ไม่ได้เขียนแนะนำนกในคอลัมน์ Bird of the Day สำหรับคนรักนก เสียหลายวัน ไม่ได้หนีไปดูแพนด้าน้อยที่ไหนหรอกครับ เพียงแต่ระยะหลัง ติดงานกิจกรรมหลายอย่างเข้า ทั้ง ๆที่ภาพนกที่ถ่ายสะสมไว้ก็ยังมีอยู่มาก ไม่ให้เสียเวลาเพื่อนผู้รักธรรมชาติทั้งหลาย วันนี้ขอนำเสนอนกหัวขวานอีกตัวหนึ่งครับ เป็น "นกหัวขวานเล็กหงอนเหลือง" ต่อจาก นกหัวขวานด่างแคระ ที่นำเสนอไปก่อนหน้านี้ มีเพื่อน ๆ ถามไถ่กันมาว่า ทำไม นกหัวขวาน (woodpecker) มีพฤติกรรมชอบเจาะไม้ เจาะไม้เพื่ออะไร ลองมาฟังเหตุผลกันครับ นกหัวขวานเป็นนกกินแมลง มีจงอยปากขนาดใหญ่เหมือนสิ่ว และมีกะโหลกศรีษะที่แข็งแรง เมื่อนกใช้ปากเคาะลำต้นของต้นไม้ จะรู้ได้ทันทีว่ามีตัวอ่อนของแมลงอยู่ในต้นไม้นั้นหรือไม่ โดยฟังจากเสียงที่สะท้อนออกมา เมื่อนกพบจุดที่มี่คิดว่าน่าจะมีตัวอ่อนของแมลงอยู่ นกจะใช้จงอยปากเจาะลงไปเต็มแรงเพื่อให้เปลือกไม้ตรงส่วนนั้นแตกออก ด้วยวิธีนี้ นกหัวขวานจึงเอาแมลงออกมากินได้ เป็นอย่างไรครับ เจ้าพั้งค์หัวเหลืองตัวน้อย แค่หงอนก็กินขาดทรงผมวัยรุ่นบ้านเราแล้ว 
9. "นกหัวขวานเล็กหงอนเหลือง" Lesser Yellownape Woodpecker  ชื่อทางวิยาศาสตร์ : Picus chlorolophus สถานที่ถ่ายภาพ : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ วันที่พบ : เดือนกุมภาพันธุ์ 2552 รูปร่างลักษณะ : สีตามลำตัวเป็นสีเขียวแกมเหลือง ตัวผู้กระหม่อมสีเขียว บริเวณท้ายทอยมีพุ่มหงอนขนสีเหลืองทอง คิ้วสีแดงยาวจากหน้าผากไปถึงท้ายทอย บริเวณแก้มมีแถบสีขาวลากจากโคนปากไปถึงท้ายทอย ใต้แถบสีขาวมีแถบสั้นสีแดง ปีกสีเขียวปลายปีกสีแดง หางสีดำแกมน้ำตาล ขอบขนหางคู่กลางเป็นสีเขียวแกมสีทองแดง บริเวณคางและคอหอยสีน้ำตาลมีลายสีขาว อกสีน้ำตาลแกมเขียว ท้องเป็นลายสีน้ำตาลเข้มสลับขาว ตัวเมียต่างจากตัวผู้ตรงที่หัวมีแถบสีแดงลากจากบริเวณหางตาไปถึงข้างท้ายทอยเท่านั้น บริเวณแก้มมีแถบสีขาวสั้นกว่าตัวผู้ เสียงร้อง : "คี-คี-คี-คี" รัวติดต่อกัน พฤติกรรม : ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ทั้งสองเพศช่วยกันใช้ปากเจาะโพรงเพื่อทำรังตามต้นไม้ ไข่สีขาว รังมีไข่ 3-5 ฟอง ระยะฟักไข่ 15-16 วัน อาหารได้แก่ แมลง ไข่และตัวอ่อนของแมลง เช่น มด ปลวก นอกจากนี้ยังกินผลไม้บางชนิดและน้ำหวานดอกไม้ ถิ่นอาศัย : ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา มักพบอยู่เป็นคู่ และอาจอยู่รวมกับนกหัวขวานชนิดอื่น หากินตามลำต้นหรือกิ่งไม้ใหญ่ด้วยการกระโดดเกาะลำต้นจากโคนต้นขึ้นไปถึงยอด หรือจากโคนกิ่งไปปลายกิ่ง พร้อมกับใช้ปากเคาะลำต้นหรือกิ่งไม้ให้เปลือกไม้หลุดเพื่อให้เหยื่อออกจากที่ซ่อน บางครั้งก็ลงมาหากินตามพื้นดิน พบได้ที่ระดับความสูง1,800 เมตร จากระดับน้ำทะเล สถานภาพตามฤดูกาล : นกประจำถิ่น พบเกือบทุกภาค ยกเว้นทางภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถานภาพความชุกชุม : พบบ่อย 
|