บทความเรื่องนี้ตัดทอนมาจากพระนิพนธ์เรื่อง วิธีสร้างบุญบารมี ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายกองค์ที่ ๑๙ ( หัวข้อ ภาวนา ) ซึ่งเป็นหัวข้อธรรมที่พิมพ์แจกเนื่องในโอกาสฉลองสำนักสงฆ์ธุดงคสถานสันติวรญาณ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗
สาเหตุที่นำบทความนี้มาเผยแพร่ก็เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างถูกต้องแก่พุทธศาสนิกชนว่าการบำเพ็ญสมถะภาวนา หรือการทำสมาธิ ทำจิตให้สงบ ต่างจากวิปัสสนาภาวนาอันเป็นปัญญาที่ช่วยให้หลุดพ้นจากวัฏฏสงสารอย่างไร รวมถึงวิธีในการบำเพ็ญวิปัสสนาภาวนาด้วย
..................................................................... การภาวนา ( ๕ )
ฉะนั้น ทั้งสมาธิและวิปัสสนาจึงเป็นทั้งเหตุและผลของกันและกัน และอุปการะซึ่งกันและกัน จะมีวิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้นโดยขาดกำลังสมาธิสนับสนุนมิได้เลย อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องใช้กำลังของขณิกสมาธิเป็นบาทฐานในระยะเริ่มแรก สมาธิจึงเปรียบเหมือนกับหินลับมีด ส่วนวิปัสสนานั้น เหมือนกับมีดที่ได้ลับกับหินคมดีแล้ว ย่อมมีอำนาจถากถางตัดฟันกิเลสทั้งหลายให้ขาดและพังลงได้
อันสังขารธรรมทั้งหลายนั้นล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวเราของเราแต่อย่างไร ทุกสรรพสิ่งล้วนแต่เป็นแค่ดิน น้ำ ลม ไฟ มาประชุมรวมตัวกันชั่วคราวตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น ในเมื่อจิตได้เห็นความเป็นจริงเช่นนี้แล้ว จิตก็จะละคลายจากอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่น โดยคลายกำหนัดในลาภ ยศ สรรเสริญ สุขทั้งหลาย ความโลภ ความโกรธ และความหลงก็เบาบางลงไปตามลำดับปัญญาญาณจนหมดสิ้นกิเลสทั้งมวล บรรลุซึ่งพระอรหัตผล
ฉะนั้น การที่จะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพยายามทำสมาธิให้ได้เสียก่อน หากทำสมาธิยังไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่จะเกิดวิปัสสนาปัญญาขึ้น สมาธิจึงเป็นบันไดขั้นต้นที่จะก้าวไปสู่การเจริญวิปัสสนาปัญญาเท่านั้น ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่า ผู้ใดแม้จะทำสมาธิจนจิตเป็นฌานได้ถึง ๑00 ปี และไม่เสื่อม ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ทีมองเห็นความเป็นจริงที่ว่า สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้จะเห็นเพียงชั่วขณะจิตก็ตาม
ดังนี้ จะเห็นได้ว่าวิปัสสนาภาวนานั้น เป็นสุดยอดของการสร้างบุญบารมีโดยแท้จริง และเป็นการกระทำทีไม่เหนื่อยยากลำบาก ไม่ต้องแบกหาม ไม่ต้องลงทุนหรือเสียทรัพย์แต่อย่างใด แต่ก็ได้กำไรมากที่สุด เมื่อเปรียบกับการให้ทานเหมือนกับกรวดและทราย ก็เปรียบวิปัสสนาได้กับเพชรน้ำเอก ซึ่งทานย่อมไม่มีทางจะเทียบศีล ศีลก็ไม่มีทางที่จะเทียบกับสมาธิ และสมาธิก็ไม่มีทางที่จะเทียบกับวิปัสสนา
แต่ตราบใดที่เราท่านยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน ก็ต้องเก็บเล็กผสมน้อย โดยทำทุกทางเพื่อความไม่ประมาท โดยทำทั้งทาน ศีล และภาวนา สุดแต่โอกาสจะอำนวยให้ จะถือว่าการเจริญวิปัสสนานั้นลงทุนน้อยที่สุด แต่ได้กำไรมากที่สุด ก็เลยทำแต่วิปัสสนาอย่างเดียว ไม่ยอมลงทุนทำบุญให้ทานใดๆไว้เลย เมื่อเกิดชาติหน้า เพราะเหตุที่ยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน ก็เลยมีแต่ปัญญาอย่างเดียว ไม่มีจะกินจะใช้ ก็เห็นจะเจริญวิปัสสนาให้ถึงฝั่งพระนิพพานไปไม่ได้เหมือนกัน ( ยังมีต่อ )
|