขียน อารมย์. ภาษาสันสกฤต
และในอภิธัมมัตถสังคหะเรียก อาลัมพณะ ความเดียว กัน.
( โอ. ๒/๑๐๖-๑๑๓ )
คลิกดู อุปาทินนกสังขาร
|