ในเมืองคนใจกว้าง(ตรัง) 
(ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต) คนตรังใจกว้าง สร้างแต่ความดี เป็นข้อความที่สายตาผมได้สัมผัสเมื่อหักพวงมาลัย รถยนต์เข้าไปยังบริเวณศาลากลางจังหวัดตรัง หลายครั้งหลายคราที่ผมมีโอกาสได้ พูดคุยกับพี่ๆเพื่อนที่ร่วมงานกันซึ่งส่วนใหญ่ มีความเกี่ยวข้องกับจังหวัดตรังทั้งที่เป็นคน ตรังเองหรือไม่ก็เป็นที่ตั้งของที่ทำงาน คำขวัญประจำจังหวัดนี้มักถูกยกเข้ามาในวงสนทนา อยู่เสมอๆ ครั้งแรกที่ผมได้โอกาสมาเยือนเมืองของคนใจกว้างแห่งนี้ ก็ต้องย้อนกลับไปเมื่อสามปีที่แล้ว ความรู้สึกแรกที่ผมได้รับจากเมืองตรังแห่งนี้ผมรู้สึกได้ถึงบรรยากาศอุ่นๆลอยมาตามลม ผู้คนบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างและสถานที่ต่างๆทำให้ผมรู้สึกเช่นนี้ ถ้าจะพูดให้เห็นภาพ ขึ้นมาซักหน่อยก็เหมือนความรู้สึกที่ผมกลับบ้านที่มีบุคคลอันเป็นที่รักของผมอยู่ นั่นเอง (ผมพูดเกินไปหรือเปล่า!!!! ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณญาณในการอ่านนะครับ) ............ 
หมู่ที่ ๓ ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นที่ตั้งของบ้านควนตุ้งกู หมู่บ้านที่ว่านี้ เป็นชุมชนหนึ่งในหลายๆชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อตอนปลายปี พ.ศ.๒๕๔๗ หย่อมบ้านเล็กๆในหมู่บ้านนี้เป็นหนึ่งในหน้าที่งานที่ ศูนย์กฎหมายและสิทธิชุมชนพื้นที่อันดามัน ที่ผมทำงานอยู่ ที่จะต้องลงไปช่วยเหลือ ด้านคดีความและนั่นเองที่เป็นเหตุให้ผมได้รู้จักกับอีกมุมหนึ่งของเมืองตรัง ย้อนไปเมื่อช่วงก่อนเดือนธันวาคมปี พ.ศ.๒๕๔๗ ใครที่จะไปเที่ยวที่เกาะมุกด์หรือถ้ำมรกต เมื่อเริ่มต้นมาลงเรือที่ท่าเรือบ้านควนตุ้งกู เมื่อนั่งไปได้สักพักพอถึงปากคลองควนตุ้งกู ก็จะสังเกตเห็นหย่อมบ้านเล็กๆประมาณ ๑๖ ครัวเรือนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ อาชีพประมงพื้นบ้าน เป็นอาชีพที่พวกเขาทำมาหาเลี้ยงชีพกันมาหลายสิบปี ความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย เป็นสิ่งที่พวกเขาพอใจ เมื่อเกิดคลื่นยักษ์สึนามิพวกเขาได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยเช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในจังหวัดตรัง ทางราชการเสนอให้พวกเขาย้ายไปอยู่ที่แห่งใหม่ซึ่งเป็นที่ป่าชายเลน เสื่อมโทรมแต่พวกเขายังยืนยันอยู่ที่เดิมเพราะเป็นการสะดวกกับคนอาชีพประมง อย่างพวกเขา พวกเขารู้ว่าที่แห่งนี้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเจ้าไหมแต่ทางรัฐ ก็ได้ผ่อนผันให้อยู่เรื่อยมาพวกเขาจึงมีความชอบธรรมจะอยู่ที่นี่ตามเดิม ต่อมาอีกประมาณ 3 เดือนเกิดพายุหมุนงวงช้างทำให้บ้านเรือนเสียหายหนัก พวกเขาจึงยอมที่ย้ายออกมาสร้างบ้านในที่ที่ทางรัฐจัดไว้ให้เพื่อความปลอดภัย ของพวกเขาเอง แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีเรื่องให้พวกเขาต้องวุ่นวายใจ
ที่ดินที่ภาครัฐได้จัดให้ชาวบ้านอยู่นั้นโดยสภาพแล้วเป็นป่าชายเลนเสื่อมโทรม ซึ่งที่ดินนี้ควรอยู่ในความดูแลของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ดูแลถ้าเป็นเช่นนั้น ก็คงไม่มีปัญหาอะไร ครั้นชาวบ้านสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยโดยได้รับการสนับสนุน งบประมาณจากหน่วยงานต่างๆทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนและภาครัฐ ได้อยู่บ้านใหม่ก้นยังไม่ทันหายร้อน ยังมีบางหลังยังสร้างไม่เสร็จด้วยซ้ำก็ได้รับ การบอกกล่าวจากบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวโดยอ้าง เอกสารสิทธิการครอบครองที่ดิน (สค.1)ให้ออกจากพื้นที่หรือไม่ก็ต้องทำ สัญญาเช่ากับเขาก่อนถึงจะอยู่ได้ จนในเวลาต่อมาจึงมีการฟ้องร้องเป็นคดีกัน ในชั้นศาล เรื่องคดีความนั้นผมคงไม่พูดถึงมาก แต่ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติ ของกลไกการทำงานภาครัฐในการออกเอกสารสิทธิครอบรอง(สค.1)ให้แก่ประชาชน การออกเอกสารให้ผู้แจ้งการครอบครองตามที่ทำประโยชน์จริงนั้นมันมีเหตุมีผล อยู่ในตัวที่จะทำได้ แต่การออกเอกสารสิทธิครอบครองในที่ป่าชายเลนซึ่งเป็นที่ สาธารณะประโยชน์นั้นมันย่อมไม่ใช่เรื่องปกติแน่นอนส่วนมันจะมีที่ไปที่มายังไงนั้น ผมลองชวนผู้อ่านลองร่วมกันคิดดูกันแล้วนะครับคิดได้ ยังไงลองส่งมาเล่าสู่กันฟัง ได้นะครับ อีกอย่างที่เห็นได้จากกรณีนี้คือความจริงใจของภาครัฐในการแก้ไขปัญหา ของชุมชน เมื่อคราวเกิดภัยพิบัติสึนามิมีหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ลงมาให้ความช่วยเหลือเยอะแยะมากมาย แต่เมื่อชาวบ้านเดือดร้อนจากการถูก ฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล การจะเข้าพบเพื่อบอกกล่าวและขอความช่วยเหลือ มันยากเย็นแสนเข็ญเต็มที กลับกลายเป็นว่าชาวบ้านต้องไปเรียกร้องชุมนุม เพื่อให้ภาครัฐมาช่วยแก้ปัญหา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วคนแรกที่ต้องเข้ามา ช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้คือหน่วยงานรัฐซึ่งจัดให้ชาวบ้านมาอยู่ที่แห่งนี้ ส่วนเรื่องราวทางคดีของชุมชนควนตุ้งกูนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปเราคงให้คำตอบ ที่ชัดเจนไม่ได้ บางทีการมุ่งเอาชนะกันทางคดีมันอาจไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ ได้เลย ถ้าทุกส่วนไม่มีความจริงใจในการที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

เรื่องราวที่เกิดกับชุมชนชาวประมงพื้นบ้านเล็กๆแห่งนี้ไม่ใช่ปัญหาเดียวที่เกิดขึ้น ในพื้นที่ 6จังหวัดที่ประสบภัยพิบัติสึนามิหรือทุกๆภาคของประเทศมีจำนวนชุมชน อีกหลายๆชุมชนก็ได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน ซึ่งรายละเอียดก็ย่อมแตกต่างกันไป ตามสภาพพื้นที่ การแก้ปัญหาเพื่อให้มันลุล่วงไปนั้นไม่ใช่แค่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ทุกๆคนในสังคมต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีแก่ชุมชนหรือสังคมนั้นๆ เมื่อลองนึกดูแล้วความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติว่าร้ายแรงแล้ว แต่ภัยพิบัติ ที่ได้รับจากมนุษย์ด้วยกันนั้นมันรุนแรงยิ่งกว่ามาก คนตรังใจกว้าง สร้างแต่ความดี ถ้าเป็นแบบนี้จริงๆผมว่าปัญหาของชุมชนชาวประมง พื้นบ้านแห่งนี้จะคลี่คลายไปในทางที่ดี คนไทยใจกว้าง สร้างแต่ความดี ผม ลองเปลี่ยนคำบางคำ และก็ได้แต่หวังให้มัน เกิดขึ้นจริงๆ 
|