มาต่อกันที่หมวดที่ ๓ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมวดนี้มี ๔ ขั้น เช่นกัน นั่นคือเราจะศึกษากันที่ขั้น ๙ ๑๒ ของทั้งหมด ยังคงต้องขอยกคำบรรยายของท่านพุทธทาสที่ธรรมสภารวบรวมไว้ทั้งในหนังสือชื่อ อานาปนสติ ลมหายใจที่ดับทุกข์ได้ ( * ) และในหนังสือชื่อ การทำสมาธิวิปัสสนา ( ** ) มาร้อยเรียงกันเช่นเดิมค่ะ เรื่องจิตนี้จะเป็นเรื่องทั่วไปก็ได้ เป็นเรื่องหลักธรรมในพุทธศาสนาก็ได้ หลักธรรมในพุทธศาสนาจะเป็นเรื่องจิตไปเสียทั้งนั้น เป็นการศึกษารู้เรื่องจิต เป็นการปฏิบัติเกี่ยวกับจิต ควบคุมจิต บังคับจิต อบรมจิต จนเป็นจิตชนิดที่อยู่สูงสุด อยู่เหนืออิทธิพลของสิ่งทั้งปวง เหนืออิทธิพลของความดี ความชั่ว บุญ บาป ทุกข์ สุข เหนือความเป็นบวก เหนือความเป็นลบ แล้วจะมีอะไรเหลือที่เป็นปัญหา มันไม่มี เพราะเหตุนี้ ( * หน้า ๙๗ ) จิตนี้มันเป็นธาตุชนิดหนึ่ง แต่เป็นธาตุที่ไม่มีรูปร่าง มันเป็นธาตุฝ่ายนาม....... คือไหวได้เร็ว รู้สึกได้เร็ว แต่มันก็ต้องอาศัยธาตุที่เป็นรูป หรือเป็นวัตถุ คือที่เป็นร่างกายแล้วก็สามารถแสดงบทบาทของมันได้เต็มที่ ดังนั้นมันจึงไม่อาจจะอยู่ได้ตามลำพัง มันก็ต้องอาศัยร่างกาย จะเรียกว่าเป็นเหมือนที่ทำงานก็ได้ ที่พักอาศัยก็ได้ ที่แสดงบทบาทอะไรก็ได้ เป็นธาตุชนิดหนึ่งแล้วก็อาศัยอยู่กับธาตุอีกชนิดหนึ่ง รวมกันเป็น ธาตุ และเรียกสั้นๆว่า นามรูป ( * หน้า ๙๘ ) ขอให้จำไว้ให้ดี ถ้าจิตทำหน้าที่นึกคิด ก็เรียกมันว่าจิต ถ้าจิตทำหน้าที่รู้สึก ก็เรียกมันว่ามโน ถ้าจิตมันทำหน้าที่รู้แจ้งทางอายตนะ ก็เรียกมันว่าวิญญาณ จำคำว่าจิต คำว่ามโน คำว่าวิญญาณไว้ในลักษณะที่ต่างกันอย่างนี้ ทีนี้มันยังมีส่วนที่แยกออกไปโดยละเอียดจากนั้น ถ้าจิตมันไปทำหน้าที่สำหรับรู้สึกอารมณ์ ค่าของอารมณ์ เช่น สุข ทุกข์ เป็นต้น ก็เรียกว่าเวทนา ถ้าทำหน้าที่จำได้หมายมั่นอะไรก็เรียกว่าสัญญา ถ้ามันทำหน้าที่นึกคิด ปรุงแต่งอะไรก็เรียกว่าสังขาร ถ้ามันทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ทางอายตนะก็เรียกว่าวิญญาณอีกเหมือนกัน ( * หน้า ๑๐๑ ) .......ว่ามันหมายความได้หลายอย่าง หลายอาการ หลายหน้าที่การงานอย่างนี้ แต่ทุกอย่างนั้นมันก็เกี่ยวกับเรื่องของคน เรื่องของคนเราในชีวิตประจำวัน ถ้าประพฤติกระทำกับมันอย่างถูกต้อง ก็ได้รับผลเป็นที่พอใจ ถ้าทำไม่ถูกต้องก็ได้รับผลร้าย กลายเป็นโทษ....... จิตมันมีความสำคัญอย่างนี้ จิตมันก็ต้องรู้จักตัวเอง แล้วต้องรู้จักแก้ไขปรับปรุงตัวเอง.... ( * หน้า ๑๐๒ ๑๐๓ ) ขั้นที่ ๙ รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตทั้งปวง ตอนแรกเรียกว่าการรู้ทั่วถึงในสิ่งที่เรียกว่าจิต .......... มีหลักเกณฑ์ให้กำหนดว่า จิตนี้มีโลภะ หรือปราศจากโลภะ จิตมีโทสะ หรือปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ หรือปราศจากโมหะ จิตฟุ้งซ่าน หรือสงบ จิตประกอบด้วยคุณอันใหญ่หลวง หรือไม่ประกอบด้วยคุณอันใหญ่หลวง จิตมีอันอื่นยิ่งกว่า หรือไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตตั้งมั่น หรือจิตไม่ตั้งมั่น จิตหลุดพ้นจากอารมณ์ จากความยึดมั่นในอารมณ์ หรือว่าไม่หลุดพ้น ๘ ลักษณะ ๘ คู่....... ( * หน้า๑๐๖ ๑๐๗ ) สิ่งที่เราจะกำหนดรู้ไว้เป็นหลักมันก็พอจะมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ โลภะ โทสะ หรือโมหะ บางทีก็เรียกว่า ราคะ หรือโกธะ หรือโมหะ หรือโลภ โกรธ หลง นั่นแหละ ถ้าจิตมันมีลักษณะดึงเข้ามาหาตัว ดึงอะไรเข้ามาหาตัว ดึงอารมณ์เข้ามาหาตัว ก็เรียกว่าจิตมีราคะ หรือมีโลภะ คือมันต้องการ หรือมันกำหนัดในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ....... ถ้ามันผลักออก มันตีออก หรือมันทำลายเสียอย่างนี้มันก็เป็นจิตที่เป็นหมวดโทสะ หรือโกธะ แต่ถ้ามันโง่ ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่วิ่งวนอยู่รอบๆด้วยความสงสัย ก็เรียกว่ามันเป็นประเภทโมหะ โมหะคือไม่รู้ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จะดึงเข้ามาก็ไม่ใช่ จะผลักออกไปก็ไม่ใช่ ก็ได้แต่วิ่งวนอยู่รอบ ( * หน้า ๑๐จ ๑๐๘ ) มีโลภะหรือไม่มีโลภะ มีโทสะ หรือไม่มีโทสะ มีโมหะ หรือไม่มีโมหะ นี้ก็พอจะรู้จักกันดี เป็นคำพูดธรรมดา จิตฟุ้งซ่าน หรือไม่ฟุ้งซ่าน ก็พอจะรู้จัก จิตมีคุณธรรมอันใหญ่หลวงหรือไม่นี้ บางคนอาจจะไม่รู้จัก คือมีคุณธรรมที่ดีกว่าธรรมดา สูงกว่าธรรมดา สูงกว่าที่มนุษย์ธรรมดาจะต้องมี ท่านเล็งไปถึงการมีสมาธิจิตที่เป็นรูปฌาน หรืออรูปฌาน เป็นต้น ถ้ามี ก็เรียกว่ามีจิตที่มีคุณธรรมอันใหญ่ หรือสูงกว่าธรรมดา มีหรือไม่มี ( * หน้า ๑๐๖ ) จงรู้จักลักษณะของจิตคนเรานี้ ว่ามันกระทำต่ออารมณ์ในลักษณะอย่างนี้แหละ ดึงเข้ามาก็มี ผลักออกไปก็มี วิ่งวนอยู่รอบๆก็มี........ ถ้ามันเป็นจิตที่มีคุณธรรมอันสูง มันก็ปราศจากอาการเหล่านี้ คือสงบ หรือว่ามันจะกระทำในลักษณะที่ถูกต้อง ถ้าจะดึงเข้ามาหา ก็ในลักษณะที่ถูกต้อง มีประโยชน์ หรือผลักออกไปหรือทำลายเสีย ก็ในลักษณะที่เป็นประโยชน์ หรือแม้จะวนอยู่รอบๆ ก็ในลักษณะที่จะเข้าถึงความจริง อย่างนี้ก็ยังได้ ( * หน้า ๑๐๘ ) จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าหรือไม่ นี่ก็แปลว่าเรามีจิตชนิดสูงสุดหรือยังนั่นเอง ถ้ายังมีจิตอื่นสูงกว่าอยู่ ก็รู้ว่ามันยังเป็นจิตที่ยังต่ำอยู่ ( * หน้า ๑๐๖ ) จิตตั้งมั่น ตั้งมั่นในลักษณะที่เป็นสมาธินั่นแหละ จะตั้งมั่นเพราะบังคับจิตได้ หรือตั้งมั่นเพราะหมดกิเลสแล้วก็ได้ แต่ขอให้มันมีความตั้งมั่น หรือไม่ตั้งมั่น ทีนี้ก็พอจะรู้จักได้ พอที่จะรู้สึกได้ ( * หน้า ๑๐๖ ) ถ้ามันเป็นจิตที่ตั้งมั่น มันก็ไม่มีการดึงเข้า หรือผลักออก หรือไม่วิ่งวนอยู่รอบๆ ( * หน้า ๑๐๘ ๑๐๙ ) .........จิตหลุดพ้นแล้ว หรือจิตยังไม่หลุดพ้น ข้อนี้มันยาก คนธรรมดาจิตยังไม่หลุดพ้น แล้วจะไปรู้จิตที่หลุดพ้นแล้วได้อย่างไร มันก็ต้องเป็นเรื่องที่คำนวณว่าเดี๋ยวนี้จิตไม่หลุดพ้นมีลักษณะอย่างไร เป็นทุกข์ทรมานอย่างไร ถ้ามันเป็นตรงกันข้าม ก็รู้ว่าจิตมันหลุดพ้น ถ้ามันยังอยู่อย่างนี้ ก็ยังไม่หลุดพ้น ก็พอจะคำนวณให้รู้ได้ว่าจิตหลุดพ้น หรือยังไม่หลุดพ้น ( * หน้า ๑๐๗ ) ถ้าจิตหลุดพ้นแล้ว ก็ไม่มีอาการเหล่านั้นเลย ( ดึงเข้ามา ผลักออกไป วิ่งวนอยู่รอบๆ) ( * หน้า ๑๐๙ ) ขั้นที่ ๙ นี้ กำหนดที่ตัวจิตเอง อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก จิตกำลังเป็นอย่างไร เราหายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่ ....... จิตนี้กำลังเป็นอย่างไร นี้ก็ต้องแล้วแต่ว่าจิตกำลังเป็นอย่างไร ....... คือให้เรารู้จักจิตที่มันเป็นไปได้กี่ชนิดแก่เรานี้ จิตดี หรือไม่ดี จิตสูงหรือต่ำ ก็รู้ได้เองว่าจิตกำลังเป็นอย่างไร ก็นั่งดูมันอยู่ก็แล้วกัน นี้เรียกว่าขั้นที่ ๙ จนคล่องแคล่วดี จนคุ้นเคยกันดี รู้จักกันดี ก็เลื่อนไปขั้นที่ ๑๐ ( * *หน้า ๑๒๗ ) สำหรับขั้นถัดไปของหมวดนี้ ขอพักไว้ก่อน ยกยอดไปเอนทรี่ต่อไปนะคะ
|