ภาพพิมพ์หิน (LITHOGHRAPH)
LITHO ในภาษากรีก แปลว่า หิน และ GRAPHE IN คือ การขีดเขียนภาพพิมพ์ลิโธกราฟหรือ
ภาพพิมพ์หิน ในปัจจุบันสามารถใช้แม่พิมพ์ได้ 2 ชนิด คือ
แม่พิมพ์จากก้อนหินปูน (Lime Stone) และ
แม่พิมพ์จากแผ่นโลหะ ( Metal Plate)
แม่พิมพ์หินปูน (LIME STONE)
หินปูนที่นำมาใช้เป็นแม่พิมพ์พบในประเทศตุรกี แคนาดา สเปน เป็นต้น แต่ที่มีคุณภาพดีที่สุด คือ หินปูนจากบาวาเรียทางตอนใต้ของประเทศเยอรมัน นำมาตัดเป็นขนาดใหญ่ตั้งแต่ 9 x 14 นิ้ว จนถึง 30 x 40 นิ้ว หรือมากกว่านี้แต่จะพบน้อยลง ความหนาระหว่าง 3 - 4 นิ้ว หินปูนนี้จะมี ผิวหน้าหินเป็นรูพรุนเล็กๆ โดยทั่วไปเมื่อถูกกรดกัดรูพรุนจะลึกลงไปอีก ซึ่งรูพรุนนี้จะอุ้มน้ำได้ดี แต่สามารถจะระเหยโดยเร็วได้เช่นกัน แม่พิมพ์ที่มีรอยแตกเป็นเส้นตามธรรมชาตินั้น ไม่มีผลต่อภาพที่เขียน
แม่พิมพ์จากแผ่นโลหะ ( METAL PLATE)
ในศตวรรษที่ 19 ได้มีการคิดค้นแผ่นโลหะอะลูมินั่มและสังกะสี (Aluminum plate,Zinc plate) ขณะนี้เราใช้แม่พิมพ์อะลูมินั่มเกรน 180 หรือ 120 แทนก้อนหินปูน มีข้อดีของแม่พิมพ์ชนิดนี้คือ
มีน้ำหนักที่เบา ราคาไม่แพงสามารถยกเคลื่อนย้ายได้สะดวกในกรณีที่ทำการพิมพ์งานชิ้นใหญ่ๆ จะมีความสะดวกมากกว่าพิมพ์ด้วยก้อนหินปูน เพราะหากหินปูนก้อนใหญ่ขึ้น ย่อมหาได้ยากขึ้น และราคาแพงมากๆ ผิวหน้าของแม่พิมพ์นี้จะมีรูพรุนเช่นเดียวกับบนแม่พิมพ์หินแต่หยาบกว่า
ภาพพิมพ์หิน
เป็นเทคนิควิธีการพิมพ์ที่เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีเป็นหลัก โดยการเขียนภาพลงบนหินปูน (Lime Stone) หรือแผ่นอลูมินัมเพรท (Aluminum Plate) ด้วยวัสดุที่เป็นไข อาทิเช่นแท่งดินสอไข(Litho-Pencil),หมึกแท่งไข(Litho-Crayon),หมึกแท่งละลายน้ำ(Stick tusche)หรือวัสดุต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นไข ( ไม่ทำละลายกับน้ำ ) เป็นต้น
ก่อนที่ภาพที่เขียนด้วยวัสดุไข จะมีสภาพเป็นแม่พิมพ์ที่สามารถพิมพ์ภาพได้เป็นจำนวนมาก จะต้องผ่านขั้นตอนการสร้างภาพด้วยเคมีก่อน โดยเรียกขั้นตอนนี้ว่า การกัดกรด โดยใช้ส่วนผสมของกาวกระถินและกรด ในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับเวลาในการกัดกรดเพื่อให้ได้แม่พิมพ์ไข ที่มีน้ำหนักหรือรายละเอียดต่าง ๆ ตามต้องการ
ในระหว่างขั้นตอนการกัดกรดนี้ผิวหน้าของหิน หรือแผ่นอะลูมินั่มบริเวณที่ไม่ได้รับการเขียน หรือปกคลุมด้วยวัสดุที่เป็นไขจะถูกกาวกระถินและกรดที่ผสมอยู่ในกาวกัดให้รูพรุนที่ผิวหน้าของ หินหรือเพลทมีลักษณะลึกมากขึ้น ผิวชั้นบนสุดบางส่วนที่จะถูกกัดหลุดออกไปด้วย (การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ อยู่ในระดับที่ไม่สามารถสังเกตุเห็นได้ด้วยตาเปล่า ) ดังนี้เองผิวหน้าของหินและแผ่นอลูมินั่ม หลังจากผ่านการกัดกรดแล้วส่วนที่เป็นไขหรือภาพ จะมีสภาพที่จะรับกับไข (หมึกพิมพ์) ส่วนบริเวณที่ไม่ได้เขียนด้วยไขจะมีสภาพรับน้ำได้ดี
ในขั้นตอนการพิมพ์ เมื่อลูบน้ำหมาดๆ บนแม่พิมพ์ด้วยฟองน้ำ รูพรุนเล็กๆ ที่อยู่บนผิวหน้าเพลทนี้จะอุ้มน้ำไว้ เมื่อกลิ้งลูกกลิ้งลงไปบนผิวหน้าเพลทที่เป็นแม่พิมพ์ หมึกจากลูกกลิ้งจะเกาะ ติดกับส่วนที่เป็นไขบริเวณภาพที่เขียนไว้ แต่จะไม่เกาะติดผิวหน้าหินส่วนที่อุ้มน้ำ เพราะคุณสมบัติตามธรรมชาติของหมึกที่มีส่วนผสมของไขย่อมติดกับไข แต่ไขจะไม่ติดกับน้ำเมื่อวางแผ่น กระดาษลงบนแม่พิมพ์ แล้วกดพิมพ์ด้วยระบบกดเคลื่อน แรงกดจากด้านบนที่คงที่ในขณะที่ แม่พิมพ์, กระดาษงาน, กระดาษรองพิมพ์ และแผ่นพลาสติกที่ประกบกันอยู่เคลื่อนที่ไปด้านหน้า จะทำให้หมึกบนแม่พิมพ์ผนึกติดกับกระดาษ ปรากฏเป็นภาพตามต้องการ
เนื่องจากวัสดุเฉพาะที่ใช้สร้างภาพในเทคนิคภาพพิมพ์หินในปัจจุบันเป็นวัสดุหายาก และมี ราคาแพง จึงมีการทดลองนำวัสดุต่างๆ นอกเหนือจากที่ได้ยกตัวอย่างมา ผลที่ได้อาจจะไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบหรือ ทดแทนที่วัสดุแบบดั้งเดิมได้ แต่วัสดุบางชนิดก็สามารถสร้างลักษณะที่น่าสนใจใหม่ๆ ขึ้นมาได้เช่นกัน ไม่ว่าวัสดุที่ใช้ในการสร้างภาพบนแม่พิมพ์จะมีความ หลากหลายเพียงใดก็ยังคงยึดอยู่บนพื้นฐานเทคนิควิธีการเดียวกัน ดังนั้นเราจึงสามารถทำการ ทดลองวัสดุใหม่ ๆ ด้วยตนเองได้ตลอดเวลา