๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑ เรียน ประธานอนุกรรมการกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า เรื่อง ขอให้ตรวจสอบประเด็นการละเมิดสิทธิและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม กรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์ มีนโยบายเปิดให้เอกชนเช่าสัมปทานพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ สิ่งที่ส่งมาด้วย รายชื่อผู้ร้องเรียน
สืบเนื่องจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีนโยบายเปิดสัมปทานให้เอกชนเข้ามาดำเนินการโรงแรมและที่พักในเขตอุทยานแห่งชาติ (รวมทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า) เป็นระยะเวลา ๓๐ ปี รวมทั้งดำเนินการจัดบริการท่องเที่ยว โดยอ้างว่าต้องการมืออาชีพมาบริหารตามคำให้สัมภาษณ์ของนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่า และ นายวิชิต พัฒนโกศัย รองอธิบดีกรมอุทยานกรมอุทยาน ฯ ตามสื่อต่างๆ (เอกสารหมายเลข...) ทั้งนี้นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน และนายวิชิต พัฒนโกศัย รองอธิบดีกรมอุทยานกรมอุทยาน ฯ ชี้แจงมาโดยตลอดว่า การให้สัมปทานเอกชนเช่าพื้นที่อุทยานแห่งชาตินั้นเป็นเพียงแนวคิดและอยู่ระหว่างการศึกษา ทั้งนี้ยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด (เอกสารหมายเลข...) อย่างไรก็ตามจากการติดตามกลับพบว่า คณะกรรมการอำนวยการด้านการส่งเสริมให้เอกชนเข้าร่วมบริการท่องที่ยวในอุทยานแห่งชาติ ที่มีนายวิชิต พัฒนโกศัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นประธาน กลับได้มีการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ที่ผ่านมา นายนพดล พฤกษะวัน หัวหน้าคณะทำงานชุดที่ ๑ (ภาคใต้) ได้สรุปรายละเอียดการสำรวจอุทยานแห่งชาติในภาคใต้เบื้องต้นเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการฯ จนกระทั่งมีมติเลือก ๗ อุทยานแห่งชาติและกำหนดจุดบริการเพื่อการท่องเที่ยว ๒๔ แห่ง เพื่อให้เอกชนดำเนินการขอเช่าพื้นที่ นอกจากนั้นยังได้มีการนำเสนอการขออนุญาตเช่าพื้นที่บริเวณอ่าว เมาะและ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา โดยบริษัทบ้านปูละคร (๒๕๕๐) ซึ่งเสนอแผนวิเคราะห์การลงทุนพัฒนาโรงแรมระดับ ๕ ดาว จำนวน ๑๔๐ ห้อง ด้วย (เอกสารหมายเลข...) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจึงขัดแย้งกับการให้สัมภาษณ์ของ นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน และ นายวิชิต พัฒนโกศัย ที่อ้างว่าเป็นเพียงแค่แนวคิดและอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเท่านั้น พวกเราตามรายชื่อแนบท้ายมีความเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวนอกจากเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการพื้นที่อนุรักษ์แล้ว (เอกสารหมายเลข...) ยังเป็นการละเมิดสิทธิามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ และสร้างความไม่เป็นธรรมแก่ชุมชนและประชาชนทั่วไปในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้ ประเด็นที่ ๑ การเร่งรัดดำเนินการให้เอกชนเช่าสัมทานพื้นที่อุทยานแห่งชาติ (เช่น การเร่งรัดในพื้นที่ ๗ อุทยานแห่งชาติ ทางฝั่งอันดามัน) โดยที่มิได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง ทั้งที่เป็นโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมและชุมชน เป็นการกระทำที่ละเลยมาตรา ๖๗ วรรค ๒ ที่ระบุว่า การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน (เอกสารหมายเลข...) ประเด็นที่ ๒ การประกาศอุทยานแห่งชาติหลายๆ แห่งที่ผ่านมา มีปัญหาการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนที่อยู่ก่อน นอกจากนั้นในบางชุมชนกรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังได้ดำเนินการอพยพชาวบ้านโดยเฉพาะในชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมออกจากพื้นที่หรือการจำกัดสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ชุมชนเคยมีแต่เดิมโดยอ้างเหตุผลด้านการอนุรักษ์ ที่ผ่านมาการดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินของชาวบ้านในพื้นที่เขตอนุรักษ์ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทว่ากรมอุทยานแห่งชาติฯ กลับมีนโยบายให้เอกชนเช่าสัมปทานพื้นที่เขตบริการ (ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือพื้นที่ที่ชุมชนเคยใช้ประโยชน์) เพื่อแสวงหากำไรและผลประโยชน์ในพื้นที่บริการเสียเอง ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมกับชุมชนและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติและพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมา (เอกสารหมายเลข.) ประเด็นที่ ๓ การดำเนินการที่เกี่ยวเนื่องกับแนวคิด/นโยบายสัมปทานอุทยานแห่งชาติ นำไปสู่การละเมิดสิทธิชุมชนและประชาชน อันได้แก่ ๓.๑) ความพยายามในการแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ และ พระราชบัญญัติสงวนแหละคุ้มครอง พ.ศ.๒๕๓๕ โดยใช้ (ร่าง) พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ...... และ(ร่าง) พรบ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า พ.ศ.....แทนตามลำดับ (เอกสารหมายเลข...) ซึ่งจากการติดตามตรวจสอบของหลายองค์กรพบว่ามีการเปิดช่องทางให้เอกชนดำเนินการสัมปทานและจัดการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า นอกจากนั้นยังเปิดช่องทางการละเมิดสิทธิชุมชน ตั้งแต่ขั้นตอนการประกาศอุทยานแห่งชาติโดยใช้มาตรการ ประกาศไปก่อน กันแนวเขตภายหลัง การใช้มาตรการ เวนคืนพื้นที่ ไม่ว่าชุมชนนั้นจะเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมหรือตั้งถิ่นฐานมายาวนานหรือไม่ก็ตาม การกำหนดมาตรการ เขตผ่อนปรน โดยบังคับให้ชุมชนต้องทำโครงการร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ ทั้งยังให้อำนาจอธิบดีในดุลยพินิจในการอพยพโยกย้ายชุมชน เป็นต้น (เอกสารหมายเลข...) ๓.๒) ปัจจุบันกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินการเร่งรัดประกาศอุทยานแห่งชาติจำนวน ๓๘ แห่ง โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานเร่งรัดการดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ โดยณะกรรมการชุดดังกล่าวมีมติยืนยันให้มีการประกาศให้อุทยานแห่งชาติที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา จำนวน ๑๗ แห่ง และเสนอให้คณะรัฐมนตรีประกาศเพิ่มอีก ๒๑ แห่ง ขณะเดียวกันยังมีอุทยานแห่งชาติอีก ๔ แห่ง ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว และเตรียมรอนำเข้า ครม.รอบที่ ๒ เพื่อให้ความเห็นชอบให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศบังคับใช้ (เอกสารหมายเลข....) ที่ผ่านมานั้นการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติในหลายพื้นที่ได้ถูกคัดค้านมาโดยตลอด เช่น กรณีอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยายาม อุทยานแห่งชาติลำคลองงู อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระ-เกาะพระทอง ฯลฯ เนื่องจากกรมอุทยานแห่งชาติยังไม่ได้ดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินและกันพื้นที่ถือครอง พื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนออกจากเขตการประกาศอุทยานแห่งชาติ รวมทั้งยังไม่ผ่านการเห็นชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลและชุมชน ซึ่งขัดกับขั้นตอนการดำเนินการประกาศจัดตั้งพื้นที่อุทยานแห่งชาติ (เอกสารหมายเลข..) ทั้งนี้การประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับพื้นที่ทำกินและพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนจะส่งผลกระทบต่อสิทธิของชุมชนและประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยังเป็นการสร้างความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านและส่งผลเสียต่อการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ในระยะยาวอีกด้วย ดังนั้นพวกเราดังมีรายนามดังรายชื่อที่แนบมานี้ จึงขอให้คณะอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่าดำเนินการตรวจสอบประเด็นการละเมิดสิทธิและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าวด้วย จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ด้วยความนับถือ .......................................................... ฝ่ายประสานงาน : |