*/
<< | กุมภาพันธ์ 2011 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | ||
6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 |
13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 |
20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 |
27 | 28 |
ลีโอ ตอลสตอย เป็นนักเขียนชาวรัสเซียที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดอีกคนหนึ่งในอีกหลายคน เขาได้รับการยอมรับนับถือมากที่สุดในงานเขียนวรรณกรรมประเภทนวนิยาย 2 เรื่องที่เป็นอมตะและอลังการ คือเรื่อง War and Peace (สงครามและสันติภาพ) และ Anna Karenina (แอนนา คาเรนินา) วรรณกรรมของตอลสตอยนอกจากจะได้สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมรัสเซีย วิธีคิดของตอลสตอยแล้วยังได้ทำให้ผู้ที่ศึกษาผลงานของเขาได้ค้นพบความเป็นอัจฉริยภาพของตอลสตอยจากลักษณะการทำงานของเขาอีกด้วย ดังที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนต่างๆ ของเขา
ประกอบกับตอลสตอยเป็นนักเขียนที่มักเขียนเรื่องราวขึ้นมาจาก “เค้าโครงเรื่องในชีวิตจริง” โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกิดขึ้นใกล้ๆ ตัวเป็นเสียส่วนใหญ่ ตัวอย่างเช่น เรื่อง แอนนา คาเรนินา ก็เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจที่เขาพบเห็นชีวิตหญิงสาวคนหนึ่งที่กระโดดเข้าไปในรางรถไฟเพื่อฆ่าตัวตาย ส่วนเนื้อหาก็เกิดจากการผูกเรื่องจากประสบการณ์และแรงปรารถนาในชีวิตของตอลสตอยเสียเอง
การศึกษานี้เพื่อค้นหากระบวนการคิด วิธีการทำงานผ่านงานเขียนต่างๆ ของลีโอ ตอลสตอย ซึ่งอาจจะเผยให้เห็นถึงเคล็ดลับของความสำเร็จในการเป็น“นักเขียนนวนิยายที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล” (Leo Tolstoy was one of the greatest novelists of all time)
ผู้เขียนได้เลือกเรื่องสั้น ชื่อ“ความทรงจำของคนบ้า” ของตอลสตอย เป็นเรื่องมีความโดดเด่นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเผยให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนของความคิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่ตลอสตอยได้เขียนนวนิยายเรื่องี่ยิ่งใหญ่และเป็นอมตะนั้นจบลงไปแล้ว
ความเป็นมาของเรื่องสั้น “ความทรงจำของคนบ้า”
เรารู้จักลีโอ ตอลสตอยกันดีผ่านผลงานนวนิยายขนาดยาวเรื่อง “สงครามและสันติภาพ”(1863 – 1869) เขาเขียนเมื่ออายุประมาณ 35 ปี หลังการแต่งงาน 3 ปี เขากับโซเฟียได้ออกไปใช้ชีวิตที่คฤหาสน์ยาสนายาโปลียานา ซึ่งเป็นสถานที่ที่เงียบสงบเพราะห่างไกลจากผู้คน ทำให้ตอลสตอยมีสมาธิและพลังคิดอย่างล้นเหลือในการสร้างสรรค์ผลงานของเขา บทประพันธ์ที่หลังจากผ่านการขัดเกลามาแล้วหลายครั้ง โซเฟียจะเป็นผู้คัดลอกลายมือของเขาอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้ให้ความคิดเห็นติชมด้วย นวนิยายเรื่องนี้มีความยิ่งใหญ่ก้เพราะมีความยาวประมาณ 7 แสนคำ มีตัวละครมากถึง 539 ตัว ผูกปมเรื่องจากคนใน 5 ตระกูลชนชั้นสูงของรัสเซีย แต่ทันทีที่การเขียนนวนิยายเรื่องยิ่งใหญ่เรื่องดังกล่าวนี้สิ่นสุดลงเขาก็เริ่มรู้สึกเคว้งคว้างขึ้นมาทันที
คืนหนึ่งในเดือนกันยายน 1869 ตอลสตอยเดินทางมาพักแรมที่เมืองอาร์มาซาส ในราวตี 2 ของคืนนั้น เขาประสบกับวิกฤติทางจิตใจครั้งใหญ่ เขารู้สึกหวาดหวั่นและสิ้นหวังอย่างที่สุด ราวกับว่าเขาได้เสียสติและเกิดอาการคลุ้มคลั่งโดยฉับพลัน
คำถามต่างๆ มากมายผุดขึ้นมา เขาเพียรถามตัวเองว่า เขามีชีวิตอยู่ทำไม ทำไมคนเราต้องตาย เขาจะมีความสุขอยู่ได้อย่างไรในเมื่อผู้อื่นยังมีความทุกข์อยู่รอบด้าน คำถามเหล่านี้ได้ประดังเข้ามาจู่โจมจนเขาไม่สามารถตั้งสติได้ เขาได้เขียนเล่าประสบการณ์นี้ไว้ในงานเขียนเรื่องสั้นที่ชื่อว่า "ความทรงจำของคนบ้า"
ตอลสตอยเป็นคนบ้าอย่างนั้นหรือ? เป็นคำถามที่น่าคิดหรือค้นหานัก (โดยเฉพาะตามแนวทางการวิจารณ์วรรณกรรมเชิงจิตวิเคราะห์ Psycho-Analytical Literary Criticism ซึ่งให้พิจารณาถึงแรงกดดันในตัวผู้ประพันธ์ด้วย)
ในเมื่อเขาเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง มีพละกำลังมาก เขาเล่นกีฬา ทั้งว่ายน้ำ ล่าสัตว์ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด รอบรู้ไปทุกด้าน เขาศึกษาผลงานของปรัชญาเมธีของ โชเปน ฮาวเออร์(ชาวเยอรมัน) สนใจบทละครของ เชคสเปียร์ โมลิแอร์ แต่ก็มีจิตใจที่สูงส่ง หานักเขียนคนใดที่มีความพร้อมในพลังทุกๆ ด้านดั่งเช่นตัวเขา
เมื่อใดที่เขาทุ่มเทพลังไปให้กับการเขียนหนังสือ สิ่งเหล่านั้นก็พรั่งพรูเหมือนมีทางออก แต่เมื่อก็ตามที่งานเขียนนั้นจบลง พลังภายในก็เกิดการอัดแน่นอีกครั้ง มันก็วิ่งเข้ามาปะทะและขัดแย้งกันเองในรอบใหม่
เขาได้บอกกับภรรยาต่อไปว่า หลังจากนี้จะเขียนนวนิยายชีวิตที่มีเค้าโครงเรื่องเกี่ยวกับสตรีในสังคมชั้นสูงซึ่งนอกใจสามี หลังจากนั้นเขาก็ใช้เวลาถึง 3 ปีสำหรับการเตรียมข้อมูล แล้วเรื่อง “แอนนา คาเรนินา” ก็ถือกำเนิดขึ้น ในขณะเดียวกันที่ตอลสตอยก็ได้สอดแทรกทั้งเรื่องราวจากชีวิตจริงของหญิงสาวนางหนึ่ง แนวคิด และความคาดหวังของเขาต่อสังคมรัสเซียนั่นเอง
หากมองจากภายนอกของชีวิตตอลสตอย เช่น ชาติกำเนิด พื้นฐานครอบครัว การศึกษา ช่วงชีวิตของความเป็นหนุ่มนักแสวงหา ประสบการณ์ แนวคิด ปรัชญาชีวิต ดูเขาจะเป็นคนที่มีความขัดแย้งในตัวเองอยู่มาก ความขัดแย้งเหล่านี้กลับเป็นพลังอันมีค่ายิ่งต่อการสร้างสรรค์วรรณกรรมของตอลสตอยเสียเอง
ตอลสตอยสืบเชื้อสายจากชนชั้นสูงของรัสเซีย บิดาเป็นท่านเค้านต์ นิโคเล อิลยิค ตอลสตอย มารดาคือ เจ้าหญิงมาเรีย มิโคเลฟนา ตอลสตอยา ทั้งฝ่ายมารดาและบิดาต่างก็เป็นตระกูลที่ได้รับการยกย่องเคารพนับถือที่สุดของรัสเซียตระกูลหนึ่ง ชีวิตของเขาอุดมไปด้วยโภคทรัพย์และบริวาร ซึ่งมีทั้งที่เป็นทาสติดที่ดินและคนรับใช้ แต่แล้วตอลสตอยก็หมายมุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้แก่บริวารเหล่านั้นให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ด้วยการให้การศึกษาและปลดปล่อยจากการเป็นทาสทั้งหมด
ตอลสตอยเกิดในช่วงที่ราชวงศ์โรมานอฟกำลังปกครองรัสเซียแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด คือในช่วงที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 1 - พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 2, 3 และพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 หรือระหว่าง ค.ศ.1825-1910 สังคมรัสเซียในขณะนั้นได้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากระบอบการปกครองมากมายหลายด้านร่วมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ปัญญาชนและชาวรัสเซียได้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากทางยุโรปด้วยแรงขับเคลื่อนของพวกปัญญาชน ในขณะนั้นแม้จะได้มีการเลิกทาสโดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 2 แล้วก็ตาม หากแต่ประชาชนก็ยังต้องทำงานหนักในไร่นาของพวกขุนนาง เพราะทาสติดที่ดินนั้นทั้งยากจนและยังไร้การศึกษา ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของการปฏิรูปประเทศรัสเซียในขณะนั้นเพราะพวกขุนนางชนชั้นสูงกลัวว่าจะสูญเสียสิทธิประโยชน์ที่เคยได้ จึงไม่ยอมให้ความร่วมมือด้วย
จนมีผู้กล่าวว่า ในช่วงหนึ่งของรัสเซีย มีบุคคลเพียง 2 คนเท่านั้นที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อชีวิตของชาวรัสเซีย คือ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และ ลีโอ ตอลสตอย ทำไมจึงกล่าวกันเช่นนั้น..?
แนวคิดของเขาเป็นความหวังของชาวรัสเซีย และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก เช่น มหาตมะ คานธี และ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ก็ยังรับเอาเอาแนวคิดการปลดปล่อยชาวรัสเซียไปใช้ รวมทั้งคานธียังเอารูปแบบการทำไร่ของตอลสตอยไปทดลองทำที่แอฟริกาด้วย ![]()
ตอลสตอยนับถือศาสนาคริสต์ นิกายออร์โธด็อกซ์อย่างเคร่งครัด พื้นฐานทางศาสนานี้ทำให้เขาเป็นคนที่มีอุปนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตน คิดใคร่ครวญจากภายในจิตใจของตนเองเป็นสำคัญ ขณะที่เขาได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากป้าเพราะบิดามารดาเสียชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ มีป้าเป็นผู้อบรมสั่งสอนอย่างเช้มงวด บทประพันธ์ของเขาจึงได้สอดแทรกคำสอนทางศาสนาปรัชาญาการดำเนินชีวิตไว้ค่อนช้างมากมายหลายแห่ง
การพยายามคลี่คลายความขัดแย้งที่กำลังปะทุเดือด ที่เกิดขึ้นภายในตัวเขาเอง กลายเป็นพลังหรือแรงบวกทางความคิดที่เขาปลดปล่อยมันเข้าไปในบทประพันธ์ เรื่องสั้น นวนิยายเรื่องต่างๆ ที่ทำให้เราอาจค้นหาได้จากพลังแฝงที่อยู่ในตัวของนักเขียนที่ชื่อ “ลีโอ ตอลสตอย”
การศึกษาผ่านงานเขียนเรื่องสั้นที่ชื่อเรื่อง “ความทรงจำของคนบ้า” นี้ เป็นการศึกษาแบบภาพตัดขวาง (Cross Section Study)ในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตของตอลสตอย แม้จะมีข้อจำกัดอยู่บ้างในเนื้อหาซึ่งเป็นบทประพันธ์ที่มีความยาวไม่มากนัก อาจไม่ได้สะท้อนความคิดของเขาได้ทั้งหมดก็ตาม แต่เรื่องดังกล่าวนี้ก็สามารถทำให้ผู้อ่านได้มองเห็นความแปลกแยกทางความคิดและพลังในการสร้างสรรค์งานเขียนอันยิ่งใหญ่ของเขา ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวมาข้างต้นนั้นแล้ว ที่สำคัญคือ ได้เห็นถึงจุดเปลี่ยนทางความคิดครั้งใหญ่ของชีวิตนักเขียนนามอุโฆษคนนี้
(Kazan University ในศตวรรษที่ 19)
เรื่องย่อของเรื่องสั้น“ความทรงจำของคนบ้า”
“ความทรงจำของคนบ้า” ใช้กลวิธีการนำเสนอ(Point of View)การเล่าเรื่องไปตามลำดับเหตุการณ์ก่อนและหลังของพัฒนาการทางจิตใจของตอลสตอย โดยมีการเล่าเรื่องย้อนหลังกลับไปสู่วัยเด็กเพียงตอนเดียว เนื้อหาทั้งหมดบรรยายถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงด้านความคิดที่ตอลสตอยเพียงคนเดียว ใช้กลวิธีการเล่าเรื่องด้วยวิธีผู้แต่งเป็นผู้เล่าเอง(Omniscient Point of View)โดยเขาได้สังเกตเห็นว่าตนเองเป็นบุคคลที่มีความคิดที่แปลกแยกในตัวเอง ช่างคิดช่างสงสัยมาตั้งแต่เด็กๆ และเมื่อยิ่งโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยิ่งรู้สึกตัวเองว่ามีความแปลกแยกและขัดแย้งในตัวเองมากขึ้น ทางหนึ่งนั้นคือ เขามีความคิดเฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ปุถุชนทั่วไป เช่นว่า มีความต้องการที่จะสร้างความมั่งคั่ง ร่ำรวยให้แก่ครอบครัวด้วยการอาศัยความได้เปรียบเรื่องทุนทรัพย์ สติปัญญา เพื่อสร้างความมั่งคั่งจากการข่มเหง เอาเปรียบผู้เดือดร้อนยากจน เขาจึงได้ออกเดินทางด้วยรถม้ากับคนใช้เพื่อไปดูคฤหาสน์ที่มีผู้ประกาศขาย
แต่การเดินทางไปครั้งนี้เขากลับต้องเผชิญกับความคิดที่สับสนในตนเองครั้งสำคัญ จนทำให้เขาต้องเดินทางกลับมามือเปล่า จุดเปลี่ยนของเรื่องก็คือ ความคิดที่ขัดแย้งระหว่างการเดินทาง จนเขาไม่แน่ใจว่า นี่คือ “คนบ้า”..ใช่หรือไม่
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้เขายังสามารถเขียนนวนิยายได้อีกมากมายหลายเรื่อง และเรื่องที่เด่นที่สุดคือ แอนนา คาเรนินา ผู้อ่านวรรณกรรมของเขาสามารถตัดสินใจได้เองว่า เขามีความผิดปกติทางจิตหรือไม่ อย่างไร ผู้อ่านอาจตัดสินใจได้จากผลงานจากเรื่อง แอนนา คารเรนินา ซึ่งเป็นนวนิยายอมตะอีกเรื่องที่เกิดขึ้นต่อจากเรื่องสั้นเรื่องนี้ ![]()
บทสรุปที่ได้จากเรื่องสั้น “ความทรงจำของคนบ้า”
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ตอลสตอยเป็นนักเขียนที่มักนำเอาเรื่องราวที่เกิดขึ้นใกล้ๆ ตัวมาเขียนเป็นเรื่องสั้น นวนิยาย เรื่องสั้นก็เช่นเดียวกันเป็นการเขียนเล่าถึงความรู้สึกผิดสังเกตเห็นความแปลกแยกในตัวเอง เขาได้เขียนเรื่องสั้นเรื่องนี้น่าจะเป็นช่วงอายุประมาณ 41 - 44 ปี (ปี 1869 เขียนเรื่อง สงครามและสันติภาพแล้วเสร็จ และเริ่มต้นเขียน แอนนา คาเรนินา ในปี 1875 โดยมีเรื่องสั้นเรื่องนี้คั่นกลางระหว่างนั้น)
เรื่องสั้นนี้เล่าว่า เขาได้ไปตรวจร่างกายที่สถานีอนามัยของรัฐ มีแพทย์หลายคนลงความเห็นแตกต่างกันไป บ้างตั้งข้อสงสัยว่าเขายังปกติดีเช่นเดียวกับคนทั่วๆ ไปหรือไม่ ซึ่งเขาพยายามปฏิเสธอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในตัวของเขานั้น เพื่อที่ว่าเขาจะได้ไม่ถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลโรคจิต แพทย์บางคนก็ลงความเห็นว่า เขายังไม่มีอาการทางจิต เพียงแต่มีอาการตื่นเต้น* แพทย์รับรองว่าเขาจะหายเป็นปกติเพียงแต่ต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์ และเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธในวิธีการรักษานั้นแต่อย่างใด แต่เขาก็ยอมรับว่าเเขาป็น “บ้า” จากคำกล่าวที่ว่า “ทำไมผมจึงกลายเป็นบ้า ทำไมความบ้าของผมจึงถูกเปิดเผยสู่โลกภายนอก”
ตอลสตอยรู้สึกว่า ตัวเองเป็นคนที่แปลกคนมาตั้งแต่เป็นเด็กอายุยังไม่ถึง 10 ขวบ เมื่อพี่เลี้ยงได้อุ้มเขาเข้านอน ทุกคนที่แวดล้อมตัวเขาล้วนมีแต่แสดงความรักต่อกัน ทุกคนในโลกที่แวดล้อมตัวเขาก็ล้วนมีแต่ความสุข ทว่า...ทันใดนั้นเขาต้องตกใจกับเสียงตวาดของแม่บ้าน เขาหวาดกลัวจนต้องหลบอยู่ใต้ผ้าห่ม ทำให้เขาคิดคำนึงถึงภาพของเด็กชายคนหนึ่งที่ถูกเฆี่ยนตีต่อหน้าต่อตาเขา พร้อมๆ กับเสียงกรีดร้องของเด็กชายคนนั้น
ความหวาดกลัวทำให้ตอลสตอยร้องไห้และความสิ้นหวังในวันนั้นเป็นเสมือนร่องรอยของความยุ่งเหยิงเสมือนลีกณะของคนบ้าที่เกิดขึ้นกับเขาในวันนี้ ![]()
ความรู้สึกแปลกๆ ในศรัทธาต่อพระเยซูคริสต์ เขาเกิดความสงสัยใคร่อยากรู้เกี่ยวกับการทรมานพระเยซูบนไม้กางเขน เขาเกิดคำถามว่า ทำไมผู้คนพวกเหล่านั้นจึงได้จับพระเยซูไปทรมานด้วยการตรึงบนไม้กางเขน แต่ไฉนพระเยซูจึงยังมีเมตตาด้วยการสวดวิงวอนให้แก่คนพวกนั้น โดยไม่ถือโทษโกรธเคืองผู้คนเหล่านั้นเลย และผู้ใหญ่(อย่างป้าของตอลสตอย)ก็ให้คำตอบเรื่องนี้แก่เขาไม่ได้
ความขัดแย้งในความคิดระหว่างช่วงชีวิตที่เป็นชายหนุ่ม แม้ว่าเขาเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง สมยูรณ์พร้อมสรรพมีทุกสิ่งทุกอย่างแล้วก็ตาม แต่กลับรู้สึกว่าตัวเองยังเป็นคนที่จิตใจอ่อนแอเหมือนกับเพศหญิง จนเขาต้อง“เสียคน”เพราะความไม่ประสีประสาในตอนวัยรุ่น เขาจึงถูกเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันชักชวนให้เขาได้เรียนรู้ความชั่วทุกอย่าง จนแม้ชีวิตที่ล่วงเลยผ่านไปร่วม 20 ปีก็ไม่ได้สร้างรอยจารึกเป็นความทรงจำที่ดีและพิเศษให้เขาแต่อย่างใด ยิ่งนานวันมากขึ้นๆ ก็ยิ่งรู้สึกว่า มีความคิดที่ขัดแย้งในตัวเองเด่นชัดมากขึ้น
หลังชีวิตการแต่งงานผ่านไป 10 ปีแล้ว เขาก็รู้สึกว่าความบ้านั้นได้หวนกลับมาเล่นงานอีกครั้ง ตอลสตอยนำเอาเงินทองที่สะสมเอาไว้เอามารวมกันกับมรดกทางภรรยา โดยหวังว่าจะนำไปซื้อคฤหาสน์จาก “พวกคนที่ฉลาดน้อยกว่าเขา” ซึ่งจำใจขายมันในราคาที่ถูกๆ เขาจึงได้ออกเดินทางกับคนใช้ไปด้วยรถไฟและต่อด้วยรถม้าเพื่อไปดูคฤหาสน์หลังนั้นก่อนจะตัดสินใจซื้อมันจริงๆ
ระหว่างเดินทางในคืนหนึ่ง เขาต้องตกใจผวาตื่นขึ้นมา แล้วก็เกิดความคิดสับสนงุนงงกับเป้าหมายของชีวิตตนเอง ตอลสตอยตั้งคำถามกับตนเองว่า เขากำลังจะไปไหนกันแน่ ทำไมต้องมากับรถม้าคันนี้ เขาไม่ได้รู้สึกว่าตนเองกำลังเดินทางไปซื้อคฤหาสน์หลังนั้นแต่อย่างใด กลับรู้สึกว่า “กำลังเดินทางไปหาความตายยังที่นั่น”มากกว่า ในห้วงคำนึงนั้นทำให้เขาเกิดความรู้สึกตกใจกลัวอย่างสุดขีด ![]()
“ทำไมฉันจึงได้ท้อแท้อย่างนี้นะ ฉันกำลังกลัวอะไรอยู่นะ” แล้วหูของเขาก็แว่วได้ยินเสียงหนึ่งพูดกับตัวเองว่า “แกกำลังกลัวเรา...เราอยู่ที่นี่” มันเป็นเสียงแห่งความตายนั่นเอง
ระหว่างการเดินทาง เมื่อมาถึงห้องพักของโรงแรมเล็กๆ แห่งหนึ่ง เขาก็ยิ่งต้องตกใจอีกกับความรู้สึกขัดแย้งในตัวเอง เขาคิดใคร่ครวญทบทวนกับสิ่งที่เขากำลังกระทำอยู่ เขากำลังสับสนอย่างหนักระหว่างความอยากได้ใคร่รวย ความมั่งคั่ง การอยู่เหนือกว่าคนอื่น(แบบชนชั้นสูงในสังคมรัสเซีย) แต่ใจหนึ่งเขาก็ตระหนักคิดว่า คฤหาสน์หลังไหนๆ ก็ไม่อาจให้ความสุขเพิ่มขึ้นแก่ตัวเขา
จากจุดนี้เอง อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการพลิกกลับความคิดของตอลสตอยเพื่อแบ่งปันเงินทอง ความร่ำรวยไปสู่คนยากคนจน และคืนเสรีภาพจากการตกเป็นทาสที่ดิน ก็เป็นได้...?
ตอลสตอยคิดคำนึงถึงการเอารัดเอาเปรียบคนที่ลำบากยากจน และการลงทุนเพื่อสร้างฐานะความมั่งคั่งของตนเอง เขาตกใจกลัวกับภาพหลอนในจินตนาการของตอลสตอย และการคิดทบทวนอย่างถ่องแท้เช่นนั้น ได้ทำให้เขาไม่แน่ใจว่า ชีวิตเขาเองกำลังเผชิญกับอะไร หรือต้องกลัวอะไรกันแน่
ยิ่งเมื่อเขาได้ยินเสียงจาก“ความตาย”บอกแก่เขาว่า “เราอยู่ที่นี่” อาจทำให้เขาคิดได้ว่า คนเราย่อมหนีความตายไปไม่พ้น เขารู้สึกสับสนและกำลังหลงทาง ไม่เฉพาะแต่เพียงการหลงทางในการแสวงหาเป้าหมายของชีวิต ความมั่งคั่งร่ำรวยก็ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องเอามายึดเป็นสาระอะไรแก่ชีวิตต่อไปอีกแล้ว คำสอนทางศาสนาก็ไม่อาจเป็นที่พึ่งแก่ตัวเขาได้เมื่อเขาเดินทางเข้าใกล้ความตายเข้าไปทุกๆ ที จนแม้ก็ไม่มีแม้ใครช่วยเขาได้ในเวลานี้ แม้แต่พระเจ้าก็ตาม....!
บทสรุปของความคิดที่สับสนทั้งหมดก็คือ ในระหว่างการเดินทางกลับสู่คฤหาสน์ที่เมืองยาสนายาโปลียานา เขาได้พบกับหญิงแก่คนหนึ่งซึ่งเข้ามาถามทางแล้วเธอก็เล่าถึงความยากจนให้ตอลสตอยฟัง และเมื่อเขากลับถึงบ้าน เขาเตรียมจะเล่าเรื่องการซื้อคฤหาสน์หลังใหม่ให้ภรรยาฟัง แต่เขาก็รู้สึกละอายต่อบาป ขยะแขยงตัวเองขึ้นมาทันที เขานึกขึ้นมาได้ว่า แม้จะเขาได้กำไรจากการซื้อคฤหาสน์หลังนี้ แต่มันก็เป็นความสุขบนความทุกข์ยากของชาวนาที่ยากคนจน แล้วคนเหล่านี้พวกเขาก็ต้องการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย เท่าเทียม เป็นใหญ่เป็นโตเมีหน้านมีตาช่นเดียวกันกับเขา และ ก็เพราะว่า ทุกคนเกิดมาต่างก็ล้วนอยากเป็น “ลูกพระลูกเจ้า”เช่นเดียวกัน ![]()
เขารู้ว่า การกระทำเช่นนี้ย่อมไม่เป็นที่พอใจกับภรรยายิ่งนัก เธอคงรู้สึกรำคาญสามีและอาจมีปากเสียงกัน เพราะว่าโซเฟียก็เปรียบได้กับมนุษย์ปุถุชนทั่วไปที่ยังมีความทัเยอทะยาน อยากได้ในลาภยศ ทรัพย์สิน คำสรรเสริญ ซึ่งผิดกับตัวเขาที่กลับรู้สึกพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่
ตอลสตอยเชื่อว่า นั่นคือสัญญาณแรกแห่งความบ้ามาเยือนตัวเขาแล้ว และในอีก 1 เดือนต่อมา เขาก็คิดว่า ความบ้าคงได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบแน่แล้ว เมื่อเขาไปโบสถ์ ฟังสวดมิซซาเสร็จแล้ว เขาก็เดินกลับบ้าน เขาได้เริ่มแจกจ่ายเงินของเขาทั้งหมดให้แก่ผู้คนที่ผ่านทาง แล้วก็เดินเท้ากลับบ้าน แทนที่จะนั่งรถม้ากลับบ้านเช่นเคยทำ เขาเดินคุยกับชาวนาตลอดทางเดินกลับบ้านนั้น
ประโยชน์ที่ได้รับ นอกจากความบันเทิงจากการอ่านแล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่
1. ได้เห็นความแตกต่างระหว่างอัจฉริยภาพและความคิดที่ขัดแย้งในตัวผู้ประพันธ์
2. เห็นถึงความคิดที่ละเอียดอ่อน การเฝ้าสังเกตสิ่งที่มากระทบจิตใจของผู้ประพันธ์ การเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ก่อนที่จะเป็นความคิดเชิงระบบที่จะนำไปสร้างเป็นเรื่องราวในการเขียนเป็นนวนิยาย
3. การเขียนบันทึกต่างๆ รวมทั้งการสร้างสรรค์เป็นเรื่องราวต่างๆ เป็นเรื่องสั้น นวนิยายหรือบทความใดๆ ก็ตาม เป็นการปลดปล่อยความคิดหรือพลังที่อัดแน่นอยู่ในใจนั้นออกมา โดยไม่เก็บงำเอาไว้แต่เพียงลำพังนั้น จะไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพจิตแก่ตนเอง
4. ส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญญา เป็นความรู้เชิงพุทธิปัญญาที่ตอลสตอยได้นำมาจากชีวิตที่เขาประสบจากชีวิตในยุคสมัยนั้น เข้าใจได้ตามหลักพุทธศาสนาว่า “ตถตา”ทุกอย่างก็เป็นเช่นนั้นเอง แล้วชีวิตก็ควรคืนสู่สามัญด้วยการเจริญปัญญา พัฒนาขัดเกลาจิตใจตนเองและสร้างประโยชน์สุขที่แท้จริงให้แก่สังคม มากกว่าการตักตวงเอาผลประโยชน์ด้วยความเห็นแก่ตัวและอาศัยความได้เปรียบกว่าคนด้อยโอกาสในสังคมตักตวงเอาสิ่งเหล่านั้นมาครอบครอง สุดท้ายของเป้าหมายชีวิตของทุกคนล้วนคือการตาย ไม่มีใครสามารถเอาทรัพย์สินเงินทองที่สั่งสมนั้นไปได้แม้สักราย การเผชิญหน้ากับความรู้สึกเข้าถึงความตายได้ทำให้คนเห็นถึงสัจธรรม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของพุทธศาสนา
5. ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ได้แก่ ความประทับใจในการเล่าเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งทางความคิด การแสวงหาทางออก การถูกทดสอบสภาพจิตใจเพื่อแสวงทางเลือกที่เหมาะสมกับอุดมการณ์ ความคิด โดยเฉพาะชีวิตและงานของตอลสตอย หากผู้อ่านไม่ทราบพื้นหลังชีวิตและการทำงานของตอลสตอยมาก่อนแล้ว การอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้จะไม่เกิดอรรถรสแต่อย่างใด
กล่าวโดยสรุป หากมองภาพกว้างๆ สำหรับงานเขียนของตอลสตอยถือว่า เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพราะวรรณกรรมไม่เพียงเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมเท่านั้น แต่ในสังคมที่ให้ความสำคัญของวรรณกรรม หรือการอ่าน วรรณกรรมจึงเป็นได้ทั้งกระจกสะท้อนส่องให้เห็นสภาพสังคมที่เป็นอยู่กันในขณะนั้นและวรรณกรรมยังเปรีบได้เป็น “แสงสว่าง” หรือความคาดหวังให้แก่สังคมได้เห็นถึงทางสว่างให้แก่สังคมที่มืดตัน ทำให้ประเทศรัสเซียในเวลาต่อๆ มายังได้มีนักเขียนหลายคนมารับช่วงต่อจากเขา เพื่อสานต่อจนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมใหญ่
การเขียนเรื่องราวที่ใกล้เคียงกับความจริง เป็นขนบทางวรรณกรรมสำคัญอีกรูปแบบหนึ่ง งานเขียนของตอสตอยเป็นอีกจุดเริ่มต้นหนึ่งการชักนำเข้าสู่การเป็นวรรณกรรมแนวสัจจนิยม (Realistic Literary) ถึงแม้ชีวิตของตอสตอยได้ถือกำเนิดในสังคมชนชั้นสูง แต่เขาก็กล้าที่จะเขียนเรื่องราวชีวิตต่งๆ ที่เขาประสบพบเห็นออกมาตีแผ่ให้สังคมใหญ่ได้รับรู้ ทั้งฉาก ชีวิตของตัวละคร ในลักษณะสมจริง ![]() ความเป็นอัจฉริยะกับความมัดแย้งหรือที่เรียกว่าอาการคล้าย"คนบ้า”นั้น เป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันอย่างชัดเจน แต่เพราะว่าตอลสตอยเป็นคนที่มีความคิดเป็นตัวของตัวเองและมั่นคงในจุดยืนของอุดมการณ์นั้น แต่แล้วอุดมการณ์ในใจตัวเขาเองกับโลกความเป็นจริง ที่มีผู้กล่าวว่า“อัจฉริยะกับคำว่า“บ้า”บางทีมันก็อยู่ใกล้กันอย่างเฉียดฉิว” มันมีเส้นแบ่งอยู่อย่างบางเฉียบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่วิธีการของคนมอง ขึ้นอยู่กับว่าจะมองโดยอคติหรือฉันทาคติ ซึ่งเป็นมูลเหตุที่จะช่วยพิจารณาหรือตัดสินว่าคนๆ นั้นเป็น “คนอัจฉริยะ หรือคนบ้า”....?
แต่ทว่า...ตอลสตอยไม่ได้ถูกชาวโลกมองว่าเขาเป็นคนบ้า เนื่องจากเขายังสามารถผลิตผลงานที่เป็นมรดกทางวรรณกรรมให้แก่ชาวโลกอย่างมากมายหลายเรื่อง
แต่ถ้าหากตอลสตอยเป็นคนที่ไร้ค่า ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไร เขาก็อาจถูกเพื่อนร่วมกันโลกตัดสินว่า เขาเป็น “คนบ้า”อย่างแน่นอน
ในโลกนี้ยังมีศิลปินอีกมากมายที่ทำงานด้วยการเปลี่ยนความขัดแย้งในตัวเองให้เป็นพลังขับ ในการสร้างผลงานนั้นออกมา
…………………………………………………………………
หมายเหตุ * อาการ Anxiety ซึ่งเป็นอาการที่อยู่ในกลุ่มของโรคประสาท
เรื่องแนะนำให้อ่าน
เอนทรี่ลืมเขียนแห่งปี 2553..“ศตวรรษการจากไปของลีโอ ตอลสตอย” (Tolstoys Centennial Festival,1910-2010) ลีโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy) และวรรณกรรมอมตะของโลก “แอนนา คาเรนิน่า” (Anna Karenina) แอนนา คาเรนิน่า(Anna Karenina) วรรณกรรมอมตะของโลก และของ ลีโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy)
อ้างอิง สุชาติ สวัสดิศรี(แปล), รวมเรื่องสั้นรัสเซียก่อนการปฏิวัติถึงรัฐสังคมนิยมล่มสลาย “ความรื่นรมย์ครั้งสุดท้าย”, สำนักพิมพ์สามัญชน, 2532 พัฒจิรา จันทร์ดำ, การอ่านและวิจารณ์เรื่องสั้น, สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊ค, 2547 โคทม อารียา(บทนำ),แอนนา คาเรนินา, สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2544 ปรีชา ศรีวาลัย, ประวัติศาสตร์สากล, โอ เอส พริ้นติ้งเฮ้าส์, 2536
.........................................................
|
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |