หลังการเข้าควบคุมกิจการของธนาคาร อินดีแมค(IndyMac) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา( 11 กค.) สถาบันประกันเงินฝากสหรัฐ(FDIC)ออกมายอมรับว่า นี่อาจเป็นการล้มของธนาคารที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะFDICต้องชดใช้ผู้ฝากเงิน 6-8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และยังกล่าวว่า อาจมีการล้มเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในขอบเขตที่เราจัดการได้ เวลานี้ สิ่งที่นักลงทุนกังวลที่สุดคือ สถานภาพที่ง่อนแง่นของบริษัทคู่แฝดที่ชื่อ แฟนนี เม(Fannie Mae) และเฟรดดี แมค (Freddie Mac) บริษัทสินเชื่อบ้านที่ใหญ่ที่สุดที่มีวงเงินสินเชื่อและรับค้ำประกันเงินกู้กว่า 5 ล้านล้านเหรียญ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของสินเชื่อบ้านทั้งหมดในสหรัฐ หากบริษัททั้งสองล้มลง มันจะส่งผลถึงต้นทุนเงินกู้ ตลาดสินเชื่อ เศรษฐกิจสหรัฐ และแน่นอนตลาดสินเชื่อทั่วโลก แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค คือใคร บริษัทสองแห่งนี้เป็นองค์กรที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นโดยมติรัฐสภา ในปี 1938(แฟนนี) และปี 1970(เฟรดดี) เพื่อช่วยให้คนอเมริกันมีบ้านได้ง่ายขึ้น บริษัทได้รับนโยบายให้สร้างสภาพคล่องให้ตลาดสินเชื่อบ้าน โดยการรับซื้อสินเชื่อบ้านจากธนาคารและบริษัทสินเชื่ออื่น แล้วนำมาจัดเป็นกองๆ ขายออกในรูปของหุ้นกู้ให้นักลงทุนโดยมีการค้ำประกัน ทั้งสองบริษัทได้รับอภิสิทธิ์ให้สามารถกู้เงินจากกระทรวงการคลังได้โดยตรง ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ทั้งจากรัฐบาลกลางและท้องถิ่น หุ้นของบริษัทที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้การยกเว้นค่าธรรมเนียม การที่เป็นกึ่งหน่วยงานของรัฐและได้รับสิทธิพิเศษมากมาย ทำให้ทั้งแฟนนีและเฟรดดี ได้รับอันดับเครดิตระดับสูงสุดที่ AAA ซึ่งหมายความว่า พวกเขาสามารถกู้ยืมเงินได้ในอัตราที่ต่ำที่สุด จุดเด่นกลายเป็นจุดอ่อน การที่บริษัทมีต้นทุนดำเนินการต่ำ ประกอบกับเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องเร่งสร้างกำไรให้ผู้ถือหุ้น ทำให้กิจการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ขณะที่รูปแบบการดำเนินกิจการซื้อขายสินเชื่อโดยให้การรับประกัน ทำให้ธนาคารคู่ค้าปล่อยสินเชื่อแบบหละหลวม เพราะเมื่อแฟนนีและเฟรดดีซื้อสินเชื่อไปแล้ว ความเสี่ยงไม่ว่า การผิดนัดชำระหนี้ หรือปัญหาความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยจะถูกถ่ายโอนไปยังบริษัททั้งสองแทน อีกทั้ง ช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ให้สินเชื่อรายอื่นชลอการให้สินเชื่อ แฟนนีและเฟรดดีกลับต้องการเป็นผู้เล่นหลักที่รับซื้อสินเชื่อบ้านจากธนาคารไปขายให้นักลงทุน ทำให้มีภาระค้ำประกันมากขึ้น นักวิเคราะห์เคยกล่าวว่า แฟนนีและเฟรดดีถูกสร้างขึ้นแบบผิดฝาผิดตัว พวกเขารับภารกิจมาให้สินเชื่อ แต่ไปดำเนินการคล้ายบริษัทประกัน พวกเขาซื้อสินเชื่อแล้วนำไปขายต่อ คล้ายกิจการโบร์คเกอร์ ขณะเดียวกัน พวกเขาเก็งกำไรดอกเบี้ย (ซื้อสินเชื่อแล้วมารับรู้กำไรขาดทุนจากอัตราดอกเบี้ยใหม่แทน) ซึ่งคล้ายกับเฮดจ์ฟันด์ แน่นอนว่ามีความเสี่ยงสูง แต่เมื่อเป็นหน่วยงานของรัฐ ธนาคารกลาง(เฟด)คงไม่ปล่อยให้ล้ม สถานะบริษัทสับสน จากภาวะการณ์ที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐย่ำแย่มากหลายปี ราคาบ้านที่ลดลง อัตราการยึดบ้านสูงขึ้น และทิศทางดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มขยับขึ้น ทำให้นักลงทุนเริ่มถอยหนีจากบริษัททั้งสอง ยิ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โบร์คเกอร์ชื่อดัง เลห์แมน บาร์เดอร์ ได้ออกบทวิเคราะห์ชี้ว่า ทั้งแฟนนีและเฟรดดี ต้องเพิ่มทุนอีก 75 พันล้านเหรียญ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานบัญชีใหม่ ทำให้นักลงทุนยิ่งตื่นตระหนก ถึงแม้ผู้บริหารของทั้งสองบริษัทออกมาประกาศยืนยันว่าเงินทุนของตนเพียงพอที่จะรับภาวะการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ แต่ดูเหมือนนักลงทุนจะไม่เชื่อ พวกเขากลัวว่าหากเฟคเข้ามาควบคุมกิจการ หุ้นที่ตนถืออาจจะไม่มีมูลค่าเหลืออยู่ ดังนั้นทันทีที่ตลาดหุ้นเปิดทำการในวันศุกร์ที่ผ่านมา (11กค.) ทั้งหุ้นของแฟนนีและเฟรดดีต่างร่วงลงกว่า 47% จากวันก่อนหน้า แต่ค่อยๆขยับติดลบน้อยลงเมื่อมีข่าวว่า เฟดจะเปิดวงเงินสำรองให้ และมีข่าวว่าวุฒิสมาชิก ประธานกรรมาธิการการธนาคารออกมายืนยันว่าตนได้คุยกับนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด และนาย เฮนรี พอลสัน รมต.คลัง ทั้งสองบอกว่า บริษัทเหล่านั้นมีเงินทุนเพียงพอ ยังไม่มีความจำเป็นใดๆที่ต้องเข้าไปจัดการ แต่หลังตลาดปิด โฆษกเฟดได้ออกมาบอกนักข่าวว่ายังไม่มีการคุยกันเรื่องวงเงินสำรอง ขณะที่นสพ.นิวยอร์คไทม์ ได้รายงานว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลกำลังมองหาแผนการที่เหมาะสมในการเข้าควบคุมกิจการบริษัททั้งสอง หากสถานการณ์เลวร้ายลง 
ภาพแสดงการร่วงลงของหุ้นFannieในรอบ1ปี 
ภาพแสดงการร่วงของหุ้นFreddie ระเบิดเวลาลูกใหญ่ ข่าวที่สับสนในสถานการณ์ที่ตลาดย่ำแย่ ทำให้ราคาหุ้นของแฟนนีและเฟรดดีร่วงจากต้นปีลง 65% และ75% ตามลำดับ สะท้อนถึงความไม่มั่นใจของนักลงทุนที่มีต่อสถานะของบริษัทได้เป็นอย่างดี ปัญหาคือ หากบริษัทล้มละลาย ถูกเฟดเข้าควบคุม ถึงแม้แฟนนีและเฟรดดีจะสามารถดำเนินการต่อภายใต้การดูแลของเฟด แต่กฎเกณฑ์การดำเนินธุรกิจย่อมต้องเข้มงวดขึ้น ส่งผลให้ตลาดสินเชื่อบ้านตึงตัวยิ่งขึ้น ที่สำคัญบริษัททั้งสองจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มันจะส่งแรงกระเพื่อมให้เกิดการขายหุ้นให้ในวอลล์สตรีท โดยเฉพาะหุ้นธนาคารใหญ่ๆ หุ้นบริษัทสินเชื่อ และหุ้นบริษัทรับสร้างบ้าน ถ้านักลงทุนทั้งตลาดสูญเสียความมั่นใจ และเชื่อว่าจะมีบริษัทใหญ่ๆต้องล้มตามมาอีกมาก มันจะกลายเป็นภาวะตื่นตระหนก ทุกคนขายหุ้นเอาตัวรอด ถึงวันนั้นเฟดอาจจะคุมสถานการณ์ไม่อยู่ อเมริกา ก็ อเมริกาเถอะ หากคุมสถานการณ์ไม่อยู่ สามารถเกิดภาวะโดมิโนได้เหมือนกัน และจะส่งผลกระทบไปทั่วโลกครับ
|