คนหนุ่มข้างใน รายงานความในใจจากสวนดอกไม้ เรื่อง กิตติพงศ์ สนธิสัมพันธ์ เราใช้เวลากว่า 7 ชั่วโมงบนเส้นทาง 629 กิโลเมตรในการเดินทางจากกรุงเทพฯสู่จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ 15,517 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้เชื่อมต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวทางด้านทิศตะวันออกและประเทศกัมพูชาทางด้านทิศใต้ตามแนวเทือกเขาบรรทัด สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบอุดมสมบูรณ์ โดยมีลำน้ำมูลไหลผ่านตอนกลางของพื้นที่ นอกจากนี้ บริเวณหน้าผาของภูเขาหินทรายทางด้านทิศตะวันออกริมฝั่งแม่น้ำโขง ยังปรากฏ ภาพเขียนสี ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 4,000 ปี แสงตะวันเรื่อเรืองจับขอบฟ้าฟากตะวันออก ปลุกเราจากอาการหลับใหลซึมเซา แสงละมุนจากดวงสุริยาที่ยังไม่ปรากฏโฉมส่งสัญญาณของการเริ่มต้นวันใหม่ ดอกหญ้าหมาดน้ำค้างเอนไหวหยอกล้อเริงระบำระบัดเล่นกับสายลมโชยเอื่อย ฝูงเป็ดในบึงน้ำนิ่งสงบสองข้างทางแหวกว่ายมุ่งหน้าออกหากิน เราเปิดกระจกข้างรถรับชมมหรสพที่ธรรมชาติบรรจงมอบให้ด้วยหัวใจปลอดโปร่ง ในขณะที่ขอบฟ้าเริ่มเปลี่ยนเฉดสีและดวงตะวันค่อย ๆ ลืมตาตื่นจากค่ำคืน อุบลราชธานีก็กล่าวต้อนรับเราอย่างเป็นทางการโดยไร้ซึ่งคำพรรณนา เบื้องหน้าของเราคืออำเภอวารินชำราบ ถิ่นพำนักของนักเขียนท่านหนึ่ง ผู้ละทิ้งเศษเสี้ยวบางอย่างเพื่อดำรงสถานะของผู้อ่านความหมายและจดจารความเป็นไปของชีวิตลงบนหน้ากระดาษ คงมีนักอ่านจำน้อยไม่น้อยที่ไม่เคยได้ยินชื่อนักเขียนท่านนี้มาก่อน รวมถึงเราที่มีเครื่องนำทางเพียงชิ้นเดียว คือหนังสือรวมเรื่องสั้น ร่างแหแห่งวิหค งานรวมเล่มอย่างเป็นทางการชิ้นแรกและชิ้นเดียวในขณะนี้ของ มาโนช พรหมสิงห์ (สายลมบนถนนโบราณ ตีพิมพ์เมื่อเดือนมีนาคม 2548 โดยแพรวสำนักพิมพ์ เป็นผลงามรวมเล่มชิ้นล่าสุดของมาโนช พรหมสิงห์) ชายชราตื่นขึ้นมาเมื่อล่วงเลยเข้าสู่ยามสนธยา เขาลุกขึ้นนั่งช้า ๆ รู้สึกปวดเมื่อยตามแขนขา เรือนไม้เก่า ๆ เงียบงันดั่งต้องมนต์สะกดของแสงเรืองที่ขอบฟ้า เสียงนกกะปูดกับค้างคาวร้องดังก้องอยู่กลางสวนรก เหมือนว่ามันเพรียกความอ้างว้างทั้งหมดในโลกมาสิงสถิตที่นี่ มาแทรกซอนเข้าไปในรอยแตกปริของฝาและเสาเรือน กระทั่งรูขุมขนตามผิวเนื้อเหี่ยวย่นและดวงใจอ่อนล้า เขาไม่เคยชิงชังหรือกระเถิบหนีการจู่โจมเข้ามาของมัน เพราะรู้สึกว่าเขาและความอ้างว้างนั้นต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน มันอยู่กับเขามาตั้งแต่เยาว์วัย...แกเดินทางมาทักทายและอยู่เป็นเพื่อนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเลยนะ เจ้าความอ้างว้างเฒ่า (เรื่องสั้น ในวันอ้างว้าง โดย มาโนช พรหมสิงห์) คนกับดอกไม้ มาโนช พรหมสิงห์ในวัย 48 ปีดำรงชีวิตอยู่คนเดียวอย่างเรียบง่ายในบ้านไม้ขนาดกะทัดรัดที่ปลูกอยู่ติดกับบ้านของบุพการี อาจจะดูเปลี่ยวเปล่าอ้างว้างในทัศนะของคนเมือง แต่นี่คือวิถีชีวิตที่แต่ละคนมีสิทธิเลือก ต้นไม้น้อยใหญ่ที่ปกคลุมไปทั่วบริเวณบ้านช่วยให้ความร่มเย็นขับสู้กับแสงแดดร้อนแรงของช่วงกลางวันในต้นฤดูหนาว ตื่นขึ้นมาก็ไปแต่งตัวให้หลานไปโรงเรียน แล้วก็กินข้าว ลงสวน ขึ้นมาก็อาจจะมานั่งอ่านหนังสือ อาจจะงีบซักงีบหนึ่ง แล้วก็ลงสวนอีกครั้ง ขึ้นมายังไม่ค่ำ อาบน้ำแล้วก็อ่านหนังสือ กินกาแฟ ถ้าไม่อ่านหนังสือก็จะนั่งอยู่จนมืด นั่งอยู่เงียบ ๆ ผมมีความรู้สึกว่าการนั่งอยู่มืด ๆ สูบบุหรี่เงียบ ๆ เป็นการคลายความเครียดได้อย่างหนึ่ง พอกินข้าว กลางคืนก็อ่านหนังสือ ไม่ก็เขียนหนังสือ นอนซัก 6 ทุ่มตี 1 เสาร์อาทิตย์ก็หยุดงานสวน ก็จะอ่านหรือเขียน มาโนชเล่าถึงชีวิตประจำวันในปัจจุบันให้เราฟัง พร้อมกับจัดเตรียมกาแฟมาต้อนรับ กิจวัตรประจำวันอีกอันหนึ่งคือเขียนโปสการ์ด เพราะฉะนั้นก็จะทำโปสการ์ดให้มันสวย ๆ ผมจะใช้แสตมป์ดอกไม้โดยเฉพาะเลย เดือนพฤศจิกายนที่จะออกแสตมป์สำหรับปีใหม่ผมจะซื้อมาตุนไว้ แล้วเขียนเยอะ ๆ มันก็มีมิตรที่ดีส่งมาให้ ส่งมาเป็นสองแผงสามแผงอย่างนี้ เราก็จะได้ฝึกเขียนไปด้วย เพราะฉะนั้นกิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่งก็คืออาจจะนั่งเขียนโปสการ์ด นอกจากอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ผมจะไปซื้อกระดาษแข็งมาตัด รูปวาดเอง วาดรูปตัวเองเป็นการ์ตูนหัวใหญ่ ๆ ระบายสีส่งคน โปสการ์ดมันก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง คนได้เห็นเขาจะชอบมาก มาโนชเล่าให้เราฟังพร้อมกับรอยยิ้มที่อาบทาใบหน้า เขาอาจเป็นชายอายุเกือบห้าสิบเพียงไม่กี่คนที่ยังมีรอยยิ้มเช่นนี้ นอกจากนี้ ในบางช่วงเขายังรับสอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์ให้กับลูกหลานในละแวกบ้านใกล้เรือนเคียง สอนพอให้เป็นวิทยาทาน ก็เอาไม่แพง เดือนละห้าร้อยบาท ถ้ามันครบเดือนแต่เขาไม่ได้มาเรียน เราก็จะไม่เอาตังค์หรอก เก็บไว้ก่อน ต้องมาเรียนอีกสองอาทิตย์นะถึงจะเอาตังค์ หรือ เอาเถอะอาจารย์ ก็ต้องทอน เขาก็งงมาทอนทำไม ทอน ๆ ต้องทอนไปร้อยนึง แบบมีความรู้สึกว่ามันเป็นวิทยาทาน เราไม่อยากเอาเปรียบ เงินไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ ก่อนที่จะมาที่นี่ เราทราบว่าเขาลาออกจากการรับราชการครูมาเป็นชาวสวนปลูกดอกไม้พร้อมกับเขียนหนังสือมาได้สิบห้าปีแล้ว แต่ในปัจจุบันนี้มาโนชบอกว่าเขาปลูกดอกไม้น้อยลง เนื่องจากการปลูกดอกไม้ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าสวนดอกไม้แต่ก็ใช่ว่าจะได้รับอนุญาตให้ทำงานหนักน้อยกว่าการปลูกต้นไม้ชนิดอื่น ๆ ไม่ไหว อยู่ลำบาก แต่ก็ไม่บ่น เพราะว่าเราจะได้สมถะไง เราจะได้รู้จักประหยัด วันที่เราไปถึงบ้านสวนของมาโนช เขาเพิ่งฟื้นตัวจากอาการไข้ ความอ่อนเพลียยังคงปรากฏให้เห็นจากสีหน้าและแววตา แสงแดดที่ร้อนระอุขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เราอดคิดถึงภาพความยากลำบากของการทำงานท่ามกลางเปลวแดดและผืนดินแห้งแข็งของชายสูงวัยผู้นี้ไม่ได้ ...เด็กทารกจะมีความปรารถนาบางอย่างแฝงฝังอยู่ในตัวตนตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นมาหรือเปล่านะหรือว่าจิตของพวกเขาคือความว่างเปล่าอันปราศจากการยึดมั่นต่อสิ่งใด ๆ เด็กในโลกนี้จะมีสักกี่คนที่เมื่อรู้จักตั้งความปรารถนาแล้วได้ติดตามค้นหาหนทางไปสู่ความปรารถนานั้นเช่นเดียวกับฉันบ้าง... (เรื่องสั้น ร่างแหแห่งวิหค โดยมาโนช พรหมสิงห์) นักวาด-เขียน เพราะว่าเราอ่านมาก ก็เหมือนกับเวลาเราไปแนะนำ ไปพูด ทำอย่างไรถึงจะเป็นนักเขียน ก็ให้เป็นนักอ่านก่อน คือถ้าเราอ่านเยอะ ๆ ถึงเวลาหนึ่ง เอ๊ะ เราก็เขียนได้นี่ อย่างที่สองคือผมเป็นคนไม่ค่อยพูด ก็อยากจะสื่อความคิดของเราไปยังคนอื่น มันคงดีนะที่เราสื่อด้วยบทกวีชิ้นนี้แล้วคนอยู่ชายทะเลภาคใต้กับอยู่บนเขาได้อ่านความคิดเรา แล้วชอบ แล้วก็มีความรู้สึกว่าวรรณกรรมมันมีอำนาจกล่อมเกลาจิตใจด้วย เพราะว่าเราอ่านมาเยอะ เราสังเกตใจเราได้ ตอนเด็ก ๆ เราไม่ชอบเล่นกีฬา เราไม่ชอบทำอย่างอื่น เราก็ไม่มีเพื่อน เราไม่รู้จะทำอะไร เราก็ไปอ่านหนังสือดีกว่า เข้าห้องสมุด ตั้งแต่วัยเด็กนี่ชอบอ่านการ์ตูน มันอาจจะมาจากข้างในตัวตนของเรา เรียกว่าพรสวรรค์ที่มันแฝงมาก็ได้ ทำให้เราชอบอ่านการ์ตูน หากระดาษมาเพื่อจะเขียนการ์ตูนกับน้อง ๆ คนละเรื่อง เย็บเป็นเล่ม ผมทำกับน้อง ๆ ในบ้าน ก็แบ่งหน้ากันแล้วก็เขียนการ์ตูนเล่าเรื่อง แต่งเรื่อง บางทีก็แต่งเป็นเรื่องสั้น เราเขียนเรื่องหนึ่ง น้องคนนี้เขียนเรื่องหนึ่ง แล้วก็ตั้งชื่อหน้าปก พื้นฐานอย่างหนึ่งก็คือการ์ตูน ทำให้เราก้าวมาอ่านหนังสือเป็นเล่ม ชอบเขียนการ์ตูนติดผนัง ติดบอร์ดให้เพื่อนดู ก็เป็นการ์ตูนแบบการ์ตูนการเมืองทุกวันนี้ ล้อเลียนอะไรในโรงเรียน การ์ตูนล้อเลียนที่เขาชอบเขียนนี่เองที่เป็นต้นเหตุให้เขาฝึกสอนไม่ผ่านในปีสุดท้ายของการเรียนในระดับอุดมศึกษาเนื่องจากผู้บริหารของโรงเรียนที่เขาฝึกสอนอยู่ไม่พอใจในเนื้อหาของการ์ตูนที่เขาเขียนแล้วนำไปติดบอร์ดไว้ให้คนอื่นอ่าน มาโนชถูกไล่กลับไปเรียนเพิ่มอีกหนึ่งปี ก่อนที่จะบรรจุเข้ารับราชการครูในปี 2522 สิบปีเต็มของการทำหน้าที่ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ ในที่สุดมาโนชตัดสินใจเดินตามความฝันของตัวเอง มันเป็นความฝันตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ เห็นพ่อทำ คิดว่ามันคงมีความสุข คงเป็นชีวิตเรียบ ๆ ง่าย ๆ สมถะ ทางบ้านก็ทำอยู่แล้ว มีที่อยู่แล้ว บางคนถ้าคิดจะทำแล้วไม่มีที่คงทำไม่ได้ มันก็เหมือนบางคนที่อยากมีชีวิตแบบเรียบง่าย บางคนก็อยากหรูหรา อยากตามกระแสของวัตถุให้ทัน อยากมีรถเก๋ง อยากมีบ้านสวย ๆ บางคนก็อยากอยู่บ้านเรียบ ๆ ง่าย ๆ ในสวน มันก็มีลักษณะความแตกต่างของมนุษย์ตรงนี้ ผมก็มาอยู่ปีหนึ่งโดยไม่ออกไปไหนเลยนะ อยู่ในสวนเนี่ย นอกจากไปรษณีย์เขาผ่านมา เขาก็ออกไปส่งเวลาไปทำธุระ เพื่อจะใช้ชีวิตอยู่กับตัวเองให้ได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นก็มีความสุขได้ ไม่ยอมไปไหน เป็นการฝึกตัวเองให้อยู่กับตัวเองได้อย่างไม่รู้สึกอึดอัด ได้อย่างมีความสุข เพราะบางคนอยู่คนเดียวนี่คงจะลำบาก ไม่ได้คุยกับใครเลย ได้คุยแต่กับแม่ ไม่ได้ออกไปเที่ยวเตร่ พยายามฝึก พอครบปีหนึ่งผมก็เริ่มที่จะเขียน ก็ขณะที่ฝึกนี่ก็พยายามที่จะฝึกเขียน เริ่มที่จะเขียนไปตามนิตยสารต่าง ๆ ไปถึงผู้คนต่าง ๆ คอลัมน์วรรณกรรมเขามีจดหมายผู้อ่านใช่ไหม เราก็เขียนส่งไป หรือเขียนจดหมายหาเพื่อน คนที่เรามีความรู้สึกเป็นกัลญาณมิตร เป็นการฝึกเขียนไปด้วยและก็ฝึกอยู่กับตัวเองให้ได้อย่างมีความสุข เรื่องสั้น น้ำตาและความเจ็บปวด ตีพิมพ์ในปี 2521 ในนิตยสารหนุ่มสาว เป็นเรื่องสั้นของมาโนชเรื่องแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ ต่อมาในปี 2537 คุกดอกไม้ ก็ได้รับการประดับช่อการะเกดจากสุชาติ สวัสดิ์ศรี ในปีถัดมา ระหว่างรอยมีด ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่นจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ก่อนที่ ร่างแหแห่งวิหค จะได้รับรางวัลช่อการะเกดยอดนิยมในปี 2539 นอกจากเรื่องสั้น มาโนชยังเขียนบทกวีและวาดภาพลายเส้นอยู่อย่างสม่ำเสมอ เขาเล่าว่าการทำงานศิลปะที่เขาชอบช่วยเอื้อประโยชน์ให้กับการทำงานเขียนได้มาก จากการที่เรานิ่งในการที่จะเขียนลายเส้นก็จะทำให้ใจนิ่ง บางสีบางเส้นเราจะไม่ลงทั้งหมดนะ เราจะรู้จักเน้นบางอย่างเหมือนกับงานเขียน แรก ๆ เราก็เขียนไม่ค่อยดีหรอก แต่พอฝึกไปฝึกมามันก็ดีขึ้น ๆ แล้วมันก็มีความสุขไปด้วย ทุกวันนี้เขียนน้อยลงครับ ผมเป็นนักเขียนจอมขี้เกียจ ขี้เกียจที่สุดในประเทศไทยเลย รอยยิ้มสมถะจนเราเกือบจะเชื่อว่าเขาเป็นเช่นนั้นจริง ก็เหมือนที่เรวัตรที่เขาได้ซีไรต์เขาบอกว่าเขาไม่ได้เขียนทุกวันหรือเขียนอย่างเอาเป็นเอาตาย เขาเขียนตามอารมณ์ความรู้สึก อารมณ์มามันถึงจะเขียนได้ งานเขียนผมต้องอาศัยอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาสร้างเยอะ บางทีมันก็ฟักตัวอยู่ตั้ง 3 เดือนถึงเขียนได้ เขียนอีก 3 เดือน ผมไม่ได้เขียนรวดเดียวนะ ผมเขียนทีละ 2 3 บรรทัดแล้วก็พักไว้ บางคนเขาบอกทำได้ไง มันต้องเขียนรวดเดียวสิ มันถึงจะต่อเนื่อง แต่ผมจะเขียนอย่างนี้ ปีหนึ่งมีเรื่องสั้น 2 เรื่อง เขียนเรื่องละ 6 เดือน แต่ละบุคคลมันก็ต่างกัน วิธีทำงานมันต่าง วิธีการเดินยังต่างกันเลย มันก็ตำหนิเขาไม่ได้ว่าทำไมเดินอย่างนี้ ทำไมไม่เดินเหมือนเรา เดินไม่เหมือนเรานี่แย่ทุกคน มันก็แล้วแต่ แต่ถ้าเรื่องมันงาม มันก็ได้หมดแหละ อาจจะเขียน 1 ชั่วโมงมันก็ได้นะ บางคนอาจจะต้องเขียนใช้เวลา 3-4 เดือน แต่ผมเป็นนักเขียนขี้เกียจแล้วก็ไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่หรอก ยังต้องฝึกฝน ... จิตเป็นความว่างเปล่า เราสามารถปฏิเสธหรือยอมรับอะไรก็ได้ทั้งนั้น นั่นคือเสรีภาพ เป็นแก่นของมนุษย์ เป็นลักษณะแท้จริงของจิตมนุษย์ เพราะเราสามารถยอมรับหรือปฏิเสธ และเราสามารถเลือกได้ จงใช้ชีวิตอย่างที่เป็นชีวิตจริง ๆ โดยเป็นคนเลือกและตัดสินใจด้วยตนเอง... (เรื่องสั้น ร่างแหแห่งวิหค โดยมาโนช พรหมสิงห์) เพื่อนพ้องน้องพี่-กลุ่มวรรณกรรมคมดาว ก่อตั้งมาร่วมกันครับกับพี่มาโนช แล้วพี่เขาก็ให้คำปรึกษาไว้เยอะ ผมเป็นอีกรุ่นหนึ่งที่เข้ามาสานต่อ แต่ก่อนก็จะเป็นกลุ่มนักศึกษาที่รวมตัวกันทำกิจกรรม เน้นไปที่ชมรมอนุรักษ์ ส่วนผมก็มาสนใจเรื่องงานเขียน ผมก็มาแยกตัวออกมาทำชมรมวรรณศิลป์ และก็คบหากับพี่มาโนชมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงนั้น ราโมกข์ วรัศชญากร แกนนำกลุ่มคมดาว กลุ่มคนทำงานวรรณกรรมกลุ่มสำคัญของอุบลราชธานี เล่าให้เราฟังถึงความเป็นมา มาโนชและกัลยาณมิตรรุ่นน้องรู้จักกันในงานเสวนาหนังสือ ครอบครัวกลางถนน ของศิลา โคมฉายที่ร้านหนังสือแห่งหนึ่ง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มาโนชจึงดำรงตำแหน่งเป็นพี่ใหญ่ที่ช่วยให้คำแนะนำและสนับสนุนน้อง ๆ ในการทำงานทั้งด้านศิลปะ วรรณกรรม และการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมเพื่อสังคม มันก็อาจจะคนคอเดียวกันก็ได้ มาโนชกล่าวพร้อมรอยยิ้ม ผมจะติดต่อเชื่อมกับคนรุ่นใหม่หรืออะไรอย่างนี้นะ เพราะว่าผมมีความรู้สึกว่าสมัยเรา เราอ่านหนังสืออยู่คนเดียว เราอยากมีกลุ่ม อยากมีเพื่อนอ่านด้วย เราชอบฝึกเขียน จัดบอร์ด เราทำอยู่คนเดียว หากลุ่มก็ไม่มี ช่วงนั้นเป็นยุคสงครามเวียดนาม ยุคบุปผาชน ส่วนใหญ่รุ่นนั้นก็จะไปดีดกีตาร์ ร้องเพลง คุยกันเรื่องสงครามเวียดนาม มันมีความรู้สึกว่าเราไม่มีกลุ่ม คุยกับใครเขาไม่รู้เรื่อง พอกลับมาบ้าน ผมก็ เอ... มันเงียบ ๆ ยังไงไม่รู้ ก็อยากติดต่อกับกลุ่มคนหนุ่มสาวที่สนใจเรื่องอย่างนี้ อยากสร้างบรรยากาศในการอ่าน การแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ เป็นวัฒนธรรมสำคัญของกลุ่มสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนักศึกษา เราคุยกันแบบเก็บเล็กเก็บน้อย เก็บทุกรายละเอียด คือลักษณะของการพูดคุยที่เศรษฐใส สายโกสีย์ หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มนิยามให้เราฟัง พวกเราจะมีนิสัยเสียอย่างหนึ่งก็คือเราจะพูดคุยกันอยู่ตลอดเวลา มาโนชเล่ารายละเอียดเพิ่มเติมว่า ส่วนมากพวกผมจะคุยกัน จะทำอะไรต่อ หนึ่งคนก็คือหนึ่งเสียง ผมจะพูดเสมอว่าผมไม่ครอบงำใคร ผมจะไม่สั่งการแบบหัวหน้า ต้องคุยกันในที่ประชุม ผมอาจจะทำตามพวกน้อง ๆ ก็ได้ ไม่ใช่ว่าผมจะกำหนดวางแผนทำนั่นทำนี่นะ ผมจะพูดเสมอว่าผมไม่ใช่หัวหน้า ผมจะเป็นหนึ่งเสียง เป็นสมาชิกคนหนึ่งเหมือนกับคนอื่น อยากอ่านอะไรก็เอามาคุยกัน นั่งกินกาแฟแล้วก็วิพากษ์วิจารณ์กัน คนนี้เห็นแง่มุมไหน เราเห็นแง่มุมไหนก็ถกกัน ผมจะไม่บอกว่ามันแปลว่าอย่างนี้นะ ก่อนที่จะมาเป็นกลุ่มวรรณกรรมคมดาว สมาชิกหนุ่มสาวในกลุ่มคือนักกิจกรรมหัวก้าวหน้าในรั้วสถาบันการศึกษา พวกเขาเริ่มรวมตัวกันราวปี 2535 ทำหนังสือทำมือเวียนกันอ่านรวมถึงแจกให้เพื่อนร่วมสถาบันการศึกษา จัดค่ายทั้งค่ายความคิดและค่ายอาสาฯ และแน่นอนว่าพวกเขาคือแนวร่วมส่วนหนึ่งในการนำข้อมูลเรื่องเขื่อนปากมูลเข้าไปเผยแพร่ในสถาบันการศึกษา เริ่มแรก อย่างกลุ่มของพนัส (พนัส ดอกบัว-สมาชิกอีกคนหนึ่งของกลุ่ม) เขาก็จะมีกลุ่มทำวารสารเล่มเล็ก ๆ อยู่ในกลุ่มวิชาเอกเคมีของเขา ทีนี้ผมก็มาเจอกันด้วยความบังเอิญ เห็นเขาอ่านบอร์ดอยู่ผมก็เข้าไปพูดคุย ก็ได้มารวมตัวกัน และก็มาสร้างกระต๊อบอยู่ในมหาวิทยาลัย ตอนนั้นก็เป็นวิทยาลัยครู (อุบลราชธานี) อยู่ ใช้ชื่อว่า ขี้กระบอง-ฮิลล์ พนัสเขาเป็นคนตั้ง เป็นหลังคามุงจาก เอาไม้ไผ่มาปัก ๆ โย้เย้ ๆ หน่อย คล้าย ๆ กับเถียงนาอย่างนี้แหละ สู้กันสุด ๆ ตอนนั้นระหว่างพวกอาจารย์กับพวกกบฏ เรายืนหยัดอยู่ได้ประมาณปีสองปี เขาก็สั่งรื้อแล้วก็สร้างอาคารขึ้น จากขี้กระบอง-ฮิลล์ตอนนั้น ก็มาพบกับพี่มาโนช ผมก็ค่อยมาสร้างกลุ่มคมดาวขึ้นมาทีหลังร่วมกับพี่เขา ราโมกข์ย้อนความหลังเมื่อครั้งอยู่ในวัยแสวงหา แต่ละคนส่วนมากจะมีพื้นฐานทางการอ่านมาก่อน อย่างราโมกข์ก็อ่านหนังสือ เขียนหนังสือมาก่อน แกก็จะมีข้อมูลเรื่องการอ่านการเขียนเยอะกว่าเพื่อน ส่วนผมส่วนหนึ่งก็เคยอ่านมาก่อน ก่อนที่จะมาคุย พอมาเรียนค่อยมาอ่านทฤษฎี พวกปรัชญาการเมือง ค่อยมาสู่เรื่องวรรณกรรม ส่วนมากเป็นอย่างนี้ พอได้มาอยู่รวมกันก็มีบรรยากาศของการอ่านเพิ่มมากขึ้น ได้คุยได้แลกเปลี่ยนกัน เรามาทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น เลยมีโอกาสได้อ่าน ได้คิด ได้ถกเถียงกันมากขึ้น พนัสให้คำอธิบายเพิ่มเติม ในปัจจุบันสมาชิกกลุ่มคมดาวแต่ละคนต่างก็มีภารกิจส่วนตัวต้องรับผิดชอบทั้งด้านหน้าที่การงานและด้านครอบครัว ทำให้มีเวลามาพบปะพูดคุยกันน้อยลง ประกอบกับแต่ละคนก็เริ่มมีแนวทางที่ชัดเจนของตัวเองมากขึ้น เศรษฐใส สายโกสีย์และพนัส ดอกบัวเริ่มหันมาทำงานด้านศิลปะเป็นหลัก โดยเคลื่อนไหวเรื่องศิลปะร่วมกับกลุ่มลองติจูด 105 กลุ่มคนทำงานศิลปะของอุบลราชธานี ขณะที่ราโมกข์ วรัศชญากรก็ยังคงเป็นหลักในด้านการทำงานวรรณกรรมร่วมกับมาโนช พรหมสิงห์ ราโมกข์กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า ตอนนี้กลุ่มคมดาวส่วนใหญ่ก็ทำงาน นอกจากการรวมกลุ่มและพบปะพูดคุย ซึ่งตอนนี้ค่อนข้างจะน้อยลงไป แต่ว่าผลงานก็จะเน้นมาทางหนังสือทำมือ ที่ทำมาก็จะมีของเศรษฐใส ของทัสนัย **ทม ของพี่มาโนช แต่จะมีช่วงที่คึกคักหน่อยตอนประกวดหนังสือทำมือครั้งแรกที่ MBK งานของพี่มาโนชก็ได้รับรางวัล ทำให้คมดาวค่อนข้างจะได้รับการพูดถึงอยู่พอสมควร แต่ว่าต่อไปนี่ก็ค่อนข้างที่จะหนักอยู่ว่าจะเป็นยังไงต่อ งานวรรณกรรมจะไม่ทิ้ง งานศิลปะก็จะไม่ทิ้ง และงานอนุรักษ์เราก็จะไม่ทิ้ง เศรษฐใสย้ำหนักแน่น สามงานนี้พยายามที่จะให้มันอยู่ด้วยกันได้ตลอด ตอนนี้งานหลัก ๆ ก็คือวรรณกรรมกับศิลปะ อย่างวรรณกรรมพี่มาโนชก็เป็นหลักเลย ที่คุยกันถ้ามีเวลาก็คงจะทำหนังสือทำมือกันอีกครั้งหนึ่ง ช่วงนี้ภาระทุกคนเยอะ คงไม่ทิ้ง อย่างผมกับยิตสาต (ชื่อที่พนัสใช้ในงานเขียน) ก็คุยกันอยู่ว่าทำอย่างไรเราจะเอากลุ่มของราโมกข์ ของพี่มาโนช ของทุกคนภายในกลุ่มที่เป็นหลัก แสดงงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นภาพลายเส้น ภาพอะไร เรามีความคิดกันว่าอยากจะทำ ก็พูดคุยกัน อย่างหนังสือก็จะทำ งานศิลปะก็อยากจะแสดง กิจกรรมหลาย ๆ กิจกรรมเราก็ออกเงินกันเอง บางครั้งมันก็มีผลกระทบกับการใช้ชีวิตด้วย มันก็ต้องหยุด ๆ กันไปก่อน มันไม่เหมือนกับสมัยเป็นนักศึกษา อย่างทำหนังสือใครมีตังค์ก็ออก เมื่อเอ่ยถึงหนังสือทำมือ เราสงสัยว่ามันจะเป็นทางออกสำหรับกลุ่มคนทำงานวรรณกรรมกลุ่มเล็ก ๆ อย่างกลุ่มคมดาวได้หรือไม่ ราโมกข์ให้คำตอบว่า ผมว่าเป็นทางออกเพียงแค่ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างเราที่แรงเราทำได้แค่นี้ เราก็ทำแบบนี้ แล้วมันก็ค่อนข้างที่จะสอดคล้องกับความเป็นตัวเราเยอะ เราได้ลงมือทำ ได้ใช้ทุกอย่างที่เป็นตัวเรา ใช้ความคิด จินตนาการ จิตวิญญาณ เวลาเราทำเรามีความสุขกับมัน แต่พอทำเสร็จมันก็เหนื่อย บางทีก็ต้องพักผ่อน เว้นระยะไปซักหน่อย มีเวลาทบทวนอะไรซักหน่อย แล้วผมว่ามันก็ยังเป็นช่องทางที่ดีสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวมาในสายงานเขียน แม้แต่ผมนะครับ ถ้าผมจะมีงานเขียนซักเล่ม ผมตั้งใจไว้เลยว่างานเขียนเล่มแรกจะต้องเป็นหนังสือทำมือนะ ผมก็ทำมาสำเร็จแล้ว ส่วนต่อไปจะเป็นยังไงก็อีกเรื่องหนึ่ง ล่าสุด จากเครือข่ายที่สร้างผ่านทางสถานีวิทยุชุมชนของครูสลา คุณวุฒิ ทางกลุ่มสามารถนำผู้ฟังบางส่วนเข้าร่วมกิจกรรม ค่ายศิลปะ วรรณกรรมสำหรับเด็กและครอบครัว โดยนำเด็กและผู้ปกครองมาทำกิจกรรมทางด้านศิลปะและวรรณกรรมร่วมกัน เป็นแนวทางใหม่ที่ทางกลุ่มเห็นว่าจะสามารถเพาะนิสัยรักการอ่านการเขียนขึ้นในกลุ่มเยาวชนได้กว้างขวางมากขึ้น นอกจากการรับเชิญไปเป็นวิทยากร อ่านบทกวี ออกร้านขายของ หรือแสดงละครตามสถาบันการศึกษาและตามงานกิจกรรมต่าง ๆ เด็กเป็นความสดใสชื่นบาน เป็นเหมือนสิ่งทดแทนความหวังและความใฝ่ฝันของเหล่านักโทษ ประดุจเดียวกันกับดอกไม้ที่ผลิดอกอยู่ในคุก คุกที่มีเพียงรั้วไม้ไผ่ผุ ๆ กับแนวต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นเรียงรายรกครึ้มทุกด้าน แต่ไม่เคยเลยที่ใครจะหลบหนีเล็ดลอดออกจากที่แห่งนี้ไปได้ แม้จะได้พยายามและหลุดไปสู่เสรีภาพ แต่ไม่นานหรอกทุกคนก็จะกลับมาสู่การจองจำเสมอ (เรื่องสั้น คุกดอกไม้ โดยมาโนช พรหมสิงห์) แวดวงวรรณกรรมไทย อากาศเย็นสบายใต้ร่มไม้ยามค่ำคืนที่บ้านของพนัส ดอกบัว ทำให้บทสนทนาของวันนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่าย ๆ วงการวรรณกรรม วงการหนังสือทุกวันนี้ทุนมันเข้าไปเยอะ มันเห็นช่องทางที่จะสร้างกำไรได้ มาโนชแสดงความคิดเห็นพร้อมกับปล่อยควันบุหรี่โชยเอื่อย สื่อมันเห็นช่องทางที่จะเข้าไปทำกำไรตรงนี้ แม้แต่ อาร์.เอส. ก็ยังไปทำหนังสือ มันเลยทำให้วรรณกรรมไทยบิดผันไป อีกอย่างหนึ่งก็กระแสโลกาภิวัตน์มันทำให้แฮร์รี่ พอตเตอร์ ขายได้ มันมาบดบังหนังสือไทย แล้วบางอย่างมันทำให้วรรณกรรมไทยผิดธรรมชาติ เช่น พวกรางวัล ปีบทกวีก็จะพิมพ์แต่บทกวี เราอยากอ่านเรื่องสั้นมันก็ไม่มี เราอยากอ่านเรื่องสั้นในปีนวนิยายมันก็หายาก รางวัลมีส่วนในการทำให้ตรงนี้มันเป็นอย่างนี้ มันเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น แล้วคนไทยก็จะอ่านหนังสือที่ได้รางวัลปีละเล่ม รอซื้อเล่มนี้แหละ เล่มอื่นไม่สนใจ รัฐบาลควรจะทำยังไงก็ได้ที่จะทำให้วัฒนธรรมการอ่านมันดีขึ้น มันเติบโตขึ้น ราคากระดาษก็ให้มันต่ำลงบ้าง มาดูแลตรงนี้บ้าง เพิ่มค่าเรื่องให้นักเขียน ถ้าระดมคิดกันจริง ๆ มันก็น่าจะทำได้นะ เพราะหนังสือมันเป็นภูมิปัญญาของประเทศชาติ การอ่านถ้ามันเติบใหญ่ คนก็จะมีความคิดความอ่าน คนก็จะรู้จะเจริญขึ้น อย่าไปมุ่งแต่ GDP การส่งออกอะไรมากนัก ผมว่านักเขียนไทยที่ดี ๆ ก็มีเยอะอยู่นะ ก็ส่งเสริมให้คนในชาตินิยมไทย อ่านของไทยมั่ง ความอยู่รอดของนักเขียนมันก็มันก็มีส่วนทำให้นักเขียนไทยไม่เหมือนนักเขียนต่างประเทศ การที่จะไปขบคิด การได้ค่าเรื่องไปก่อนที่จะลงมือทำงานอะไรซักอย่างหนึ่งนี่ บางทีมันต้องห่วงเรื่องปากท้องก่อน นักเขียนไทยก็เลย โอย... ต้องไปปลูกดอกไม้ด้วย พูดจบ ทั้งวงก็พร้อมใจกันส่งเสียงหัวเราะครืน ขณะที่เศรษฐใสให้ทัศนะว่า ผมจะอ่านงานแปลมากกว่างานของคนไทย เพราะผมมองว่างานของคนไทยหลัง ๆ มาเขียนได้ไม่ดี หลัง ๆ มาผมแทบจะไม่อ่าน เพราะผมอ่านแล้วมันจะไม่เหมือนกับงานยุคเก่าที่เคยลงตีพิมพ์ในสยามรัฐ ในมติชน ตอนนั้นเป็นงานเขียนที่ดีมาก ๆ การใช้ภาษา การให้แง่คิด การใช้คำที่ไม่เยิ่นเย้อเกินไป แต่ทุกวันนี้ผมต้องยอมรับว่างานเขียนของคนไทยทุกวันนี้ ผมว่า หนึ่ง ใช้คำเยิ่นเย้อ สอง แง่มุมซ้ำ วน ๆ เวียน ๆ มันไม่ไปไหน มันไม่มีการพัฒนา ผมก็ไม่รู้หรอกว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่พอเรามาอ่านงานแปล เรื่องสั้นหน้าเดียวอย่างนี้ แต่มันให้ความรู้สึกที่แหลมคม ใช้คำง่าย ๆ ก็เลยเกิดความแตกต่าง เราคุยกับราโมกข์ในเรื่องเดียวกันนี้ในวันถัดมา ผมอ่านเป็นบางคน อ่านเป็นบางชิ้น มันออกมาเยอะ ๆ บางทีเราตามอ่านไม่ทัน ผมว่ามันไปผูกติดกับเรื่องการขาย เรื่องการตลาดเยอะ แต่ว่าที่มีคุณภาพ ที่ให้แง่มุมอะไรต่าง ๆ ค่อนข้างจะน้อย แต่ว่าถ้าวัยรุ่นอ่านก็จะมีกลุ่มใหม่ ๆ ของเขา เดี๋ยวจะว่าเราใช้แว่นตาข้างเดียว แต่ว่าอีกข้างหนึ่งมันก็มีกลุ่มอ่านอีกแบบหนึ่ง บริโภคอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน เช่นเดียวกับบทกวีที่ราโมกข์มองว่าในปัจจุบันมีตีพิมพ์ตามหน้านิตยสารน้อยลง และขาดความต่อเนื่องของนักเขียน ในช่วงที่ผมเรียน ผมรู้สึกว่ามันคึกคักนะ รุ่นกวีหน้าราม มีการวิพากษ์วิจารณ์งานกัน เราก็สามารถจะรับได้จากสื่อ แล้วเราก็มานั่งคุยกันในวง ผมว่ามันสร้างสีสัน สร้างบรรยากาศ ส่วนหนึ่งผมว่ามันขาดการวิจารณ์ บางทีบทกวีอย่างในมติชนเยอะ ๆ อย่างนี้ ก็ไม่มีใครที่จะลุกขึ้นมาวิจารณ์บทกวี แต่ถ้ามีก็มาพูดถึงสั้น ๆ ไม่ได้เจาะลึก บางทีคนอ่านอยากได้กระจกอีกบานหนึ่งสะท้อนเข้ามา มันค่อนข้างจะมีน้อย เดี๋ยวนี้ยิ่งไม่ค่อยมี ผมอดเปรียบเทียบไม่ได้ว่า การเขียนหนังสือของผมก็คือการปลูกดอกไม้นั่นเอง และหากชั่วชีวิตนี้สามารถจะเขียนเรื่องสั้นสักเรื่องได้งดงามเทียบเท่าดอกไม้หนึ่งดอกในสวนอันกว้างใหญ่ไพศาล ผมก็คงเป็นสุขไม่น้อย ใครอาจมองว่าเป็นสิ่งเล็กน้อย มิได้สลักสำคัญแต่อย่างใด แต่สำหรับคนเขียนหนังสือซึ่งปลูกดอกไม้คนหนึ่ง มันคือความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่ในวิถีแห่งเขา (คัดจากบางส่วนของ คำนำนักเขียน ในรวมเรื่องสั้น ร่างแหแห่งวิหค) สุดท้ายที่รอเริ่มต้น ดอกไม้มันผลิบาน มันร่วงโรย มันก็คู่กัน ดึกพอสมควรแล้ว บรรยากาศรายรอบเริ่มนิ่งสงบ เสียงดนตรีของมวลหมู่แมลงคล้ายมโหรีนำเข้าสู่ห้วงขณะสุดท้ายของการสนทนา มาโนช พรหมสิงห์ยังอยู่ในอิริยาบถสบาย ๆ บนเก้าอี้ไม้ใต้ร่มเงาของค่ำคืน โดยสังขาร โดยเรียวแรงก็แก่อยู่ แต่ผมมีความรู้สึกว่ายังมีคนหนุ่มคนหนึ่งอยู่ในตัวผม เพราะฉะนั้นมันก็จะมีความรู้สึกว่า เราเป็นหนุ่มอยู่นี่ ในอารมณ์ความรู้สึก ทั้ง ๆ ที่ส่องกระจกดู โห หัวหงอก หนวดหงอกแล้ว เดี๋ยวมาถึงวัยผม เราก็จะมีความรู้สึกแบบนั้น มันมีคนอายุ 21 ปีคนหนึ่งอยู่ในเรา เราจะมีความรู้สึกว่า เรามองโลก มองสาว มองอะไรอย่างไม่ใช่คนแก่ พวกเรานั่งฟังพร้อมกับอมยิ้มพร้อมกัน เรายังมีความรู้สึกว่า หญิงสาวคนนี้สวยจริง ๆ อยากจะมองและเก็บไว้ในใจ ทั้ง ๆ ที่ส่องกระจกดูหงอกแล้ว มันก็อาจจะเฒ่าหัวงู แต่ผมว่าไม่ใช่หรอก มันเป็นความโรแมนติกอย่างหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ที่เรายังมองแสงแดดอย่างสวยงามอยู่ได้นั่นน่ะ ไม่หดหู่ ยังมองดอกหญ้าได้สวยอยู่ เก็บทับติดส่ง ส.ค.ส. ให้เพื่อน หรือเขียนหนังสือ เขียนบทกวี ถ้าใครคนหนึ่งได้อ่านไม่เห็นหน้าก็ หมอนี่คงเพิ่งจบมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ ช่วงปี 36-37 นี่ บางคนเขาว่า มาโนช! นึกว่าเพิ่งจบมหาวิทยาลัยหรือเด็กมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นบทกวีก็ยังหวานได้ ตายวันไหนถึงจะไม่หนุ่ม แต่ด้วยเรี่ยวแรง ด้วยสังขารที่มันชักจะเดินเหนื่อยแล้วอย่างนี้ มันก็รู้สึกว่าแก่แล้วนะ เพราะฉะนั้นทุกวันนี้ก็ยังอ่าน ญามิลายอดรัก ได้อย่างซาบซึ้งอยู่ ก็ยังไม่อ่านธรรมะ ผมไม่ได้อ่านธรรมะ เพราะธรรมะมันก็แฝงอยู่ในวรรณกรรม แต่ถึงวันหนึ่งก็อาจจะอ่านละมั้ง ต้องขวนขวายหนังสือของท่านพุทธทาสมาอ่าน วันนี้จะห้าสิบแล้วก็ยังอ่าน ญามิลายอดรัก ได้ซาบซึ้ง ยังอ่าน โจนาธาน ลิฟวิงสตัน เหมือนเราเป็นนกนางนวลอยู่ น้ำเสียงอ่อนโยนของผู้ใหญ่ใจดีคนนี้ทำให้เราอดคิดถึงชีวิตในภายภาคหน้าของตัวเองไม่ได้ ขณะที่อยู่ในระหว่างเดินทางกลับ คำพูดหนึ่งของมาโนช พรหมสิงห์ ยังดังก้องอยู่ในห้วงความคิดของพวกเรา ถ้าเราอ่านวรรณกรรมด้วย ใจเราจะอ่อนลง มันจะมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ผมเชื่อมั่นอย่างนั้นนะ ตีพิมพ์ครั้งแรก: วารสารหนังสือใต้ดิน ฉบับที่ 3 bye bye blue sky ประจำเดือนมกราคม-มีนาคม 2548 หมายเหตุ: เรื่องและภาพเป็นของเจ้าของผลงานและวารสารหนังสือใต้ดิน อนุญาตให้นำไปเผยแพร่เฉพาะในกิจกรรมที่ปราศจากผลประโยชน์ทางพาณิชย์ การนำไปใช้กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา และหมายเหตุการณ์ตีพิมพ์ครั้งแรกตามมรรยาทอันดีงาม |
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |
<< | กรกฎาคม 2008 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | ||
6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 |
13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 |
20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 |
27 | 28 | 29 | 30 | 31 |