ตึกสูง ควันพิษ ปัญหาเศรษฐกิจและการขยายถนน All
in One, All in Chiang mai // วิชัย จันทวาโร “เชียงใหม่เปลี่ยนไปมาก” ยอมรับหรือไม่ว่า
เราที่อยู่เชียงใหม่ หรือคนซึ่งเคยมาเยือนเชียงใหม่มากกว่า 2 ครั้ง ต้องเคยรู้สึกแบบนี้ ในยุคผู้ว่า
CEO (จะแปลว่าอะไรก็ช่าง) ได้มีการวางเป้าหมายการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็น “นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง”
ซึ่งมุ่งเน้นพัฒนาถนนหนทาง ตึกรามสูงใหญ่
โดยต้องการปรับยกระดับให้เชียงใหม่เป็นเมืองค้าขายและท่องเที่ยวระดับเอเชีย
โดยคำตอบสุดท้ายจะทั้งผลักทั้งดันให้เชียงใหม่เป็น “มหานคร” ภายใน 20 ปี การเร่งพัฒนาต่างๆ
กลับเพิกเฉย ละเลยที่จะให้ความสำคัญต่อสังคม ประชาชน
วัฒนธรรมและโบราณสถานอย่างไม่น่าให้อภัย
โดยให้คุณค่าของรากเหง้าความเป็นเชียงใหม่เพียงแค่เครื่องสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ประเพณี การละเล่น และวัฒนธรรมพื้นถิ่นกลายเป็นการแสดงโชว์เรียกแขก
ถ้อยคำสวยหรูที่ปรุงแต่งในบทกล่าวนำของพิธีกรบนเวทีงานเทศกาลต่างๆ
เป็นเพียงคำแก้ตัวที่มีไว้ปกปิดความอ่อนด้อยของผู้จัดงานที่อ้างอิงความร่วมสมัยมาใช้แบบพร่ำเพรื่อไร้สำนึก
เหล่านั้นค่อยๆ ทำให้ “เชียงใหม่เปลี่ยนไปมาก” แน่นอน
ว่าเรามิอาจปฏิเสธการพัฒนา หากเพียงแต่
การพัฒนาโดยขาดการศึกษาและให้คุณค่าต่อสิ่งที่บรรพบุรุษได้สั่งสมสร้างไว้ก็ถือว่าอกตัญญู
ตึกสูงเสียดฟ้า ค้ำยอดเจดีย์และหลังคาวิหารกลายเป็นทัศนะอุจาดในสายตาประชาชน
ป้ายโฆษณาในโลกทุนนิยมผุดพรายขึ้นทายท้าลมฝน บดบังความงามอร่ามเรืองรองของดอยสุเทพ
แผนส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ลดแลกแจกแถมให้คนมาเชียงใหม่ยิ่งเร่งให้ต้องมีการพัฒนาด้านวัตถุ
โดยเข้าใจเอาว่ามีไว้เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวเหล่านั้น
ถามจริงๆ ว่าคนมาเที่ยวเชียงใหม่เพราะเป็นเมืองที่สะดวกสบายหรือ? ยิ่งคนมาก
การก่อสร้างยิ่งเยอะส่งผลผูกโยงไปถึงปัญหามลภาวะทางอากาศ
ฝุ่นละอองจากการก่อสร้างที่ตอนนี้มีรายงานการวิจัย
และผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศยืนยันว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในเขตเมืองนั้นอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ!!! ยิ่งใจกลางเมืองเชียงใหม่มีลักษณะทางกายภาพเป็นแอ่งกระทะคือมีภูเขาล้อมรอบ
ยากต่อการถ่ายเททั้งอากาศและน้ำ คำว่า “เมืองเชียงใหม่อากาศดี” จึงจะค่อยๆ เลือนหายกลายเป็นตำนานไปในที่สุด นอกจากนี้
มลพิษทางอากาศจากยวดยานพาหนะที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณของผู้คนที่หลั่งไหลมาอยู่เชียงใหม่ก็หนักหนาสาหัส
ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาเกิดปรากฎการณ์รถติดยาวหลายกิโลเมตร
ตั้งแต่ทางขึ้นดอยสุเทพลากยาวไปถึงทางหลวงซุปเปอร์ไฮเวย์ เกิดควันพิษในเขตเมือง นี่ยังไม่รวมถึงการเผาทางการเกษตร
และการเผาขยะสิ่งปฏิกูลที่เพิ่มขึ้นจากความมักง่าย
หรืออาจจะเพราะหน่วยงานรัฐไม่มีทางออกให้ชาวบ้าน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ
อำเภอสารภี ถนนสายต้นยางที่สวยงามควรค่าแก่การอนุรักษ์นั้น
เมื่อถึงฤดูกาลที่ต้นยางผลัดใบ
ใบยางที่ร่วงหล่นไร้คนดูแลกลายเป็นปัญหาที่ชาวบ้านต้องกำจัดทิ้ง แม้มีป้ายรณรงค์หรือบทบัญญัติห้ามเผาอันหน่อมแน้มมากำกับแต่ยากจะแก้ปัญหา
ในเมื่อรัฐไม่มีคำตอบหรือทางออกให้ประชาชนว่าแล้วจะทำอย่างไรกับเศษใบไม้มากมายเหล่านั้น
ชาวบ้านก็ต้องเลือกที่จะเผาทิ้ง ใครจะปล่อยขยะให้ท่วมหน้าบ้านตัวเอง
นั่นทำให้สารภีเป็นอำเภอที่มีประชากรที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจมากเป็นอันดับสอง
รองจาก อ.แม่เมาะ ลำปาง (มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน) ทุกวันนี้
ภาพเมืองเชียงใหม่ขยับเข้าใกล้กรุงเทพมหานครเข้าไปทุกที เสาร์ อาทิตย์
ถนนค่อนข้างโล่ง
แต่ถ้าเป็นเช้าและเย็นวันจันทร์ถึงวันศุกร์จะเกิดอาการรถติดให้พอหายคิดถึงกรุงเทพฯ
เมื่อการจราจรทำท่าจะเริ่มแออัด
ท่านหน่วยงานรัฐผู้ปราดเปรื่องก็คิดได้แค่ว่าต้องขยายถนน และจ้องหาประโยชน์โภชน์ผลเข้าตัว
โดยไม่ได้มองถึงผลกระทบในระยะยาวถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะตามมา
ลักษณะการดำรงชีวิตที่จะเปลี่ยนไป พ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย
จะมีแรงข้ามถนนสี่เลนไปมาหาสู่กันได้อย่างไร เด็กๆ จะปลอดภัยที่จะเดินถนนแค่ไหนเมื่อรถจะแล่นเร็วขึ้น
ทั้งที่สิ่งอันควรคิดและชาวบ้านร้านตลาดเขาเห็นปัญหาอยู่ตำตา คือ
ระบบขนส่งมวลชนในเมืองเชียงใหม่ไม่เคยเข้าใกล้คำว่า “มีประสิทธิภาพ” นี่อาจเป็นประเด็นเดียวที่ไม่ยอมเปลี่ยนไปของเชียงใหม่ รถสองแถวที่วิ่งบริการในเมืองก็คิดราคาตามใจ
แพงมากแพงน้อยขึ้นอยู่กับภาษาที่ใช้ในการต่อรอง วันก่อนบนเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับผังเมืองใหม่ที่จัดขึ้นที่คริสตจักรที่
1 เชียงใหม่นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่
เผยว่ามีโครางการหารถขนส่งมวลชนใหม่มาบริการในเมืองก็ไม่วายที่จะมีชาวบ้านเตือนว่ารถต้องคันไม่ใหญ่จนต้องขยายถนนเพราะเลี้ยวไม่ได้ถึงกับฮาไม่ออก ภาพรวมการพัฒนาที่ไร้ทิศทาง
และขาดความยั้งคิดของเชียงใหม่
เริ่มส่งผลกระทบให้เห็นเป็นรูปธรรมในลักษณะของเศรษฐกิจที่ซบเซา
นักท่องเที่ยวเริ่มใช้เชียงใหม่เป็นแค่ทางผ่านเพื่อไปยังจุดหมายที่บริสุทธิ์กว่ารอบนอก เมื่อการเต้นรำจำอวด
ขบวนแห่ที่มีนางหรือนายรำทำท่าอ่อนๆ แข็งๆ อยู่บนเสลี่ยงคานหามต่างๆ
ที่ผู้คนเริ่มจับทางได้ว่า “กลวงโบ๋ทางคุณค่าในการอนุรักษ์” ค่อยๆ ขายไม่ออก ฯพณฯจากแหล่งต่างๆ จึงหาทางออกด้วยการสร้างจุดขายใหม่ๆ
อย่างเชียงใหม่ไนซ์ซาฟารี ที่ตอนนี้นักอนุรักษ์ต่างเรียกขานว่า “สุสานสัตว์เชียงใหม่” นอกจากนี้ยังมี “เชียงใหม่ซูอควาเรียม”
ที่อดีตนายกฯสมชายมาเป็นประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม
เวลาประมาณ 10.00 น. และปิดปรับปรุงเมื่อ เวลาประมาณ 11.00
น.ของวันเดียวกัน ทำให้จุดขายใหม่ที่คาดหวังได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นได้แค่จุดขายหน้าเท่านั้นเอง ปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าเชียงใหม่ในวันนี้ หนักหนาสาหัสเกินกว่าที่คนเพียงบางกลุ่มหรือหน่วยงานบางแห่งจะแก้ไขได้โดยลำพัง โดยเฉพาะถ้ายังปล่อยให้ผับบาร์อยู่ติดกำแพงวัด พื้นที่รอบคูเมืองยังเป็นถังขยะของบริโภคนิยมที่สนองตอบเพียงเม็ดเงินสู้มือเจ้าของทุน เรื่องใหญ่ๆ อย่างการพัฒนาเมืองเก่าที่ควรอนุรักษ์แล้วมุ่งขยายหรือสร้างเมืองใหม่รอบนอก แทนที่จะดันทุรังปลุกชีวิตให้เมืองเก่าแบบไร้วิญญาณอย่างที่เป็นอยู่ คำถามคือ คนเชียงใหม่จะปล่อยให้ภาครัฐกำหนดอนาคตเชียงใหม่ หรือเราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ร่วมกันกวาดบ้าน กวาดเมืองให้เป็นไปในทางที่ควรจะเป็น และแน่นอนการรักเชียงใหม่คงไม่ใช่แค่รักที่ชื่อกลุ่มอย่างเดียว เผยแพร่ครั้งแรกใน วารสารประชาภิวัฒน์ ฉบับที่ 2 กุมภาพันธ์ 52 |
ภาพจากการเดินทางหนึ่งเดือน | ||
![]() |
||
หลังตัดสินใจ ลาทุกท่านไปเดินทางหนึ่งเดือน เส้นทางกรุงเทพ เชียงใหม่ เชียงราย หลวงพระบาง ลำปาง และตระเวนทางภาคเหนือ ตอนนี้กลับมากรุงเทพแล้วครับ เลยถือโอกาสเอารูปมาฝากกัน |
||
View All ![]() |
<< | กุมภาพันธ์ 2009 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 |
8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 |
15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 |
22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 |