สอบกันไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๑ เป็นที่ถกเถียงกันมากว่าคำตอบจะเป็นอย่างไรกันแน่ลองมาดูคำตอบอย่างไม่เป็นทางการที่ท่านนักกฎหมายช่วยโพสต์ในเว็บบอร์ดกฎหมายมาให้ชมกันนะครับ ธงเนติ 1/61
ยังไม่เป็นทางการ/แต่เอาธงเขามาให้ดูเพื่อการศึกษาจริงๆ
คำตอบ ข้อ 1. ร้อยตำรวจเอกเก่งและสิบตำรวจเอกขาวได้ให้สัญญาณให้นายแดงและนายดำหยุดรถ การที่นายแดงและนายดำไม่ยอมหยุดและได้ขับรถหนีไปจนต้องไล่ตามจับ พฤติการณ์เพียงเท่านี้ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำของนายแดงและนายดำเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน จึงไม่เป็นความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา138(เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 2401/2545) นายแดงถูกจับกุมตัวถึงแม้ยังมิได้แจ้งข้อหาก็เป็นการถูกคุมขังแล้วตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (12) (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 772/2536) การที่นายแดงหลบหนีไปจึงเป็นการหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา จึงมีความผิดตามมาตรา 190 วรรคแรก และการที่นายแดงดิ้นรนขัดขืนไม่ยอมให้ร้อยตำรวจเอกเก่งใส่กุญแจมือ ถือเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่เป็นความผิดตามมาตรา 138 วรรคแรก ส่วนนายดำใช้รถจักรยานยนต์ของตนขับพุ่งชนสิบตำรวจเอกขาวจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 298 สำหรับรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดนั้น เมื่อนายดำถึงแก่ความตาย โทษย่อมเป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิดตามมาตรา 38 จึงไม่อาจริบจักรยานยนต์ของกลางได้ -------------------------------------------------------------
คำตอบ ข้อ 2. นายตรีใช้ปืนยิงนายเอกบาดเจ็บเพื่อช่วยนายโทมิให้ถูกนายเอกยิง นายตรีอ้างป้องกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ได้ และเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุ นายตรีจึงไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่านายเอกตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 นายจัตวาผลักนายโทล้มลงเพื่อมิให้ถูกนายเอกยิง นายจัตวาจะอ้างป้องกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68 ไม่ได้ เพราะมิได้กระทำต่อนายเอกผู้ก่อภัย แต่นายจัตวาอ้างว่าเป็นการกระทำโดยจำเป็นเพื่อให้ผู้อื่นพ้นภยันตรายตามมาตรา 67 (2)ได้ เมื่อเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุ นายจัตวาจึงไม่ต้องรับโทษในความผิดฐานทำร้ายร่างกายนายโทตามมาตรา 295 นายโทใช้ไม้ตีนายจัตวาศีรษะแตกในขณะที่นายโทโกรธโดยตีเมื่อนายจัตวาวิ่งหนีไปแล้ว จึงไม่เป็นการกระทำโดยป้องกัน แต่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 72 และสำคัญผิดในข้อเท็จจริงตามมาตรา 62 เพราะเข้าใจผิดไปว่านายจัตวาข่มเหงตนอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมโดยการแกล้งผลักตนล้มลง ศาลจึงอาจลงโทษนายโทน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานทำร้ายร่างกายนายจัตวาตามมาตรา 295 เพียงใดก็ได้ -----------------------------------------------------------------------
คำตอบ ข้อ 3. นายชอบไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ของนายใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 เพราะขาดเจตนาลักทรัพย์ เนื่องจากไม่รู้ว่าเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น เป็นการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จึงจะถือว่าผู้กระทำมีเจตนากระทำความผิดมิได้ ทั้งนี้ตามที่มาตรา 59 วรรคสาม บัญญัติไว้ นายชอบไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ของนายชื่น เพราะสุนัขอีกตัวหนึ่งที่นายชอบอุ้มขึ้นมาบนรถเป็นสุนัขของนายชอบเอง จึงไม่ใช่การเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์(เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 7144/2545) --------------------------------------------------------------------
คำตอบ ข้อ 4. ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ท.ร. 17 เป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน เมื่อนายดีเป็นนายทะเบียนมีหน้าที่รับแจ้งการย้ายที่อยู่และได้ลงชื่อเป็นผู้รับแจ้งข้อความตามที่ปรากฏในเอกสารใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ท.ร. 17 ซึ่งเป็นข้อความเท็จตามที่นายดำมาแจ้งแล้ว โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน การกระทำของนายดำย่อมเป็นความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 การที่นายดีจะใช้ให้บุคคลใดเขียนหรือจดข้อความลงในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ท.ร. 17 แทนนายดี หาใช่เป็นสาระสำคัญอันจะทำให้การกระทำของนายดำไม่เป็นความผิดตามมาตรา 267 แต่อย่างใด (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 2918/2535) และการกระทำของนายดำเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย จึงเป็นความผิดตามมาตรา 137 ด้วย -----------------------------------------------------------
คำตอบ ข้อ 5. การที่นายก้างตัดสินใจเข้าไปกระตุกสร้อยคอของนางสาวผุดผ่องตามลำพังเป็นการฉกฉวยเอาทรัพย์ไปซึ่งหน้า นายก้างจึงมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ส่วนนายกรอบมิได้มีเจตนาร่วมในการกระตุกสร้อยคอด้วย จึงไม่เป็นตัวการในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ คงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตามมาตรา 335(7) เท่านั้น หลังจากนั้น นายก้างได้ย้อนกลับไปใช้อาวุธมีดขู่ นายกล้าว่าจะแทงให้ตายหากไม่ยอมปล่อยตัวนายกรอบ จึงเป็นการขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้นายกรอบพ้นจากการจับกุม โดยการขู่เข็ญเกิดจากการขอร้องของนายกรอบและยังไม่ขาดตอนจากการวิ่งราวทรัพย์ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 600/2544) การกระทำของนายก้างและนายกรอบจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 , 83 เมื่อร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และกระทำโดยมีอาวุธ ต้องด้วยลักษณะที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 335 (7) นายก้างและนายกรอบจึงต้องรับโทษตามมาตรา 339 วรรคสอง ------------------------------------------------------------- คำตอบ ข้อ 6. การที่นายสมศักดิ์ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการซึ่งผู้บังคับบัญชาของตนแต่งตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีที่นายแสงชัยนายอำเภอสาระขัณฑ์ ถูกกล่าวหาว่าประพฤติและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ถ้อยคำที่นายสมศักดิ์กล่าวเป็นการกล่าวในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปให้ถ้อยคำ เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการอันเป็นส่วนรวมและเป็นการกล่าวไปตามข่าวลือไม่ได้ยืนยันว่าเป็นความจริง และไม่ได้ตั้งใจให้ผู้ฟังเชื่อว่านายแสงชัยมีพฤติกรรมตามข่าวลือนั้น นายสมศักดิ์จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 203/2530) สำหรับนายชวลิตเขียนข่าวยืนยันข้อเท็จให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์เชื่อว่าพยานใกล้ชิดเหตุการณ์ที่เป็นปลัดอำเภอให้ถ้อยคำยืนยันว่า นายแสงชัยได้เสียกับผู้ใต้บังคับบัญชาในห้องทำงานซึ่งเป็นข้อความที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง นายชวลิตเป็นนักข่าวสมควรตรวจสอบข้อเท็จจริงที่อาจทำให้ผู้อื่นเสียหายให้รอบคอบก่อนนำไปเขียนเป็นข่าว การกระทำของนายชวลิตเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงใส่ความนายแสงชัยด้วยการเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์โดยประการที่น่าจะทำให้นายแสงชัยเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ซึ่งมิใช่เป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) แต่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนายแสงชัยโดยการโฆษณาด้วยเอกสารตามมาตรา 328 (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 3520/2543)
คำตอบ 7. นายสมต้องนำรายได้จากการว่าความรวมเป็นเงิน 2 ล้านบาท มาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร แต่ไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะการว่าความได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ฌ) สำหรับเงินได้จากการเปิดร้านขายสินค้าไทยในประเทศบราซิล ไม่ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะในปี 2550 นายสมอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วัน ตามมาตรา 41 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ต้องนำเงินได้เนื่องจากกิจการที่ทำในต่างประเทศมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 วรรคสอง แม้จะมีการโอนเงินได้เข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกันก็ตาม และนายสมไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะการขายสินค้านอกราชอาณาจักรไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2
คำตอบ ข้อ 8. สัญญาจ้างระหว่างบริษัทโรงแรมสีส้ม จำกัด กับนางสาวสมหญิงข้อที่กำหนดว่าภายในระยะเวลาสองปี นับแต่วันเริ่มสัญญา หากนางสาวสมหญิงตั้งครรภ์ให้ถือว่านางสาวสมหญิงได้บอกเลิกสัญญา โดยให้สัญญาสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งวินิจฉัยหรือเมื่อเห็นได้ชัดว่านางสาวสมหญิงตั้งครรภ์นั้น เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้างนางสาวสมหญิงเพราะเหตุมีครรภ์ อันขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 43 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 สัญญาจ้างข้อดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1394/2549) พฤติการณ์ที่บริษัทโรงแรมสีส้ม จำกัด แจ้งให้นางสาวสมหญิงออกจากงานในวันที่นางสาวสมหญิงยื่นใบรับรองของแพทย์ว่านางสาวสมหญิงมีครรภ์และจ่ายค่าจ้างให้ถึงวันออกจากงานโดยอ้างเหตุว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดนั้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด ซึ่งอยู่ในความหมายของการเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง จึงเป็นกรณีที่บริษัทโรงแรมสีส้ม จำกัด เลิกจ้างนางสาวสมหญิง และเมื่อการเลิกจ้างดังกล่าวมิใช่เพราะเหตุในกรณีหนึ่งกรณีใดตามมาตรา 119 โรงแรมสีส้ม จำกัด จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นางสาวสมหญิง
คำตอบ ข้อ 9. แม้นายดำเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 131 วรรคสาม ที่ห้ามศาลพิจารณาคดีอาญาที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำเลยในระหว่างสมัยประชุม แต่บทบัญญัติว่าด้วยความคุ้มกันของสมาชิกผู้แทนราษฎรตามมาตรา 131 ไม่นำมาใช้บังคับกับการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 277 วรรคสาม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงไม่จำต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปจนกว่าจะปิดสมัยประชุมตามคำร้องของนายดำ ส่วนกรณีตามคำร้องของนายแดง แม้นายแดงมิใช่บุคคลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 275 วรรคหนึ่ง กล่าวคือมิใช่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น แต่มาตรา 275 วรรคสอง บทบัญญัติวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับกรณีที่บุคคลอื่นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของบุคคลตามวรรคหนึ่งด้วย กรที่นายแดงเดินทางไปรับเงินจากผู้ให้สินบนที่ประเทศสิงคโปร์แทนนายดำเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดของนายดำซึ่งเป็นบุคคลตามมาตรา 275 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของนายแดง และไม่จำต้องพิพากษายกฟ้องคดีในส่วนของนายแดงตามคำร้องของนายแดง
คำตอบ ข้อ 10. เจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเป็นข้าราชการสังกัดกรมบังคับคดีและกรมศุลกากร ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 อย่างไรก็ตาม การขายทอดตลาดที่ดินตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดนทบุรีนั้น เป็นกระบวนกรบังคับคดีซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้บัญญัติหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะแล้ว หากนายแดงเห็นว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย นายแดงย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลจังหวัดนนทบุรีซึ่งเป็นศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้มีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดี คำฟ้องจึงไม่เข้าลักษณะเป็นคดีปกครองที่ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาพิพากษาได้ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ(เทียบคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 127/2545) ในส่วนของการประเมินภาษีอากรนั้น แม้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและคำสั่งประเมินภาษีอากรเป็นคำสั่งทางปกครองเนื่องจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของนายแดงก็ตาม แต่การฟ้องเพิกถอนคำสั่งประเมินภาษีนั้น เป็นคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร ที่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะได้รับพิจารณาพิพากษาได้ตามมาตรา 9 วรรคสอง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง (เทียบคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 48/2548)
|