วันอังคาร ที่ 11 สิงหาคม 2558
Posted by
nonglucky
,
ผู้อ่าน : 637
, 12:34:32 น.
หมวด : วรรณกรรม/กาพย์กลอน
พิมพ์หน้านี้
โหวต
1 คน
แม่หมี
โหวตเรื่องนี้

คู่เพื่อนแท้ Darius&Twig By Walter Dean Myers นงค์ลักษณ์ เหล่าวอ / อ่านมาเล่า
แรงผลักดันให้หยิบหนังสือวรรณกรรมเยาวชนภาษาอังกฤษมาอ่าน เกิดขึ้นเต็มพิกัด สูบฉีดแรง หลังจากมีประสบการณ์ร่วมงานเทศกาลหนังสือเด็กเอเชีย 2015 ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ได้มีส่วนร่วมในการเข้าฟังบรรยาย สัมผัสบรรยากาศการแนะนำหนังสือ การทำเวิร์คชอปการเขียน การแต่งเรื่องหลากหลายรูปแบบ การได้เห็นความกระหายและตั้งใจมาร่วมงานของเด็กรุ่นใหม่จากสิงคโปร์และหลายคนจากประเทศในกลุ่มอาเซียน (ไม่มีเด็กไทย) ที่สนใจเขียนวรรณกรรมเยาวชนในรูปแบบแต่งเรื่อง หนังสือภาพ ภาพประกอบเรื่อง เรื่องประกอบภาพ ทุกคนต่างต้องจ่ายค่าบัตรร่วมงานราคาขึ้นอยู่กับแพคเกจว่าสนใจจะร่วมในกิจกรรมใดบ้าง ที่มีให้เลือกนับร้อยๆ รายการ มีวิทยากร นักเขียน นักวาดภาพประกอบหนังสือทั้งจากฝั่งตะวันตก และเอเชีย มาเป็นวิทยากร แถมยังมีจัดห้องพิเศษสำหรับวรรณกรรมเด็กและเยาวชนจากประเทศจีนให้ทุกคนได้รู้ลึกวิถีแห่งจีน ทั้งในแง่หนังสือ เนื้อหา ธุรกิจสิ่งพิมพ์ งานแปล เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับผู้สนใจด้านนี้ ฉันเดินทางไปในฐานะผู้สนใจทั่วไปที่มีผู้สนับสนุนบัตรเข้างาน 3 วันราคาประมาณ 8 พันบาท แม้จะจัดเวลาเข้าร่วมได้ไม่หมดทุกกิจกรรมใน 3 วัน เพราะในเวลาเดียวกันมีกิจกรรมเกิดขึ้นพร้อมกัน 4-5 รายการ ดังนั้นต้องเลือกว่าตัวเองสนใจ อยากรู้เรื่องไหนที่สุด จัดลำดับเอาไว้
หลังจากการเข้าร่วมงานดังกล่าวที่สิงคโปร์ ทำให้ฉันให้ความสนใจอ่านวรรณกรรมเยาวชนหรือหนังสือสำหรับเด็กที่เขียนต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษเพื่อรับรู้ความหลากหลายมุมมองจากนักเขียนเจ้าของผลงาน การอ่านหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ มีการใช้ภาษาที่ไม่ยาก ประโยคไม่ซับซ้อน ทำให้ได้ฝึกภาษาอังกฤษจากระดับเบื้องต้นก่อนเดินทางไปสู่การอ่านเล่มที่ใช้ภาษายากและซับซ้อนขึ้น
เรื่องของเพื่อนคู่หู เพื่อนรัก เพื่อนซี้หรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียกในความผูกพันของมิตรสองคน Darius (แดริอุส) และ Twig (ทวิก) เจ้าแดริอุสเป็นนักเขียน ส่วนเจ้าทวิกเป็นนักวิ่ง วัยของสองคนน่าจะอยู่ช่วง ม.ปลาย พวกเขาทั้งคู่มีความฝันและความสามารถในสิ่งที่ตัวเองเป็น มีความเหมือนที่เป็นคนชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อยที่หลากหลายในอเมริกา อยู่ในย่านชุมชนที่สังคมอเมริกันจัดสรรไว้ให้โดยมายาคติแล้วว่า คนผิวสีเอย คนจีน-อเมริกัน คนแอฟโฟร คนสเปน-อเมริกัน ฯลฯ ต้องอยู่ย่านไหนของแต่ละรัฐ เราเห็นแม้แต่การรุกล้ำของคนขาวนายทุนที่ต้องการที่ดินย่านที่อยู่ของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้เพื่อนำไปใช้ในการทำธุรกิจของตัวเอง
ในเรื่องนี้มีการเมืองด้านชาติพันธุ์ซ่อนอยู่ เราจะเห็นสภาพของสองครอบครัวหลัก เห็นความขัดแย้งของเด็กวัยรุ่น เห็นวิธีคิดของพวกเขาผ่านตัวละครหลักสองคนนี้และคนรอบข้างพวกเขา อยากบอกว่าเนื้อหาไม่หนักอย่างที่เล่า การเขียนของผู้เขียนให้น้ำหนักเรื่องด้วยภาพที่เด็กวัยรุ่นชายสองคนต้องเจอ ด้วยวัยขนาดนี้ มุมมองของพวกเขาไม่ได้มองว่าสิ่งที่เจอ หรือสิ่งที่สังคมมองว่าพวกเขาเป็นพลเมืองชั้น 3 / 4 / 5 นั้นด้อยค่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่โศกนาฏกรรม แต่มันทำให้คนอ่านเห็นภาพความเป็นอยู่ เห็นการไล่ตามความฝันของแต่ละฝ่าย เห็นการปฏิบัติของพ่อ-แม่ และคนในครอบครัว วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนกลุ่มๆ เล็กที่แทรกอยู่ในสังคมใหญ่ของอเมริกาที่มีความหลากหลาย เห็นว่าการที่พ่อของตัวเอกในเรื่องคนหนึ่งถูกเกณฑ์ไปรบในสงครามระหว่างอเมริกากับอิรัก ส่งผลกระทบต่อครอบครัวเช่นไร แต่มันเหนือชั้นที่การเล่าเรื่องไม่ได้เล่าด้วยอารมณ์บีบคั้น มันคือการเล่าให้ภาพที่ถ่ายทอดออกมาด้วยคำพูด ทำให้เรารู้สึกปกติว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าเรื่องนั้นๆ รอบตัวเรา เราจะชอบ/ไม่ชอบ พอใจ/ไม่พอใจ ดี/ไม่ดี และรัฐมักจะบีบเค้นเอากับคนพวกนี้มากกว่าไปฉกฉวยกับคนผิวขาว
การดำเนินชีวิตของวัยรุ่นชายสองคนทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิตไปกับพวกเขา นี่ละคือความงดงาม ด้วยวัยขนาดนี้ เขามีความหวัง เราหวังตามไปด้วยเลยนะ ตามเขาไปทุกจังหวะ โดยเฉพาะเจ้าแดริอุสที่อยากเป็นนักเขียน คนอ่านได้เรียนรู้วิธีเขียน กลวิธีในการเขียนไปกับเขา ผู้เขียนแทรกเทคนิคการเขียนเอาไว้น่าสนใจ
เรื่องผิวสีเช่นกัน ตัวละครในเรื่องถึงกับพูดว่า “ถ้านายเป็นคนขาว ยังไงนายก็ไม่ผิด แต่ถ้านายผิวดำละก็ นายโดนต้อน” เรื่องสีผิวยังส่งผลต่อการเขียนงาน มีการเสียดสีคนขาวกับคนผิวสีให้เห็นว่า อีกฝ่ายที่เป็นผิวสีตกเป็นเบี้ยล่าง แต่เพราะผิวสีที่ต่างทำให้เรื่อง เนื้อหาในวรรณกรรมมีความหลากหลาย มีเรื่องให้พวกเขาได้เขียนออกมา
ไม่ใช่งานเขียนแห่งความชิงชัง หรือแบ่งแยกความต่าง แต่นำพาไปให้เห็นว่าความต่างทำให้เกิดผลอะไรตามมาและเราจะรับมือกับสิ่งที่ต่างจากกระแสหลักของสีผิว หรือต่างจากวัฒนธรรมหลักเช่นไร อยู่กับสังคมแบบนั้นอย่างไร มีการเน้นย้ำเป็นระยะในจังหวะที่เหมาะสมว่า ถึงเราจะไม่สมบูรณ์ ไม่มีชีวิตที่งดงาม มีความบกพร่องในเรื่องต่างๆ แต่เราก็ข้ามผ่านปัญหา นำพาชีวิตรับมือกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ “ยังไงเสีย เรื่องบัดซบ มันก็เกิดกับเราได้ทุกเมื่อ” ชีวิตเราต้องเจอ หลีกเลี่ยงไม่พ้น
ฉันอ่านจบ ทำให้ฉันกลับไปเป็นเด็กวัยรุ่นใหม่ ทำให้ฉันเริ่มต้นเรียนรู้รับมือกับปัญหาชีวิตระดับพื้นฐาน ความเข้าใจสำคัญ ความหวังสำคัญ แก้ปัญหา รับมือกับชีวิตให้ได้ ชีวิตเรามีสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน เราหลีกเลี่ยงสิ่งไม่พึงใจไม่ได้จริงๆ เป็นงานเขียนเล่มที่ประทับใจ และทำให้ฉันได้วิ่งตาม ถามตัวเองว่า “มุ่งมั่นอยากทำอะไร ลงมือทำ ทำให้ได้ ต้องลงมือทำ ไม่ว่าผลจะออกมาเช่นไร”
สองคู่หู ให้อะไรมากกว่าคำว่ามิตรภาพนะ ให้ชีวิตฉันได้มีความหมายมากขึ้นไง
|