© THAKSIN REUTERS/Edgar Su ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ยังคงระอุทะลุองศาสำหรับการเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เหตุพลพรรคขาประจำดาหน้าถล่มร่างรัฐ ธรรมนูญฉบับ “ซือแป๋มีชัย” เป็นประธานคณะกรรม การร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) รวมถึงข้อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐมนตรีข้อที่ 16 ที่เสนอให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญเป็น 2 ขยัก และคำพูดของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เผยถึงแนวคิดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปีหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ประกาศใช้
ภาพของฝ่ายการเมืองที่เดือดเนื้อร้อนใจ จนต้อง “จูบปาก” หันมา “ปรองดอง” ร่วมกันขย่ม “รัฐบาลท็อปบู๊ต” ไม่เว้นแต่ละวัน
และยังมี “ไฟการเมือง” ลูกใหม่ ที่ถูกจุดขึ้นมาซ้ำเติมอุณหภูมิที่ร้อนอยู่แล้ว ให้ร้อนตับแลบขึ้นไปอีกเป็นเท่าตัว นั่นก็คือความเคลื่อนไหวของ “คนแดนไกล” ทักษิณ ชินวัตร ที่ช่วงนี้มีอาการ “คันปาก” จนต้องตระเวนให้สัมภาษณ์โจมตีรัฐบาลผ่านสื่อต่างประเทศ ตามแผนโลกล้อมประเทศ
เริ่มจากการวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญผ่านหนังสือพิมพ์วอลสตรีท เจอร์นัล ทำนองว่า การผลักดันร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจำกัดอำนาจของรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง และสงวนอิทธิพลไว้ให้กับบรรดานายทหารที่เป็นผู้ก่อรัฐประหาร จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในความเสี่ยง โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังเปิดช่องให้มีนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเท่ากับเปิดทางให้ผู้นำทหารมาปกครองประเทศได้ สภาพก็จะเหมือนกับเมียนมาก่อนที่จะมีการปฏิรูปการเมือง ถ้ารัฐธรรมนูญนี้ถูกบังคับใช้ก็เท่ากับว่าประเทศไทยเดินถอยหลังแล้ว
และจากนั้นอีกไม่กี่วันก็ตามมาด้วยคำให้สัมภาษณ์ผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่ประเทศสิงคโปร์ว่า “รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ของไทย ยิ่งอยู่ในอำนาจต่อไปนานเท่าไหร่ ยิ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ลงอีกเท่านั้น เนื่องจาก คสช. ขาดวิสัยทัศน์และความสามารถพิเศษ ในการแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังยุ่งเหยิง รัฐบาลขาดเสรีภาพ และขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”
แม้งานนี้รัฐบาลเลิกที่จะ “ไม่แคร์” แต่ต้องยอมรับว่าคำให้สัมภาษณ์นี้ส่งผลกระทบต่อประเทศโดยเฉพาะมุมมองของคนในต่างประเทศ
แน่นอนว่าการที่ “ทักษิณ” ออกแรงเคลื่อนในช่วงจังหวะปัญหาเศรษฐกิจในประเทศย่ำแย่ บวกกับปัญหาทางการเมืองกำลังขยายตัวนั้นมีนัยสำคัญแฝงอยู่
การที่ “ทักษิณ” เลือกเล่นเกมโจมตีเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ โดยใช้รูปแบบ “โลกล้อมไทย” โดยการดึงการเมืองระหว่างประเทศเข้ามากดดัน “รัฐบาลท็อปบู๊ต” ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญนั้น ก็ด้วยความหวังที่จะลดการตีกรอบ และการควบคุมทางการเมืองที่มีอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ หรือหากกดดันไม่ได้ อย่างน้อยก็เป็นการปลุกกระแสให้มีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
เพราะหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติ และถูกประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ 20 แล้ว ก็จะกลายเป็นการเปลี่ยนหน้าฉากทางการเมืองไทยไปอย่างสิ้นเชิง
ทั้งการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่จะเป็นการเพิ่มจำนวน ส.ส.ในสภาให้กับพรรคการเมืองเล็กและจะเป็นการลดสัดส่วน ส.ส.ของพรรคการเมืองใหญ่ไปโดยปริยาย ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่เป็นผลดีกับ “พรรคเพื่อไทย” ที่ทักษิณอุตส่าห์สร้างมา และยังจะเป็นการเปิดทางให้มีรัฐบาลผสมจากหลายพรรคการเมือง ความหวังที่ “พรรคเพื่อไทย” จะได้จัดตั้งรัฐบาลที่มั่นคงหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าก็คงเป็นไปไม่ได้
หากเป็นอย่างนั้น “ความฝัน” ที่ทักษิณยังคิดไปไกลถึงการกลับประเทศแบบเท่ ๆ อย่างที่เคยพูดไว้ จากคำพูดที่พยายามสร้างชุดความคิดใหม่ที่ว่า “ผมไม่ได้เป็นคนเลวอย่างที่ผมกำลังถูกกล่าวหา” คงจะเป็นไปได้ยาก หากไม่ใช่รัฐบาลของพรรคเพื่อไทย
งานนี้ก็ทำเอาฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ฐานเสียงพรรค เพื่อไทย โดยเฉพาะ “โซนอีสาน” ต้องลงพื้นที่เช็กความเคลื่อนไหว พิกัด ของ ส.ส. ในพื้นที่แต่ละคน หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการปล่อยไปพักใหญ่ ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญตามที่ “นายใหญ่” เปิดไฟเขียวแล้ว
นอกจากนั้นยังมองได้อีกว่าการที่ “ทักษิณ” พยายามให้สัมภาษณ์ดิสเครดิต ลดความน่าเชื่อถือของ “รัฐบาลท็อปบู๊ต” ครั้งนี้ก็หวังที่จะให้ต่างชาติมองว่ารัฐบาลไม่มีความน่าเชื่อถือ ทั้งการบริหารประเทศ และการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งนั่นก็หมายรวมถึงการดำเนินการเรียกรับความเสียหายทางแพ่งจากโครงการรับจำนำข้าวของ “นายหญิง” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วย
สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของ “คนพรรคเพื่อไทย” ในช่วงที่ผ่านมา ที่พยายามขยายประเด็นในคดีจำนำข้าวว่า ตัวโครงการจำนำข้าวไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย เพราะประโยชน์ตกอยู่กับประชาชน หวังสร้างความเข้าใจผิด ๆ ให้ประชาชน และลดความชอบธรรมในกระบวนการเรียกรับความเสียหายทางแพ่งจากโครงการรับจำนำข้าว
ยังไม่รวมคดีเงินกู้กรุงไทยที่ “ลูกโอ๊ค” พานทองแท้ ชินวัตร ถึงกับโอดครวญ แค่ถูกดีเอสไอเชิญไปเป็นพยาน กลับมีการให้ข่าวอย่างครึกโครม
ดังนั้นการเดินเกมของ“นายใหญ่” ครั้งนี้จึงไม่ ใช่การเล่นสงครามน้ำลายไปวัน ๆ แต่มีจุดประสงค์ที่ค่อนข้างจะชัดเจน เพื่อช่วยพรรคเพื่อไทย และคนในครอบครัว
แม้ “รัฐบาลท็อปบู๊ต” จะไม่ให้ราคากับคำพูดของ “ทักษิณ” แต่ก็ต้องยอมรับว่าเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ และแนวคิดของรัฐบาลในเรื่องช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านนั้น ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลเป็นอย่างมาก
หากไม่มีการปรับแก้เนื้อหา หรือหารูปแบบในช่วงเปลี่ยนผ่านที่เหมาะสม ก็เชื่อได้ว่าจะมีคนอื่นนอกจาก “ทักษิณ” ที่ออกมาปลุกให้ประชาชนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญอยู่ดี และในท้ายที่สุด “ทักษิณ” อาจจะไม่ต้องออกแรงปลุกให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ
ทางที่ดีรัฐบาลควรเลิกผลักมิตรเป็นศัตรู เปิดไฟเขียวให้ กรธ.ปรับแก้เนื้อหาให้เป็นที่ยอมรับของหลายฝ่าย และควรเลือกที่จะหามาตรการควบคุมในช่วงเปลี่ยน ผ่านอย่างเหมาะสมเพื่อให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งทำงานได้ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดซึ่งหากเดินเกมนี้ต่อให้ “ทักษิณ” พูดจนน้ำลายแห้งก็ไม่มีผลอะไรแล้ว