เมื่อเอ่ยถึงคำว่าเซียน...เรานึกถึงอะไรบ้างครับ คำว่าเซียนบางคนอาจนิยามว่าหมายถึงผู้รอบรู้ ผู้เจนจัดฯลฯ ตามความเชื่อในลัทธิเต๋าของจีน เซียนหมายถึง ผู้วิเศษ ผู้สำเร็จ ดังนั้นเซียนจึงหมายถึงเทพเจ้าของชาวจีน อย่างเช่นเซียนทั้งแปด หรือที่เรารู้จักกันในนาม โป๊ยเซียน... ใครว่าเป็นเซียนก็โง่ พูดได้ก็ยังเป็นคนอยู่..... คำพูดข้างต้นเป็นคำตอบของท่านอาจารย์สง่า กุลกอบเกียรติ ที่เรารู้จักกันในนาม เซียนสง่า หรือ อาเตีย ที่มักจะตอบคำถามกับผู้ที่ยกย่องให้ท่านเป็นเซียน ด้วยว่าท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญการทางด้านภูมิศาสตร์ หรือศาสตร์ฮวงจุ้ยของจีน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ท่านจะเป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจของผู้คนที่นิยมคติความเชื่อในศาสตร์ฮวงจุ้ย ฮวงจุ้ย แปลว่าภูมิพยากรณ์ คนจีนให้ความเชื่อถืออย่างมากในเรื่องของการเลือกที่และการสร้างบ้าน ว่าจะต้องมีการตั้งให้ถูกโฉลกหรือถูกต้องตามตำรา เชื่อกันว่าในแต่ละที่จะมีพลังลึกลับที่เรียกว่า แสงที่ แฝงอยู่ ดังนั้นหาก... เลือกที่ได้ถูกต้องและสร้างบ้านได้ถูกหลัก ...แสงที่จะช่วยส่งเสริมให้เจ้าของและผู้อยู่อาศัยมีความสุข ความเจริญรุ่งเรือง...และผลงานที่ท่านได้ใช้ความชำนาญในหลักดังกล่าวสร้างสรรค์จนเป็นสมบัติอันล้ำค่าแก่แผ่นดินไทยและจีน คือ อเนกกุศลศาลา หรือวิหารเซียน หากเราศึกษาเรื่องราวของประวัติศาสตร์แล้วจะพบว่า ไทยและจีน เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กันมายาวนาน วัฒนธรรมของทั้งสองประเทศล้วนเชื่อมโยงและเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่นในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนที่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารแห่งพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย ซึ่งมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ต่างได้นำเอาภูมิความรู้และวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนมาสู่สังคมไทย จนหลอมรวมกันเป็นรูปแบบของวัฒนธรรมไทย-จีน.. วิถีชีวิตที่ผูกพันกันมายาวนานขนาดนี้ ไม่ได้จำกัดวงอยู่แต่เพียงแบบแผนประเพณี หรือศิลปะวิชาการต่างๆเท่านั้น... หากแต่ความผูกพันตัวนี้ได้หยั่งรากลึกลงไปในสามัญสำนึกและจิตวิญญาณของคนไทยเชื้อสายจีน รวมไปถึงการหยั่งลึกลงไปในส่วนของศาสนา ซึ่งเราสามารถเห็นได้จาก วัดวาอารามต่างๆ ศาสนสถาน ศาลเจ้าหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่มีคติความเชื่อของชาวจีน ปรากฏอยู่ทั่วไปในเมืองไทย อเนกกุศลศาลา หรือวิหารเซียน เป็นงานก่อสร้างที่มีรูปแบบในทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมชั้นสูงของจีน อันเกี่ยวเนื่องและสืบสานสู่ ศรัทธาในทางพุทธศาสนา โดยผนวกกับ ความเชื่อในลัทธิเต๋าและขงจื้อแบบดั้งเดิม การจัดวางตำแหน่งของสิ่งปลูกสร้างมีทิศทางถูกต้องตามหลักวิชาภูมิลักษณ์ (ฮวงจุ้ย) ซึ่งเป็นศาสตร์ชั้นสูงแต่โบราณที่สืบทอดกันมา อีกทั้งการประดับตกแต่งตัวอาคารก็ได้ซ่อนความหมายในเชิงคติความเชื่อทางเทววิทยาของชาวจีน และด้วยการที่ผู้คนทั่วไปชอบเรียกอาเตียว่า เซียนสง่า ตลอดจนวิหารเซียนแห่งนี้มีรูปปั้นเทพเจ้าของชาวจีนจำนวนมาก ทำให้หลายท่านเกิดคำถามและความสงสัยว่าวิหารเซียนแห่งนี้ช่างละม้ายคล้ายศาลเจ้าเสียเหลือเกิน..
แต่เดิมมาข้าพเจ้ามิใช่คนไหว้เจ้า ที่วิหารเซียนแห่งนี้ก็มิใช่ศาลเจ้า การที่คนทั้งหลายยกย่องข้าพเจ้าว่าเป็นเซียน อาจเป็นเพราะข้าพเจ้าเปี่ยมด้วยความศรัทธาแต่มิใช่งมงาย.....และมักจะวิเคราะห์วิจัยในหลักความจริง... ทั้งในวิหารเซียนแห่งนี้ก็เป็นแหล่งรวมศิลปวัฒนธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับศาสนาทั้งสาม ซึ่งเป็นหลักปรัชญาของขงจื้อ เล่าจื๊อและพระพุทธเจ้า อาจกล่าวได้ว่า วิหารเซียนเป็นที่เผยแพร่หลักธรรมอันเป็นเอกภาพของทุกศาสนา...
อาเตียเล่าให้พวกเราฟังว่า สถานที่ตั้งวิหารเซียนแห่งนี้ท่านไม่ได้เป็นผู้มาพบเอง เดิมท่านมาช่วยงานวัดญาณสังวรารามวรวิหาร พอสร้างวัดญาณฯเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชทานที่ดินผืนนี้ให้ ซึ่งท่านคิดว่าที่ดินผืนนี้เป็นที่ที่มีคุณค่า สมควรจะสร้างเป็นที่เผยแพร่วัฒนธรรมไทยและจีน ที่ดินผืนนี้ได้รับพระราชทานในปี ๒๕๓๑ ซึ่งเป็นปีมังกรทอง.. จึงได้เริ่มสร้างในวันที่ ๖ มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานศิลาฤกษ์ลอย ทางวิหารจึงได้นำไปแกะลงบนแผ่นไม้และอัญเชิญไปติดไว้บนผนังทางเข้าวิหาร และในปี ๒๕๓๖ ได้นำขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช้ชื่อชาวไทยเชื้อสายจีนทั้งหมด ร่วมจิตร่วมใจกันสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ ๖๐ พรรษา
เมื่อแรกคิดจะดำเนินการก่อสร้างวิหารเซียน ได้วางแผนไว้ว่าจะนำเงินทองที่เก็บออมไว้นั้นมาเป็นทุนเริ่มต้นในการก่อสร้าง จึงได้นำเรื่องดังกล่าวชี้แจงแก่บุตร-ธิดาให้เป็นที่เข้าใจ โดยอธิบายว่า... แต่ไหนแต่ไรมา เป็นเพราะคนเรามีความเห็นแก่ตัวและมีทิฐิกันมาก เป็นเหตุให้มีการชิงดีชิงเด่นแก่งแย่งแข่งขัน ถ้าหากเหลือทรัพย์ให้บุตรหลาน ก็เท่ากับดูแคลนลูกหลานตัวเองว่า ไม่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้ จึงต้องพึ่งพาใบบุญพ่อแม่ อีกประการหนึ่งคือทรัพย์สินที่เหลือให้ลูกหลานเพียงเท่านี้ ก็มิใช่ว่าจะทำให้พวกเขารุ่งเรืองร่ำรวยขึ้นมาได้ โลกจะยิ้มเยาะด้วยซ้ำไปว่า พวกเขาไม่สามารถทำมาหากินช่วยเหลือตนเอง..... ดังนั้นที่ดีที่สุดก็คือ การให้โอกาสลูกหลานได้รับการศึกษาเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับตนเองในวันข้างหน้า.... มีคำพูดอยู่คำหนึ่งครับเชื่อว่าเพื่อนๆ คงจะเคยได้ยิน เงินทองหาได้เสมอในทุกโอกาส อธิบายความได้ว่าเงินทองนั้นแทรกตัวอยู่ในทุกโอกาส ดังนั้นความสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เราจะสามารถไขว่คว้าเอามาเป็นสมบัติของเราได้หรือไม่ ชาวจีนโดยส่วนมากถือว่าเป็นนักการค้าตัวยง นอกเหนือคุณสมบัติที่ขยัน อดทน พากเพียร กล้าได้กล้าเสียและมัธยัสถ์แล้ว การให้โอกาสคนและยึดมั่นกตัญญู ถือเป็นนัยยะสำคัญที่ทำให้ชาวจีนประสบความสำเร็จในชีวิต
นักจิตวิทยาท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า มนุษย์เป็นผู้ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง พร้อมกับได้แบ่งความต้องการของมนุษย์ออกเป็น ๕ ชั้น เช่นความต้องการทางกาย ความต้องการทางสัมพันธภาพฯลฯ สูงที่สุดคือ ความต้องการในอุดมคติของตน...
เราเป็นชาวจีนก็จริง แต่เรามาอยู่ที่นี่ เราก็น้อยหน้าเหมือนกัน เมื่อมีโอกาสก็ควรมาทำ ถึงจะไม่ได้ประโยชน์ให้บ้านเมืองมากมาย แต่เราต้องมีหน้าที่ ต้องทำ... ไม่ว่าชาติอะไร กินข้าวกินน้ำที่นี่ แล้วอยู่เมืองไทย ก็เป็นชาติไทย ถือว่าเราเป็นชาวจีนก็ไม่ถูกต้อง แต่ชาวจีนก็มีนิสัยว่าไม่ลืมว่ามาจากไหน....
ต้านฝูไม่มีสองใจ หวังให้ชาวจีนร่วมใจเป็นหนึ่ง.... วลีข้างต้นนี้เป็นคำกลอนคู่ที่จำหลักไม้แขวนอยู่ภายในห้องโถงของวิหารเซียน อาจกล่าวได้ว่าคำกลอนบทนี้เป็นบทสรุปรวมความคิดของอาเตียไว้อย่างชัดเจน... อาเตียดำเนินชีวิตในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน บรรพบุรุษของท่านมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเมืองเตี้ยเอี๊ย ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จากการที่ได้ประสบกับภาวะครอบครัวพลิกผันและสภาวะของบ้านเมืองที่เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการปกครอง จึงทำให้ท่านมีความมุ่งมั่นพยายามที่จะสร้างสรรค์สิ่งใดก็ได้ที่จะทำให้เกิดความสันติและการประสานความร่วมมือซึ่งกันและกัน... ดังนั้นในปี ๒๕๓๑ เมื่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานที่ดินให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารวิหารขึ้น ท่านจึงมีความคิดที่จะจัดสร้างอาคารที่เป็นแหล่งรวมศิลปกรรมไทย-จีน ที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาทั้งสาม โดยปรารถนาว่าสิ่งที่ท่านได้สร้างขึ้นนี้จะมีส่วนกระตุ้นให้มนุษย์ชาติมีใจรักในสันติ ด้วยจุดมุ่งหมายให้ชาวจีนมีความสมัครสมานกันดุจครอบครัว ท่านจึงได้ใช้หลักคิดอันนี้เป็นแนวทางสำคัญของการดำเนินงานก่อสร้าง และสิ่งที่ทำให้ท่านมีความปลาบปลื้มยินดีเป็นที่สุดคือ.... พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานนามให้กับวิหารเซียนแห่งนี้ว่า....อเนกกุศลศาลา ลมบางเบาโชยพัดผาดจันทร์เจ้า เมฆลอยลู่เหินสู่ฑิฆัมพร... อเนกกุศลศาลา หรือ วิหารเซียน มีชื่อในภาษาจีนว่า ต้า ผู่ อี่ (แต้จิ๋ว) หรือ ต้าน ฝู เยวี้ยน (จีนกลาง) ซึ่งมีความหมายว่า สถานที่ที่มีบรรยากาศดั่งสรวงสวรรค์ ผู้ที่ได้เข้ามาเยี่ยมชมจะพบกับบรรยากาศที่ร่มเย็นด้วยสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับการบรรจงสร้างเพื่อให้มีทัศนียภาพดุจดั่งวิมาน โอ่โถงและงดงามด้วยศิลปกรรมชั้นสูง มีรูปปั้นเทพเจ้าจำนวนมากประดิษฐานอยู่ทั้งภายในและภายนอกตัวอาคาร ด้วยบรรยากาศและทัศนียภาพดังนี้จึงไม่ผิดถ้าจะกล่าวว่า วิหารเซียนแห่งนี้เป็นสถานที่ดั่งสรวงสวรรค์...
อาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ (ส.ศิวลักษณ์) ได้เคยกล่าวไว้ว่า ลัทธิศาสนาของจีนนั้นมีรากเหง้าเค้ามูล ๓ ประการเกี่ยวเนื่องกัน คือ พุทธ เต๋าและขงจื้อ
ลัทธิขงจื๊อเป็นไปในทางการเมือง การปกครองและวัฒนธรรมประเพณีของโลกนี้มากกว่าอะไรอื่น ส่วนลัทธิเต๋านั้นเป็นเรื่องของรหัสยนัย ซึ่งโยงใยไปยังธรรมชาติอันบริสุทธิ์...ดังนั้น ถ้าเป็นผู้ที่เจริญจิตใจได้บริสุทธิ์เท่าไร ก็เข้าถึงความลี้ลับมหัศจรรย์ของธรรมชาติได้เท่านั้น
และธรรมซึ่งเป็นต้นตอที่มาของธรรมชาตินั้น ก็ละม้ายไปทางพุทธธรรม คือจุดสุดยอด ได้แก่ ปรัชญาหรือปัญญาอันเป็นความรอบรู้อย่างประเสริฐสุด ซึ่งควบคู่ไปกับ กรุณาหรือความรักอันแผ่กว้างออกไปในทางที่ไม่เห็นแก่ตัว..
ปัญญาและกรุณาทางฝ่ายพุทธที่เป็นธรรมาธิฐานนั้น ย่อมนำมาทำเป็นตัวบุคคล ให้มีรูปกายขึ้นในทางบุคคลาธิษฐาน เป็นพระมัญชุศรีโพธิ์สัตว์ (ในทางพระปัญญาคุณ) และพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (ในทางพระกรุณาคุณ) ซึ่งเมื่อมาถึงเมืองจีน พระโพธิสัตว์องค์นี้ กลายเป็นอิตถีเพศ ในนามว่า พระแม่เจ้ากวนอิมโพธิสัตว์..
บุคคลาธิษฐานทางฝ่ายเต๋า ก็ปรากฏว่าเป็น เซียน หรือท่านผู้เป็นอมตะต่างๆ ดังท่านเซียนทั้งแปดอันลือชื่อเป็นต้น ความเป็นอมตะของพุทธก็ปรากฏที่ พระอมิตาภพุทธ (พระผู้ตื่น ซึ่งมีแสงอันกระจ่างอย่างไม่มีที่สิ้นสุด) และพระอมิตายุสพุทธ (พระผู้ตื่น ซึ่งมีอายุอย่างไม่รู้จักสิ้นสุด)
หากเราเปิดประตูใหญ่ของอเนกกุศลศาลา ด้านหน้าอาคารเราจะพบ รูปหล่อแปดเซียนข้ามทะเล ซึ่งเป็นรูปหล่อโลหะขนาดสูงใหญ่ที่มีความละเอียดและวิจิตรงดงามมาก ประดิษฐานบนแท่นหินแกรนิต.. เทพเจ้าทั้งแปดองค์นี้เป็นที่เคารพของชาวจีนอย่างมาก ซึ่งแต่ละองค์ก็จะมีเอกลักษณ์เป็นแบบอย่างในทางธรรมที่แตกต่างกัน ลัทธิเต๋าเรียกลักษณะแบบนี้ว่าบุคลาธิษฐาน.....
นอกจากบุคลาธิษฐานของลัทธิเต๋า(แปดเซียน)จะเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นสิริมงคลของชาวจีนแล้ว โดยภาคของ แปดเซียนข้ามทะเล ถือเป็นช่วงเวลาที่ทั้งแปดองค์ได้สำเร็จเป็นเซียนแล้ว จึงได้เดินทางท่องเที่ยวไปตามเมืองสวรรค์และโลกมนุษย์ เพื่อไปบำเพ็ญเพียรและช่วยมวลมนุษย์ ถ้าได้พบปีศาจร้ายก่อกวนประชาชนก็จะช่วยเหลือให้พ้นทุกข์แล้วจึงท่องเที่ยวต่อไป
ชาวจีนมีความเชื่อสามอย่าง พุทธ ขงจื้อและลัทธิเต๋า ทั้งสามอย่างนี้ใหญ่มาก ต่างคนต่างคุมกันเอง วัดก็ถือเป็นพุทธ ก็มีขงจื้อไม่ได้ ขงจื้อก็มีพระพุทธไม่ได้ มีเซียนไม่ได้... อันนี้ในใจคิดอยู่ว่า เมื่อไหร่มีปัญญาที่จะสร้างเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรม จะต้องรวบรวมพระเจ้าเทวดาทุกลัทธิมาอยู่ร่วมกัน เป็นแห่งเดียวกันจริงๆ... ด้วยเหตุผลนี้จึงไม่แปลกครับที่วิหารเซียนแห่งนี้จะเป็นศูนย์รวมของ พุทธ ขงจื้อและเซียน ตามที่อาเตียได้ตั้งใจไว้เพราะอาเตียมีความเชื่อเสมอว่า... ความรู้ไม่ควรถูกปิดกั้น ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม... ขุมทรัพย์แห่งความรู้ที่ชื่อ อเนกกุศลศาลา หรือ วิหารเซียน จึงเปิดกว้างรอรับการมาเยือนของผู้ใฝ่รู้ทุกคน...
อาเตีย ท่านเป็นผู้ที่มีบุคลิกลักษณะอันโดดเด่น คิ้วโค้งเปี่ยมด้วยความกรุณา นัยน์ตาแฝงด้วยความอารีย์โอบอ้อม จิตใจร่าเริง ถ้อยคำวาจาก็ล้วนเป็นความสัจตรง อย่างที่ผมบอกในตอนต้นครับว่าคนทั่วๆไป ต่างมีความเห็นว่าอาเตียมีความสามารถพิเศษในการดูทำเลที่ตั้ง รู้ทิศทางของลมและน้ำ ว่าตรงไหนเป็นทำเลที่ให้คุณ ตรงไหนเป็นทำเลที่ให้โทษ หรือทำเลนั้นควรเป็นไปเพื่อที่อยู่อาศัย ที่ทำมาหากินหรือที่ฝังศพ.... ซึ่งในเรื่องความสามารถพิเศษของอาเตียตรงนี้ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์(ส.ศิวลักษณ์) เคยกล่าวถึงไว้ว่า.. ที่น่าอัศจรรย์ อันคนทั่วๆไปยากจะเข้าใจได้ ก็ตรงที่ท่านมีคุณวิเศษทางด้านติดต่อกับสิ่งมหัศจรรย์ สิ่งลี้ลับต่างๆ ไม่ใช่ในทางของไสยศาสตร์ หากเป็นไปในแนวทางของศาสนธรรม.... นายสง่า เป็นบุคคลจำนวนน้อยในเมืองไทย ที่เข้าถึงคุณธรรมอันล้ำลึกของลัทธิเต๋าและขงจื้อ พร้อมๆกับความเป็นพุทธศาสนิกของท่าน โดยท่านเข้าใจประวัติศาสตร์และวรรณคดีของจีน ที่เป็นองค์ประกอบของลัทธิศาสนาและวัฒนธรรมของจีนเป็นอย่างดี.... พร้อมๆกันนี้ ท่านก็เข้าถึงวรรณคดีและวัฒนธรรมไทย โดยมีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ของไทยอย่างลึกซึ้งอีกด้วย..
ว่ากันว่า..ความเมตตา เป็นเครื่องค้ำจุนโลก ไม่สามารถหาขอบเขตสิ้นสุดได้.. ดังนั้นความหมายของคำว่า ความเมตตานั้น จึงมิใช่เพียงแค่สงสาร เห็นอกเห็นใจเท่านั้น หากแต่หมายรวมถึง การเอาใจใส่ การใส่ใจและการปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ด้วย... อาเตียชอบที่จะปฏิบัติต่อผู้คนที่เข้ามาหาท่านด้วยความเมตตา ไม่คิดเอารัดเอาเปรียบ และไม่ฉกฉวยของผู้อื่นไปเป็นของตน.... ดังนั้นเวลาที่คนมีความทุกข์ร้อนและเข้าไปหาอาเตีย อาเตียจะแนะนำให้เขาเหล่านั้นสวดมนต์ ภาวนา ทำบุญและบริจาคทาน พร้อมกับให้เผา ยันต์จีน หรือที่เราเรียกกันว่า แชเล้งฮู้ ตามความเชื่อของคนจีน..
อาเตียเคยบอกพวกเราหลายครั้งว่า แชเล้งฮู้ก็ดี รูปหล่อบูชาองค์โจวซือก็ดี รูปถ่ายองค์โจวซือก็ดี ฯลฯ ของเหล่านี้ล้วนเป็นสมบัติของท่าน และเป็นของสำเร็จแล้วทั้งสิ้น เมื่อทำขึ้นมาแล้วสามารถนำไปใช้ได้เลยไม่จำเป็นต้องนำมาให้ท่านปลุกเสกหรือประกอบพิธีใด ๆ อีกทั้งสิ้น.. เพียงแค่เมื่อจะใช้ก็ให้รำลึกถึง โป๊ยเซียนโจวซือ แล้วค่อยตีวงให้แคบลงมาเป็นอธิษฐานเจาะจงถึง "ลือท่งปิงโจวซือ แค่นี้ก็ใช้ได้แล้วทุกประการ....
เทวรูปประธานวิหาร วิสุทธิเทพลือท่งปิง (โจวซือ) เป็นเทวรูปหล่อขนาดใหญ่ปิดทองทั้งองค์ ประดิษฐานในแท่นบูชาไม้สักแกะสลักปิดทองที่ละเอียดและงดงามภายในอาคารชั้นสอง... ท่านวิสุทธิเทพลือท่งปิง เป็นเทพหนึ่งในแปดเซียน มีฉายาว่า ซุ่งเอี้ยงจื้อ เป็นชาวเมืองเกียเตี๋ยว ในราชวงศ์ถัง มีความฉลาดรอบรู้ สติปัญญาเฉียบแหลมและมีความจำแม่นยำ แต่ท่านกลับไม่คิดรับราชการมียศตำแหน่ง ตามลักษณะนิสัยของคนจีน...
ท่านได้คิดถึง.. การได้มาซึ่งลาภยศและการเสื่อมไปของลาภยศ การหลงระเริงไปในความสุขที่ไม่แท้จริงและไม่จีรังยั่งยืนในโลก ท่านจึงได้ศึกษาและปฏิบัติกับอาจารย์ฮั้งเจงลี้ ด้วยความอุตสาหะในการบำเพ็ญเพียรและได้นำสรรพวิชาที่ได้ศึกษามาเกื้อกูลบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่มีคุณธรรม ภายหลังท่านจึงได้สำเร็จเป็นเซียน "สะพายกระบี่และถือแส้จามรเป็นสัญญลักษณ์มงคล..."
ครับเชื่อกันว่าคนจีนนิยมบูชาเทวรูปหรือเซียน เพราะเหตุผลว่าเทพเจ้าหรือเซียนจะสามารถบันดาลสิ่งที่ตนพึงปรารถนาได้ ดังนั้นเทพเจ้าเหล่านี้จึงถูกสร้างขึ้นตามความเชื่อหรือตามประวัติศาสตร์พงศาวดารของผู้ที่เป็นยอดหรือเป็นเลิศในด้านใดด้านหนึ่ง.. นอกจากจะเป็นการบูชาเพื่อรำลึกถึงบุญคุณที่ท่านเหล่านั้นได้สร้างไว้ในอดีตแล้ว ยังมีความเชื่อต่ออีกว่า เทพเจ้าหรือเซียนเหล่านั้นจะต้องมาช่วยหากพวกเขาไปขอความช่วยเหลือ... .แต่โบราณลาภยศเหมือนเมฆลอย เพียงหมื่นร้อยประโยชน์สร้างนามสืบสาน สันโดษเดินเพลินขับกล่อมท่องสายธาร สู่คุนหลุนสูงตระหง่านวางอัตตา...
ท่านอาจารย์เซียนสง่า กุลกอบเกียรติ ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๖ อายุได้ ๘๐ ปีบริบูรณ์ ท่านได้รับพระราชทานเกียรติยศพิเศษ โดยได้รับไฟพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงเป็น ไท่กว๋อสิรินธรกงจู่ ตามพระราชสมัญญาที่ทางฝ่ายจีนถวาย... และเพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดีที่ท่านได้บำเพ็ญไว้อย่างมากมาย บรรดาญาติมิตรและคณะศิษย์จึงได้ร่วมกันสร้างรูปหล่อโลหะของท่าน ประดิษฐานไว้ ณ อเนกกุศลศาลา(วิหารเซียน) เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณของท่านให้สืบไปครับ..
เชื่อกันว่า "จินตนาการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นจึงไม่แปลกครับที่โลกเราทุกวันนี้จะสดใสหรือจะเศร้าหมอง เพราะความคิดของคนเรามีหลากหลาย สิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้คือความเปลี่ยนแปลงของโลก คำว่ามีลาภก็เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ มีสรรเสริญก็มีนินทา มีการสร้างสรรค์ก็มีการทำลาย ผลทั้งหลายล้วนมาจากเหตุ หากเหตุดีผลย่อมดี เช่นเดียวกันหากเหตุร้ายผลย่อมร้าย ทั้งหมดนี้ล้วนมาจากความคิดหรือจินตนาการของมนุษย์.. มีคำไว้อาลัยเนื่องในพิธีพระราชทานเพลิงศพท่านอาจารย์เซียนสง่า โดยท่านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์(ส.ศิวลักษณ์)
เพราะการที่อาจารย์สง่าเห็นแก่ตัวน้อย และคิด ทำ พูด ในทางเกื้อกูลอย่างกว้างขวาง พร้อมกันนั้นท่านก็เข้าถึงรหัสนัยได้อย่างสนิทแน่นกับธรรมชาติ จึงอาจกล่าวได้ว่า ท่านบรรลุธรรมถึงขั้นที่ทางเต๋าเรียกว่า เซียน หรือ ความเป็นอมตะ ดังที่ทางมหายาน ถือว่าเป็นไปในทาง โพธิสัตวมรรค...
ครับคนที่คิดดี คิดแต่จะให้ คิดแต่เรื่องบุญกุศล ผลประโยชน์ของส่วนรวม ย่อมส่งผลให้ตนเองมีบารมีมาก การที่คนเราเกิดมาและจะเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ และมีบารมีมากๆ ได้นั้น.. ต้องหัดคิดถึงบุญคุณของคนอื่น สำนึกในแผ่นดินที่ตนอาศัยและแผ่นดินบ้านเกิดของตนเอง อย่างเช่นอาจารย์เซียนสง่า กุลกอบเกียรติ หรืออาเตีย ที่ท่านเป็นแบบอย่างของผู้เสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม เป็นการตอบแทนคุณของประเทศชาติและบ้านเกิด ดังคำกลอนคู่หนึ่งที่อาเตียได้แกะสลักไว้ในวิหารเซียน ใต้หล้าฟ้านี้ชาวจีนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ชาตินี้ไม่มีกิเลสใด เปลี่ยนใจให้เป็นสอง... พวกเราไม่รู้กันหรอกครับว่าอาเตียจะเป็นเทพหรือเป็นเซียนระดับไหน เรารู้เพียงแต่ว่าคนที่รู้จักคิดเช่นนี้และสามารถกระทำการได้ตามที่ตนเองคิด โดยที่ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใคร คนที่ทำความดีแบบเป็นอมตะอย่างนี้ พวกเราเรียกว่า เซียน..
ดังนั้นทุกครั้งที่พวกเรากลับไปเยือนวิหารเซียนอันสง่างามแห่งนี้... ในสำนึกของจิตใจก็อดที่จะคล้อยตามตั้งใจอันแน่วแน่ของอาเตีย ที่เปี่ยมไปด้วยความจงรักภักดีต่อประเทศไทยแต่ไม่เคยลืมประเทศจีนซึ่งเป็นชาติกำเนิดของตนเอง อเนกกุศลศาลาหรือวิหารเซียน จึงเปรียบดั่งศิลาจารึกบันทึกความทุ่มเท ความพยายามตลอดชีวิตของท่านที่จะพัฒนามิตรภาพระหว่างประเทศไทยกับจีน ให้มั่นคงและถาวรสืบไป.......สวัสดีครับ
ขอขอบคุณ เอกสารอ้างอิงบางส่วนจาก อเนกกุศลศาลา(วิหารเซียน) คุณพรชนก สุขพงษ์ไทย กับภาพถ่าย เพื่อนต่อกับคำแนะนำและการติดต่อประสานงาน คุณสมบูรณ์ ร้านนายอ้อ สระบุรี
|
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |
<< | ธันวาคม 2008 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | |
7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 |
14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 |
28 | 29 | 30 | 31 |