ปรัชญาอินเดียโบราณ ตอนที่ ๑ ลักษณะทั่วไปของปรัชญาอินเดีย พระครูศรีปัญญาวิกรม รก.หัวหน้าสาขาวิชาพระพุทธศาสนา วิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ ๑. บทนำ คำว่า ปรัชญาอินเดีย หมายเอาระบบความคิดทางปรัชญาทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศอินเดีย ไม่ว่าจะมีอยู่ในสมัยโบราณ หรือว่าสมัยใหม่ ทั้งที่มีสายมาจากฮินดู และมิใช่ฮินดู ที่นับถือพระเจ้า และไม่นับถือพระเจ้า ทำนองเดียวกันกับเมื่อเราพูดถึงปรัชญาจีน ปรัชญาญี่ปุ่น ปรัชญาตะวันตก ก็จะสื่อความรวมทั้งหมด ไม่จำเพาะเจาะจงเอาเพียงสำนักใดสำนักหนึ่ง คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์สำคัญ ๆ อย่างพระไตรปิฎก คัมภีร์อรรถกถาทั่วไป ได้กล่าวถึงระบบความคิดทางปรัชญาของอินเดียไว้มากมายหลายสำนัก หลายลัทธิ แสดงให้เห็นถึงร่องรอยพัฒนาการทางปรัชญา และประวัติศาสตร์ปรัชญาในดินแดนแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี ปรัชญาอินเดีย เป็นปรัชญาที่มีเสน่ห์ เป็นปรัชญาที่เน้นคุณค่าของชีวิต และจิตวิญญาณ มีความลุ่มลึก และละเอียดลออ ไม่แข็งกระด้างไปด้วยข้ออ้างและเหตุผลเหมือนอย่างปรัชญาตะวันตก เพราะปรัชญาอินเดียนั้น ส่วนใหญ่เป็นปรัชญาที่มุ่งแสวงหาความจริง และความหลุดพ้น ไม่ใช่มุ่งแสวงหาความรู้เพียงเพื่อตอบสนองความสงสัยใคร่รู้ทางพุทธิปรัชญาอย่างเดียว เหตุนั้น รากศัพท์คำว่า ปรัชญา ในบริบทของชาวตะวันตก กับอินเดียจึงมีความแตกต่างกัน ตะวันตกมองปรัชญาเป็นกิจกรรมของการแสวงหาความรู้ รากฐานของศัพท์ปรัชญาจึงมุ่งเน้นไปที่เรื่องการแสวงหาความรู้ เครื่องมือสำคัญในการใช้แสวงหาความรู้จึงอยู่ที่ข้อมูลทางผัสสะ และชุดข้ออ้างเหตุผลสำเร็จรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะที่ปรัชญาอินเดียมองปรัชญาเป็นเรื่องของการแสวงหาความจริง ความจริงที่ได้จากการแสวงหาจึงถือเป็นความรู้อันประเสริฐ เพราะเป็นความรู้ที่ทำให้มนุษย์ค้นพบตนเอง และอยู่เหนือพันธนาการทั้งปวง เป็นความรู้ที่จะทำให้มนุษย์เป็นอิสระ เข้าถึงความสุขอย่างแท้จริง ข้อแตกต่างดังกล่าวนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักปรัชญาอินเดียส่วนใหญ่มาจากประสบการณ์ชีวิตและประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของคนที่อยู่ในกลุ่มนักบวช ซึ่งเรียกกันในครั้งนั้นว่าสันยาสี และวนปรัสถ์ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนที่ปล่อยวางชีวิตแบบโลก ๆ แล้ว เหตุดังกล่าวนี้ จึงมักเรียกปรัชญาอินเดียว่า สมณธรรม หรือ พราหมณธรรม ขณะที่นักปรัชญาตะวันตกส่วนใหญ่เป็นนักคิด นักวิชาการ นักการศึกษา ซึ่งดำเนินชีวิตและกิจกรรมแบบปกติโลก ๆ ๒. ขอบข่ายปรัชญาอินเดีย ปรัชญาอินเดีย เป็นคำกลาง ๆ มีขอบข่ายครอบคลุมถึงระบบปรัชญาทุกสำนักที่เกิดในอินเดีย ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใด หากระบุเป็นสำนัก หรือระบบความคิด ก็เริ่มตั้งแต่ยุคพระเวทเป็นต้นมา กระทั่งถึงปรัชญาร่วมสมัย ดังนั้นเพื่อให้มีเนื้อความแคบเข้า จึงนิยมใช้เวลาเป็นเครื่องกำหนดขอบเขต เช่น ปรัชญาอินเดียโบราณ ปรัชญาอินเดียร่วมสมัย เป็นต้น หรือถ้าต้องการให้แคบลงไปกว่านั้นอีก ก็ใช้วิธีระบุเป็นสำนัก ๆ ไป เช่น ปรัชญาพระเวท ปรัชญาอุปนิษัท ปรัชญาพุทธ ปรัชญาจารวาก ปรัชญาเชน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในรายวิชานี้ ใช้คำว่า ปรัชญาอินเดียโบราณ เนื้อหารายละเอียดของรายวิชา กล่าวถึงปรัชญาอินเดียตั้งแต่ยุคแรกเริ่มที่พวกอารยันเข้าไปสู่ดินแดนที่เรียกว่า ชมพูทวีป กระทั่งเกิดวรรณกรรมสำคัญคือคัมภีร์พระเวท ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงคติความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนแนวคิดต่าง ๆ ที่มนุษย์ในยุคนั้นมีต่อโลก ชีวิต และธรรมชาติแวดล้อม อิทธิพลของพระเวท ทำให้เกิดพัฒนาการหลาย ๆ ด้านในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ พัฒนาการทางด้านสติปัญญา ร่องรอยที่ปรากฏชัดเป็นรูปธรรมก็คือคัมภีร์อุปนิษัท คัมภีร์ภควัทคีตา กระทั่งการอุบัติขึ้นของพุทธปรัชญา และปรัชญาอื่น ๆ ทั้งในสายอาสติกะและนาสติกะ คือทั้งสายที่ยอมรับ และไม่ยอมรับนับถือคัมภีร์พระเวทในฐานะเป็นแม่บทของการตีความ หรือการอธิบายความต่าง ๆ ขอบเขตของปรัชญาอินเดียสมัยโบราณมาสิ้นสุดลงในยุคปรัชญา ๖ สำนัก อันได้แก่ นยายะ ไวเศษิกะ สางขยะ โยคะ มีมางสา และเวทานตะ ๓. การแบ่งยุคปรัชญาอินเดีย การแบ่งยุคปรัชญาอินเดีย ปราชญ์ทั้งหลายยังมีความเห็นไม่ลงรอยกัน เช่นกรณีของศาสตราจารย์ ดร.ราธกฤษณัน และโฮเรซ เอ.โรส อดีตเจ้ากรมวิชาการมานุษยวิทยาของอินเดีย แบ่งยุคปรัชญาอินเดียออกเป็น ๓ ยุค แต่โฮเรซ เอ.โรสเรียกชื่อยุคที่ ๓ ว่า ยุคอุปนิษัท ขณะที่ ดร.ราธกฤษณันเรียกว่า ยุคระบบทั้ง ๖ บางท่านก็แบ่งเป็นยุคพระเวท ยุคพราหมณะ และยุคฮินดู
ศาสตราจารย์ ดร. สุนทร ณ รังษี ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าแบ่งยุคตามเกณฑ์ที่ ศาสตราจารย์ ดร.ราธกฤษณันแบ่งไว้ จะทำให้เห็นพัฒนาการของปรัชญาอินเดียได้ชัดเจนยิ่งขึ้น[1] ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ผู้เขียนขอยึดเอาแนวทางที่ ดร.ราธกฤษณันได้แบ่งไว้ดังนี้[2] ๑. ยุคพระเวท (Vedic Period) เริ่มตั้งแต่เกิดมีพระเวทขึ้นในประวัติความคิดทางปรัชญาของอินเดีย กำหนดระยะเวลาตั้งแต่ประมาณ ๑,๕๐๐ ปี ถึง ๖๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล หรือประมาณ ๑,๐๐๐ ปี-๑๐๐ ปี ก่อนพุทธกาล เป็นยุคที่ชาวอารยันได้เข้ามาตั้งรกรากเป็นปึกแผ่นในประเทศอินเดีย ลักษณะเด่นของยุคนี้คือ พราหมณ์เป็นใหญ่[3] ผูกขาดอำนาจทางศาสนา เพราะพราหมณ์เป็นผู้ผูกขาดในคัมภีร์พระเวท ผูกขาดในพิธีกรรม เป็นชนชั้นเดียวที่สามารถติดกับเทพเจ้าเบื้องบนได้ ๒. ยุคมหากาพย์ (Epic Period) เป็นยุคการเกิดขึ้นของมหากาพย์สำคัญ ๒ เรื่อง คือ มหากาพย์รามายณะ และมหากาพย์มหาภารตะ ยุคนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ราธกฤษณันได้แสดงทรรศนะเพิ่มเติมว่า เป็นยุคที่พระพุทธศาสนา และศาสนาเชนรุ่งโรจน์ เป็นคู่แข่งที่สำคัญของศาสนาพราหมณ์ ยุคนี้อยู่ในช่วงระหว่าง ๖๐๐ ปี ก่อนคริสตศักราช- คริสตศักราช ๒๐๐ หรือประมาณ ๑๐๐ ปี ก่อนพุทธกาลถึงราว พ.ศ.๗๐๐ ๓. ยุคพระสูตร (Sutra Period) ยุคนี้นับระยะเวลาตั้งแต่คริสตศักราช ๒๐๐ เป็นต้นมา หรือประมาณ พ.ศ.๗๐๐ เป็นยุคที่พราหมณ์พัฒนาคำสอนเป็นฮินดู เหตุที่เรียกว่ายุคพระสูตรเป็นเพราะว่า เป็นยุคที่มีการรวบรวมปรัชญาที่แฝงอยู่ในคัมภีร์พระเวทและมหากาพย์ให้อยู่ในรูปของพระสูตร คือบทย่อความหรือจับประเด็นให้เป็นเรื่องสั้น ๆ อย่างกระชับเพื่อเข้าใจง่าย[4] บางครั้งก็เรียกยุคนี้ว่ายุคปรัชญา ๖ สำนัก เพราะเป็นยุคที่เกิดปรัชญา ๖ สำนัก ได้แก่ นยายะ ไวเศษิกะ สางขยะ โยคะ มีมามสา เวทานตะ ๔. ยุคปรัชญาจารย์ (Scholastic Period) ยุคนี้อยู่ช่วงระหว่าง ค.ศ.๒๐๐ หรือ พ.ศ.๗๐๐ เช่นเดียวกับยุคที่ ๓ แต่ที่ท่านแยกออกมาต่างหากเพราะลักษณะและกระบวนการทางปรัชญาต่างจากยุคพระสูตร กล่าวคือ นักปรัชญาในยุคนี้ไม่ได้สร้างระบบความคิดทางปรัชญาขึ้นมาใหม่ หากแต่เน้นที่การวิเคราะห์ ตีความคัมภีร์พระเวทและอุปนิษัทเสียเป็นส่วนใหญ่ เหตุนั้น บางครั้งท่านจึงเรียกยุคนี้ว่าเป็นยุคอรรถกถา ๔. วิธีการของปรัชญาอินเดีย วิธีการที่กล่าวถึงในที่นี้ หมายถึงรูปแบบของการอุบัติ หรือวิธีก่อตัวการของปรัชญาอินเดีย และรวมเลยไปถึงวิธีการในการนำเสนอปรัชญาของปราชญ์ชาวอินเดียโดยภาพรวม มีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ซึ่งเมื่อสรุปแล้ว จะได้รูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ ๓ ประการ คือ[5] ๑.ปูรวปักษ์ (Pûrvapakşa) หมายถึง การโจมตี หรือชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อน หรือข้อบกพร่องของทัศนะฝ่ายตรงกันข้ามกับตน ๒. ขัณฑนะ (Khandana) หมายถึง การวิพากษ์ วิจารณ์ด้วยเหตุด้วยผลถึงข้อบกพร่อง หรือจุดอ่อนของฝ่ายตรงกันข้าม ๓. อุตตรปักษ์ (Uttarapakşa) หรือ สิทธานตะ (Siddhãnta) หมายถึง การหยิบทัศนะของตนขึ้นมาแสดง เพื่อชี้ให้เห็นว่าของตนถูกต้อง หรือสมบูรณ์อย่างไร เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ลองพิจารณาพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกอันได้แก่ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร[6] พระสูตรนี้ถือว่าเป็นพระสูตรแรกที่ประกาศหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา นั่นคืออริยสัจ ๔ จะเห็นว่า เบื้องต้นของพระสูตร ไม่ได้เริ่มด้วยการแสดงว่า อริยสัจ ๔ คืออะไร หากแต่ทรงแสดงถึงที่สุดโต่ง ๒ ทางอันบรรพชิตไม่ควรเสพ ได้แก่ กามสุขัลลิกานุโยค คือการหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย และอัตตกิลมัตถานุโยค คือการประกอบความลำบากเดือนร้อนแก่ตน ซึ่งอินเดียในยุคนั้นถือว่ามีการบำเพ็ญตบะชนิดนี้มาก และพระพุทธเจ้าของเราก่อนที่จะได้ตรัสรู้ ก็เคยทดลองมาแล้วถึงกับทรงเกือบเอาชีวิตไม่รอด ที่ทรงเริ่มต้นพระสูตรเช่นนี้แหละที่เรียกว่า ปูรวปักษ์ คือการยกจุดบกพร่องของลัทธิฝ่ายตรงกันข้ามมานำเสนอก่อน จากนั้นก็วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงเหตุผลว่ามีจุดอ่อน หรือจุดบกพร่องอย่างไร ซึ่งบาลีตอนนี้ ได้พรรณนาถึงจุดบกพร่องไว้สั้น ๆ ว่า เป็นของต่ำทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นำมาซึ่งความทุกข์ การวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะนี้แหละเรียกว่า ขัณฑนะ สุดท้ายจึงเริ่มแสดงหลักมัชฌิมาปฏิปทาอันเป็นปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อการรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ เป็นหนทางที่ทำให้เกิดจักษุ เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง และเป็นไปเพื่อพระนิพพาน กระบวนการในตอนท้ายนี้เรียกว่า อุตตรปักษ์ หรือสิทธานตะ คือการเสนอทัศนะที่ถูกต้องเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับสังคม
๕. ระบบต่าง ๆ ของปรัชญาอินเดีย คำว่า ระบบที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ ใช้ในความหมายเดียวกันกับ สำนัก หรือ สาย ปรัชญา ปรัชญาอินเดียแบ่งระบบ หรือสำนักปรัชญาออกเป็น ๒ สายใหญ่ ๆ คือ ๑. สายอาสติกะ หมายถึง สำนักปรัชญาที่ยอมรับนับถือพระเวทในฐานะเป็นปรัชญาแม่บทในการอธิบายความคิดทางปรัชญา ประกอบด้วย ๖ สำนักปรัชญาต่อไปนี้ คือ มีมามสา เวทานตะ สางขยะ โยคะ นยายะ และไวเศษิกะ ในบรรดาปรัชญาทั้ง ๖ สำนักนี้ แม้ทั้งหมดจะยอมรับนับถือพระเวทเหมือนกัน แต่มีทัศนะในเรื่องพระเจ้าแตกต่างกันออกไป จึงแยกออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่เชื่อในพระเจ้าในฐานะเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่ง กลุ่มนี้ประกอบไปด้วย นยายะ,ไวเศษิกะ, โยคะ, และเวทานตะ ส่วนกลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ไม่เชื่อพระเจ้าว่าเป็นผู้สร้างโลก ซึ่งประกอบไปด้วย มีมามสา และสางขยะ นอกจากการแบ่งกลุ่มในลักษณะดังกล่าวแล้ว ยังมีการแบ่งอีกลักษณะคือ กลุ่มที่ยึดพระเวทโดยเคร่งครัดในการอธิบายความทางปรัชญา กลุ่มแรกนี้ประกอบไปด้วย มีมามสา และเวทานตะ กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่อธิบายความโดยอิสระตามทัศนะของตน ไม่ยึดพระเวทตายตัวเหมือนกลุ่มแรก กลุ่มนี้ประกอบไปด้วยสางขยะ, โยคะ,นยายะ,ไวเศษิกะ[7] ๒. สายนาสติกะ หมายถึง สาย หรือสำนักปรัชญาที่ปฏิเสธไม่ยอมรับนับถือพระเวทในฐานะเป็นปรัชญาแม่บท สายนี้ประกอบไปด้วย พุทธ จารวาก และเชน ๖. สรุปท้ายบท ปรัชญาอินเดียส่วนใหญ่เป็นปรัชญาชีวิต[8] แม้จะมีการพูดถึงโลก หรือจักรวาล หรือสิ่งภายนอกอื่น ๆ บ้าง แต่เป้าหมายมีอยู่ชัดเจน คืออยู่ที่ให้ความเข้าใจนั้นเป็นไปเพื่อพัฒนาชีวิตให้ถึงเป้าหมายสูงสุดซึ่งถือว่าเป็นบรมสุข ปรัชญาอินเดียส่วนใหญ่จึงมีแนวโน้มเป็นปรัชญาศาสนา คือมีรากฐานมาจากคำสอนทางศาสนา กล่าวอีกนัยหนึ่ง ปัญหาทางศาสนาเป็นตัวปลุกเร้าทำให้เกิดความคิดทางปรัชญา อนึ่ง มีท่านผู้รู้ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับลักษณะร่วมของปรัชญาอินเดีย สรุปได้ดังนี้[9] ๑. ปรัชญาอินเดียเป็นปรัชญาชีวิต ความคิดทางปรัชญามีคุณค่าก็ต่อเมื่อสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเท่านั้น ๒. ปรัชญาอินเดียทุกระบบ เกิดจากความไม่พึงพอใจต่อสถานภาพความเป็นอยู่ของชีวิต ชีวิตนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ นักปราชญ์จึงพยายามแสวงหาวิธี หรือหนทางที่จะดับทุกข์นั้น ๓. ปรัชญาอินเดียทุกสำนักเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม ทั้งในลักษณะที่เป็นกฎแห่งจักรวาล กฎแห่งเหตุผล และกฎศีลธรรม ๔. ปรัชญาอินเดียทุกสำนักเชื่อว่า อวิทยา หรืออวิชชาเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ ๕. ปรัชญาอินเดียทุกสำนักเชื่อว่า การบำเพ็ญสมาธิและวิปัสสนาโดยพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ให้ตรงตามความเป็นจริง เป็นทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ ๖. ปรัชญาอินเดียทุกสำนักเห็นว่า การควบคุมตนเอง หรือการควบคุมจิตไม่ให้เป็นไปตามอำนาจแห่งตัณหา หรือกิเลส เป็นทางที่จะทำให้จิตไม่เศร้าหมอง เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง ย่อมสามารถบรรลุความสุขนิรันดร์ได้ ๗. ปรัชญาอินเดียทุกสำนักเชื่อว่า ความหลุดพ้นเป็นสิ่งที่สามารถเป็นไป และวิธีการก็อาจมีหลากหลาย ๗. คำถามท้ายบท ๑. นักปรัชญาอินเดียกับนักปรัชญาตะวันตกมองปรัชญาแตกต่างกันอย่างไร ? ๒. นักปราชญ์ทั้งหลายกำหนดขอบเขตปรัชญาอินเดียโบราณไว้อย่างไร ? จงอภิปราย ๓. ปรัชญาอินเดียแบ่งออกเป็นกี่ยุค อะไรบ้าง ? แต่ละยุคกำเนิดแนวคิดปรัชญาที่สำคัญอย่างไรบ้าง ๔. วิธีการทางปรัชญาของอินเดียมีเอกลักษณ์พิเศษ หรือเฉพาะอย่างไรบ้าง ? จงอภิปราย ๕. ปรัชญาอินเดียมีการแบ่งระบบหรือสายปรัชญาอย่างไรบ้าง ? จงชี้แจงรายละเอียด ๖. ลักษณะร่วมของปรัชญาอินเดียมีอะไรบ้าง ? จงอธิบายความพอสังเขป [1] สุนทร ณ รังษี. ปรัชญาอินเดีย : ประวัติและลัทธิ. (กรุงเทพ ฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๗),หน้า ๔. [3] สุมาลี มหณรงค์ชัย. ฮินดู-พุทธ จุดยืนที่แตกต่างกัน. (กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, ๒๕๔๖), หน้า ๒๙. [5] S. Chatterjee, D.M. Datta. An Introduction to Indian Philosophy. (India : University of Calcutta,1984), p.4. [6] วิ.มหา. (ไทย) ๔/๑๓/๒๐. |
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |
<< | ธันวาคม 2010 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | 3 | 4 | |||
5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 |
12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 |
19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 |
26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 |