ช่วงนี้เราได้ดูหนังเก่าๆหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคืออุโมงค์ผาเมือง ก็ไม่เก่ามากนะ ปีกว่าเองหลังจากเข้าฉาย(2554) จะว่าไป น่าเสียดายที่ไม่ได้ดูในโรงภาพยนตร์ เรื่องนี้ถ้าดูในโรงภาพยนตร์ ภาพคงจะสวยกว่านี้ แล้วเราก็ไม่ค่อยเห็นหนังแนวนี้ในโรงฯบ่อยนัก ถ้าอุดหนุนก็คงไม่เสียดาย อันที่จริงดูจากชื่อผู้กำกับหม่อมน้อย เดาทางไม่ยาก กลิ่นอายแบบอนุรักษ์นิยม จะมีกรอบ จารีต แบบแผน ศีลธรรม ก็จะสอนในเรื่องเหล่านี้แน่ แต่เรื่องนี้พิเศษหน่อยที่ตั้งคำถามต่อความจริง ด้วยการค้นหาความจริงจากคำบอกเล่า
อุโมงค์ผาเมือง ดัดแปลงมาจากบทละครเวทีเรื่อง ราโชมอน ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ซึ่งเรียบเรียงและดัดแปลงจากเรื่องสั้น 2 เรื่อง คือ Rashomon(ประตูผี) และ In a Grove (ในป่าละเมาะ) ของ ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ อันเป็นที่มาของภาพยนตร์ ราโชมอน ของผู้กำกับ อากิระ คุโรซาว่า แต่เรายังไม่เคยดูราโชมอนเลยน่ะนะ เห็นเขาว่ากันว่า…เป็นหนังดีระดับขึ้นหิ้ง
เมื่อดูอุโมงค์ผาเมืองจบ ความรู้สึกเรากึ่งๆ คุณภาพมันไม่สุดไปทางใดทางหนึ่ง คือไม่ได้ดีนักหนา แล้วก็ไม่ได้แย่อะไร หนังมันกลางๆ แต่ค่อนไปทางดีหน่อยด้วยซ้ำ ภาพรวมให้ B ค่อนข้างดีเลยนะเนี่ย พอตัดเกรดออกมาแล้ว ใช้ได้เลยล่ะ เราไม่ได้เอามาตรฐานทางศีลธรรมมาวัด แต่ใช้ความรู้สึกในฐานะคนดู แม้จะดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ จากคำบอกเล่าของตัวละคร เราดูได้เรื่อยๆ จนจบ เออ… ไม่ยาก ไม่ง่าย มันไม่กลวง มันมีอะไรให้คิด ไม่หนัก ไม่เบา กำลังดี ตัวบทหนัง มันทำให้น่าติดตามได้ และหนังจะเข้าท่าขึ้นถ้าเปลี่ยนเอาหม่ำ จ๊กมก ออกแล้วคัดเลือกนักแสดงที่ทำได้ถึงบทบาทมากกว่านี้
ผู้ชมอย่างเราก็พอใจสำหรับความใคร่รู้ว่าตัวละครแต่ละตัวจะเล่าอย่างไร แล้วเราจะหาความจริงที่เป็นกลางได้จากไหน ความเป็นกลางจริงๆที่ว่าน่ะมันมีไหม ไม่เอาดีใส่ตัว ก็เอาชั่วใส่คนอื่น ธรรมชาติของการปกป้องตัวเอง หึหึ…การเลือกที่จะนำเสนอสิ่งที่เรียกว่าความจริง ในฐานะคนดูที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียเหมือนตัวละครในเรื่อง เราไม่เชื่อใครเลย ตั้งแต่แรก คำพูดของคนตัดฟืน เราก็เดาทางได้ละ มันต้องมีอะไร… พอตอนหนังใกล้จบก็พูดอีกอย่างเลย นึกแล้วเชียว ซึ่งถ้าว่าโดยน้ำหนักแล้วตอนจบน่าจะเป็นความจริงใช่ไหมล่ะ แต่มันก็อาจจะจริงหรือไม่ก็ได้ พอดูหนังบ่อยขึ้นมันจะจับทางได้ว่าตัวละครอย่างคนตัดฟืน ถ้าเปิดเรื่องพูดอย่างนี้ ลองคิดตาม มันจะหลอกล่อเราอย่างไรต่อไป คอยดูเถอะ… ตอนจบจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง หรือจะทำอะไรที่มันพลิกหรือหักมุม เราจะเผื่อทางเลือกไว้ เปิดไว้ ให้ตัวเองสามารถเดาเหตุการณ์หรือเรื่องราวต่อไปรวมถึงตอนจบ การดูหนังมันจะสนุกตรงนี้ เวลาที่เราเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นถูกต้อง …เราจะมีความสุข …
ถ้าเราเป็นโจรสิงห์คำ เราก็คงพูดให้ตัวเองดูดีได้ อีกเช่นกัน ก่อนจะตายพูดความจริงไปเราก็ตายอยู่ดี งั้นเราก็เลือกพูดจริงหรือไม่ก็ได้ ไม่ต้องถามถึงความเป็นคนดี ที่อาจจะดีหรือไม่ดี ก็ได้อีกเช่นกัน มันจะมีประโยชน์อะไร ไม่ว่าจะใช้ตรรกะอะไรมาเทียบเคียงว่าคนจะตายแล้วย่อมพูดความจริง แน่ใจหรือ? หรือถ้าเราเป็นขุนศึก(อนันดา) เราก็คงพูดให้ตัวเองดูดีเช่นกัน ลองปลุกวิญญาณให้องค์ประทับร่างสิ แม้ว่าเราจะเป็นคนขี้ขลาด ตาขาว ไม่กล้าหาญจริงๆแบบลูกผู้ชายก็เถอะ ในมุมนี้การฆ่าตัวตายมันก็เป็นบทพิสูจน์ของคนกล้า แล้วโบ้ยความเป็นหญิงแพศยาไปตกที่พลอย เฌอมาลย์ (ในเรื่อง) หึหึ… เมื่อคนตายพูดไม่ได้ นำเสนอผ่านร่างทรงแทน ตัวละครนี้ดูไม่มีส่วนได้ส่วนเสียเลยนะ ก็น่าจะเป็นกลางใช่ไหมล่ะ แต่ใครจะรู้… ร่างทรงของอนันดา ก็ยืนพื้นการเล่าเรื่องในมุมของอนันดา น่ะแหละ สิ่งที่เรา(คนดู)ต่างก็ไม่รู้ความจริงคืออะไร ได้แต่เทียบเคียงกันไปต่างๆนานา เหมือนปะติดปะต่อเอาความเข้ากันได้ ความน่าจะเป็น…คนที่ตัดสินหรือเลือกจะเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งจะต่างอะไรกับประชาชนที่อยู่ในโลกข้อมูลข่าวสารมากมายเต็มไปหมด แล้วเราก็โดนปลุกปั่นกันอยู่อย่างนี้ ไม่ได้เจอกับตัวแต่เชื่อว่าคือความจริง หรือแม้จะเห็นด้วยตา ได้ยินด้วยสองหู แต่อะไรล่ะจะรับประกันได้ว่าความเข้าใจหรือการเชื่อมโยงเรื่องราวแท้จริงจะถูกต้อง ตีแสกหน้าโลกแห่งการรับรู้เรื่องจริงเลยทีเดียว
แต่ที่ชอบสุดๆ เลยนะ คือคำพูดของพลอย เฌอมาลย์ ในบทศรีภรรยาหรือที่ภาษาชาวบ้านเรียก “เมีย” นั่นแหละ ในฐานะเมียของท่านขุนศึก(อนันดา) ไหนๆก็เลวพอกันแล้ว ตีตราผู้หญิงหน้าไม่อายกับผู้ชายไร้ศักดิ์ศรี ภาพลักษณ์กับความจริงที่เป็น สงครามน้ำลาย ทำคนถึงตาย ฟัดกันเพราะประโยคนี้แหละ…
“แกเองก็ไม่ได้ดีกว่าไอ้คนๆนี้นักเลย แกสองคนมันไม่ใช่ลูกผู้ชาย ดีแต่พูดโอ้อวดตน เหอะ!!! แต่ความจริงน่ะ ไม่ มี อะไรเล้ย (ถุย!! ถุย!!)(555+)”
เรางี้ขำกร๊ากกกกก โอ้ยๆ ฮา มากๆ
นี่แหละ ความจริง ไม่ มี อะ ไร เล้ยยยย!
|