วันพุธ ที่ 5 ธันวาคม 2550
Posted by
DinSor
,
ผู้อ่าน : 1088
, 11:17:59 น.
หมวด : กฎหมาย
พิมพ์หน้านี้
โหวต
0 คน
คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ
โดย สมบูรณ์ ศิริประชัย คนไทยจำนวนมากรู้สึกหน้าชาเมื่อมีฝรั่งมาเขียนวิพากษ์วิจารณ์เมืองไทยในทางเสียหาย ว่าไปแล้วสิ่งที่นำมาพูดไม่ใช่ความเท็จ แต่เป็นความจริงที่เห็นอยู่ดาษดื่นทั่วไปในเมืองไทย โดยเฉพาะจำนวนโสเภณี และสถานเริงรมย์ที่ตั้งกระจัดกระจายทั่วทุกหนแห่งในกรุงเทพฯและส่วนอื่นๆ ของประเทศนี้ หรือในกรณีสนามกอล์ฟก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เมื่อเทียบกับนักกีฬาและจำนวนคนเล่นกอล์ฟแล้ว เราตีความเป็นอื่นไม่ได้ว่า ทั้งเซ็กซ์และกอล์ฟเป็นเรื่องที่เมืองไทยมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ แต่นี่ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจแต่เพียงโดดๆ ที่ปราศจากต้นทุนทางสังคม ความจริงก็คือทั้งสองอย่างนี้ ประเทศไทยมีมากเกินไปและไม่มีทางลดลงได้ในระยะเวลาอันสั้น แท้ที่จริงสิ่งซึ่งควรจะทำให้เรามีความละอายมากขึ้นนั้นน่าจะมีอีก 2 อย่าง ยาเสพติด และการฉ้อราษฎร์บังหลวง ทั้งสองอย่างนี้มีความร้ายแรงและทำลายเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าสองอย่างแรกเสียอีก ปัญหายาเสพติดคงไม่ต้องบรรยายมาก เพราะก็รู้ๆ อยู่ว่าเป็นธุรกิจที่ทำกำไรมหาศาลขนาดไหน การขจัดให้สิ้นซากดูเหมือนจะเป็นความฝันเสียมากกว่า แม้ว่าในหลายปีที่ผ่านมาจะมีการฆ่าตัดตอนไปจำนวนมากก็ตาม เมื่อยาเสพติดเหล่านี้ผลิตตามชายแดนไทยหรือผลิตในประเทศเพื่อนบ้านแล้วมาขายในประเทศไทย การปราบปรามอย่างได้ผลดีจำเป็นต้องมีรัฐที่ซื่อสัตย์สุจริตและเข้มแข็งเป็นสำคัญ การฉ้อราษฎร์บังหลวงน่าจะมีความรุนแรงไม่ยิ่งหย่อนกว่ายาเสพติด ในแง่ที่ว่าเป็นการสร้างโรคร้ายในระบบสังคมและการเมืองในประเทศไทย ที่น่าเศร้าก็คือนักการเมืองไทยใฝ่ฝันอยากเป็นเพียงรัฐมนตรี โดยไม่สนใจใยดีตำแหน่งอื่นๆ ไม่มีตำแหน่งอื่นๆ เทียบได้กับตำแหน่งรัฐมนตรี ในขณะที่รัฐสภามิได้มีไว้ตรากฎหมายที่เป็นประโยชน์ของพลเมืองอย่างที่ควรจะเป็น หากแต่เป็นเวทีต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองของนักการเมืองกับนักธุรกิจการเมืองเท่านั้น เราจึงไม่แปลกใจว่า ประสิทธิภาพการตรากฎหมายในรัฐสภานั้นต่ำอย่างน่าตกใจ จำนวนกฎหมายที่รอการพิจารณาและอนุมัติมีเป็นจำนวนร้อยๆ ซึ่งชาวบ้านทั่วไปก็ไม่อาจทราบได้ แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนมากใช้เวลาเป็นอันมากในการเยี่ยมเยียนหัวคะแนนและฐานเสียงในจังหวัดตนเอง มิใช้เพื่อเหตุผลอื่นใดนอกจากเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันแนบแน่นทางอำนาจของการเมือง ณ ระดับท้องถิ่น การเป็นรัฐมนตรีจึงหมายถึงเกียรติ อำนาจ และเงินทอง เพราะด้วยตำแหน่งนี้เท่านั้นที่มีอำนาจที่ถูกกฎหมายในการสร้างนโยบายที่จะนำไปสู่การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ
กระบวนการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่ศตวรรษ 1980 มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกระบวนการของโลกาภิวัตน์ แต่ความสามารถของรัฐไทยในการสร้างกติกาและรักษากติกาให้เข้มแข็งนั้นกลับมีความอ่อนแอเป็นอย่างยิ่ง เราสามารถหยิบยกแทบจะทุกเรื่องที่รัฐไทยพยายามจะแก้ไข ไม่ว่ากรณีการทุจริตในการแจกกล้ายางพารา กรณีบ่อบำบัดน้ำเสียที่สมุทรปราการ การทุจริตในโครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการการจัดซื้อเครื่อง CTX ในสนามบินสุวรรณภูมิ โครงการการทุจริตในการประกันราคาข้าว การปล่อยกู้เงินของธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกให้พม่า ฯลฯ สิ่งที่เกิดขึ้น เราสามารถกล่าวได้ว่า รัฐไทยมิได้พยายามเปลี่ยนแปลงหรือปรับโครงสร้างขั้นรากฐาน แม้ว่าเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเงินมาแล้ว และวิกฤตการณ์นี้ยังไม่ได้หมดสิ้นไปเสียทีเดียว เพียงแต่การลงโทษผู้ทำผิดและทำความเสียหายต่อระบบสถาบันการเงินทั้งหมดก็ยังมิได้มีการทำอย่างจริงจัง บุคคลเหล่านั้นยังร่ำรวยและมีชีวิตที่สุขสบาย ความจริงเหล่านี้ไม่ยากที่จะสังเกต ท้องถนนบนกรุงเทพฯ ยังต้องเต็มไปด้วยรถราคาแพงลิบลิ่ว แม้ว่าราคาน้ำมันจะแพงเพียงใดก็ตามซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ ถ้าคนเหล่านั้นเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกันที่ถูกกระทบจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ
เกือบจะพูดได้ว่า รัฐไทยมีความอ่อนแออย่างยิ่งในการสร้างโครงสร้างทางสถาบันที่ดีในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้มีคุณธรรมและระบบที่ดีในการบูรณะเศรษฐกิจและสังคมให้ดีอย่างที่ควรจะเป็น แม้ว่าเราจะดีใจเมื่อหลายปีก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถมีการบังคับใช้ และอย่างน้อยมีแสงสว่างรำไรในหมู่นักวิชาการและผู้สนใจปัญหาบ้านเมืองว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 จะเป็นการสร้างกติกาของเกมที่จะสร้างนวัตกรรมของการเมืองการปกครองของไทย แต่รัฐธรรมนูญที่ถูกกล่าวอ้างว่าดีที่สุดเท่าที่มีมาก็มีอายุสั้นเพียง 10 ปีเท่านั้น แต่นี่คงเป็นความฝันที่ยังไกลความเป็นจริง เพราะส่วนสำคัญที่ขัดขวางมิให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีพลังอย่างที่ควรจะเป็นก็คือ การสร้างสถาบันใหม่อื่นๆ ในการรองรับรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ยังไม่ได้สถาปนาขึ้นอย่างจริงจัง ก็มาถูกทำลายลงอย่างไม่มีชิ้นดีในเดือนกันยายน 2549 กล่าวให้เจาะจงก็คือ การปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมจะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าสังคมไทยจะเริ่มต้นแก้ไขปัญหาที่ร้ายแรงที่ฝังรากลึกในสังคมไทย แต่ดูเหมือนว่า การปฏิรูปใดๆ ที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงกติกาที่ดีในอนาคตยังมิได้เกิดขึ้นเลยหลังจากวิกฤตการณ์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ยิ่งกว่านั้น ยังถอยหลังกลับไปหลายก้าวเลยทีเดียว
สิ่งที่น่ากลัวก็คือรัฐไทยไม่พยายามปฏิรูปตัวเองให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริง คำถามพื้นฐานก็คือปัจจัยอะไรที่จะทำให้รัฐไทยเริ่มต้นปรับโครงสร้างพื้นฐานของสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม? ภายใต้โครงสร้างระบบการเมืองปัจจุบันที่เรามีรัฐบาลรักษาการ เราอาจกล่าวได้ว่า อัปลักษณ์ของไทยยังคงอยู่กับเราอีกนานแสนนาน เซ็กซ์กับสนามกอล์ฟไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่ฝรั่งจะนำมาวิจารณ์เมืองไทย ความเหลวแหลกของระบบคุณธรรมในสังคมไทยกำลังสร้างตัวเองอย่างรวดเร็วและถ้าไม่มีการสกัดกั้นหรือเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดี ระบบที่ไร้คุณธรรมในไม่ช้าก็จะค่อยๆ กลายเป็นปทัสฐานและเมื่อถึงจุดนั้นก็ยากที่จะแก้ไขให้ดีดังเดิม
การเลือกตั้งที่จะมาถึงในวันที่ 23 ธันวาคม จะเป็นอย่างไร คงยังไม่อาจคาดได้ในขณะนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นค่อนข้างแน่ก็คือ เราน่าจะได้รัฐบาลผสมหลายพรรคอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเกิดปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลแบบผสมตามมา เหมือนเมื่อเคยเกิดมาแล้วในอดีต พรรคการเมืองเกือบทุกพรรคขณะนี้ต่างหาเสียงโดยเน้นการเสนอนโยบายแบบประชานิยมที่ต้องการเอาใจประชาชนทั้วไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกันราคาพืชผลทางการเกษตร การเล่าเรียนฟรี เงินกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น นโยบายของพรรคไทยรักไทย ซึ่งขณะนี้คือพรรคพลังประชาชนจะเอาชนะใจคนไทยได้เพียงใด วันที่ 23 ธ้นวาคม ก็คงทราบกันแน่ๆ แต่สิ่งที่ผู้เขียนสนใจก็คือ ปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดของไทยในปัจจุบันนี้ที่เผชิญและจะเผชิญในอนาคตก็คือ ในปี 2549 เรายังมีคนจนถึง 6 ล้านคน ในจำนวน 65 ล้านคน แต่ที่ร้ายแรงมากกว่าก็คือ สังคมไทยกลับมามีความเหลื่อมล้ำกันมากยิ่งขึ้นระหว่างคนในประเทศ กลุ่มคนที่รวยที่สุดเทียบกับกลุ่มคนที่จนที่สุดนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 16 เท่า ในปี 2549 ( ตามมาตรฐานสากลมักให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่รวยที่สุดกับคนที่จนที่สุดมีไม่เกิน 4 เท่า เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น) ซึ่งมีการลดลงเป็น 12 เท่า ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แต่เมื่อรัฐบาลหมดอำนาจไป ความเหลี่อมล้ำนี้กลับกระโดดขึ้นมาสูงกว่าถึงเฉลี่ยเดิม ซึ่งอยู่ที่ 13 เท่า แสดงว่านโยบายประชานิยมอาจมีผลลดความเหลื่อมล้ำลงได้ แต่ก็เพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อรัฐบาลเลิกอัดฉีดเงินเข้าไป ความเหลื่อมล้ำก็กลับสูงขึ้นมาใหม่
น่าเสียดายที่พรรคการเมืองส่วนมากในขณะนี้มิได้ใส่ใจเรื่องความเหลื่อมล้ำนี้เท่าที่ควร ในกรณีของไทยนั้น เราอยู่ในภาวะที่แย่มากๆ ในมาตรฐานของโลกคือมีความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ใกล้เคียงกับอาร์เจนตินาหรือโคลัมเบีย ซึ่งทั้งสองประเทศล้วนมีการกระจายรายได้ที่เลวร้ายในระดับโลก
ยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่หาเสียงที่จะลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะนี่จะเป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่งที่จะหาเสียงจากคนยากคนจนในประเทศนี้ คำถามที่น่าสนใจก็คือ ถ้าพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกจะแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำนี้ รัฐบาลนั้นจะเลือกใช้นโยบายแบบใด ระหว่างเสรีนิยม ประชานิยม และรัฐสวัสดิการ หลังวันที่ 23 ธันวาคมนี้ เราคงได้รู้คำตอบอย่างไม่ต้องสงสัย มติชน วันที่ 05 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10861
|