ท่านปัญญานันทภิกขุ ได้เขียนเป็นคำนำไว้ในหนังสือ อตัมมยตา มนตราสำหรับชีวิต ว่าปาฐกถา อตัมมยตา นี้เป็นคำเทศน์ตอนสุดท้ายของท่านพุทธทาส ก่อนที่จะละโลกนี้ไป และได้บอกฝากว่า อตัมมยตานี้เป็นหลักธรรมสำคัญที่ควรศึกษา และนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยการพิจารณาให้เห็นทุกข์ในสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง อบายมุขทั้งหลาย ให้เห็นว่าไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสาร จนเกิดความรู้สึกในใจว่าเบื่อหน่าย ไม่หลงมัวเมาในสิ่งนั้นอีก
เมื่อเห็นทุกข์ เห็นโทษ ขั้นต่อไปก็เป็นดังที่ท่านพุทธทาสว่าคือ กูไม่เอากับมึงอีกแล้ว กูหย่าขาดกับมึงแล้ว
เมื่อคิดว่าจะเลิก ในใจก็มีความเป็นพุทธะเกิดขึ้น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแจ่มใส
สำหรับความหมายของอตัมมยตา ( ท่านว่าคำนี้เป็นหมันในบาลีมานาน ) ท่านพุทธทาสได้ให้ความหมายว่าเป็น ความที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งนั้นอีกต่อไป ความที่จะไม่สำเร็จมาจากปัจจัยนั้นๆอีกต่อไป ความที่อยู่เหนืออำนาจปรุงแต่งของเหตุปัจจัยนั้นๆโดยสิ้นเชิง
นี่คือความหมายที่ท่านพุทธทาสบอกไว้ว่าควรทำความเข้าใจ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งดูแล้วน่าจะนำไปใช้ได้ง่ายๆ
หากในการปฏิบัติอานาปนสติทั้ง ๑๖ ขั้น อตัมมยตา นี้ จัดอยู่ในขั้นเกือบสุดท้าย โดยเป็นขั้นคั่นแดนระหว่างโลก และโลกุตละ ขอยกคำบรรยายท่านมาดังนี้ค่ะ
ขอไล่ทบทวนอีกทีว่า เห็นอนิจจตา ไม่เที่ยง , เห็นทุกขตา ความเป็นทุกข์ , เห็นอนัตตา ความไม่ใช่ตน , เห็นธัมมัฏฐิตตตา ความที่ตั้งอยู่ตามธรรมดา , ธัมมนิยามตา เพราะมันมีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่อย่างนั้น , อิทัปปัจจยตา คือต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย , แล้ว สุญญตา ว่างจากตัวตน , แล้วก็ ตถาตา เช่นนั้นเอง , อตัมมยตา พอกันทีสำหรับการเกี่ยวข้อง สำหรับการผูกพันด้วยอุปาทาน พอกันที หยุดกันที นี่ ขั้นเดียวของอนิจจนุปัสสี เห็นความไม่เที่ยงนี้มันขยายออกไปได้อย่างนี้
.... ความคลาย คลายกำหนัด คลายความยึดมั่นเพราะเห็นอนิจจัง จนกระทั่งเห็นอตัมมยตา ๙ ตาอย่างที่ว่ามา เห็นครบ ๙ ตาแล้ว มันก็คลาย คลายความยึดมั่น มันจะคลายมากคลายน้อยก็แล้วแต่การปฏิบัติของบุคคลนั้น ในโอกาสนั้น เวลานั้น ถ้ามีวิราคะมาก คลายมาก คลายหมดก็เป็นพระอรหันต์ไปเลย ถ้าคลายไม่หมด คลายในบางระดับระยะ ก็เป็นเพียงพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อะไรไปก็ได้ แล้วแต่ว่าวิราคะรุนแรงเท่าไร วิราคะจะรุนแรงเท่าไร ได้เท่าไร มันก็เนื่องมาจากการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มากน้อยเท่าใด
แสดงว่าจริงๆแล้วคงไม่ง่ายนักที่เราท่านจะได้เห็นอตัมมยตา โชคดีแล้วค่ะที่ปราชญ์ทางศาสนาท่านรวบเข้าให้ง่ายจนเราเข้าใจได้ จนสามารถปฏิบัติตามได้ เพื่อชีวิตที่สงบสุขในที่สุด ..................................................................... อ้างอิง พุทธทาสภิกขุ อตัมมยตา มนตราสำหรับชีวิต หนังสือที่ระลึกเนื่องในการร่วมบุญหล่อพระประธานวัดอตัมมยตาราม (จัดที่โรงเรียนพุทธธรรม วัดชลประทานรังสฤษฏ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พ.ศ.๒๕๔๖
พุทธทาสภิกขุ อานาปนสติ การหายใจที่ดับทุกข์ได้ ( คู่มือปฏิบัติอานาปนสติสมบูรณ์แบบ ) ธรรมสภา ๒ ๖ ถฯฯบรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ ๑0๑๗0
|