วันนี้ เป็นวันที่ ๒๘ เมษายน ท่านจำได้ไหมเอ่ย ย้อนหลังกลับไป
๕๙ ปีที่ผ่านมา เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ของปี พ.ศ.๒๔๙๓
ตรงกับวันศุกร์ ๑๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล วันนั้น
คือวันมหามงคลอีกวันหนึ่งที่ยังความปลาบปลื้มปีติให้กับประชาชนคนไทยตราบทุก
วันนี้ นั่นคือ
เป็นวันประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหมั้นกับ
"หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร" ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๙๒ และเสด็จนิวัตประเทศไทยพร้อมกันเมื่อ
๒๔ มีนาคม ๒๔๙๓ การเสด็จนิวัตครั้งนี้
เพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิง "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล"
แต่ผมขอแทรกสิ่งควรรู้ไว้ตรงนี้สักนิด ในปีนี้ ๒๔๙๓ นี้
มีเหตุการณ์เป็นมงคลแก่ประเทศชาติ และมวลมหาประชาชนชาวไทยถึง ๒
เหตุการณ์ด้วยกัน คือในวันที่ ๕ พฤษภาคม นอกจากมีการประกอบ
"พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" ตามโบราณราชประเพณีแล้ว
ก่อนจะถึงวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือวันที่เรียกกันว่า
"วันฉัตรมงคล" นี่แหละ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็โปรดเกล้าฯ
ให้จัดการ "พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส" ขึ้นที่วังสระปทุมในวันนี้
คือวันที่ ๒๘ เมษายน ของเมื่อ ๕๙ ปีที่แล้ว
ฉะนั้น วันนี้ จึงเป็นวัน "พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส"
ที่เรา-เหล่าพสกนิกรไทย และผู้สุขร่มเย็นอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารทั้งหลาย
ขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัย
ขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระบรมราชินีนาถ พระราชโอรส พระราชธิดา และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
จงทรงพระเจริญ จงทรงมีจิตพระเกษมสำราญ ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์
แข็งแรง ตลอดกาล และตลอดไป
ก็เป็นเกร็ดความรู้ที่ควรทราบไว้ด้วยนะครับว่า
ในวันราชาภิเษกสมรสนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงโปรดเกล้าฯ
ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนา "หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร"
ขึ้นเป็น "สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์"
เมื่อพูดถึงวันพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส แล้ว
สมควรต้องกล่าวต่อเนื่องถึงวัน "พระราชพิธีฉัตรมงคล" ๕ พฤษภาคม ด้วย
คือหลังจากสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น
สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เมื่อ ๒๘ เม.ย. ครั้นถึงวันที่ ๕ พฤษภาคม
ปีเดียวกัน รัฐบาลไทยได้น้อมเกล้าฯ จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถวาย
เรียกว่าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบตามโบราณราช
ประเพณีแล้วทุกประการ
และในกาลนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น
"สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี"
ครับ..ถ้าจะทิ้งความไว้แค่นี้ บางท่านอาจสงสัยใคร่ถามว่า
ก็ได้ยินถึงการออกพระนาม "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี"
ว่า "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" มิใช่หรือ
มีความเป็นมาอย่างไร?
ก็อย่างนี้ครับ ในระหว่างวันที่ ๒๒ ตุลาคม ถึงวันที่ ๕
พฤศจิกายน ปี พ.ศ.๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
ณ วัดบวรนิเวศ มีกำหนด ๑๕ วัน
ได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็น
"ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ
ทรงมอบหมายให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ปฏิบัติหน้าที่
"พระมหากษัตริย์" แทนพระองค์ในระหว่างนั้น
ก็ตามราชประเพณี
เมื่อสมเด็จพระราชินีปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
เคยมีประกาศให้ออกพระนามว่า "สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ"
ต่อมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้เฉลิมพระอภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ว่า
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นับแต่นั้นมา นับว่าเป็น
"พระบรมราชินีนาถ" องค์ที่ ๒ ของประเทศไทย
โดยพระองค์แรกคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี
พระบรมราชินีนาถ ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น
"สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง"
โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๕
ทรงแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ขณะพระองค์เสด็จประพาสยุโรป
ก็พอเข้าใจกันแล้วนะครับ ในฐานะที่เราเป็นคนไทย เล็กๆ น้อยๆ
เหล่านี้ทราบกันไว้บ้างก็ดี ก็มาต่อถึงเรื่องวันฉัตรมงคล "๕ พฤษภา"
ที่จะถึงในอีกไม่กี่วันนี้ไปเลย หลายท่านอาจสงสัย คือ ผมบอกว่า
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓
ทีนี้นับดูแล้ว จาก พ.ศ.๒๔๙๓ จนถึง พ.ศ.๒๕๕๒ คือปีนี้-วันนี้ ก็ได้
๕๙ ปี เท่านั้น!
หมายความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์มา
๕๙ ปีเท่านั้น ก็แล้วเมื่อ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ คือเมื่อ ๓
ปีที่ผ่านมา
เราเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ขจรกำจายพระเกียรติเกริกไกรไปทั้งโลกบนความหมาย
Diamond Jubilee พระมหากษัตริย์ไทย-พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๙ ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ ๖๐ ปี มิใช่หรือ?
ใช่แล้ว ถูกต้องทุกประการ เพราะอย่างนี้แหละผมถึงบอกว่า
"เราคนไทย
ควรทราบสิ่งที่ควรมีเป็นคำตอบให้กับผู้สงสัยได้ทุกเมื่อติดตัวไว้บ้าง
ก็ทราบกันแล้วใช่ไหมครับว่า ภายหลังที่
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล" เสด็จสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ก็เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๙ สืบต่อ
เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙
ตามความตอนหนึ่งที่รัฐบาลขณะนั้นประกาศว่า
"จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ
เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้ขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์
เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙"
ปรีดี พนมยงศ์
นายกรัฐมนตรี
จาก ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ ถึงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ ก็ ๖๐
ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติพอดี และเราชาวไทย
ประเทศไทยก็เฉลิมฉลองยิ่งใหญ่เป็นประวัติศาสตร์แห่งราชจักรีวงศ์
เป็นที่ประจักษ์ต่อสากลโลกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา
เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก
ทีนี้ ก็มาไขปม "วันฉัตรมงคล" คือวันบรมราชาภิเษก ที่ ๕
พฤษภาคม ๒๔๙๓ ก็ในเมื่อในหลวงทรงขึ้นครองราชย์ไปแล้วตั้งแต่ ๙
มิ.ย.๘๙ ไฉนรัฐบาลไทยยุคนั้นจึงจัดพระราชพิธีราชาภิเษกถวายอีกล่ะ?
ก็น่าสงสงสัยอยู่หรอก คืออย่างนี้ครับ ขณะ ร.๘
เสด็จสวรรคต เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ยังไม่บรรลุนิติภาวะ พูดง่ายๆ คือ
อายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จะขึ้นว่าราชการแผ่นดินยังไม่ได้
ต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ประกอบกับจะต้องทรงกลับไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ อีกประการหนึ่ง
ตามโบราณราชประเพณี การประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ควรจะหลังจากจัดงานถวายพระเพลิงพระมหากษัตริย์ในพระบรมโกศให้เรียบร้อยเสีย
ก่อน
แปลความง่ายๆ ก็คือ แผ่นดินจะว่างพระมหากษัตริย์ไม่ได้
เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๘ ก็ในวันเดียวกันนั้น ด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา
ซึ่งประชุมกัน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พิจารณาตามมาตรา ๙
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๙(๘) แห่งกฎมณเฑียรบาล
ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๗ จึงประกาศให้
"สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช"
ขึ้นครองราชย์เป็น "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช" รัชกาลที่ ๙
นับ ณ วันนั้น คือวันที่ ๙ มิ.ย.๘๙ ครบถ้วน ถูกต้อง สมบูรณ์แบบ
ทั้งทางกฎหมาย ทั้งทางกฎมณเฑียรบาล และนับเป็นปีรัชกาล ณ วันนี้
ส่วนวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓
คือต่อมาจากที่ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว ๔ ปี พระชนมายุเจริญครบ ๒๐
พรรษาแล้ว งานในพระบรมโกศเรียบร้อยแล้ว งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
รัฐบาลจึงจัดถวายเฉลิมฉลอง "เป็นทางการ" ตามโบราณราชประเพณี
และก็ได้ถือเอาวันที่ ๕ พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวัน "ฉัตรมงคลรำลึก"
สืบต่อมา ที่มา http://www.thaipost.net/news/280409/3820
|