*/
<< | มกราคม 2010 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | |||||
3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 |
10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 |
17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 |
24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 |
31 |
หลังจากอิ่มแล้วผมมองเวลาคาดว่าพี่ทรงคงจะไปประชุมไม่ทันแน่ๆถ้าจะพาผมไปวัดอีกวัดก่อนจะกลับไปประชุม ผมก็เลยบอกพี่ทรงไปตรงๆว่า ไปส่งผมที่ทุ่งศรีเมืองก็แล้วกันเดี๋ยวผมตะลอนวัดในเมืองอุบลเองครับ มีทั้งแผนที่มีทั้งคู่มือท่องเที่ยวที่พี่ทรงซื้อมาให้ 1 เล่ม รับรองไม่หลงแน่นอน พี่ทรงก็ OK เลยพามาส่งตรงทุ่งศรเมือง ก่อนไปประชุมพี่ทรงก็ยังบอกเส้นทางให้ผมฟังอีกว่าต้องไปทางไหนอย่างไร แต่จะบอกว่าผมจำไม่ได้หรอกครับพี่ 555 ปกติไปไหนเนี่ยผมต้องใช้เวลาศึกษาเส้นทางหลายรอบเลยล่ะถึงจะจำได้ แค่นี้จำไม่ได้จริงๆ 555 หลังจากลงจากรถพี่ทรงแล้วที่แรกที่ผมตัดสินใจเที่ยวด้วยตัวเองก็คือทุ่งศรีเมืองเนี่ยละครับ ผมเข้าทางประตูที่มีปฏิมากรรมร่วมใจก้าวไปข้างหน้า ถ่ายรูปและก็เดินไปถ่ายรูปอภิมหาเทียนพรรษาเฉลิมพระเกียรติ ก่อนจะรีบวิ่งไปหาห้องน้ำเพราะข้าศึกมันบุกน่ะครับ ขอบอกว่าห้องน้ำในทุ่งศรีเมืองน่ากลัวมากๆครับ ทุกห้องถูกเจาะรูหมดเลย แถมไม่ค่อยสะอาดด้วย ผมต้องเลือกห้องที่รูเล็กที่สุด จะเลือกห้องที่ไม่มีรูเลยก็ไม่มีสักห้อง งานนี้ปลดทุกข์ไปก็ต้องระแวงว่าจะมีคนมาแอบดูหรือเปล่า เศร้าจริงๆ หวังว่าถ้ามีเจ้าหน้าที่คนอุบลมาอ่านคงนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้นนะครับ หลังจากปลดทุกข์เรียบร้อยแล้ว สถานที่ต่อไปที่ต้องไม่พลาดคือการสักการะศาลหลักเมืองอุบลราชธานีหลังจากวันแรกที่มาถึง มาถึงตอนกลางคืนเขาไม่เปิดให้เข้าไปสักการะ ติดกับศาลหลักเมืองก็จะมี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ดูเวลาแล้วน่าจะเข้าไปชมได้ ก็เลยตัดสินใจเข้าไปชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ดีกว่าน่าจะได้ทราบประวัติอุบลราชธานีได้ดีทีเดียว สำหรับที่นี่เสียค่าเข้าชม 20 บาทครับ ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปได้นะครับ สำหรับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ผมใช้เวลาพักนึงในการเดินเข้าชม สิ่งที่ผมประทับใจและชื่นชอบมากที่สุดมี 2 ชิ้นครับ คือ อรรธนารีศวร อรรธนารีศวร มาจากคำ 3 คำ ได้แก่ อรรธ (ครึ่ง) + นารี (ผู้หญิง) + อิศวร (พระผู้เป็นเจ้า) หมายถึง เทพเจ้าผู้เป็นสตรีครึ่งหนึ่งนั่นเอง บางครั้งก็เรียกสั้นๆ ว่า อรรธนารี (Ardhanari) เฉยๆ ผู้ชายทางซีกขวาคือ พระศิวะ ส่วนผู้หญิงทางซีกซ้ายคือ พระปารวตี ชายาของพระองค์ โดยในที่นี้พระปารวตีเป็น ศักติ (Shakti) แปลว่า อำนาจหรือผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจของพระสวามี (ซึ่งในที่นี้คือ พระศิวะ) หากต้องการทราบประวัติเพิ่มเติม ลองเข้ามาอ่านในเว็บนี้ดูนะครับมีตำนานให้ทราบด้วย (http://www.bangkokbiznews.com/jud/sat/20080401/news.php?news=column_26090688.html) อีกชิ้นที่ผมชอบมากๆคือ จำหลักเทพนพเคราะห์ อันได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอัคนี พระนารายณ์ พระอินทร์ พระพาย พระยม พระราหู และพระเกตุ แสดงคติความเชื่อในศาสนาฮินดูที่เข้ามามีอิทธิพลต่อผู้คนในแถบนี้ นอกเหนือไปจากการนับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก ลองเข้าไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติมจาก blog พี่ supawan ดูนะครับ ท่านได้เขียนเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ พร้อมกับภาพประกอบไว้ครบถ้วนเลยครับ ขออนุญาตพี่ supawan นำข้อมูลบางส่วนมาอ้างอิงเล็กน้อยนะครับ (ที่มา http://www.oknation.net/blog/supawan/2008/11/27/entry-1) สำหรับ จำหลักเทพนพเคราะห์ ที่แสดงอยู่นี้หลายคนอาจสงสัยเหมือนผมว่าทำไมของจริงแตกเป็นสองชิ้นไม่เหมือนในรูปที่ถ่ายเลย ผมลองถามเจ้าหน้าที่แล้วได้ความว่า เมื่อก่อนไม่ได้แตกเป็นสองชิ้นแต่เกิดจากการขนย้ายแล้วเจ้าหน้าที่ทำตกจึงหักเป็นสองท่อน บอกได้คำเดียวว่าน่าเสียดายมากๆครับ หลักจากเข้าชมครบทุกห้องแล้ว ก็แวะไปหาเจ้าหน้าที่เพื่อขอประทับตราพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานีเป็นที่ระลึกสักหน่อย ซึ่งกว่าจะได้ตราประทับก็ยากลำบากจริงๆเพราะเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยอยากจะให้ตราประทับสักเท่าไร สำหรับผมการเก็บตราประทับก็เพื่อเก็บเป็นที่ระลึกเท่านั้นเองไม่ได้นำไปทำอะไรหรอกครับ นำประวัติทุ่งศรีเมืองและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี มาให้ทราบสักเล็กน้อยครับ (ที่มา http://guideubon.com/news/view.php?t=18&s_id=27&d_id=1) ทุ่งศรีเมือง ทุ่งศรีเมือง ตั้งอยู่ใจกลางเมือง บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด เป็นสวนสาธารณะประจำเมืองที่มีสภาพภูมิทัศน์งดงาม มีประตูทางเข้า 4 ทิศ 4 ประตู คือ อุบลเดชประชารักษ์ อุบลศักดิ์ประชาบาล อุบลการประชานิตย์ และอุบลกิจประชากร ภายในสวนมีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ คือ อภิมหาเทียนพรรษาเฉลิมพระเกียรติ สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ.2542 และเป็นที่หล่อหลอมจิตศรัทธาของชาวอุบลราชธานีให้เป็นหนึ่งเดียว ศาลหลักเมืองอุบลราชธานี เป็นสถานที่สักการะของชาวเมืองและผู้มาเยี่ยมเยือน ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี 2515 อนุสาวรีย์พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเมืองอุบลฯ ปฏิมากรรมร่วมใจก้าวไปข้างหน้า สร้างขึ้นตามโครงการปฏิมากรรม กับสิ่งแวดล้อมเพื่อเยาวชน ซึ่งแสดงถึง ความสมานฉันท์แห่งความเป็นพี่น้องระหว่าง 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม *********************** พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ตั้งอยู่ที่ถนนเขื่อนธานีตัดกับถนนอุปราช อ.เมือง เดิมเป็นศาลากลางจังหวัด สร้างเมื่อ พ.ศ. 2461 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ บนที่ดินที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว (มณฑลอีสาน) ประทับ ณ เมืองอุบลราชธานี ได้ทรงขอมาจากทายาทของราชบุตร (สุ่ย บุตรโลบล) คือ หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา (ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรสิทธิประสงค์) เพื่อให้เป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับก่อสร้างสถานที่ราชการ ลักษณะอาคาร เป็นตึกชั้นเดียวยกพื้นสูง ตัวอาคารก่ออิฐฉาบปูน หลังคาทรงปั้นหยา แผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศเหนือ ภายในอาคารประกอบด้วยห้องโถงใหญ่อยู่ตรงกลาง มีระเบียงทางเดินและห้องขนาดเล็กอยู่โดยรอบ เหนือกรอบประตูและหัวเสารับชายคา ที่ระเบียงประดับด้วยไม้ฉลุลายพันธุ์พฤกษา ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเติบโตขึ้น อาคารศาลากลางหลังนี้มีสภาพคับแคบ ไม่เพียงพอกับหน่วยงานราชการที่เพิ่มขึ้น จึงได้สร้างอาคารศาลากลางหลังใหม่ทางด้านตะวันตกของทุ่งศรีเมือง เมื่อ พ.ศ. 2511 ส่วนอาคารศาลากลางหลังเก่าได้ใช้เป็นสำนักงานของหน่วยราชการต่างๆ มาโดยตลอด ในปี พ.ศ. 2526 นายบุญช่วย ศรีสารคาม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้มอบอาคารศาลากลางหลังเก่าให้กรมศิลปากรทำการบูรณะ และใช้ประโยชน์จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อการบูรณะซ่อมแซมตัวอาคารและจัดแสดงนิทรรศการถาวรแล้วเสร็จ กรมศิลปากรได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2532 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี นับได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบแห่งหนึ่งของประเทศ เปิดทำการตั้งแต่วันพุธถึงวันอาทิตย์ จากเวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โทร. (045) 225-071 อรรธนารีศวร ภาพนี้นำมาจากเว็บเช่นกันเนื่องจากไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพได้ จากที่อ่านในเว็บเขาให้ถ่ายรูปได้นะครับแต่ต้องทำเอกสารขออนุญาตก่อน ถ้าผิดพลาดอย่างไรต้องขออภัยด้วยครับ ก่อนจะไปตะลอนต่อก็ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ว่าผมควรเดินทางไปวัดไหนก่อนดีและต้องเดินทางไปอย่างไร ก็ได้คำตอบว่าควรจะเดินทางไปวัดตามลำดับดังนี้ วัดศรีอุบลรัตนาราม วัดวัดศรีอุบลรัตนารามและวัดทุ่งศรีเมือง สามารถเดินเท้าไปได้เพราะอยู่ไม่ห่างจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี วัดศรีอุบลรัตนารามอยู่ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเลยครับ ส่วนวัดทุ่งศรีเมืองต้องเดินไปอีกหน่อยไม่ไกลมากนักจะอยู่ตรงข้ามไปรษณีย์อุบลราชธานีครับ วัดแรกที่ผมเดินทางมาก็คือ วัดศรีอุบลรัตนาราม ซึ่งอยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี วัดนี้มีความสำคัญอย่างไรเหรอครับ สำหรับผมคือการได้เข้ามาสักการะพระแก้วบุษราคัมและพระอุโบสถวัดที่สร้างตามแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพ วันที่ผมไปไม่มีคนมาไหว้พระสักเท่าไร ก็เลยได้ชมความงามของพระอุโบสถและพระแก้วบุษราคัม อย่างจุใจ ก่อนจะเดินไปไหว้พระที่พระวิหารข้างพระอุโบสถครับ พระแก้วบุษราคัม เป็นพระพุทธปฏิมากรปางมารวิชัยสมัยเชียงแสน แกะสลักจากแก้วบุษราคัม หน้าตักกว้าง 3 นิ้ว สูงจากเรือนแท่นถึงเปลวพระโมลี 5 นิ้ว มีความงามสง่าตามพุทธลักษณะทุกประการ ตามตำนานเล่าสืบกันมาว่าพระวรราชภักดี (พระวอ) พร้อมด้วยบุตรหลานของพระตาคือ เจ้าคำผง เจ้าทิดพรหม และเจ้าก่ำ บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งเมืองอุบล ได้อัญเชิญพระแก้วบุษราคัมมาจากกรุงศรีสัตนาคตหุต (เวียงจันทน์) เดิมทีพระแก้วบุษราคัม คงจะประดิษฐานอยู่ที่บ้านดอนมดแดง และได้อัญเชิญมาประดิษฐาน อยู่ที่วัดศรีอุบลรัตนารามในเวลาต่อมา ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ทางราชการได้ประกอบพิธีถือนำพระพิพัฒน์สัตยา ที่วัดศรีอุบลรัตนาราม พร้อมทั้งได้อัญเชิญพระแก้วบุษราคัม เป็นองค์ประธานในพิธี โดยถือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสืบกันมาแต่โบราณกาล ปัจจุบัน ในเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ชาวอุบลราชธานีจะร่วมใจกัน อัญเชิญพระแก้วบุษราคัม เข้าขบวนแห่ไปรอบเมืองอุบลราชธานี เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชน ได้นมัสการกราบไหว้และสรงน้ำกันโดยถ้วนหน้า พักเหนื่อยสักหน่อยก่อนจะกางแผนที่หาทางไปวัดทุ่งศรีเมือง ซึ่งอยู่อีกฝั่งของทุ่งศรีเมือง เดินหลงอยู่สักพักจึงมาถึงวัดทุ่งศรีเมืองจนได้ เล่นเอาเหงื่อออกเลยทีเดียว มาถึงวัดนี้จุดหมายหลักของวัดนี้มีสองที่ด้วยกันคือพระอุโบสถหรือหอพระพุทธบาทกับหอไตรกลางน้ำ ที่พระอุโบสถวัดทุ่งศรีเมืองจะมีพระเจ้าใหญ่องค์เงิน รอยพระพุทธบาทจำลองและจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามมากๆครับ ส่วนพอไตรกลางน้ำจะโดดเด่นมากๆ ลักษณะของหอไตรวัดทุ่งศรีเมือง เป็นหอน้ำ สร้างอยู่กลางสระน้ำ เป็นอาคารเรือนไม้ขนาดกว้าง 8.20 เมตร ยาว 9.85 เมตร สูงจากระดับพื้นน้ำถึงถึงยอดหลังคาประมาณ 10 เมตร แปลน รูป สี่เหลี่ยมจตุรัส ยกพื้นสูงใต้ถุนโปร่ง ผนังเป็นแป้นฝาไม้แบบเรียบ เครื่องสับฝาแบบฝาประกนอย่างเรือนไทยภาคกลาง ลูกฝักรองตีนช้างแกะสลักลายประตูเข้าหอไตร อยู่ทางทิศตะวันออกประตูเดียว มีหน้าต่างโดยรอบทั้งหมด 14 ช่อง หลังคาทรงจั่วมีปั้นกรอบ ปีกนอกกว้าง 2 ชั้น (คล้ายสถาปัตยกรรมเชียงรุ้ง) ส่วนบนหลังคาทรงแบบโบสถ์ไทยมีชั้นลด 2 ชั้น ช่อฟ้ารวยลำยอง ใบระกา นาคสะดุ้งและหางหงส์แบบภาคกลาง หน้าบันไม้จำหลักลายแบบไทย(ลายดอก) พุดตาน,ลายกระจังรวน,ลายประจำยามก้ามปู ฯลฯ เดิมมุงแป้นไม้มีทวยสลักด้วยไม้ค้ำยันชายคาปีกนอกโดยรอบจำนวน 19 ตัว 2 ตัว ด้านด้านหน้าข้างประตูเข้า สลักหัวทวยเป็นเทพพนมอีก 17 ตัวเป็นรูปพญานาค ข้อมูลจาก (http://guideubon.com/news/view.php?t=18&s_id=26&d_id=2) วันที่ผมมามีกลุ่มนักเรียนมาทำกิจกรรมภายในวัดนี้ครับ เห็นแล้วนึกถึงสมัยเรียนจังเราไม่เคยมาทำกิจกรรมกลุ่มแบบนี้เลยครับ มีเกมส์สนุกให้นักเรียนเล่นกันด้วยครับ ผมใช้เวลาชมความงามในวัดนี้นานพอสมควร พอให้หายเหนื่อยหลังจากที่เดินหลงทางมาพักใหญ่ จากนั้นก็ไปแวะที่ไปรษณีย์อุบลราชธานีเพื่อซื้อโปสการ์ดและ stamp ส่งให้เพื่อนๆเนื่องจากมา trip นี้ยังไม่มี stamp ส่งไปต่างประเทศดวงละ 15 บาท ก็เลยมาซื้อที่นี่ละครับ เห็นโปสการ์ดรูปผาแต้มและเทียนพรรษาเมืองอุบลราชธานีก็เลยไม่ลังเลซื้อเก็บอีก 6 ใบ ก่อนกลับก็ส่งโปสการ์ดที่หน้าไปรษณีย์อีก 20 กว่าใบก่อนจะเดินทางกลับไปที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี เพื่อไปรอขึ้นรถสองแถวสาย 7 มุ่งหน้าไปวัดแจ้งและวัดมหาวนารามตามที่เจ้าหน้าที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ได้บอกไว้ โดยให้รอรถที่หลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี นั่นละครับแต่ปรากฏว่ามีสองฝั่งไม่รู้จะขึ้นทางไหนดี ถามพี่ รปภ แกก็บอกว่าไปทำไมสาย 7 มีสายอื่นผ่านนะ แต่ไม่รู้สายไหน อ้าว แล้วเราจะไปถึงมั้ยเนี่ย ก็เลยเดินไปถามเจ้าหน้าที่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานีอีกรอบก็ได้คำตอบว่าให้รอฝั่งนี้ถ้าไปอีกฝั่งจะไปพิบูลมังสาหาร แต่ถ้าไปสาย 7 อาจต้องใช้เวลานานหน่อยเพราะรถจะเข้าไปในเมืองถือว่าเป็นการเที่ยวในเมืองก็แล้วกัน อิอิ พอขึ้นรถไป นั่งนานจริงๆครับกว่าจะถึง นั่งไปก็มองแผนที่ไปตอนนี้ผ่านถนนสายนี้แล้ว เด็กนักเรียนที่ขึ้นรถมาก็คงนั่งขำๆ พี่คนนี้แกจะไปไหนหว่า ดูแผนที่ตลอดเลย ว่าจะบอกน้องเขาว่าถ้าถึงวัดแจ้งเมื่อไรบอกพี่ด้วยนะก็อาย อิอิ เห็นว่ายังไม่ถึงถนนที่ตั้งของถนนก็เลยยังไม่ได้ถาม แล้วสุดท้ายก็มาถึงวัดแล้วครับ วันที่ไปภายในวัดมีตลาดนัดด้วยผู้คนเลยคึกคักมากๆครับ จุดหมายของการมาวัดแจ้งคือการมาชมสิมวัดแจ้งครับ วัดแจ้ง ตั้งอยู่ที่ถนนสรรพสิทธิ์ อ.เมือง ตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2431 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยการดำริของเจ้าราชบุตร (หนูคำ) หนึ่งในคณะอาญาสี่ผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานีในสมัยนั้น ต่อมา พ.ศ.2455 หรือหลังจากการตั้งวัด 24 ปี จึงได้มีการสร้างโบสถ์ขึ้นพระอุโบสถที่ โดยญาท่านเพ็ง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านญาหอ จึงสันนิษฐานว่าช่างที่สร้างสิมวัดแจ้งน่าจะเป็นช่างหลวงของเมืองอุบล ซึ่งชื่อวัดนี้มีเรื่องสืบเล่าต่อมาว่าเกิดจากการที่ผู้สร้างเกิดการเห็นแจ้งในกุศลบุญ (ในภาษาอีสานแจ้งหมายความว่าความสว่าง) สิมวัดแจ้ง เป็นสถาปัตยกรรมแบบอีสาน แปลนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 เมตร ยาว 15 เมตร สูง 10 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัวอาคารก่อด้วยอิฐฉาบปุน ฐานเอวขันธ์แบบปากพานบันใดขึ้นด้านหน้า บันใดเดียว ราวบันใดปั้นปูนเป็นรูปจระเข้ 2 ตัว มีมุขเฉลียงอยู่ด้านหน้า หน้าต่างด้านข้างด้านละ 3 ช่อง ผนังด้านหลังก่อทึบถึง จั่วไม่มีหน้าบัน เสาด้านหน้าเป็นเสาไม้กลม 4 ต้น หน้าบันสลักไม้เป็นลวดลายแบบพื้นบ้านผสมลายไทยภาคกลาง บนสุดเป็นภาพอินทร์ทรงช้างเอราวัญ หน้าบันปิดทองร่องกระจก ทวยไม้จำหลักเป็นภาพพญานาค หลังคาชั้นเดียวมีพะไร (ปีกนก) ทางด้านข้าง รวยลำยองแบบไม่มีนาคสะดุ้ง(รวยระกามอญ) ช่อฟ้า(โหง่)ใบระกาและหางหงส์แบบอีสาน คล้ายหอแจกวัดศรีอุบลรัตนาราม เดิมมุงแป้นไม้ ต่อมาเปลี่ยนเป็นมุงด้วยกระเบื้องดินขอ ที่มา (http://guideubon.com/news/view.php?t=18&s_id=15&d_id=9) ตอนไปถึงฟ้าไม่สวยเท่าไรครับ แถมบริเวณรอบๆก็มีการจัดตลาดนัดเสียงดังมากๆ เห็นแล้วเสียดายแทน ภายในวัดควรจะเป็นที่เงียบสงบแต่วัดนี้เสียงดังมากๆครับแถมพระเณรยังเดินซื้อของอีกต่างหาก จะเข้าไปไหว้พระในพระอุโบสถก็ไม่เปิดครับแถมหน้าโบสถ์ก็มีคนจับจองนั่งขายของอีก จะถ่ายโบสถ์ก็ไม่ได้เพราะถูกล้อมด้วยร้านค้าและผ้าใบจนหามุมไม่ได้เลย ก็เลยได้แค่เก็บภาพหน้าต่างพระอุโบสถเท่านั้นเองครับ ก่อนจะเดินออกมาอีกประตูเพื่อเดินทางต่อไปยังวัดสุดท้ายที่ตั้งใจไว้คือวัดมหาวนาราม ซึ่งถ้าจะไปได้ก็ต้องหาสถานีตำรวจให้เจอก่อน แต่ไม่รู้ว่าอยู่โซนไหนก็เลยถามคนที่มาเดินตลาดนัดว่าจะไปสถานีตำรวจได้อย่างไรก็ได้ใจความว่าให้เดินตรงไปอีกสองแยกก็จะถึงสถานีตำรวจแล้วครับ มองเห็นป้ายชี้ทางไปวัดมหาวนารามแล้วครับแสดงว่าเรามาถึงวัดแล้ว วัดมหาวนารามหรือเรียกอีกชื่อว่าวัดป่าใหญ่ จุดหมายของวัดนี้คือการได้มาสักการระพระเจ้าใหญ่อินแปลง ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่พระวิหารซึ่งตอนที่ผมไปนั้นกำลังมีการสร้างพระวิหารใหม่ครอบวิหารเก่าอยู่ครับ วันที่ไปมีการสวดมนต์พอดีมีประชาชนชาวอุบลหลายอายุทั้งวัยรุ่นไปจนถึงวัยชรามาสวดมนต์เยอะมากๆ วัดนี้เป็นวัดสุดท้ายที่ตั้งใจจะมาอยู่แล้วก็เลยอยู่ร่วมสวดมนต์ที่วัดป่าใหญ่เลยละกัน ผมนั่งข้างๆคุณน้าท่านนึงท่านใจดีมากๆจะให้หนังสือสวดมนต์กับผมแต่ผมปฏิเสธที่จะรับเพราะเกรงใจ ก็เลยนั่งฟังบทสวดก็พอใจแล้วครับ ผมอยู่สวดมนต์ประมาณ 40 นาทีก็ต้องขอตัวกลับก่อน กำลังจะกลับคุณน้าท่านเดิมก็ถามว่าจะกลับแล้วเหรอ ผมก็เลยบอกว่าต้องกลับแล้วครับเดี๋ยวหาทางกลับไม่ถูก ท่านก็บอกว่าไม่เป็นไรแค่นี้ก็ได้บุญเยอะแล้วล่ะ คำพูดและรอยยิ้มทำให้ผมมีความสุขมากๆครับก็เลยยกมือไหว้คุณน้าและขอตัวอำลาเดินทางกลับอย่างสุขใจอย่างบอกไม่ถูกครับ ผมเดินมารอขึ้นรถสาย 7 ที่ตรงวัดแจ้งเพราะคิดว่าขามารถยังผ่านตรงนี้ขากลับรถก็น่าจะกลับทางนี้เช่นกันก็เลยยืนรอดูรถสักพักก็เห็นรถขับผ่าน ลืมมองว่ารถสีชมพูไม่ได้มีแค่สาย 7 สายเดียวดันมีสาย 3 ด้วยผมดันขึ้นรถสาย 3 สีชมพูกลับ นั่งผ่านเส้นทางมาเรื่อยๆมองไปดูป้ายเอ๊ะทำไมป้ายชี้ทางเข้าตัวเมืองไปอีกฝั่งนะ แล้วทำไมรถเลี้ยวตรงนี้ ก็ไม่ได้เอ๊ะใจอะไรจนมองไปเห็นหอนาฬิกากับโรงแรมตรงราชภัฎอุบลราชธานีเห็นแสงกำลังดีก็เลยลงรถพร้อมกับน้องนักเรียนอีกคนที่ลงรถไป มารู้ทีหลังว่านั่งรถผิดสายดีนะไม่นั่งต่อไม่งั้นคงไม่ได้กลับไปที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานีแน่ๆเลย 555 แวะซื้อน้ำเปล่าที่ 7-11 ก่อนจะเดินมาถ่ายหอนาฬิกาและเดินข้ามไปถ่ายโรงแรมตรงราชภัฎอุบลราชธานี ที่ใหญ่โตมากๆครับ ก่อนจะเตรียมตัวหาทางกลับไปที่ทุ่งศรีเมือง แต่ปวดฉี่ก็เลยต้องหาที่ฉี่ก่อน มองไปเห็นเมเจอร์ ก็เลยตัดสินใจข้ามไปที่เมเจอร์เพื่อเข้าห้องน้ำแต่กว่าจะได้เข้าก็ต้องขึ้นไปชั้น 3 ที่นี่แปลกห้องน้ำหญิงและชายอยู่กันคนละชั้นนะครับ พอฉี่เสร็จก็ล้างหน้าสักหน่อยเพราะทั้งวันเดินจนเหงื่อออก หน้ามันมากๆ พอล้างหน้าเสร็จก็มานั่งคิดว่าแล้วเราจะกลับไปทุ่งศรีเมืองยังไงดีเนี่ย เดินออกมาจากเมเจอร์ก็มองเห็นร้านไอศครีม nana ข้างเมเจอร์ก็เลยเข้าไปนั่งทานไอศครีมนั่งเขียนโปสการ์ดและพักเหนื่อยสักหน่อยเพราะต้องรอพี่ทรงทุ่มนึง เห็นไอศครีมแล้วก็เครียดเพราะหลังๆผมไม่ทานไอศครีมแล้วครับกลัวอ้วนเห็นมีถ้วยนึง 20 บาทก็เลยสั่งถ้วยนี้ละกันกับน้ำเปล่าแก้วนึง นั่งที่ร้านนี่ชั่วโมงกว่าแน่ะ อิอิ คุ้มจริงๆ 20 บาทนั่งตั้งชั่วโมงกว่า นั่งไปเขียนโปสการ์ดที่ยังไม่ได้เขียนหาเพื่อนๆให้ครบ เพื่อรอพี่ทรงมารับ พี่ทรงโทรมาถามว่าอยู่ไหนแล้วก็เลยบอกว่าอยู่ร้าน nana ข้างเมเจอร์ พี่ทรงบอกว่างั้นเดี๋ยวมารับเพื่อไปทานข้าวเย็นและจะไปซื้อตั๋วเดินทางกลับกรุงเทพให้ที่นครชัยแอร์ ประมาณ 6 โมง 40 พี่ทรงก็มารับและพาไปทานข้าวที่ร้านอินโดจีน เป็นร้านที่แต่งร้านด้วยของเก่ามีดนตรีด้วยครับแต่เป็นเพลงแนวสุนทราภรณ์ อิอิ อาจจะไม่ใช่แนวผมสักเท่าไรครับ ที่นี่พี่ทรงสั่งแหนมเนืองให้ทาน มาอุบลทั้งทีไม่ทานแหนมเนืองได้อย่างไร กับอาหารอีกสามอย่างเสียดายจำชื่ออาหารไม่ได้ครับ รู้แค่ว่าอร่อยมากๆครับ มื้อนี้ก็เป็นอีกเช่นเคยพี่ทรงเลี้ยงผมอีกแล้วครับ ขอบคุณพี่ทรงมากๆครับ มาระยองเมื่อไรผมขออนุญาตเป็นคนเลี้ยงบ้างนะครับ หลังจากอิ่มแล้วก็แวะเข้าห้องน้ำซะหน่อย ห้องน้ำร้านอินโดจีนมีห้องเดียวสำหรับห้องน้ำชายแถม lock ไม่ได้อีกต่างหากครับจะเข้าทีก็ต้องรอให้คนออกมาเปิดไปก็ระวังจะเจอคนเข้าอยู่นะครับ 555 หลังจากนั่นพี่ทรงก็พามาซื้อของที่ระลึกที่ร้านระหว่าง ( ) ทาง เป็นร้านที่น่ารักมากๆ มีระบบสมาชิกด้วยนะครับ สำหรับผมเลือกซื้อพวกกุญแจ 1 ชิ้นกับสมุด 3 เล่มและโปสการ์ด 3 ใบไม่กล้าซื้อมากเพราะกลัวหอบกลับไม่ไหว ก่อนที่พี่ทรงจะพาไปเดินชมอีกร้านนึง จากนั้นพี่ทรงก็ขับรถมาส่งที่สถานีรถของนครชัยแอร์ที่อยู่อำเภอวารินชำราบ รถออก 20:30 น. ผมได้ที่นั่งหลังสุดเลยครับ ก่อนขึ้นรถก็จัดกระเป๋าให้เรียบร้อยก่อนจะอำลาพี่ทรง เพื่อเดินทางกลับ สำหรับผมไม่รู้จะกล่าวคำว่าขอบคุณพี่ทรงอย่างไร พี่ทรงให้การต้อนรับเป็นอย่างดีมากๆครับ ผมสัญญาว่าจะกลับมาเยือนอุบลราชธานีอีกแน่นอนครับ ขอบคุณอุบลราชธานี เมืองที่มีดีมากกว่าเทียนพรรษา
06:00 น. ตื่นนอนตอนเช้าที่โขงเจียม 06:42 น. เดินไปถึงหลังวัดโขงเจียม เสียดายเดินมาไม่ทันแสงแรกของวันซะนี่ 07:19 น. เดินมาถึงตลาดสดโขงเจียม เดินหาของกิน สุดท้ายก็ได้ปาท่องโก๋มา 5 บาท ในกรุงเทพคงไม่ได้หรอกครับ 5 บาทเนี่ย 07:40 น. ส่งโปสการ์ดหาเพื่อนๆ 49 ใบ ที่ไปรษณีย์โขงเจียม ตอนนี้เริ่มมีคนได้รับโปสการ์ดชุดนี้บ้างแล้วครับ 07:50 น. กลับมาถึงห้องพัก นอนเขียนโปสการ์ดต่อ รอพี่ทรงมารับตอน 9 โมงครึ่ง 09:30 น. อำลาสีแบ เพื่อเดินทางกลับตัวเมืองอุบลราชธานี 10:00 น. แวะชมเขื่อนสิรินธร แต่เจ้าหน้าที่ไม่ให้ขับไปที่สันเขื่อนเลยต้องเดินลัดสวนสาธารณะไปถ่ายรูปครับ 11:00 น. ถึงวัดหนองป่าพง ไปที่เจดีย์เพื่อสักการะอัฐิหลวงปู่ชา 11:25 น. แวะกินกาแฟอร่อยๆที่ร้านบ้านเฉลียง ร้านน่านั่งมากๆครับ 11:40 น. เข้าไปทานเนื้อย่างโคขุนที่ร้าน โชกุโดเอน เนื้อย่างญี่ปุ่น ร้านอยู่ใกล้ๆกับกาแฟบ้านเฉลียงนั่นละครับ 12:30 น. พี่ทรงมาส่งตรงข้างๆทุ่งศรีเมือง ที่จริงขอให้พี่เขามาส่งตรงนี้ครับ เพราะคิดอะไรไม่ออกของ start ที่นี่ละกันครับ 12:40 น. เริ่มต้นจุดแรกที่ปฏิมากรรมร่วมใจก้าวไปข้างหน้าตรงบริเวณเทียนพรรษาทุ่งศรีเมืองเนี่ยละครับ 12:45 น. สักการะพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ หรือท้าวคำผง 12:55 น. สักการะศาลหลักเมืองอุบลราชธานี หลังจากวันแรกมาถึงตอนกลางคืนเขาปิดซะแล้ว 13:00 น. เดินเข้าไปชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี เพื่อหาความรู้ซะหน่อย อยู่ติดกับศาลหลักเมืองเลยครับ เมื่อก่อนเป็นศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีนั่นเองครับ เสียค่าเข้าชมคนละ 20 บาท ไม่สามารถถ่ายรูปได้นะครับ 13:30 น. ข้ามชมความงามของวัดศรีอุบลรัตนาราม สักการะพระแก้วบุษราคัม 14:00 น. หลังจากหลงทางเสียนานก็มาถึงวัดทุ่งศรีเมืองจนได้ครับ ได้ชมความงามของหอไตรกลางน้ำแล้ว 15:30 น. มาถึงวัดแจ้งแล้วครับ จะได้ชมสิมวัดแจ้งแล้วครับ 15:45 น. ถึงวัดมหาวนารามแล้วครับผม 16:30 น. อำลาวัดมหาวนารามหลังจากร่วมสวดมนต์กับชาวอุบลราชธานีครับ 17:00 น. เดินถ่ายรูปหอนาฬิกาวงเวียนในอุบลราชธานี 17:15 น. เดินไปถ่ายรูปโรงแรมที่ราชภัฎอุบลราชธานี 17:35 น. นั่งพักทานไอศครีมที่ร้าน nana ข้างเมเจอร์รอพี่ทรงมารับ และก็นั่งเขียนโปสการ์ดหาเพื่อนๆ 18:40 น. พี่ทรงมารับที่ร้านเพื่อเดินทางไปทานอาหารเย็น 18:50 น. ทานอาหารเย็นที่ร้านอินโดจีน 19:40 น. มาแวะร้านระหว่าง ( ) ทางเพื่อซื้อของที่ระลึก 20:30 น. ออกจากนครชัยแอร์มุ่งหน้ากลับกรุงเทพ นอนไม่ค่อยหลับเพราะคนข้างๆนอนกรนอ่ะแถวเป็นผู้หญิงอีกต่างหาก จะขยับตัวก็ลำบากอีก แย่จริงๆเลยเรา 05:00 น. ถึงรังสิตครับนั่งรถสาย 29 ลงตลาดใหม่เพื่อกลับที่พักเป็นการปิด trip พิชิตโขงเจียมอย่างสุขใจครับ |
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |