*/
<< | มีนาคม 2010 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | |
7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 |
14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 |
28 | 29 | 30 | 31 |
"ผมไม่อยากเป็นวีรบุรุษ และจะไม่ขอยอมตายในชุดนักรบ" น่าจะเป็นประโยคท้ายๆ ของช่วงชีวิตการรับราชการตำรวจของ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา อดีต ผกก. สภ.บันนังสตา ยะลา หรือ ที่มีฉายามากมายที่สังคมขนานนามให้แก่ท่าน เช่น ผกก.กระดูกเหล็ก " จ่าเพียรมือปราบ " และแม้แต่ล่าสุดได้เป็น วีรบุรุษบันนังสตา .... ผู้เขียนเคยใช้ช่วงหนึ่งของชีวิตใน อ.บันนังสตา มานานร่วม 15 ปี หากไม่เขียนถึง อ.บันนังสตา และจ่าเพียรเลย ก็คงเหมือนว่าไม่เคยเหยียบย่ำรอยเท้าลงบนใบยางที่ร่วงโรยลงในพื้นดินของสวนยางใน อ.บันนังสตา ... ทำตัวเหมือนคนที่ไม่เคยกินข้าวยำงานบุญกับชาวบันนังสตามาก่อน.... เส้นทางชื่อเสียงของผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที 3 จังหวัดชายแดนใต้ หากนำเรียงตามยุคสมัย ได้ดังนี้ คือ โจรจีนคอมมิวนิสต์ (จคม.) ที่ล่มสลายกลายเป็น ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย จนมาสู่ยุค ขบวนการโจรก่อการร้าย (ขจก.) และทุกวันนี้มาเป็น กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ผู้เขียนนั้นถือได้ว่าได้ใช้ชีวิตราชการในช่วงที่ขบวนการโจรก่อการร้าย (ขจก.) และกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยังคงปฏิบัติการอย่างเข้มข้นในพื้นที่ ส่วนโจรจีนคอมมิวนิสต์ (จคม.) ในปัจจุบันได้กลายเป็นคนไทยอย่างแนบแน่นไปเสียแล้ว อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา หากพิจารณาดูโดยสภาพภูมิประเทศและวิถีชีวิตชาวบ้านในพื้นที่แล้วก็ดูเหมือนไม่แตกต่างจากอำเภออื่นๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ใดๆ เลย คือ ประชากรมากกว่าร้อยละ 80 เป็นชาวไทยนับถือศาสนาอิสลาม ประกอบอาชีพเกษตรกรทำไร่(สวนยางพารา) อัตราการอ่านออกเขียนได้(ภาษาไทย)อาจจะต่ำที่สุดในประเทศ แต่การศึกษาด้านศาสนาสูง ชายชาวมุสลิมที่นี่จึงมีความเคร่งครัดในวิถีชีวิตแบบมุสลิมอย่างแข็งแกร่ง สังคมมุสลิมจึงถือปฏิบัติตามแนวทางที่ท่านนะบีมูฮัมหมัด(ซ.ล.)เคยทำเป็นแบบอย่างมา ส่วนผู้หญิงที่มีสามีแล้วก็จะอยู่แต่ในบ้าน ไม่ยอมออกมาพบคนแปลกหน้าเลย หากสามีของเธอไม่อนุญาตเสียก่อน.....? แต่ อ.บันนังสตาก็มีชาวไทยพุทธอาศัยอยู่บ้างประปราย มีไม่ถึงร้อยละ 20 โดยมีอุปนิสัยรักพวกพ้องเดียวกัน มีวัดเพียงไม่กี่แห่งทั่วทั้งอำเภอ การมีกิจกรรมทางศาสนาจึงเป็นที่พบปะพูดคุยสนทนาธรรมของชาวไทยพุทธได้อย่างน่าชื่นใจ พระสงฆ์ที่นี่จึงเป็นที่เคารพของชาวไทยพุทธ ... ชาวบันนังสตาเข้าใจในความแตกต่างตรงจุดนี้ดี ที่ผ่านๆ มาเรื่องความแตกต่างทางศาสนาไม่เคยมีรอยบาดหมางระหว่างกันแต่อย่างใด อยู่ด้วยกันได้ สนทนากันได้ ทำมาหากินร่วมกันได้ ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันเป็นปกติ ..... หากกล่าวถึงอดีตย้อนไปสักเกือบ 50 ปี เมื่อครั้งเกิดเหตุวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช จนมีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ทำให้ฝ่ายราชการต้องอพยพประชาชนจำนวนหนึ่งมาตั้งรกราก ณ พื้นที่จัดสรรที่อยู่ติดกับเทือกเขาสันกาลาคีรี จนได้ตั้งชื่อหมู่บ้านเป็นชื่อที่บอกถึงที่มาของเชื้อสายเครือญาติ เช่น หมู่บ้าน ขวัญนคร รวมทั้งหมู่บ้านที่ตั้งชื่อเป็นแบบไทยๆ ก็ล้วนแต่เป็นชาวบ้านต่างถิ่นที่โยกย้ายกันมาทำมาหากินในเขตพื้นที่ อ.บันนังสตา นอกจากนี้ในอดีตย้อนหลังกลับไปมากกว่านั้น ชาว อ.บันนังสตาส่วนหนึ่งที่นับถือศาสนาพุทธก็เป็นผู้ที่ได้รับเชิญจากทางการไทยให้เข้าไปตั้งรกรากและพัฒนา เพื่อเป็นการเอาชนะปัญหาการแบ่งแยกดินแดนในอดีตกาลและปัญหาคอมมิวนิสต์ นี่คือ สภาพความเป็นมาของความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติและศาสนาของชาวบันนังสตา ถนนหนทางเส้นทางสัญจรหลักของอ.บันนังสตา ที่นักท่องเที่ยวรู้จักดี คือ ถนนยะลา เบตง (หรือถนนสุขยางค์) หมายเลข 410 ที่เคยเกิดเหตุการณ์อยู่บ่อยครั้ง และถนนเชื่อมระหว่างอ.บันนังสตา กับ อ.ยะหา ที่ใช้เป็นเส้นทางลัดไปยัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาได้ นอกจากนั้นก็เป็นเส้นทางสัญจรระหว่างหมู่บ้าน แต่ก็เป็นถนนแบบลาดยางเกือบทั้งหมดแล้ว คำว่า บันนังสตา จึงได้มีการสันนิษฐานว่าผันมาจากคำว่า บือแน หมายถึง หมู่บ้าน สตา หมายถึง การหยุด(พักชั่วคราว)ระหว่างการเดินทางไปยังหัวเมืองทางใต้(อ.เบตง) ก่อนออกไปสู่ประเทศมาเลเซีย ทางด้านรัฐเคดาห์ ไปได้ถึงเกาะปีนัง ซึ่งเป็นระยะทางที่ไม่ไกลนัก โดยเฉพาะเส้นทางเดินของชาวยะลา ปัตตานี นราธิวาส และบันนังสตาก็มีที่มาอันยาวนานรุ่นราวคราเดียวกับหัวเมืองรือเสาะ เมืองรามัน เมืองบาเจาะ ในรูปแบบการปกครองหัวเมืองสมัยรัชกาลที่ 5 (แต่ก็ไม่เก่าเท่าเมืองยะรัง) ด้วยภูมิประเทศของ อ.บันนังสตาเป็นที่ราบบนพื้นที่สูง สลับกับภูเขาหินปูน หินแกรนิต ส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติป่าบาลา-ฮาลา มีการสร้างเขื่อนดักทางน้ำไหล เป็น เขื่อนบางลางของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในอดีต อ.บันนังสตาจึงตั้งอยู่ได้ด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าไม้และแร่ธาตุต่างๆ มากมาย ทำให้ อ.บันนังสตาเป็นเมืองที่คึกคักมากที่สุดในอดีต เพราะการสัมปทานไม้และเหมืองแร่ มีทั้งโรงเลื่อยไม้ เหมืองแร่ดีบุก วุลแฟรม 2-3 แห่ง มีคนงานมากมายและงานให้ทำใน อ.บันนังสตา ชาวบ้านเคยเล่าให้ฟังว่า ที่นี่เศรษฐกิจการค้าขายคึกคักมาก ทั้งรถบรรทุกแร่ รถไม้ซุงวิ่งกันขวักไขว่ ทุกๆ 15 วันจะมีคนงานเหมืองแร่ลงมาซื้อหาสินค้าไปเก็บไว้กินไว้ใช้ เปรียบเสมือนเมืองที่มีการตื่นทอง คำบรรยายสั้นๆ เหล่านี้สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของ อ.บันนังสตาได้เป็นอย่างดี (ปัจจุบันเป็นเหมืองที่ถูกทิ้งร้างเพราะราคาแร่ตกต่ำ และกลายเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษของสารตะกั่วที่ไหลลงสู่แม่น้ำปัตตานี หรือแม้แต่เหมืองหินอ่อนก็ถูกปิดตายเช่นเดียวกัน) แต่ในอดีตอุปสรรคที่พอมีบ้างก็คือ โจรก่อการร้าย ในกลุ่ม PULO และ BRN หรือจะชื่ออะไรก็ตามแต่ ซึ่งผู้รับสัมปทานต่างๆ ต้องมี จ่ายนอกรายการ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่พวกเขาก็เป็นผู้ก่อการร้ายที่มีอุดมการณ์ นั่นคือ รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่พวกเขาก่อการทุกครั้ง ด้วยการทิ้งจดหมายที่มีข้อความและตราประทับไว้ พื้นที่การเคลื่อนไหวจะอยู่ในภูเขาสูงระหว่างรอยต่อของรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย กับเขต อ.บันนังสตา ,ธารโต และเบตง จังหวัดยะลา ส่วนลูกเมียของพวกเขาก็จะอาศัยอยู่ตามหมู่บ้าน เป็นชาวบ้านปกติ ประกอบอาชีพทำสวนยาง เลี้ยงลูกไปตามแต่ยถากรรม นานๆ สามีจึงจะได้กลับบ้านมาหา อ.บันนังสตา มีภูมิประเทศส่วนใหญ่ที่เอื้อต่อการซ่องสุมของผู้ก่อการร้ายมาก แม้แต่หลังโรงพักและที่ว่าการอำเภอ ซึ่งมีแม่น้ำปัตตานีไหลผ่าน ข้ามไปอีกฝั่งก็เป็นหมู่บ้านบาเจาะ พื้นที่ สีแดงจัด (ทางราชการเพิ่งจะมาจัดประเภทพื้นที่สีต่างๆ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบ และพยายามพัฒนาปรับลดพื้นที่สีเข้มข้นลงด้วยวิธีการจิตวิทยามวลชน) เมื่อไม่กี่ปีมานี้ โรงพักก็เพิ่งจะโดนยิงด้วยเครื่องยิงลูกกระสุนข้ามฝั่งแม่น้ำมายังโรงพัก แต่พลาดตกมาโดนบ้านเรือนของชาวบ้าน ในช่วงนั้น จ่าเพียรยังอยู่ในฐานะ ร้อยเวรอยู่ เหตุการณ์ที่สำคัญของ อ.บันนังสตา ในช่วงความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็คือ การบุกเข้าไปทำร้ายหน่วยทหารในเช้ามืดวันเดียวกันกับที่เกิดเหตุการณ์ล้อมยิงที่มัสยิดกรือเซะ ครั้งนั้นมีเยาวชนชาวบันนังสตาเสียชีวิตไปร่วม 10 คน โดยคนร้ายได้บุกเข้าไปจู่โจมตามเวลานัดหมายพร้อมกันหลายๆ จุดใน 3 จังหวัด เจ้าหน้าที่ทหารเล่าว่า ไม่มีเค้าลางว่าจะเกิดเหตุการณ์นั้น เจ้าหน้าที่ในหน่วยเพิ่งลุกจากที่นอนเตรียมตัวล้างหน้าแปรงฟันกัน แล้วก็มีกลุ่มคนร้ายกลุ่มหนึ่งวิ่งพุ่งเข้ามาในฐานของหน่วยด้วยอาวุธปืนและมีดที่อยู่ในมือ มุ่งเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ มีบางคนที่ถูกฟันด้วยมีดได้รับบาดเจ็บ เมื่อเจ้าหน้าที่ตั้งตัวได้ก็คว้าปืน M 16 ยิงสวนออกไป จนผู้ก่อการร้ายเสียชีวิตทั้งหมด (ผู้เขียนได้ร่วมชันสูตรศพด้วยทุกราย) สิ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนตกใจก็คือ เมื่อเหตุการณ์สงบลง ก็พบว่าเยาวชนบางคนนั้นล้วนรู้จักมักคุ้นกับเจ้าหน้าที่ทหารทั้งหมด เพราะเมื่อเย็นวานยังเตะฟุตบอลออกกำลังกายเล่นกับเจ้าหน้าที่อยู่เลย มีเพียงไม่กี่คนที่มาจากพื้นที่อื่น เรื่องนี้ยังความเสียใจมาถึงญาติพีน้องของผู้ตายและเจ้าหน้าที่ทหารเองด้วยที่ต้องลงมือสังหารเพื่อนร่วมสนามฟุตบอลด้วยกันเอง......! ปัญหาสำคัญของการพัฒนา อ.บันนังสตา ในช่วงแรกๆ ระหว่างเหตุการณ์เผาโรงเรียน (ซึ่ง อ.บันนังสตาก็ถูกเผาไปประมาณ 2 โรง) จนก่อนถึงเหตุการณ์ปล้นปืน หรือประมาณ ปี พ.ศ. 2535 - 2547 ก็คือ ปัญหายาเสพติดในหมู่เยาวชน เป็นปัญหาที่ทุกหน่วยงานร่วมกันแก้ไข นัยว่าเฮโรอีนของที่นี่มีความบริสุทธิ์สูงมาก จึงทำให้เยาวชนติดได้ง่ายแม้การเสพเพียงครั้งเดียว การนำเยาวชนไปเข้าค่าย ถอนพิษยาที่นี่ทำได้มีประสิทธิผลเพียง 2% เท่านั้น(หมายถึง เลิกเสพยาได้เพียงแค่ 2คนใน100 คน)....! ทุกวันนี้เยาวชนเหล่านั้นล้วนเติบใหญ่กลายเป็นผู้นำครอบครัว ผู้นำชุมชนกันหมดแล้ว หากไม่ล้มหายตายจากกันไปเสียก่อน ปัญหาสืบเนื่องจากปัญหาแรกก็คือ ปัญหาโรคเอดส์จากการใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกันในหมู่เยาวชนนั่นเอง ซึ่งต่อมาก็นำไปสู่ปัญหาการเป็นโรคเอดส์ในสตรีกลุ่มแม่บ้าน ทุกวันนี้ปัญหานี้บรรเทาเบาบางลงไปพอสมควร จากการเข้มงวดของเจ้าหน้าที่และปฏิบัติการ จิตวิทยามวลชนของฝ่ายรัฐ ทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ และส่วนราชการต่างๆ และก็เพราะว่า ฝ่ายราชการเราสามารถดึงเอาคนในหมู่บ้านมาเป็นแนวร่วมการพัฒนาได้ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ถือว่าเป็นความสำเร็จของภาครัฐ ซึ่งเป็นการทำงานที่บรรลุตามพระราชดำรัสของในหลวง เรื่อง เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา นั่นเอง นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนเป็นต้นมา อ.บันนังสตา ยังเป็นหนึ่งในอำเภอที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงเรื่อยมาแทบไม่เว้นในแต่ละวัน ทั้งที่ออกข่าวและไม่ออกเป็นข่าว แต่สภาพจิตใจชาวบ้านในวันนี้สามารถรับมือกับเรื่องราวร้ายๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ เพราะจะรอแต่เพียงให้ทางราชการมาแก้ไขให้เพียงอย่างเดียวก็คงไม่เกิดผล เนื่องจากชาวบ้านยังต้องประกอบสัมมาอาชีพอยู่ทุกวัน ในคราวที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบแรกๆ ชาวบ้านต่างก็หวาดระแวง วุ่นวายสับสนไม่รู้ใครเป็นใคร ความหวาดระแวงระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ ความบาดหมางกันระหว่างต่างศาสนิกกัน ล้วนถูกใส่เป็นข้อมูลเข้าไปในความทรงจำโดยไม่รู้ตัว กล่าวสำหรับเรื่องราว จ่าเพียร ท่านก็เป็นตำรวจเฉกเช่นเดียวกับนักเรียนพลตำรวจทั่วๆ ไป ที่เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนตำรวจภูธรแล้วก็ได้รับคำสั่งบรรจุเข้าทำงานในโรงพักภูธรอำเภอต่างๆ ทั่วประเทศ โรงพักบันนังสตาก็เช่นเดียวกัน เคยเห็นน้องๆ ตำรวจรุ่นใหม่ๆ มาบรรจุลงทำงานปีแล้วปีเล่า เก่าไปใหม่มา แต่ก็ไม่มีใครมีชีวิตราชการตำรวจรุ่งเรืองเท่ากับ จ่าเพียร ลูกน้องของท่านมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังว่าท่านมาจากตำรวจชั้นประทวน จนได้เลื่อนยศขึ้นเป็นชั้นสัญญาบัตร เพราะการปะทะกับผู้ร้าย(เคยเปิดแผลตามร่างกายให้ดู) จนมาได้ติดยศ พ.ต.อ. ในปี 2550 และได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งให้ย้อนกลับมาดำรงตำแหน่งเป็น ผู้กำกับการตำรวจภูธร สภ.บันนังสตา แห่งเดียวกันกับที่เริ่มรับราชการครั้งแรก เมื่อยังเป็นตำรวจชั้นประทวน พลตำรวจหน้าใหม่จาก อ.กันตัง จ.ตรัง เป็นใครก็ย่อมภาคภูมิใจที่เส้นทางชีวิตข้าราชการจะได้ไต่ถึงขั้นชั้นดาว จนเป็นนายร้อย-นายพัน..! และได้ย้อนกลับมาที่เดิมด้วยความสำเร็จอย่างสูงสุด แต่มาในตอนหลังๆ โรงพักบันนังสตาไม่ได้อยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ เพราะไม่ได้เป็น โรงพักเกรด เอ แบบอำเภอใหญ่ๆ อีกแล้ว ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้ประกอบการ นอกจากนี้รังแต่ที่นี่จะมีแต่ปัญหาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากเหตการณ์ความไม่สงบฯ ที่น่าสรรเสริญสำหรับ จ่าเพียร ก็คือ ท่านอยู่ได้ เข้ากับชาวบ้านได้ ปัญหาใน อ.บันนังสตาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรท่านก็ จัดการ-รับมือกับมันได้ เป็นพรสวรรค์ของคนที่ก้าวขึ้นจากข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อย จนได้เป็นผู้ปกครองดูแลทุกข์สุข ประชาชน อาจจะต่างไปจากนายร้อยตำรวจคนอื่นๆ ที่ก้าวพรวดๆ ขึ้นติดยศจากนายร้อยเป็นนายพันอย่างรวดเร็ว โดยไม่ได้รับรู้สภาพปัญหาและเข้าไปพัฒนาแก้ไขมันอย่าง จ่าเพียร เช้า-เที่ยง-เย็น หากไม่เห็น จ่าเพียรอยู่กับชาวบ้านตามร้านน้ำชาก็แสดงว่า ท่านติดราชการบนโรงพัก การสนทนาภาษาชาวบ้านตามร้านน้ำชาของบรรดาตำรวจ-ทหาร-ข้าราชการที่นี่ยังได้ประโยชน์อย่างหนึ่งนั่นคือ งานจิตวิทยามวลชนแบบนอกตำรา ซึ่งเป็นแผนพิชิตศัตรูมานักต่อนัก บางทีก็นั่งดูนกกับชาวบ้าน เสียง นกรู้ก็กระซิบบอกถึงข่าวร้ายได้ก็มีอยู่บ่อยครั้ง นี่เป็นสภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ของที่นี่ แต่การลงทำงานอย่างจริงจัง ความเข้มงวดกับปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ย่อมสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ที่ประกอบอาชีพไม่สุจริตได้ หรือวิธีการของท่านอาจไปขวางทางใครเขาเข้า อันนี้ถือเป็นเรื่องปกติของการปฏิบัติงานจิตวิทยามวลชน ผลจากการเอาจริงเอาจังกับงาน จึงอาจจะเป็นที่มาของการมี ค่าหัวสำหรับผลงานเด็ดหัวข้าราชการอย่างที่เป็นข่าว ก็เป็นได้..? การลอบดักหมายสังหารจ่าเพียรครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วัน จ่าเพียรก็เพิ่งโดนกดระเบิดหมายจะสังหารมาแล้ว แต่พลาดไปโดนแค่กระจกรถคนเดียวกันนี้แตกไปนิดหน่อย เรื่องการที่ตนเองได้ตกเป็นเป้าสังหารของ คนที่อยู่ในมุมมืดนั้น จ่าเพียรรู้ตัวเองดี เพราะระดับ ผกก.ต้องมีค่าหัวแพงกว่าคนสามัญชนทั่วไป แต่ค่าปลิดหัว ผกก.บันนังสตา ก็คงแพงน้อยกว่าค่าซื้อขายตำแหน่งตำรวจในหลายๆ แห่ง..... ในช่วงแรกๆ ของการประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการในการออกพื้นที่ก็อาจมีปัญหากันบ้าง แต่เมื่อประสานงานกันบ่อยๆ ครั้ง ด้วยความคุ้นชินระหว่างกันจากความยากลำบากก็กลายเป็นความง่ายในบัดดล ยิ่งหากได้ข้าราชการที่ชำนาญพื้นที่และชำนาญมวลชนมานานอย่าง จ่าเพียร ทุกอย่างก็ราบรื่น หน้าที่สำคัญของการเป็นผู้บังคับบัญชา คือ การฝึกฝนลูกน้องให้ได้เข้าใจ ทำงานเป็น กวดขันไม่ให้ย่อหย่อนต่อหน้าที่ ให้รับรู้ทั้งสภาพปัญหาความไม่สงบ ปัญหาการประกอบอาชีพ ปัญหาปากท้องประชาชน ปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหน้าที่ราชการหรือจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ฯลฯ เพราะว่าสภาพปัญหาของที่นี่แตกต่างจากที่อื่นๆ โดยเฉพาะความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ และพี่น้องชาวไทยพุทธที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่จัดสรรบนพื้นที่ที่ราชการจัดสรรให้ ซึ่งอยู่ในป่าและบนภูเขาสูง ปัญหาที่สำคัญคือ การแตกแยกกันทางความคิด ดังนั้น การแย่งชิงมวลชนระหว่างฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้ก่อการร้าย จึงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง จ่าพียรก็เช่นเดียวกัน ทั้งการปกครองลูกน้องและดูแลทุกข์สุขของราษฎรในพื้นที่ การกรำศึกในพื้นที่ อ.บันนังสตาจึงแตกต่างจากการกรำศึกในเมืองใหญ่อย่างสิ้นเชิง ! และการปะทะกันกับผู้ก่อการร้ายจึงเกิดขึ้นเป็นนิจ แทบทุกครั้งจะต้องมีชื่อของ จ่าเพียรเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะท่านต้องนำชุดเจ้าหน้าที่เข้าปราบปรามผู้ก่อการร้ายร่วมกับลูกขุนศึกคู่ใจ รายละเอียดชีวิตการต่อสู้ของ จ่าเพียร ในแวดวงข้าราชการตำรวจนั้น ท่านผู้อ่านสามารถติดตามอ่านได้ใน เรื่อง บทเรียนจาก พ.ต.อ.สมเพียร...แม้แต่ตำรวจยังไม่ได้รับความเป็นธรรม แล้วประชาชนจะพึ่งใคร? ( http://www.isranews.org/isranews/index.php?option=com_content&view=article&id=221:2010-03-06-19-45-52&catid=19:2009-11-19-15-14-31&Itemid=5 ) ซึ่งเขียนโดย ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย เพราะมีเบื้องหลังเบื้องลึกที่น่าสนใจดีทีเดียว แต่ที่ผู้เขียนอยากจะฝากไว้ก็คือ การทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่ามกลางปัญหาต่างๆ มากมาย ปัญหาหนึ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลยก็คือ การได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรมแก่ข้าราชการทุกหมู่เหล่า ไม่เฉพาะแต่เพียงข้าราชการตำรวจ ทหาร แต่ยังมีข้าราชการส่วนอื่นๆ อีกมากมายที่เป็น แนวร่วมของการพัฒนาชาติไทยด้วยกัน หากราชการส่วนกลางเข้าใจและให้การดูแลอย่างเหมาะสม เชื่อแน่ว่าปัญหาเรื่องขวัญกำลังใจของข้าราชการก็คงไม่ลดต่ำลงดังเช่นทุกวันนี้ ซึ่งจะสะท้อนไปถึงผลของความสงบสุขในพื้นที่อีกด้วย ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่า ถ้าหากข้าราชการทุกคนเขาสามารถเลือกได้ พวกเขาก็คงไม่อยากใช้ชีวิตอยู่และปฏิบัติราชการในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยปัญหาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการดักซุ่มโจมตีและฆ่าเจ้าหน้าที่ราชการ ที่ถูกปลิดชีพจนนับเป็นศพแทบไม่ถ้วนตลอดระยะเวลาของการเกิดปัญหาที่ผ่านมา จ่าเพียร เป็นตัวอย่างที่สำคัญตัวอย่างหนึ่งของการถูกละเลยหรือเลือกปฏิบัติในการดูแลเรื่องขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ราชการในพื้นที่ ดังนั้น การจบฉากชีวิตของ จ่าเพียรต่อการเรียกร้องความเป็นธรรมในการตอบแทนคุณความดีของข้าราชการที่เสียสละ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใดต่อวิธีการปฏิบัติของระบบราชการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องที่ข้าราชการทุกคนต่างเฝ้าจับตามองว่าระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลจะกระเตื้องขึ้นได้มากน้อยเพียงใดจากนี้ไป....... หาก...ป่าดงขาแข้ง มี สืบ นาคะเสถียร .. บันนังสตา ก็มี จ่าเพียรคนเก่ง อนุสาวรีย์ของเสียงเรียกร้องแห่ง ความเป็นมนุษย์ ................................................................................. ขอบคุณแหล่งภาพจากข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต |
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |