คราวที่แล้วเราเดินผ่านมหาปราสาท(ที่มีหลังคา 7 ชั้น)
ผ่านหอคอย เข้าไปถึงตำหนักองค์กลางแล้ว
หากมองจากแผนผัง เราจะเดินต่อเข้าไปยังพระตำหนัก
ที่เห็นเป็นอาคารขนาดเล็กที่เรียงรายกันอย่างเป็นระเบียบ
.
ตำหนักเหล่านี้มีขนาดใหญ่เล็กตามความสำคัญของผู้เป็นเจ้าของ
เช่น ตำหนักกลาง จะมีขนาดใหญ่ที่สุดเพราะเป็นที่ประทับของพระอัครมเหสี
ตำหนักใต้ เป็นที่ประทับของพระพันปีหลวง ตำหนักเหนือเป็นที่ประทับของ
พระมเหสี (รองจากพระอัครมเหสี) ซึ่งที่ตำหนักเหนือนี่เองพระนางอเลนันดอ
ได้ประทับอยู่แต่แรกสร้างวัง จนถึงเสียเมืองแก่อังกฤษในพ.ศ. 2428
ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ของไทย
.
ในสมัยของพระเจ้ามินดงภายในวังแห่งนี้คงจะคึกคักมีชีวิตชีวา
ตำหนักต่าง ๆ ไม่ว่างเว้นผู้คน ทั้งเจ้านาย และนางกำนัล
แต่เมื่อถึงสมัยของพระเจ้าสีป่อ ผู้คนที่ควรจะได้ครอบครองพระตำหนักก็ลดลง
เริ่มต้นที่.......
เจ้าหญิงสะลิน พระราชธิดาของพระเจ้ามินดุง
พระเจ้ามินดุงทรงตั้งให้เจ้าหญิงสะลิน เป็นมกุฏราชกุมารี และอยู่ใน
ตำหนักตะบินแดง ซึ่งเป็นตำหนักของผู้ที่จะได้เป็นอัครมเหสี
ของพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป แต่เมื่อพระเจ้าสีป่อขึ้นครองราชย์
เจ้าหญิงสะลินก็ออกบวชเป็นชี ว่ากันว่าเพื่อปลอดภัยจากพระนางศุภยลัต
แต่ไม่นานเจ้าหญิงสะลินก็สิ้นพระชนม์
.
หรือ...แม้แต่พระนางศุภยาคยีพี่สาวของพระนางศุภยลัต
ซึ่งน่าจะได้ประทับอยู่ตำหนักกลาง ในฐานะของพระอัครมเหสี
ของพระเจ้าสีป่อก็ถูกกล่าวหาว่าทำเสน่ห์
ต้องกลับไปอยู่ที่ตำหนักเหนือกับพระนางอเลนันดอพระมารดา
พระนางศุภยลัตจึงได้ประทับอยู่ตำหนักกลาง
และใช้เป็นที่ประสูติลูกเธอต่อมา
.
ตำหนักอื่น ๆ ที่ควรมีเจ้าจอมตามธรรมเนียมที่เคยเป็นมา
ว่าพระมหากษัตริย์ต้องมีสนมกำนัลมาก ๆ จึงนับเป็นเกียรติยศแก่แผ่นดิน
ก็กลายเป็นตำหนักว่าง ๆ เสียงที่เคยคึกคัก พูดคุย หรือแม้แต่ถกเถียงกัน
เปลี่ยนเป็นเสียงกระซิบกระซาบ หาทางหลบหน้า หนีเอาตัวรอดไปพร้อมทรัพย์สิน
ที่พอจะติดตัวไปบ้าง ทิ้งให้ตำหนักที่เคยอยู่ต้องร้าง....และเงียบสงัด
.
ภาพด้านล่างเป็นภาพตำหนักใต้ ดูใหญ่โตทีเดียว
แต่ในยามเงียบงันก็ดูจะน่ากลัวไม่น้อย

เดินเลยลึกเข้าไป..โน่น..ถึงท้ายวัง
(ขอนอกเรื่องนิดนึงค่ะ ที่พระราชวังมัณฑะเลย์วันนั้นเงียบมาก
ป้ารุเองธรรมดาจะไม่ค่อยแตกกลุ่มไปไหน
แต่ด้วยเหตุที่อ่านพม่าเสียเมืองของอาจารย์คึกฤทธิ์
จนแทบจะจดจำได้ทุกประโยค เช่นเดียวกับหลาย ๆ ท่าน
ทำให้อยากจะเดินไปท้ายวังมาก ๆ อยากเห็นแม้จะเป็นเพียงพื้นที่ว่างเปล่า
จะเดินไปคนเดียวก็หวิว ๆ อยู่บ้าง ในที่สุดก็มีแนวร่วมไปด้วยกัน 2-3 คน
ค่อยสบายใจขึ้นหน่อย ตอนนั้นคิดถึงเพื่อน ๆที่ oknation เป็นพิเศษค่ะ)
.
ดูภาพท้ายวังด้านล่างกันก่อนเลยค่ะ

บริเวณนี้ล่ะค่ะ ไม่ใช่ก็น่าจะใกล้เคียง เป็นที่ที่ป้ารุตั้งใจจะเห็นให้ได้
.
ในสมัยของพระเจ้ามินดุง เวลามีละครในวัง
ก็จะปลูกโรงละครที่สนามหลังวังแถบนี้
เพื่อพระองค์จะได้ประทับทอดพระเนตรได้จากท้องพระโรงหลัง
เมื่อถึงสมัยของพระเจ้าสีป่อ......
พระองค์กลับเกรงภัยไม่เสด็จไปท้องพระโรงหลังในเวลาค่ำคืน
เพราะอะไร
เหตุผลคือ......วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2422
มีการเตรียมงานใหญ่ 2 งาน
ด้านหน้าวัง วงปี่พาทย์ และตัวละครพร้อมจัดการแสดง
เสียงฆ้องกลองดังกึกก้อง ได้บรรยากาศสนุกสนาน
ด้านท้ายวัง หลุมขนาดใหญ่ ท่อนจันทร์ และถุงผ้าแดง
ก็เตรียมพร้อม รวมไปถึงเพชฌฆาต ในบรรยากาศที่น่าสพึงกลัว
.
ขณะที่ทางหน้าวังมีเสียงปรบมือชอบใจกับการแสดง เสียงหัวเราะ
เสียงเพลงไพเราะที่นักร้องขับขาน ทางท้ายวังกลับกลายเป็นเสียงหวีดร้อง
ของเหล่าเจ้านาย และนางในที่กำลังหวาดกลัว ปะปนไปกับเสียง
ของเด็ก ๆ ร้องไห้ที่ต้องถูกพรากจากอกแม่
และเมื่อสิ้นเสียงทั้งหมด นั่นหมายความว่า
ศัตรูของพระนางศุภยลัตได้ลงไปอยู่ในหลุมที่ขุดเตรียมไว้
และถูกฝังกลบจนมิอาจเป็นภัยของพระนางได้อีกต่อไป
.
แต่ในที่สุดด้วยการปกครองที่ขาดคุณธรรม ทำให้บ้านเมืองระส่ำระสาย
ชาวบ้านเดือดร้อนไปทุกหนแห่ง จนต้องถูกยึดเป็นเมืองขึ้น
ผลสุดท้ายพระเจ้าสีป่อต้องถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองรัตนคิรี ในอินเดีย
อีก 30 ปีต่อมา ก็สิ้นพระชนม์ลงใน พ.ศ. 2458 ที่เมืองนั้นเอง
พระนางศุภยลัตซึ่งถูกเนรเทศพร้อมกัน
ได้รับอนุญาตให้กลับเมืองร่างกุ้ง และสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2468
พระนางอเลนันดอก็ถูกเนรเทศไปรัตนคิรีด้วย แต่เกิดไปทะเลาะกับ
พระนางศุภยลัต จึงถูกส่งมาคุมขังไว้ที่เมาะลำเลิงจนสิ้นพระชนม์
.
ภาพเขียนล่างเป็นภาพเขียนตอนที่พระเจ้าสีป่อ และ พระนางศุภยลัต
ถูกเนรเทศ ส่วนภาพถ่ายที่อยู่ถัดไป คือประตูที่อยู่ในภาพเขียน
อาจจะไกลไปหน่อย เพราะถ่ายจากอีกฟากของถนนค่ะ


ภาพต่อไปคือ สถูปที่บรรจุพระศพของพระนางศุภยลัตที่เมืองร่างกุ้ง

อย่างน้อยที่สุดพระนางก็ได้กลับมาสู่บ้านเกิดเมืองนอน
แม้จะไม่ใช่มัณฑะเลย์ก็ยังเป็นเขตประเทศพม่า
คนที่นั่นเล่าว่าในขณะที่ประทับอยู่ที่ร่างกุ้ง
พระนางก็ยังคงถือประเพณีปฏิบัติแบบเดียวกับเมื่อครั้งรุ่งเรืองในอดีต
ชาวพม่าหลายยังคงโกรธ ยังคงเคียดแค้นกับสิ่งที่พระนางเคยทำ
แต่ก็มีหลายคนให้อภัยด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อพระเจ้าสีป่อ
และพระนางศุภยลัตขึ้นครองราชสมบัตินั้นพระชันษายังน้อยนัก
(20 กับ 18) ความโกรธของชาวพม่าจึงไปตกอยู่ที่พระนางอเลนันดอ
ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้บงการ และ อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ร้ายทั้งปวง
.
วันนี้เล่าเรื่องยาวอีกแล้ว เหนื่อยกันมั้ยคะ
อย่าเพิ่งเหนื่อยเลยค่ะ ป้ารุยังอยากมีเรื่องอยู่ (รูปด้วย)