การวางมัดจำเอาไว้จะทำให้คนได้มัดจำมีความจำว่ามีข้อผูกมัดที่จะต้องทำตาม ที่สัญญาเอาไว้ คนที่วางมัดจำก็จะสบายใจ เพราะผู้รับมัดจำตัดสินใจผูกพันตามสัญญาด้วยแล้ว
หลังจากนั้นก็เป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือข้อตกลงเพื่อให้เป็นไปตามมัดจำนั้นๆ หลายคนเลยสำคัญผิดว่ามัดจำกับการค้ำประกันมันก็คล้ายเหมือนกัน เลยกลายเป็นปัญหาเวลาจะริบจะเรียกคืน เปิดตำรากฎหมาย จะได้ความว่า มัดจำเป็นการชำระหรือให้ไว้เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการทำสัญญากันขึ้นแล้ว และมัดจำที่ให้ไว้จึงเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา เราจะคุ้นหน้า มัดจำในการทำสัญญาซื้อขาย จ่ายเงินในวันจองไว้แล้วค่อยมาจ่ายมัดจำในวันทำสัญญาอีกครั้ง หลังจากนั้นก็จะจ่ายผ่อนกันไปตามงวดตามงานที่บรรยายไว้ในสัญญา เงินที่จ่ายในวันทำสัญญานั้นคือเงินมัดจำ รวมทั้งเงินที่จ่ายในวันจองด้วย การผ่อนจ่ายต่อมาไม่ใช่มัดจำ แต่เป็นการชำระหนี้ตามสัญญา ในสัญญามักจะตกลงว่า ให้นำเงินมัดจำนั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่ต้องผ่อนต่อกัน ก็ทำได้ แม้ว่าจะไม่ได้ตกลงกันไว้ กฎหมายท่านให้ถือว่าเป็นไปอย่างนั้นอยู่แล้ว หากมีการผิดสัญญา อีกฝ่ายก็ริบเอาเงินมัดจำนั้นไปเสียได้ โดยไม่ต้องบรรยายไว้ในสัญญา เพราะว่ากฎหมายบอกว่าให้เป็นอย่างนั้น แล้วมัดจำต้องคืนกันหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับว่าตกลงกันไว้อย่างไร ถ้าไม่ได้บอกเอาไว้ก็ใช้หลักกฎหมายที่ว่าไว้ข้างต้น คือนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการชำระราคาหรือว่าริบไว้ในเมื่อผิดข้อตกลง แต่ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำไว้กลายเป็นผู้ผิดสัญญา หรือไม่สามารถชำระหนี้หรือปฏิบัติตามข้อตกลงได้ ก็ต้องส่งคืนมัดจำคืนให้เขาไป และจะต้องแถมเงินค่าเสียหายตามไปด้วยเท่าไร ก็ต้องดูต่อไปอีกโสดหนึ่ง เรื่องผิดสัญญามันไม่ได้มองแต่ว่าริบมัด จำเท่านั้น เพื่อป้องกันความเสียหาย ก็มักจะใส่ไว้ในสัญญาว่าผิดนัดชำระหนี้เมื่อไร ทั้งมัดจำทั้งเงินทั้งหลายที่ได้ผ่อนได้จ่ายออกไป เป็นอันถูกกินถูกริบไปพร้อมหน้าพร้อมตาไม่เหลือกระเด็นคืนมาสักบาทเดียว เมื่อตกลงกันไว้ย่อมทำได้ แต่ถ้าไม่ได้ตกลงกัน จะริบแบบเมามันไม่ได้ คงริบได้มัดจำอย่างเดียว กฎหมาย ไม่จัดให้ เลยทำสัญญาต่อกันไว้ ก็ยังอาจไม่ได้ดั่งใจตัว เพราะเงินที่มิใช่มัดจำ หากทำการริบไว้ตามข้อตกลงเท่าไร ก็อย่าคิดว่าจะได้ไปเต็ม ๆ หากเรื่องไปถึงศาล ท่านมีอำนาจใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าจำนวนนั้นมันเว่อร์เกินไปหรือเปล่า หากว่ามีราคาสูงเกินส่วนความเสียหาย ศาลท่านก็จะลดราคาลงมาได้ตามสมควร เงินส่วนนี้เขาจึงมีชื่อของเขาเองต่างหากจากมัดจำ เรียกตามตำราว่า เบี้ยปรับ ซึ่งเป็นการกำหนดเงินไว้ถ้าผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเมื่อไร ให้ริบเงินที่จ่ายไว้เป็นเบี้ยปรับได้ คือเป็นค่าเสียหายนั่นเอง เบี้ยปรับจึงต่างจากมัดจำ เพราะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า และไม่ใช่เบี้ยปรับจะมีแค่เงินที่ผ่อนจ่ายเท่านั้น บรรดาเงินหรือหลักประกันที่นำไปวางไว้ก็ใช่ด้วย ถ้าให้กันไว้เป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาก็สามารถบังคับเอาจากหลักประกันได้ ในฐานะที่เป็นเบี้ยปรับ ที่ต้องสนใจว่าเขาเรียกชื่อต่างกันอย่างไร เพราะผลทางกฎหมายไม่เหมือนกัน เป็นมัดจำเมื่อไรก็ริบไปได้ทั้งจำนวน แต่ถ้าเป็นเบี้ยปรับ ศาลอาจสั่งอาจปรับให้ต่ำกว่าที่ตกลงไว้ก็ได้ มัดจำ จึงอาจมีภาษีดีกว่าการประกันในแง่มุมนี้ ชื่อจึงมีความหมายและมีผลแตกต่างกันได้เช่นนี้แล ที่มา : นสพ.คมชัดลึก วันที่ 10 เมษายน 2551
|