“ลองย้อนกลับไปพิจารณาดูนะครับว่า ในประวัติศาสตร์ของงานเขียนที่เกี่ยวกับพื้นที่ชายแดนใต้บ้านเรา มีหรือไม่ที่เราจะได้อ่านงานเขียนของอูแฆเมาะกีตอ (คนบ้านเรา) เขียนเรื่องข้าวยำ เรื่องบูดู หรือเรื่องอื่นๆ ให้คนนอกพื้นที่ได้อ่าน ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นวิถีชีวิตที่เราได้เห็น ได้สัมผัสอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่กลายเป็นว่าได้อ่านงานของคนอื่นที่เขียนถึงบ้านเรา ทำไมไม่ลองเขียนเรื่องราวของบ้านเราให้คนอื่นอ่านบ้าง จะได้เป็นข้อมูลที่ไม่คลาดเคลื่อน ถูกต้อง มีชีวิตชีวา และได้อารมณ์มากกว่า” แม้แต่ตัวข้าพเจ้าเองก็แทบจะจดจำไม่ได้แล้วว่า ได้เคยเอ่ยประโยคประมาณนี้มากี่รอบกี่เที่ยวแล้วในรอบหลายปีมานี้ ขณะกล่าวถ้อยเพียงรู้สึกมีความสุขในใจ เมื่อสังเกตเห็นดวงตาเป็นประกายของน้องๆ เยาวชนค่ายนักเขียน ที่ต่างนั่งฟังอย่างตั้งใจ และมีบ้างที่มือหยิบปากกาจดข้อความไปด้วย ‘ค่ายสารคดีสร้างคน คนสร้างสารคดี’ ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งข้าพเจ้าได้รับเชิญเป็นวิทยากรต่อเนื่องเป็นปีที่ ๓ แล้ว ร่วมกับวิทยากรซึ่งเป็นกวี-นักเขียนอีกหลายๆ ท่าน ผ่านการประสานของ ดร.พิเชฐ แสงทอง ค่ายคราวนี้ซึ่งเป็นปีที่ ๓ จัดกันที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า จ.พัทลุง วันที่ ๒๗-๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๔ ครั้งที่ ๑ จัดกัน ณ ศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าว อ.เมือง จ.พัทลุง ส่วนการจัดครั้งที่ ๒ ณ สวนสัตว์สงขลา อ.เมือง จ.สงขลา ปรากฏผลงานเขียนจากค่ายเป็นรูปเล่มในชื่อ ‘สงขลา ในสายตาเด็กชายแดน’ โดย ๓๐ เยาวชนสามจังหวัดชายแดนใต้ มี วิมลมาศ ปฤชากุล รับบทบรรณาธิการ เมื่อกล่าวถึงค่ายนักเขียนน้อยชายแดนใต้ ทำให้ข้าพเจ้าหวนคิดถึงจุดเริ่มต้นที่พวกเราในนาม ‘สำนักหัวใจเดียวกัน’ ได้ไปริเริ่มโครงการร่วมกับมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง ของ ดร.รุ่ง แก้วแดง เมื่อหลายปีก่อน ภายใต้ความเชื่อเรื่องความหลากหลายของวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมประเพณี เรื่องต้นทุนทางประวัติศาสตร์ ฯลฯ ของพื้นที่ชายแดนใต้ ย้อนไปช่วงปลายปี ๒๕๕๑ ข้าพเจ้ามีโอกาสได้พบปะและพูดคุยหลากหลายเรื่องราวกับ ดร.รุ่ง แก้วแดง ‘คนดีศรียะลา’ หนึ่งในประเด็นที่เรามีความเห็นร่วมกันคือ การให้ความสำคัญกับ ‘ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น’ และพลังของ ‘เยาวชน’ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งน่าจะลุกขึ้นมาบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านการ ‘เขียน’ เป็นที่โชคดีว่าขณะนั้นมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง กำลังดำเนินโครงการพัฒนาผู้นำเยาวชนเพื่อสันติสุข ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งที่ ๒ โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อข้าพเจ้านำเสนอประเด็นว่าด้วยเรื่องการดำเนินการโครงการค่ายเยาวชนนักเขียน ดร.รุ่ง เห็นด้วย จึงได้ตัดสินใจปรับรูปแบบโครงการเพื่อให้สอดรับกับสิ่งที่เราได้พูดคุยกัน ๑.เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนชายแดนใต้ มีความสนใจเรื่องราวของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งเชิงวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ๒.เพื่อปูพื้นฐานในการอ่าน การเขียน การถ่ายภาพ ที่จะมีผลต่อการพัฒนาทักษะด้านการอ่าน การเก็บข้อมูล การเขียน ฯลฯ ในอนาคตต่อไป ๓.เพื่อเสริมส่งให้เยาวชนเกิดสำนึก และเกิดความภาคภูมิใจในถิ่นเกิด ก่อเกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างคนต่างศาสนาและคนต่างถิ่น ในฐานะผู้ร่วมอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกัน ข้างต้นคือวัตถุประสงค์ตามโครงการ ‘เยาวชนชายแดนใต้รักท้องถิ่น’ ที่ข้าพเจ้าเขียนนำเสนอต่อ ดร.รุ่ง แก้วแดง เพื่อจัดค่ายอบรมการเขียน โดยคัดเลือกเยาวชนในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน ๖๐ คนมาร่วมโครงการ ขณะเดียวกันเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการเขียนข่าว สกู๊ป สารคดี ฯลฯ รวมถึงการถ่ายภาพ และการบรรณาธิการ ทั้งจากส่วนกลางและท้องถิ่นมาบรรยายให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในที่สุด วันที่ ๑-๔ ธันวาคม ๒๕๕๑ ค่ายนักเขียนน้อยชายแดนใต้ จึงได้เริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ความร่วมมือของมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง สพฐ. และสำนักหัวใจเดียวกัน ทีมงานของสำนักหัวใจเดียวกัน ที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญ นอกจากตัวข้าพเจ้าแล้ว ยังต้องยกเครดิตให้กับ โอ๋ – ธนาคม พจนาพิทักษ์ และ วิน – ชวิน ถวัลย์ภิยโย โอ๋ – ธนาคม พจนาพิทักษ์ นั้นเป็นชาว จ.สตูล ในครอบครัวไทยมุสลิมซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นศิลปิน-นักเขียน สำเร็จปริญญาตรีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ ปริญญาโท คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) สาขาการจัดการทางสังคม เคยผ่านงานสื่อมวลชนจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสารชีวจิต บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการวิทยุ BatterLife ของบมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง กรรมการผู้จัดการบริษัท บิ๊กฟิช ครีเอชั่น จำกัด/บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Love+Share บรรณาธิการนิตยสาร ALL บมจ.สยามอินเตอร์มัลติมีเดียฯ ฯลฯ รวมถึงอาจารย์พิเศษคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ บรรณาธิการข่าว ศูนย์ข่าวชายแดนใต้ อาจารย์พิเศษคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และอาจารย์พิเศษคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มีประสบการณ์/กิจกรรม/บรรยาย มากมาย อาทิ คณะทำงานจัดงาน ‘จุดประกายฟอรั่ม’ ของนสพ.กรุงเทพธุรกิจ คณะทำงานโครงการจัดงาน ‘อมรินทร์บุ๊คแฟร์’ บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง คณะทำงานและพิธีกรงาน ‘รวมพลคนเขียน’ บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง พิธีกร/วิทยากร การเขียนเชิงสร้างสรรค์ เครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย ฯลฯ เจ้าของผลงานหนังสือ ‘ปลาที่บินได้’ และนักเขียนหนังสือเล่ม ‘สุดยอด 9 CEO ไทย ผู้ไต่จากศูนย์’ ฯลฯ ส่วน วิน – ชวิน ถวัลย์ภิยโย เพื่อนหนุ่มผู้เปรียบเสมือนเป็น ‘เงา’ ซึ่งกันและกัน เป็นช่างภาพอาชีพอิสระ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ เอกภูมิศาสตร์สิ่งแวดล้อม (วทบ.ภูมิศาสตร์) เคยผ่านงานในตำแหน่งกองบรรณาธิการหลายสำนัก อาทิเช่น หนังสือ ๕ พฤษภา, กองบรรณาธิการวารสารการปฏิรูปการศึกษา, กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ศิลปะวรรณกรรม, บรรณาธิการฝ่ายภาพนิตยสาร ฅ.คน บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ‘สำนักหัวใจเดียวกัน’ มาด้วยกัน ผู้ให้คำนิยามตัวเองว่าเป็น ‘ช่างภาพสาธารณะ’ ด้วยเป็นช่างภาพอาชีพอิสระที่บันทึกภาพต่างๆ ไว้มากมาย แต่ไม่เคย 'หวงภาพ' กลับเปิดโอกาสให้ผู้คนหยิบภาพไปใช้ได้โดยไม่คิดมูลค่าใดๆ ทั้งสิ้น เคยจัดแสดงงานถ่ายภาพ ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์, ร้านเจน ถนนพระอาทิตย์ ร้านสิงห์สาโท และร้านข้าวหมูแดงนาย ข้าพเจ้ายังได้เชิญวิทยากรที่มีชื่อเสียงและประสบการณ์อีก ๒ คน คือ มนตรี ศรียงค์ รู้จักกันในฉายา ‘กวีหมี่เป็ด’ กวีซีไรต์จากกวีนิพนธ์เรื่อง ‘โลกในดวงตาข้าพเจ้า’ ชาว อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กวี-นักเขียนที่มีผลงานมากมาย และ ปิยะโชติ อินทรนิวาส นักเขียนที่ไปเอาดีในอาชีพนักข่าว มีผลงานรวมเล่มหลายเล่ม ผู้ร่วมก่อนตั้ง ‘กลุ่มวรรณกรรมกาแล’ ที่มี แรคำ ประโดยคำ มาลา คำจันทร์ แสงดาว ศรัทธามั่น และวีระศักดิ์ ยอดระบำ เป็นที่ปรึกษา จบปริญญาตรีสาชาวิชาการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยร่วมงานที่นิตยสารถนนหนังสือ ปัจจุบันเป็นหัวหน้าศูนย์ข่าวหาดใหญ่เครือผู้จัดการ-ASTV ปี ๒๕๔๗ เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการทำข่าวสืบสวนสอบสวนที่อเมริกา นอกจากนี้วิทยากรรับเชิญ ยังประกอบด้วย 'สายธารสิโป' หรือ นิพนธ์ รัตนพันธุ์ นักรบวรรณกรรมแห่งเทือกเขาบูโด พันธกานท์ ตฤณราษฎร์ และผู้หลักผู้ใหญ่คนสำคัญที่แนะแนวให้ความรู้ และบอกเล่าประสบการณ์ที่มีค่ายิ่ง เช่น ดร.รุ่ง แก้วแดง ลุงดำ - ดำรง สุวรรณรัตน์ ฯลฯ ที่สำคัญ คือ การพยายามนำการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน มาร่วมแสดงให้เยาวชนได้สัมผัส ด้วยการเชิญสมาชิกวง 'บุหลันตานี' มาแสดง และให้เยาวชนนักเขียนฯ ได้ทดลองสัมภาษณ์เก็บข้อมูลเพื่อเขียนสารคดี ครั้งนั้นนับเป็นที่โชคดีว่า ทั้งข้าพเจ้าและโอ๋-ธนาคม มีประสบการณ์ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ มาก่อน ทำให้สามารถช่วยทั้งขัดเกลาและวางแผน จัดทำหนังสือผลงานอันเป็นผลผลิตงานเขียนของเยาวชนแต่ละค่ายได้อย่างใกล้ชิด ทุ่มเทอย่างที่เรียกได้ว่าช่วยชี้แนะ ปรับปรุงแก้ไขกันในระดับคำและประโยค ประกอบกับ วิน-ชวิน นั้น นอกจากจะเป็นช่างภาพมืออาชีพอิสระแล้ว ยังสามารถจัดทำรูปเล่มหนังสือ (Art Work) ได้อีกด้วย ทั้ง ๔ ค่ายที่ดำเนินการซึ่งมีทั้งเยาวชนไทยพุทธและมลายูมุสลิมเข้าร่วม จึงมีผลงานของเด็กออกมาเป็นรูปเล่มสวยงามในวันสุดท้ายที่ปิดค่าย ด้วยจำนวนผลิตเพียงไม่กี่เล่มเพื่อมอบให้แก่ห้องสมุดโรงเรียน ผ่านการตั้งชื่อด้วยการโหวตหาชื่อกันเองของเหล่าเยาวชนนักเขียน ตั้งแต่เรื่องเล่าจากชาวค่ายลำพะยา ขบวน ๑ ‘ตามรอยฝัน’ เรื่องเล่าจากชาวค่ายลำพะยา ขบวน ๒ ‘ผีเสื้อกลางสายฝน’ เรื่องเล่าจากชาวค่ายลำพะยา ขบวน ๓ ‘นกน้อยสานฝัน’ และเรื่องเล่าจากชาวค่ายลำพะยา ขบวน ๔ ‘เมฆใต้ฟ้า’ ก่อนที่ต่อมา ผลงานจากเยาวชนนักเขียนรุ่น ‘รวมดาว’ ซึ่งคัดเลือกเด็กเก่งจาก ๔ ค่ายๆ ละ ๑๐ คนมารวมกันเป็นค่ายที่ ๕ รวม ๔๐ คน จักปรากฏอย่างน่าชมชื่น โดยพวกเราให้โจทย์เหล่าเยาวชนล่วงหน้าไว้ก่อนว่า “ให้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนของตัวเองในประเด็นใดก็ได้มา ๑ เรื่อง แล้วให้เอามาส่งในวันเข้าค่ายรุ่นรวมดาววันแรก เพื่อพี่เลี้ยงค่ายคือพวกเราจะได้ช่วยกันพิจารณา แนะนำ ขัดเกลา กันต่อไป” ในที่สุดเมื่อจบค่ายรุ่นรวมดาว เยาวชนนักเขียนมีผลงานรวมเล่มเป็นของตัวเอง ๒ เล่ม จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง เล่มแรกชื่อ ‘Love Land ดินแดนแห่งรัก’ และ ‘เปอร์นูลิส มูดา จาฮายา กือซือลามัตตัน ดี สลาตัน เยาวชนนักเขียน เรืองแสงแห่งสันติที่ชายแดนใต้’ ดร.รุ่ง แก้วแดง เขียนไว้ในคำนำหนังสือ ‘Love Land ดินแดนแห่งรัก’ เพื่อสะท้อนให้เห็นกระบวนการทำงานว่า กว่าจะเป็นผลงานในรูปเล่มที่ท่านถืออยู่นี้ เยาวชนและครูต้องเหน็ดเหนื่อย ทำงานหนักหนาอย่างมาก แต่ก็ต้องชื่นชมกับความตั้งใจและความมุ่งมั่นของทั้ง ๒ ฝ่าย เด็กเริ่มหัดเขียนง่ายๆ ค่อยๆ ปรับแก้ โดยในรอบแรก มีเยาวชนมาเข้าร่วมทั้งสิ้น ๔ กลุ่ม “หลังจากนั้นก็ได้คัดเลือกเยาวชนที่มีแวว มีศักยภาพดีที่สุดของแต่ละรุ่นมาจำนวนหนึ่ง มาเข้าค่าย ฝึกในระดับที่สูงขึ้น เด็กๆ กลุ่มนี้มีโอกาสที่ได้ไปเรียนรู้เพื่อสังเกต และฝึกเขียนเรื่องราวของการจัดกิจกรรมด้านศิลปะการแสดงตำนานชุมชน ในโครงการพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรเยาวชนระดับ อบต. ด้านกีฬา ดนตรี และศิลปะใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง จัดอยู่ทั้งที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งเด็กๆ มีความซาบซึ้งในมรดกทางวัฒนธรรมเป็นอย่างดี” อย่างไรก็ตาม เมื่อจบภารกิจจากการทำค่ายกันครั้งแรกแล้ว ด้วย ‘อุบัติเหตุ’ บางอย่าง ทำให้สำนักหัวใจเดียวกัน และมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง ไม่ได้ทำค่ายนักเขียนร่วมกันอีก แต่ทางมูลนิธิฯ ได้เชิญชวน ปลายมนัส ลิ้มสุวรรณ์ ซึ่งขอติดตามข้าพเจ้าลงสัมผัสพื้นที่ชายแดนใต้เป็นครั้งแรก และมีโอกาสเข้าร่วมสัมผัสค่ายนักเขียน ค่ายที่ ๔ รับหน้าที่ไปดำเนินการดูแลการทำค่ายนักเขียนต่อ โดยปี ๒๕๕๔ นี้เป็นปีที่ ๓ ของการทำค่ายแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่ายินดียิ่งที่ยังคงมีการทำค่ายลักษณะเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ข้าพเจ้าได้เคยเสนอแนะ ปลายมนัสฯ ในคราได้รับเชิญเป็นวิทยากรการเสวนาว่าด้วยวรรณกรรมไทย-มลายู ที่ มอ.ปัตตานี ครั้งหนึ่งว่า ผลงานของเยาวชนที่ถูกนำมารวมเล่มในหนังสือ ‘เปอร์นูลิส มูดา จาฮายา กือซือลามัตตัน ดี สลาตัน เยาวชนนักเขียน เรืองแสงแห่งสันติที่ชายแดนใต้’ นั้น ถือว่าเป็นงานเขียนประเภท ‘สารคดี’ ไม่ใช่ ‘เรื่องสั้น’ อย่างที่มีการเขียนคำโปรยไว้บนปกว่า ‘รวมเรื่องสั้นของ ๑๙ เยาวชนนักเขียนจากชายแดนใต้’ “สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้จำเป็นต้องระมัดระวังและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากผู้ดูแลการจัดทำหนังสือยังไม่เข้าใจประเภทของงานเขียน อาจด้วยความสะเพร่า ประมาทเลินเล่อ หรือด้วยอะไรก็ตามแต่ มันจะกลายเป็นการนำทางที่ทำให้เยาวชนหรือคนที่ได้อ่านเนื้อนัยหนังสือเกิดความเข้าใจผิดได้ รวมถึงรายละเอียดเล็กน้อยอื่นๆ อีกมากมาย ที่ล้วนต้องให้ความใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง” ซึ่งแน่นอน, นั่นย่อมไม่เป็นผลดีต่อการปลูกฝัง ‘การเขียน’ สำหรับเหล่าเยาวชนในระยะยาวเป็นแน่แท้ นับจากค่ายเยาวชนนักเขียนที่ ‘สำนักหัวใจเดียวกัน’ ได้ดำเนินร่วมกันกับ ‘มูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง’ ในการ ‘จุดประกาย’ การทำค่ายนักเขียนห้วงเกิดความสถานการณ์ไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ เวลาต่อมาพวกเราในนามของ ‘สำนักหัวใจเดียวกัน’ ได้ริเริ่มทำค่ายนักเขียนอีกหลากหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกับเทศบาลเมืองเบตง อบต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา คณะศึกษาศาสตร์ มอ.ปัตตานี องค์กรในพื้นที่นราธิวาส โครงการพัฒนาทักษะนักเขียน ศวชต. ของศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.) ฯลฯ รวมถึงค่ายนักเขียน-นักข่าวสายพันธุ์ใหม่ชายแดนใต้ ที่ให้ความสำคัญกับการใช้พื้นที่ใน Social Media เป็นช่องทางเผยแพร่ผลงานของเหล่าเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้ สู่สังคมออนไลน์ทั่วโลก ผ่านมาหลายปี นับจากที่พวกเราได้ทำค่ายนักเขียนน้อยชายแดนใต้ อย่างจริงจัง ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ จวบจนปัจจุบันนี้ปี ๒๕๕๔ ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจยิ่งที่เห็น ‘ความเคลื่อนไหว’ ในการจัดทำค่ายลักษณะนี้ขยายปริมณฑลออกไปเรื่อยๆ และที่สำคัญองค์กรที่เกี่ยวข้องกับแวดวงการอ่าน-เขียน เริ่ม ‘ขยับตัว’ บ้าง หลังจากทำตัวเสมือนเป็น ‘ยักษ์หลับ’ มาเนิ่นนาน ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมา พวกเราเองได้พยายามปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ประยุกต์ รูปแบบและวิธีการหลายประการด้วยกัน เพื่อให้สอดคล้องกับคุณสมบัติของเยาวชนที่มาเข้าค่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วการทำค่ายในพื้นที่ที่ถูกปรามาสว่าคนส่วนหนึ่งซึ่งเป็นชาวมลายูมุสลิม แม้แต่พูดไทยยังไม่ชัด แล้วจะเขียนให้ดีได้อย่างไร แต่หากใครได้มาเห็นต้นฉบับงานเขียน รวมถึงการเลือก ‘คำ’ ของเหล่านักเขียนน้อยแล้วอาจเกิดอาการ ‘อึ้ง’ ไปตามกัน เพราะกลายเป็นว่าเยาวชนเหล่านี้มีพื้นฐานภาษาไทยอยู่ในระดับค่อนข้างดี เหตุผลประการหนึ่งอาจเป็นด้วยอยู่ในพื้นที่ที่มากด้วยตำนานและประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคศรีวิชัย ลังกาสุกะ ปัตตานีดารุสสาลาม ก่อนจะมาเป็นรัตนโกสินทร์ในกาลปัจจุบัน ทำให้รากของ ‘ประวัติศาสตร์’ และ ‘ภาษา’ ได้รับการสั่งสมบ่มเพาะ และผสมผสานกันมานานอย่างลงตัว อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดในเงื่อนเวลาและตัวแปรอื่นๆ อีกมากมาย ย่อมมิอาจนำผลงานเขียนของเยาวชนนักเขียนน้อยชายแดนใต้ ไปเทียบเคียงกับระดับ ‘มืออาชีพ’ โดยทั่วไปได้ แต่อย่างน้อยการใช้ประสบการณ์จากการทำค่ายในหลายๆ ครั้ง ในนามของ 'สำนักหัวใจเดียวกัน' ร่วมกับองค์กรต่างๆ มาเป็นกรณีศึกษา ภายใต้ความเชื่อที่ว่า แม้นเยาวชนที่เข้าค่ายนักเขียนทั้งที่นับถือศาสนาพุทธหรืออิสลาม อาจจะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรจากการเพิ่มทักษะในการเขียน-อ่าน คราเข้าค่ายแต่ละครั้ง แต่ผลสำเร็จประการหนึ่งที่ทำให้ข้าพเจ้ามั่นใจได้ว่า ผลพวงที่พวกเขาและเธอต้องได้รับแน่นอน นอกจากเรื่องของ ‘แรงบันดาลใจ’ ‘กำลังใจ’ ความรู้สึกมี ‘พื้นที่แสดงออก’ และมี ‘ตัวตน’ ในสังคมบ้างแล้ว สิ่งสำคัญยิ่งประการหนึ่งซึ่งถือเป็นคุณูปการสำคัญก็คือ ความเป็น ‘เพื่อน’ ที่เกิดขึ้นนั่นเอง |
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |
แสงและเงาที่พรุโต๊ะแดง นราธิวาส | ||
![]() |
||
เพริศไปตามจินตนาการแห่งแสงสีของป่าพรุ |
||
View All ![]() |
เหมือนสายลม | ||
![]() |
||
บทเพลงประกอบหนังสือจิตวิญญาณระหว่างขุนเขา บูโด-สันกาลาคีรี โดยชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ |
||
View All ![]() |
<< | กรกฎาคม 2011 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | |||||
3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 |
10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 |
17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 |
24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 |
31 |