
ผู้ไม่ประมาท
1. ความไม่ประมาท : อัปปะมาโท แปลว่า ความไม่ประมาท
บุคคใดไม่มีความประมาทในธรรมทั้งหลาย จัดเป็นมงคลอันประเสริฐ
การมีสติระลึกถึงซึ่งกุศลธรรมทั้งหลาย ที่ยังไม่บังเกิดขึ้น ให้เกิดขึ้นในสันดาน
และมีสติกำกับตัวอยู่เสมอทุกขณะจิต ไม่ว่าจะคิด พูด ทำ ในสิ่งใด ๆ ไม่พลั้งเผลอ
เรียกบุคคลเช่นนี้ว่า "ผู้ไม่ประมาท"
2. ความสำคัญของความไม่ประมาท : เป็นปัจจัยเพื่อการพัฒนาชีวิตในทุกระดับ
ความไม่ประมาทเป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญมาก
พระพุทธองค์ทรงยกย่องความไม่ประมาท ซึ่งมีความสำคัญแก่การดำเนินชีวิตดังนี้
2.1 เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้น เจริญขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย
2.2 เป็นเหตุปัจจัยให้ถึงซึ่งประโยชน์ทั้งปวง..ได้ชื่อว่า"บัณฑิต"เพราะพิชิตความไม่ประมาท
2.3 เป็นไปเพื่อความเจริญรุ่งเรืองและความก้าวหน้านำสู่สันติสุข ดังสุภาษิตคำกลอนที่ว่า...
"ไม่ประมาท ในทุกสิ่ง อิงธรรมะ ไม่เลยละ สติมั่น กาลไหนไหน
หากประมาท พลาดพลัน ล้วนบรรลัย เหมือนคนตาย ทั้งเป็น ไม่เห็นธรรม" (บัณฑิตอุดร)
**คนที่ไม่ประมาท จักไม่ตาย มีแต่ความเจริญยิ่งๆขึ้น ทั้งทางโลกและทางธรรม และเป็นอุดมมงคลแก่ชีวิต**
3. ทางปฏิบัติเพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาท: เป็นวิธีปฏิบัติให้รู้ถึงซึ่งสิ่งที่ไม่ควรประมาท
และการฝึกอบรมสติในตน เพื่อให้เป็นผู้ไม่ประมาทดังนี้
3.1 สิ่งที่ไม่ควรประมาท: สิ่งที่บุคคลพึงสำราวมระวังตน ไม่ควรรประมาทเป็นอย่างยิ่ง
ในสิ่งต่อไปนี้
1) ไม่ควรประมาทในเวลา 2) ไม่ประมาทในวัย
3) ไม่ประมาทในความไม่มีโรค 4) ไม่ประมาทในชีวิต
5) ไม่ประมาทในการงาน 6) ไม่ประมาทในการศึกษา
7) ไม่ประมาทในการปฏิบัติธรรม
3.2 การฝึกอบรมสติในตนเพื่อให้เป็นผู้ไม่ประมาท: สติเป็นธรรมอันยิ่งใหญ่
ซึ่งสัมพันธ์กับความไม่ประมาท จนแยกออกจากกันไม่ได้
สติยังความไม่ประมาทให้เกิดขึ้น มีองค์ 5 คือ
1) มีสติระลึกถึงการละเว้นทุจริตทางกาย วาจา ใจ อยู่เนืองๆ
2) มีสติระลึกถึงการประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ อยู่เนืองๆ
3) มีสติระลึกถึงความทุกข์ในอบายภูมิอยู่เนืองๆ
4) มีสติระลึกถึงความทุกข์อันเกิดจาก การเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ในวัฏฏสงสาร
อยู่เนืองๆ
5) มีสติระลึกถึงซึ่งกัมมัฏฐาน อันเป็นองค์ภาวนาที่จะละราคะ โทสะ โมหะ
ให้ขาดจากสันดานอยู่เนืองๆ
4. ผลแห่งความเป็นผู้ไม่ประมาท: เป็นอานิสงส์แห่งการปฏิบัติตนเป็นผู้ไม่ประมาท
ก่อให้เกิดความดีอันยิ่งใหญ่ ย่อมได้รับประโยชน์ โดยสรุปดังนี้
4.1 ประโยชน์ปัจจุบัน:
1) ย่อมมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต 2) ย่อมมีสุขภาพกายจิตที่ดีฯลฯ
4.2 ประโยชน์เบื้องหน้า:
1) ย่อมไม่เบื่อหน่ายในการสร้างบุญกุศล 2) ย่อมไม่นำพาไปสู่อบายภูมิฯลฯ
4.3 ประโยชน์สูงสุด:
1) ย่อมรู้เท่าทันโลกและชีวิตตามเป็นจริง 2) ย่อมมีจิตไม่ยึดมั่นถือมั่นฯลฯ
บัณฑิตไซร้ ไม่ประมาท พลาดประโยชน์
ชีพรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง เนื่องุกศล
อัปปมาทะธรรม...ดำรงตน
ย่อมได้ผล ประโยชน์ร่วม รวมสองทาง!! (บัณฑิตอุดร)
**เทศนาธรรม ณ.พระอุโบสถวัดเครือวัลย์วรวิหาร
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 เวลา 8.30 น.
*******************
|