เพื่อนผมเคยแนะนำพระสงฆ์องค์หนึ่ง เขาว่าท่านเป็นเจ้าอาวาสของวัดป่ามัชฌิมาวาส พร้อมกับได้เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับท่านคร่าวๆ ว่า พระองค์นี้ท่านเป็นลูกศิษย์หลายพระอาจารย์ เช่น ท่านพ่อลี ธัมมธโร แห่งวัดอโศการาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ท่านพ่อลี ธัมมธโร เป็นพระป่ากรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ธรรมโอวาทของท่านพ่อลีที่ถ่ายทอดออกมาล้วนแล้วแต่มีความเป็นเหตุเป็นผลและเป็นความจริงอย่างถ่องแท้ เช่น ผู้จะต้องถึงมรรคผลนิพพานได้นั้น จะต้องทำทางใจ ถ้าไม่ทำทางนี้แล้ว จะทำการกุศลสักเท่าไร ก็ถึงมรรคผลนิพพานไม่ได้ นิพพานนี้จะต้องถึงด้วยข้อปฏิบัติทางใจเท่านั้น ที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเป็นเหตุแห่งสมาธิ สมาธิเป็นเหตุแห่งปัญญา ปัญญาเป็นเหตุแห่งวิมุตติ สมาธิเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นที่ตั้งแห่งปัญญาและญาณ อันเป็นองค์สำคัญของมรรค แต่จะขาดสมาธิไม่ได้ถ้าขาดแล้วก็ได้แต่จะคิดๆ นึกๆ เอา ฟุ้งซ่านไปต่างๆ ปราศจากหลักฐานสำคัญ สมาธิเปรียบเหมือนตะปู ปัญญาเปรียบเหมือนค้อนที่ตอกตะปู ถ้าตะปูเอียงไปค้อนก็ตีผิดๆ ถูกๆ ตะปูนั้นก็ไม่ทะลุกระดานนี้ฉันใด ใจเราจะบรรจุธรรมชั้นสูงทะลุโลกได้จะต้องมีสมาธิเป็นหลักก่อน แล้วจึงเกิดญาณ ญาณนี้จะได้แต่คนทำสมาธิเท่านั้น ส่วนปัญญาย่อมมีอยู่ทั่วไปแก่คนทั้งหลาย แต่ไม่พ้นจากโลกได้เพราะขาดญาณ ฉะนั้นท่านทั้งหลายควรสนใจ อันเป็นทางพ้นทุกข์ถึงสุขอันไพบูลย์ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็นับนิ้วไม่ถูกแล้วครับว่ามันนานสักกี่ปี แต่ในที่สุดแล้วเทพยากรณ์แห่งการดำเนินชีวิตก็ได้มอบโอกาสแก่พวกเรา กล่าวกันว่า ธรรมะคือหน้าที่ เป็นหน้าที่ของทุกชีวิตที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องและปราศจากความเห็นแก่ตัว ผู้ใดปฏิบัติได้ ผู้นั้นคือผู้ที่มีธรรมะ
วัดป่ามัชฌิมาวาส ตั้งอยู่บ้านดงเมือง ตำบลลำพาน อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ จากพื้นที่กว่าสองร้อยไร่ของวัด ได้ถูกแบ่งออกเป็นสัดส่วนต่างๆตามความเหมาะสมและประเภทของการใช้ประโยชน์ เช่น
ศาลาพุทโธ สำหรับใช้รับแขกและพบปะญาติโยม
ศาลาอัศวินวิจิตร สถานที่ที่นำศพคนเสียชีวิตมาแสดงเพื่อให้เห็นถึงความไม่เที่ยงในชีวิตของมนุษย์
พุทธสถานซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์หลายองค์ ฯลฯ
กุฏิสงฆ์ของวัดป่ามัชฌิมาวาส จะปลูกอยู่ในระยะห่างกันพอสมควร ทั้งนี้มีเหตุเนื่องจากการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผลปลายทางอันสูงสุดของพระพุทธศาสนานั้น จำเป็นต้องใช้สถานที่ที่ต้องมีความสงบและอยู่ห่างไกลต่อการรบกวนจากเรื่องราวต่างๆ ของโลกภายนอก ซึ่งจะว่าไปแล้ว ความสงบ นี่แหละครับถือเป็นสิ่งสำคัญของการบำเพ็ญเพียรทางจิต เพื่อนผู้นำทางคนเดิมบอกพวกเราว่า การใช้ชีวิตในวัดป่ามัชฌิมาวาสแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือผู้ที่เข้ามาปฏิบัติธรรม จะต้องอุทิศเวลาเกือบจะทั้งหมดให้กับการสวดมนต์และนั่งสมาธิ ซึ่งในความเรียบง่ายของการใช้ชีวิตและการสละแล้วต่อเรื่องราวของทางโลก ย่อมเป็นนัยยะบอกให้ทราบต่ออีกว่า ความสงบ นี่แหละครับ คือ"ความสุขที่แท้จริงของมนุษย์" ความสงบร่มรื่นของสถานที่ทำให้พวกเราอดนึกถึงเรื่องราวในสมัยพุทธกาลที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงกำชับให้พระภิกษุสงฆ์ออกไปหาสถานที่ซึ่งเหมาะกับการอยู่ปฏิบัติสมาธิภาวนา เช่นในป่าตามโคนต้นไม้
พระพุทธเจ้าท่านประสูติในป่าลุมพินี บริเวณเขตติดต่อระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ ทรงตรัสรู้ใต้ต้นอัสสัตถพฤกษ์ ในป่าริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เขตกรุงสาวัตถี แคว้นมคธ ท่านได้แสดงพระปฐมเทศนา ณ แขวงกรุงพาราณสี ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และทรงเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานในป่าของกรุงกุสินารา เป็นเวลาถึง ๔๕ ปีที่พระองค์ได้ทรงจาริกไปสั่งสอนเหล่าเวไนยสัตว์ ท่านจะทรงประทับอยู่แต่ในป่า ต่อมาได้มีผู้ที่เคารพเสื่อมใสได้สร้างวัดถวายพระองค์ก็จะสร้างอยู่แต่ในป่า เช่นเวฬุวัน อัมพวัน ลัฏฐิวัน อันธวัน เชตวัน ฯลฯ วัน แปลว่า ป่า ตลอดชีวิตของพระองค์ ท่านจะทรงประทับอยู่ในวัดเฉพาะตอนเข้าพรรษา ซึ่งปีหนึ่งจะไม่เกินสี่เดือน นอกจากนั้นพระองค์จะทรงเสด็จออกจาริกและนอนตามโคนต้นไม้ในป่า นิยามของคำว่า พระป่า หมายถึงพระที่อยู่ตามธรรมชาติเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าและพระสาวกในสมัยพุทธกาล สำหรับในเมืองไทยตามความหมายของคำว่า พระป่า มีมานานแล้วครับ
ย้อนกลับไปในสมัยสุโขทัยเมื่อครั้งที่พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท)ยังทรงครองเมืองศรีสัชนาลัย ได้มีพระสงฆ์สองรูปคือ "พระสุมนเถร" และ "พระอโนมทัสสี" พระทั้งสองรูปนี้ได้เดินทางไปยังนครพัน(ตอนใต้ของพม่า) ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์จากเกาะลังกาเพื่อเข้าไปศึกษาปฏิบัติ หลังจากที่พระทั้งสองรูปนี้สำเร็จการศึกษา จึงได้เดินทางกลับมาตั้งสำนักลังกาวงศ์ในเขตอรัญวาสี ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง (บริเวณที่เป็นวัดป่ามะม่วงและวัดสีโทล) คำว่าเขตอรัญวาสีถือเป็นเขตแดนแห่งความสงบและเป็นที่พำนักของพระสงฆ์ฝ่ายป่าโดยเฉพาะ ซึ่งพระสงฆ์ในสายพระป่าจะมุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติวิปัสสนาธุระ ว่ากันว่าพระสงฆ์ที่เชี่ยวชาญในวิปัสสนาธุระมักจะเป็นพระที่มีความรอบรู้ในเรื่องของพระธรรมวินัยเป็นอย่างดีและมักจะเป็นพระที่พระมหากษัตริย์ทรงให้การอุปถัมภ์และทรงให้ความเคารพนับถือ จากบทความของ หอมรดกไทย ได้บันทึกเรื่อง พระป่าและวัดป่าของไทย โดยในบางส่วนของบทความได้เอ่ยถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระป่ากับพระมหากษัตริย์ดังนี้ครับ ....ในสมัยสุโขทัยต่อเนื่องมายังสมัยอยุธยา เรามีพระภิกษุฝ่ายคามวาสี ที่เน้นทางด้านคันถธุระ และฝ่ายอรัญวาสีที่เน้นทางด้านวิปัสสนาธุระ ดังจะเห็นได้ในประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงกระทำสงครามยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชแม่ทัพพม่าซึ่งพระองค์ทรงได้รับชัยชนะ หากแต่มีแม่ทัพนายกองหลายคนที่กระทำการบกพร่องต่อหน้าที่ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาโทษ สมเด็จพระพนรัตนแห่งวัดป่าแก้วและคณะ ได้เสด็จมาแสดงธรรมเพื่อให้ทรงยกโทษประหารแก่แม่ทัพนายกองเหล่านั้น โดยยกเอาเหตุการณ์ตอนที่"พระพุทธองค์ผจญพญามาร"ในคืนวันที่พระองค์จะทรงตรัสรู้มาเป็นอุทาหรณ์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงปีติโสมนัส ซาบซึ้งในพระธรรมที่สมเด็จพระพนรัตน์วัดป่าแก้วทรงแสดงยิ่งนัก ทรงตรัสว่า พระผู้เป็นเจ้าว่านี้ควรหนักหนา และได้ทรงพระราชทานอภัยโทษประหารแก่แม่ทัพนายกองเหล่านั้น จะเห็นว่าสมเด็จพระพนรัตนวัดป่าแก้ว เป็นพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสี จึงได้ชื่อนี้และอยู่ที่วัดป่า แต่ก็มิได้ตัดขาดจากโลกภายนอก เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญที่ฝ่ายพระภิกษุสงฆ์สมควรที่จะออกมาสงเคราะห์ฝ่ายบ้านเมือง หรืออาจจะกล่าวโดยรวมว่า ฝ่ายศาสนจักรสงเคราะห์ฝ่ายอาณาจักร ท่านก็สามารถกระทำกิจนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ อย่างผู้ที่แตกฉานในพระไตรปิฏก ดังนั้น พระภิกษุสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีผู้ปฏิบัติวิปัสสนาธุระ จะต้องมีความรู้ทางคันถธุระเป็นอย่างดีมาก่อน จะได้ปฏิบัติวิปัสสนาธุระได้อย่างถูกต้องตรงทาง ซึ่งคุณสมบัติข้อนี้ได้มีตัวอย่างมาแล้วแต่โบราณกาล.....
เพื่อนผู้นำทางเล่าประวัติความเป็นมาของวัดป่ามัชฌิมาวาสให้พวกเราฟังว่า วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตป่าช้าเก่าของหมู่บ้าน โดยปกติแล้วไม่ค่อยมีใครอยากเข้ามาในบริเวณนี้เนื่องจากว่ามีผีดุ เคยมีคนเข้ามาพิสูจน์หลายคนแล้วซึ่งทุกคนล้วนแล้วแต่ได้รับคำตอบแบบเดียวกัน อย่างเช่นเพื่อนรุ่นน้องของผมคนหนึ่ง ได้เข้าไปฝึกปฏิบัติธรรมที่วัด ในขณะที่เขากำลังนั่งสมาธิ จิตชั่ววูบหนึ่งมีความรู้สึกว่าง่วงนอน พอจิตคิดปุ๊บเหมือนมีมือลึกลับมาตบเข้าที่ศีรษะอย่างแรงจนสะดุ้ง ซึ่งตัวเขาเองก็ยังมั่นใจมาจนถึงทุกวันนี้ว่าต้องเป็นมือของเพื่อนรักต่างมิติแน่นอน เพราะในเวลานั้นเขานั่งสมาธิอยู่ที่ด้านหลังของโบสถ์และในละแวกนั้นมีเพียงเขาคนเดียวที่นั่งอยู่ หรือจะเป็นเรื่องที่พระบวชใหม่บางองค์ซึ่งในระหว่างที่ปฏิบัติธรรมอยู่ภายในกุฎิก็ได้ยินเสียงของเด็กๆ วิ่งเข้ามาขอส่วนบุญ ฯลฯ จะว่าไปแล้วเรื่องประหลาดๆ แบบนี้ถึงแม้ฟังดูแล้วจะเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ แต่ถ้าเพื่อนๆไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่ดีกว่าครับ เพราะเรื่องสำคัญมากกว่าการเป็นวัดที่มีผีดุ ก็คือการที่วัดป่ามัชฌิมาวาสแห่งนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจของบรรดาผู้ที่เคารพเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และในเสี้ยวใจของความศรัทธาก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากปฏิปทาของท่านพ่อเมืองครับ
กล่าวกันว่าในสมัยรัตนโกสินทร์ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทั้งสามองค์นี้คือแบบอย่างของพระป่าในยุคปัจจุบัน กิตติศัพท์ของท่านทั้งสามเป็นที่เลื่องลือในดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทถึงสามประเทศ คือ ไทย ลาว และพม่า หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นพระภิกษุที่มีลูกศิษย์เป็นพระป่ามากที่สุด ที่เราคุ้นเคยกันก็เช่น หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ขาว หลวงปู่แหวน หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่หลุย หลวงปู่ตื้อ ฯลฯ ซึ่งเมื่อตกมาถึงยุคหลานศิษย์ในปัจจุบัน ชื่อของท่านพ่อเมือง พลวัฑโฒก็คือหนึ่งในพระป่าที่เดินรอยตามแนวทางของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อย่างไม่ผิดเพี้ยนโดยการเน้นปฏิบัติภาวนาตามแนวทางพระอริยมรรคมีองค์แปด ซึ่งเมื่อกล่าวโดยย่อได้แก่ไตรสิกขา คือศีล สมาธิ และปัญญาครับ อย่างที่ทราบกันดีว่าพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายคันถธุระและฝ่ายวิปัสสนาธุระ หรือที่เราเรียกว่า พระบ้าน กับ พระป่า พระสงฆ์ฝ่ายคันถธุระคือพระที่ศึกษาพระปริยัติธรรม เพื่อให้เกิดความรอบรู้ในหลักธรรมสำหรับนำไปปฏิบัติและอบรมสั่งสอนผู้อื่นต่อ กระบวนการศึกษาเพื่อให้เกิดปัญญาถือเป็นปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้จากภายนอก ดังนั้นเพื่อให้เกิดความสะดวกในการแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้ต่างๆ พระภิกษุฝ่ายคันถธุระจึงมักจำพรรษาอยู่ที่วัดในตัวเมือง ด้วยเหตุนี้แหละครับเราจึงเรียกพระภิกษุในสายคันถธุระว่า พระบ้าน หรือ ฝ่ายคามวาสี
ในขณะที่พระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ คือพระสงฆ์ที่น้อมนำเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไปประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยเน้นไปในเรื่องของการฝึกจิตด้วยวิธีการนั่งสมาธิและภาวนาซึ่งวิธีการแบบนี้จัดว่าเป็นหนึ่งในหนทางนำไปสู่ความหลุดพ้นในวัฏสงสาร ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางอันสูงสุดของพระพุทธศาสนา กระบวนการเรียนรู้ด้วยวิธีการฝึกจิตเพื่อให้เกิดปัญญาถือเป็นปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้ภายใน โดยปัญญาดังกล่าวจะเกิดขึ้นเองเมื่อมีการฝึกปฏิบัติสมาธิไปได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้นการที่พระสงฆ์องค์ใดจะได้มากหรือได้น้อยขนาดไหน จึงขึ้นอยู่กับความเพียรของแต่ละองค์ เรียกว่า ฝึกมากได้มาก ฝึกน้อยได้น้อย ด้วยเหตุผลดังกล่าว พระภิกษุสงฆ์ในฝ่ายนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องออกหาสถานที่สงบ เพื่อที่ตนเองจะสามารถฝึกปฏิบัติ นั่งสมาธิและสวดมนต์ภาวนาได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีผู้ใดเข้าไปรบกวน ซึ่งตามหลักของพระพุทธศาสนาเรียกสถานที่แบบนี้ว่า สัปปายะ ดังนั้นสถานที่สัปปายะจึงมักจะอยู่ห่างไกลชุมชน เช่นในป่า หรือในถ้ำต่างๆ ด้วยเหตุนี้แหละครับเราจึงเรียกพระภิกษุสงฆ์ในสายวิปัสสนาธุระว่า ฝ่ายอรัญวาสี หรือ พระป่า ว่ากันว่า พระป่า เป็นพระที่มีเสน่ห์ คำว่าเสน่ห์ในที่นี้คือเสน่ห์ในทางธรรม คนไทยมีนิสัยเป็นคนที่ให้มาโดยกำเนิด คนเป็นแม่นอกจากให้กำเนิดลูกแล้ว ยังต้องให้การเลี้ยงดูและให้ความรักกับลูกตลอดเวลา การทำบุญตักบาตรก็เหมือนกัน คนไทยจะรีบตื่นแต่เช้ามาหุงข้าวเพื่อรอใส่บาตรพระ อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็น ลืมตาขึ้นมาก็ให้ พระสงฆ์ที่ออกบิณฑบาต ก็อยู่ในฐานะผู้ขอ เพราะไม่มีงานทำ ต้องอาศัยข้าวปลาอาหารจากญาติโยม ลองสังเกตุดูสิ เวลาที่พระไปบิณฑบาต ก็จะไปแบบเงียบๆ ก้มหน้าตลอดเวลา แต่อย่าลืมว่า การเดินเงียบๆและการก้มหน้า นั่นคืออาการที่เราเรียกว่า สำรวม
ท่านพ่อเมือง พลวัฑโฒ เจ้าอาวาสวัดป่ามัชฌิมาวาส อธิบายธรรมพร้อมกับกำลังให้ข้าวเหนียวเป็นทานแก่บรรดาไก่แจ้ ไก่ป่าที่อาศัยอยู่ภายในวัด จากสายตาของพวกเราที่มองลอดลูกกรงหอฉันในระยะสิบเมตร พอเห็นได้ว่าท่านเป็นพระที่มีเมตตา โดยเฉพาะดวงตาของท่านที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นมิตร เป็นที่รับรู้กันว่าธรรมที่พระอริยสงฆ์อย่างหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตได้สอนแก่บรรดาลูกศิษย์เสมอๆคือ พลธรรม ๕ ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ซึ่งท่านได้ให้เหตุผลว่า ผู้ใดไม่ห่างเหินจากธรรมเหล่านี้ ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่ขาดทุน ไม่ล่มจม โดยในส่วนธรรมของฆราวาสจะมี ทาน ศีล และภาวนา เป็นพื้นฐาน ซึ่งธรรมทั้งสามอย่างนี้ถือเป็นรากแก้วของความเป็นมนุษย์และเป็นรากเหง้าของพระพุทธศาสนา กล่าวคือ ทาน เป็นเครื่องแสดงน้ำใจมนุษย์ผู้มีจิตใจสูงและมีเมตตาจิต ศีล เป็นรั้วกั้นความเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ภาวนา เป็นการอบรมใจให้ฉลาด เที่ยงตรงต่อเหตุผลและเป็นหนทางแห่งความสงบสุข อย่างไรก็ตามในโลกแห่งความเป็นจริง คงปฏิเสธไม่ได้ครับว่ามีเรื่องราวหลายอย่างที่ทำให้เราเป็นทุกข์ หรือเป็นเรื่องที่เราไม่ต้องการให้มันเกิดขึ้น ความไม่ปรารถนาและความทุกข์จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวต่อความรู้สึก
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุกข์หรือภัยต่างๆ ล้วนแล้วแต่จิตของเราปรุงแต่งขึ้น หากเราสามารถปรุงแต่งธรรมได้มากเท่ากับทุกข์หรือภัยก็จะดี ท่านพ่อเมือง พลวัฑโฒ กล่าวสรุปใจความก่อนที่จะขอตัวไปทำภารกิจของท่านต่อไป ครับศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ไม่ได้สอนเน้นในเรื่องของความเชื่อ แต่เป็นการนำเสนอให้มาศึกษาและนำไปปฏิบัติ หากตัดทอนในเรื่องของระยะเวลาที่กงล้อธรรมจักรเคลื่อนไหวไปข้างหน้าให้เริ่มต้นที่สมัยสุโขทัย เราก็จะพบว่า พระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบมีอยู่มากมายเยอะแยะ บางองค์ก็มีชื่อเสียงโด่งดัง บางองค์ก็เก็บต้วและชอบอยู่อย่างสันโดษ ท่านพ่อเมือง เป็นพระสงฆ์ในส่วนหลัง ความลึกซึ้งในเรื่องของปัญญา หนักแน่นในเรื่องของวัตรปฏิบัติ จิตใจที่เปิดกว้างและไม่คับแคบ คือเหตุผลอันน้อยนิดที่พวกเราพร้อมใจกันมากราบนมัสการท่านในครั้งนี้
ปัจจุบันวัดป่ามัชฌิมาวาสได้เปิดพุทธบูชาคลินิค ขึ้นภายในวัด จัดเป็นสาธารณประโยชน์แก่ส่วนรวม เพื่อบริการแก่พระภิกษุสงฆ์ สามเณรและชาวบ้านทั่วไป โดยจะมีแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลต่างๆ ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์และใกล้เคียงมาดูแลและทำการรักษา โดยไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายใดๆ หากเพื่อนๆ ท่านใดสนใจอยากทำบุญร่วมกับพระสุปฏิปันโนอย่างท่านพ่อเมือง พลวัฑโฒ ก็ขอเชิญบริจาคเงินกับทางวัดได้โดยตรงเลยครับ วัดป่ามัชฌิมาวาสอาจไม่ใช่วัดที่เยี่ยมที่สุด สวยที่สุดหรือมหัศจรรย์ที่สุด ประเภทที่ว่าหากจะตายต้องขอไปวัดนี้สักที เพราะ วัดป่ามัชฌิมาวาส ก็คือ วัดป่ามัชฌิมาวาส บรรยากาศเรียบง่ายแต่ไม่ละทิ้งวัฒนธรรมของการดำเนินชีวิตสไตล์พระป่าแบบนี้กระมัง ที่เป็นเสน่ห์กวักมือเรียกให้ใครต่อใครอยากเข้ามาเยือน แต่ถ้าจะว่าไปแล้วก็คงน่าเสียดายไม่ใช่น้อยนะครับ ถ้าชีวิตหนึ่งของเราจะพลาดกับการได้ไปกราบและร่วมทำบุญกับพระสงฆ์ที่ดีๆ... วัดป่ามัชฌิมาวาส ..กงล้อธรรมจักรที่ไม่เคยหยุดนิ่ง สวัสดีครับ...
ขอขอบพระคุณ บทความอ้างอิง พระป่าและวัดป่าของไทย ของ หอมรดกไทย นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๔๒ ขอขอบคุณ ภาพถ่ายสวยๆจากคุณเด็กลึกลับ คุณพรชนก สุขพงษ์ไทย เพื่อนต่อกับคำแนะนำ คุณสมบูรณ์ ร้านนายฮ้อ สระบุรี สำหรับกำลังใจครับ |
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |
<< | ธันวาคม 2009 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | ||
6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 |
13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 |
20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 |
27 | 28 | 29 | 30 | 31 |