บทความเรื่องนี้ตัดทอนมาจากพระนิพนธ์เรื่อง วิธีสร้างบุญบารมี ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายกองค์ที่ ๑๙ ( หัวข้อ ภาวนา ) ซึ่งเป็นหัวข้อธรรมที่พิมพ์แจกเนื่องในโอกาสฉลองสำนักสงฆ์ธุดงคสถานสันติวรญาณ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗
สาเหตุที่นำบทความนี้มาเผยแพร่ก็เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างถูกต้องแก่พุทธศาสนิกชนว่าการบำเพ็ญสมถะภาวนา หรือการทำสมาธิ ทำจิตให้สงบ ต่างจากวิปัสสนาภาวนาอันเป็นปัญญาที่ช่วยให้หลุดพ้นจากวัฏฏสงสารอย่างไร รวมถึงวิธีในการบำเพ็ญวิปัสสนาภาวนาด้วย ..................................................................... การภาวนา ( ๑ )
การเจริญภาวนานั้น เป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุด และยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนา จัดเป็นแก่นแท้และสูงกว่าฝ่ายศีลมากนัก การเจริญภาวนานั้น มี ๒ อย่างคือ ( ๑ ) สมถภาวนา ( การทำสมาธิ ) และ ( ๒ ) วิปัสสนาภาวนา ( การเจริญปัญญา ) แยกอธิบายดังนี้คือ
( ๑ ) สมถภาวนา ( การทำสมาธิ )
สมถภาวนา ได้แก่การทำจิตให้เป็นสมาธิ หรือเป็นฌาน ซึ่งก็คือการทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านแส่ส่ายไปยังอารมณ์อื่นๆ วิธีภาวนานั้น มีมากมายหลายร้อยชนิด ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบัญญัติแบบอย่างเอาไว้ ๔0 ประการ เรียกว่า กรรมฐาน ๔0 ซึ่งผู้ใดจะเลือกใช้วิธีใดก็ได้ แล้วแต่สมัครใจ ทั้งนี้ย่อมสุดแล้วแต่อุปนิสัยและวาสนาบารมีที่ได้เคยสร้างสมอบรมมาแต่ในอดีตชาติ เมื่อสร้างสมอบรมมาในกรรมฐาน*กองใด จิตก็มักจะน้อมชอบกรรมฐานกองนั้นมากกว่ากองอื่นๆ และการเจริญภาวนาก็ก้าวหน้าเร็วและง่าย
แต่ไม่ว่าจะเลือกปฏิบัติวิธีใดก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องต้องรักษาศีลให้ครบถ้วนบริบูรณ์ตามเพศของตนเสียก่อน คือหากเป็นฆราวาสก็ต้องรักษาศีล ๕ เป็นอย่างน้อย หากเป็นสามเณรก็จะต้องรักษาศีล ๑0 หากเป็นพระก็จะต้องรักษาศีลปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อให้บริบูรณ์ ไม่ให้ขาดและด่างพร้อย จึงจะสามารถทำจิตให้เป็นฌานได้ หากศีลยังไม่มั่นคง ย่อมเจริญฌานให้เกิดขึ้นได้โดยยาก เพราะศีลย่อมเป็นบาทฐาน ( เป็นกำลัง ) ให้เกิดสมาธิขึ้น อานิสงส์ของสมาธินั้นมีมากกว่าการรักษาศีลอย่างเทียบกันไม่ได้ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า แม้จะได้อุปสมบทเป็นภิกษุรักษาศีล ๒๒๗ ข้อไม่เคยขาด ไม่ด่างพร้อยมานานถึง ๑00 ปี ก็ยังได้บุญกุศลน้อยกว่าผู้ที่ทำสมาธิเพียงจิตสงบนานเพียงชั่วไก่กระพือปีก ช้างกระดิกหู
คำว่า จิตสงบ ในที่นี้หมายถึงจิตที่เป็นอารมณ์เดียวเพียงชั่ววูบ ที่พระท่านเรียกว่า ขณิกสมาธิ คือสมาธิเล็กๆน้อยๆ สมาธิแบบเด็กๆที่เพิ่งหัดตั้งไข่ คือหัดยืนแล้วก็ล้มลง แล้วก็ลุกขึ้นยืนใหม่ ซึ่งเป็นอารมณ์จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น งบวูบลงเล็กน้อย แล้วก็รักษาไว้ไม่ได้ ซึ่งยังห่างไกลต่อการที่จิตถึงขั้นเป็นอุปจารสมาธิและฌาน แม้กระนั้นก็ยังมีอานิสงส์มากมายถึงเพียงนี้ โดยหากผู้ใดจิตทรงอารมณ์อยู่ในขั้นขณิกสมาธิแล้วบังเอิญตายลงในขณะนั้น อานิสงส์นี้จะส่งผลให้ได้ไปบังเกิดในเทวโลกชั้นที่ ๑ คือชั้นจาตุมหาราชิกา หากจิตยึดในไตรสรณคมน์ ( มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันสูงสุด ) ด้วย ก็เป็นเทวดาชั้น ๒ คือดาวดึงส์ ( ยังมีต่อ )
|