
ต ลอดหนึ่งชั่วโมงเต็ม บ่ายวันนี้(๒๕) ที่ผมนั่งดูสารคดีเชิงข่าว เรื่อง "My Rohingya" ผลงานกำกับ เดินเรื่อง และทำทุกสิ่งของอ้อย ธนานุช สงวนศักดิ์ แห่ง NBC ที่เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รัชดา ถ้อยคำ "โรฮิงญา ใต้ตีนมีดินให้เดินไหม" คือคำที่เศร้าสะเทือนใจที่สุดสำหรับผม โดยเฉพาะเมื่อมองย้อนไปในคืนวัน ที่ทหารเรือไทย ลากพวกเขาใส่เรือไม่ติดเครื่องยนต์ ไปเผชิญชะตากรรมกลางทะเลกว้าง มีภาพถ่ายการมัดมือ มัดเท้าผู้อพยพเป็นหลักฐานสำคัญ กองทัพไทยปฎิเสธ แต่ตั้งข้อสงสัยในกลุ่มชายฉกรรจ์ล้วนๆที่เดินทางมา อันน่าสงสัยว่าจะเชื่อมโยงกับสถานการณ์ก่อการร้ายในภาคใต้ นั่นเป็นวันที่ฝ่ายความมั่นคง แสดงให้รู้ว่าเขาไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเข้าใจ ไม่เคยรู้ถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชนกลุ่มนี้เลย ขณะเดียวกัน ชนกลุ่มน้อยไม่ว่าจะเป็นมุสลิมเชื้อสายจามจากเขมร ที่เดินทางมาทำงานประมงที่ภาคใต้ ชาวโรฮิงยาส์ซึ่งเป็นมุสลิมที่มีถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่ในพม่า ก็ถูกระแวงเช่นเดียวกัน เพียงเพราะเขาเหล่านั้นเป็นมุสลิมเท่านั้น ชาวโรฮิงยาส์ เป็นกลุ่มชนที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่ทางตอนเหนือของรัฐอารากัน หรือยะไข่ ในพม่านับเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกเหยียดหยาม กดขี่จากรัฐบาลทหารพม่าอีกกลุ่มหนึ่ง กฎหมายว่าด้วยสัญชาติของพม่า ขีดเส้นให้ชาวโรฮิงยาส์อยู่ในเขตควบคุม ถ้าจะออกนอกพื้นที่ ต้องจ่ายเงินให้รัฐบาล ทำให้ชาวโรฮิงยาส์มีสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นมาก ไม่สามารถหางานทำ หรือค้าขายได้อย่างอิสระ นอกจากนั้น โรฮิงยาส์ยังถูกลิดรอนสิทธิในการได้รับสัญชาติ จะทำการสมรสได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐบาลทหารพม่า ดังนั้น คนโรฮิงยาส์ จึงอพยพหนีภัยจากพม่าเป็นจำนวนมาก ไปยังประเทศเพื่อนบ้านของพม่า ไปยังบังคลาเทศ รวมทั้งประเทศไทย ผู้อพยพชาวโรฮิงยาส์ เป็นคนที่เกิดในพม่า มีหลักฐานประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่พวกเขาไม่สามารถจดทะเบียนเป็นแรงงานต่างด้าว เช่นเดียวกับคนพม่าได้ เพราะทางการไทยไม่รู้ และไม่ให้การรับรอง แต่คนโรฮิงยาส์ ก็ยังเป็นคน เป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับมนุษย์โดยทั่วไป ขอบคุณธนานุช สงวนศักดิ์ และอาจารย์พิภพ พานิชภักดิ์ ที่ปรึกษาใหญ่ ที่เปิดให้เห็นโลกบางด้านของโรฮิงญา ในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี
|