จะว่าไปแล้ว บรรดาตะกรุดเก่าๆ เศษชนวนโลหะเก่าๆ ก้อนแร่ธาตุต่างๆ ฯลฯ มองดูแล้วอาจไม่มีประโยชน์ตามสายตาของคนทั่วไป แต่สำหรับพระเกจิอาจารย์หรือนักนิยมพระเครื่องแล้ว สิ่งเหล่านี้ถือเป็นมวลสารชั้นดี ที่สามารถปะติดปะต่อร้อยเรียงเป็นเรื่องราวอธิบายถึงความเป็นมาของวัตถุมงคลประเภทเนื้อโลหะ จริงอยู่ถึงแม้การสร้างวัตถุมงคลที่เป็นเนื้อโลหะ จะมีการสร้างออกมาหลายแบบ หลายวัด แต่ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ว่าวัตถุมงคลนั้นๆ พระเกจิอาจารย์ท่านใดเป็นผู้สร้าง สร้างอย่างไร สร้างเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ทั้งนี้เนื่องจากการจะสร้างวัตถุมงคลขึ้นมาสักชุดนั้น ไม่ได้จบลงเพียงแค่เห็นเป็นรูปร่างและสามารถจับต้องได้ เพราะที่สุดและที่สุดของการสร้าง คือการปลุกเสกจนสามารถนำมาคุ้มครองชีวิตให้แก่ผู้ที่นำไปบูชาติดตัวได้นั่นเอง เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๓ (วันอังคารขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาล) ตรงกับวันธงชัย เวลา ๑๖.๑๙ น. วัดหนองกรับ ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ได้มีพิธีเทชนวนหล่อ พระปิดตามหาอุตฺตโม เพื่อนำปัจจัยที่ได้ไปสร้างซุ้มประตูและกำแพงของวัดหนองกรับ พรายกระซิบเจ้าเก่าคาบข่าวมาบอกพร้อมกับทิ้งปริศนาไว้ว่า ทุกมุมต้องมีเรื่องราว ไม่นานนักผมก็พบว่าตัวเองพร้อมเพื่อนๆ กำลังวิ่งเล่นอยู่ใน วัดหนองกรับ ซึ่งในวันนี้แหละครับจะเป็นวันที่ ความศรัทธา ต้องมานำหน้าการดำเนินชีวิตของพวกเราอีกครั้ง
ย้อนหลังไปในปี ๒๕๑๘ ครับ สมัยนั้นพระภิกษุชรา หูค่อนข้างหนักต่อการพูดคุย ท่านได้ชื่อว่าเป็นพระเกจิอาจารย์อาวุโสมากกว่าพระเกจิอาจารย์ใดๆ ในจังหวัดระยอง วัตถุมงคลของท่านไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับของวงการนักนิยมพระในยุคสมัยนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่า หลวงปู่ทิม อิสริโก คือใคร หรือ เก็บไว้ก็ไม่มีอนาคต แต่ทุกวันนี้เหตุผลต่างๆ ในอดีตได้ถูกทำลายลงด้วยประสบการณ์และราคาค่านิยมในวัตถุมงคลของท่านที่สูงขึ้นเร็วยิ่งกว่าราคาน้ำมัน โดยส่วนตัวแล้วผมไม่เคยเจอหลวงปู่ทิมหรอกครับ แต่ก็ได้ซึมซับเรื่องราวต่างๆ ของท่านไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจริง เช่นแขวนพระของท่านแล้วสามารถอาราธนาแก้โรคเวร โรคกรรมได้ หรือการเป็นคลังแห่งวิชาไสยศาสตร์ ชนิดที่สามารถบรรจุเข้าเป็นคณะในมหาวิทยาลัยได้อย่างสบายๆ นอกจากนี้ภายใต้สมณศักดิ์ พระครูภาวนาภิรัติ ย่อมเป็นนัยบอกถึงการเป็นผู้ที่มีญาณภาวนาอย่างดีเยี่ยม และที่สำคัญคือความที่หลวงปู่เป็นพระที่มีเมตตา เป็นพระผู้ให้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความเป็น อมตะเถระ ของหลวงปู่จะดำรงคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ ในช่วงชีวิตของหลวงปู่ทิม ท่านได้สร้างวัตถุมงคลทั้งพระเครื่องและของขลังต่างๆ ไว้อย่างมากมาย หลายรุ่น หลายพิมพ์ครับ โดยเฉพาะในช่วงปลายชีวิตของท่าน หลวงปู่ทิมได้สร้างพระปิดตายันต์ยุ่งที่ชื่อว่า พระปิดตามหาอุตฺตโม ด้วยพุทธคุณที่โดดเด่นจึงเป็นแรงขับให้พระปิดตารุ่นนี้ก้าวเข้าสู่ทำเนียบของพระปิดตายอดนิยมในปัจจุบัน
เรื่องราวของการสร้างพระปิดตามีมานานแล้วครับ ผมเองก็ไม่ทราบว่ามันนานมากขนาดไหน เพราะตั้งแต่เกิดจนจำความได้ก็พบเห็นว่ามีพระปิดตาแล้ว ลักษณะของพระปิดตาที่พบก็จะมีทั้งปิดตาสองมือแบบธรรมดา หรือจะเป็นปิดตาหลายมือแบบมหาอุตม์ ฯลฯและเท่าที่ทราบการสร้างพระปิดตาก็ยังมีอีกหลายตำราและหลายวิธีการสร้าง อย่างไรก็ตามเมื่อเราสืบค้นถึงในเรื่องของความเชื่อ จะพบว่าคติความเชื่อแห่งโบราณาจารย์เกี่ยวกับ พระปิดตามหาอุตม์ ซึ่งมีลักษณะเป็นพระปิดตาหลายมือยกขึ้นปิดทวารทั้ง ๙ นั้น โบราณาจารย์ท่านได้ให้ความหมายไว้สองนัย นัยยะแรกคือเป็นรูปของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในขณะที่ทรงเข้านิโรธสมาบัติ ซึ่งเป็นการปิดเสียซึ่งการรับรู้สำรวมแห่งอายาตนะภายนอกและภายใน เล่ากันว่าด้วยอานิสงส์แห่งนิโรธสมาบัติ จึงเป็นเหมือนเกราะกำบังไม่ให้ผู้ใดสามารถทำอันตรายได้ ส่วนนัยยะที่สองท่านว่าหมายถึง พระภควัมปติเถระ ซึ่งเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในสมัยพุทธกาล โดยในส่วนประวัติของ พระภควัมปติเถระ เพื่อนๆ สามารถค้นหาได้จาก คัมภีร์ อสีติมหาสาวก หรือ ๘๐ อรหันต์สมัยพุทธกาล ได้ครับ นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออีกมากมายครับเกี่ยวกับพระปิดตาที่มีบันทึกไว้สืบทอดกันมา เช่น บทความของ รองศาสตราจารย์นิพัทธ์ จิตรประสงค์ ซึ่งท่านได้เขียนไว้ในหนังสือ อาณาจักรพระปิดตามหาอุตม์ ว่า ในสมัยโบราณผู้คนไม่นิยมอาราธนาพระเครื่องหรือพระพิมพ์ติดตัว ด้วยถือว่ารูปลักษณ์ของพระพุทธองค์เป็นของสูง คนโบราณท่านจึงได้ประดิษฐ์คิดแต่งเอาความเป็นพุทธอนุชาสามองค์มารวมกัน ได้แก่ การสร้างเสน่ห์นิยม คือ รูปลักษณ์ของพระมหากัจจายนะ ที่แกะสลักจากไม้โพธิ์นิพพาน (ก้านโพธิ์ตายพรายที่ชี้ไปทางทิศตะวันออก) โดยกำหนดให้มีลักษณะที่อ้วนล้ำเป็นสำคัญ และเหตุผลที่ทำเป็นรูปพระปิดตานั้น ท่านว่าเป็น คตินิยม ของโบราณาจารย์ที่ว่า การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อความขลังเป็นประสิทธิ์นั้นจำเป็นที่จะต้องกระทำจิตให้เป็นอัปปนาสมาธิ คือ ทวารทั้ง ๙ อันมี ตา หู จมูก ปาก ทวารหนัก ทวารเบา ต้องดับสนิท แต่เมื่อสร้างเป็นรูปเคารพนั้น ไม่สามารถที่จะแสดงออกให้ท่านเห็นอย่างเป็นรูปธรรมเด่นชัดได้ ท่านจึงแสดงการเข้าถึง อัปปนาสมาธิ (สมาธิอย่างสูง)โดยการยกมือขึ้นปิดตาเป็นปฐมก่อน จึงเป็นที่มาของ พระปิดตา ซึ่งเป็นการสร้างเสน่ห์นิยมตามอุปเท่ห์ดังกล่าวข้างต้น
สืบต่อมาท่านโบราณาจารย์ผู้ชาญฉลาดได้แสดงออกมาให้การเข้าถึงอัปปนาสมาธิ ที่เด่นชัดยิ่งขึ้น ท่านจึงทำพระปิดตาเป็นปิดทวารทั้ง ๙ ประการ คือ ปิดตา ปิดหู ปิดปาก ปิดจมูก และล้วงลงปิดทวารหนักทวารเบา เราจึงเรียกพระปิดตาตามลักษณะอย่างนั้นอีกชื่อหนึ่งว่า พระปิดทวารทั้ง ๙ หรือ พระปิดตามหาอุด ก็มี คำว่า พระปิดตามหาอุด นั้น ตามคัมภีร์ทางพุทธาคมมีอักขระย่ออยู่ ๔ คำด้วยกัน คือ อุดทัง อัดโท โทอุด ทังอัด เรียกว่า หัวใจมหาอุด ดังนั้นคำว่า พระปิดตามหาอุด คงใช้คำว่า มหาอุด ตัวนี้คือ อุด ไม่ให้ลูกกระสุนปืนออกจากปากกระบอกนั่นเอง และยังมีเรื่องเล่ากันสืบต่อมาว่า ขณะที่หญิงคลอดบุตรให้เอาพระปิดตามหาอุด ออกไปให้พ้นชายคาบ้าน มิฉะนั้นจักคลอดลูกยาก สืบต่อมาท่านโบราณาจารย์ ท่านจึงได้ประดิษฐ์คิดสร้าง พระปิดตา ด้วยผงอิทธิเจและผงทางเสน่ห์นิยม ฯลฯ ตลอดจนคลุกเคล้าด้วยวัตถุมงคลและอาถรรพ์ทางโชคลาภและอิสตรี เช่น ไม้ไก่กุก ว่านเสน่ห์จันทร์ขาว เสน่ห์จันทร์แดง เป็นต้น เมื่อมีผู้ศรัทธาเลื่อมใสนำเอาไปใช้ได้เกิดอานิสงส์ทางโชคลาภ ทำให้คำเรียกขานชื่อท่านจาก พระปิดตามหาอุด เป็น พระปิดตามหาอุตม์ ซึ่งมีความหมายไปในทางอุดมสมบูรณ์
ในทางวรรณกรรมชาวบ้าน เรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่เชื่อกันว่าเขียนขึ้นโดยอิงเค้าโครงเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยา ซึ่งต่อมาสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ท่านได้ทรงโปรดให้ชำระและแต่งเพิ่มเติมขึ้นตามที่เราทราบกันอยู่ ก็ได้มีการกล่าวถึง พระปิดตา อยู่หลายตอนด้วยกันครับ ทั้งในลักษณะของการสักเป็นรูปพระปิดตาลงบนร่างกายหรือการนำเอาพระปิดตามาใช้ประกอบพิธีเพื่อให้ร่างกายอยู่ยงคงกระพันครับ เช่น อันแม่ทัพคนนี้มีศักดา อยู่คงศาสตราวิชชาดี แขนขวาสักรงองค์นารายณ์ แขนซ้ายสักชาดราชสีห์ ขาขวาหมึกสักพยัคฆี ขาซ้ายสักหมีมีกำลัง สักอุระรูปพระโมคคัลลาน์ ภควัมปิดตา นั้นสักหลัง สีข้างสักขระนะจังงัง ศีรษะฝังพลอยนิลเม็ดจินดา หรือ จึงเอา พระภควัม ที่ทำไว้ ใส่ขันสำริดประสิทธิ์มนต์ ในขันนั้นใส่น้ำมันหอม เสกพร้อมเป่าลงไปสามหน พระนั่งขึ้นได้ในบัดดล น้ำมันนั้นทาทนทั้งทุบตี ล่องหนกำบังจังงังครบ อุปเท่ห์เล่ห์จบเป็นถ้วนถี่ ปลุกเครื่องเสร็จพลันอัญชลี อ่านมนต์เรียกผีพวกภูติพราย ครับ...ทั้งหมดนี้ผมว่าน่าจะเพียงพอสำหรับการอ้างอิงได้ว่า พระปิดตา เป็นพระที่มีการสร้างและรู้จักกันมาอย่างยาวนาน ประมาณว่าต้องมีหลายร้อยปีขึ้นไป แต่ก็ยังห่างจากสมัยที่พระพุทธเจ้าของเราท่านทรงประกาศพระศาสนานับเป็นพันปี ซึ่งทั้งนี้ไม่ว่าพระปิดตาจะมีลักษณะเป็นปางอะไรหรือจะมีเรื่องราวความเป็นมาจากคัมภีร์ไหนก็ตาม เราคงปฏิเสธไม่ได้ครับว่า พระปิดตาเป็นเสมือนสัญญลักษณ์ตัวแทนเรื่องราวของวัฒนธรรม ที่ประกอบไปด้วย จิตรกรรม ประติมากรรม ความเชื่อ ความศรัทธา ฯลฯ ที่สะท้อนให้เราทราบถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาที่มีมาอย่างยาวนานได้ครับ
สมัยก่อนมีการสร้างพระปิดตาขึ้นมาหลายสำนักและหลายลักษณะ ซึ่งประเด็นของความแตกต่างกันทางด้าน เนื้อหาและลักษณะ จึงไม่เพียงเป็นการบ่งบอกถึงความเป็น เอกลักษณ์ ของผู้สร้างเท่านั้น หากแต่ยังสามารถสะท้อนถึงตัวตนของผู้สร้างได้อีกทางหนึ่งด้วย เช่น พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง ที่สร้างจากผงพุทธคุณ พระปิดตาหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง ที่สร้างขึ้นจากเนื้อเมฆพัด พระปิดตาหลวงพ่อทับ วัดทอง ที่สร้างขึ้นจากเนื้อโลหะ ฯลฯ สมัยนี้เราจะเห็นว่าผู้คนจำนวนมากหันมานิยมพระปิดตากันมากขึ้น จนมีการสร้างต่อเนื่องกันขึ้นมาอีกหลายต่อหลายวัด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพระปิดตาจัดว่าเป็นพระที่มีพุทธลักษณะสวยงาม พุทธคุณครอบจักรวาล ประมาณว่ามีบูชาแล้วสารพัดประโยชน์ จะบูชาติดตัวก็ได้ หรือหากไม่ต้องการแขวนนำพระลงแช่ในน้ำมันหอม นำน้ำมันหอมมาแตะที่หน้าผากก็ยังเป็นสิริมงคลติดตัวไปทั้งวัน จะว่าไปแล้ว พระปิดตา จึงเป็นดั่งสัญญลักษณ์ของความมีโชคดี เป็นตัวแทนของความมีโชคลาภประมาณนั้นแลครับ สำหรับพระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตฺตโม ของหลวงปู่ทิม เป็นการสร้างโดยอิงเค้ารางเดิมมาจากพระปิดตายันต์ยุ่งพิมพ์เศียรบาตรของหลวงพ่อทับ วัดทอง ปรมาจารย์ผู้สร้างพระปิดตายันต์ยุ่งอันดับต้นของเมืองไทย ซึ่งพระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตฺตโม ของหลวงพ่อสาคร ถึงจะเป็นการสร้างล้อพิมพ์แต่ก็ได้มีการดัดแปลงบางส่วนให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท่านดังนี้ครับ องค์พระนั่งขัดสมาธิเพชร มือสวมกำไลยกขึ้นปิดหน้า ปิดหู ปิดท้อง ปิดก้น ล้อมรอบด้วยมูลสูตรแห่งอักขระเลขยันต์ดุจการชักยันต์คุ้มครองตัว โดยมีการเดินเป็นเส้นยันต์ที่สะบัดพริ้ว คม ชัด ลึก
ที่ศีรษะมี นะกระหม่อม มีอักขระ นะ กลับคู่อยู่ที่ซอกแขนคู่หน้า ที่หน้าผากมีอักขระ พะ หงาย มี ยันต์เฑาว์ ขนาบสองข้างด้วย ยันต์อุณาโลม ถัดลงมามีอักขระหัวใจธาตุ ๔ นะมะพะทะ ปิดหัวท้ายด้วย นะขมวดวน และอักขระแถวล่างสุด นะอุด
พระปิดตามหาอุตตโมที่สร้างขึ้นใหม่ครั้งนี้ หลวงพ่อสาครท่านเมตตาเล่าให้ฟังว่าเป็นการสร้างขึ้นตามอุปเท่ห์ที่กล่าวไว้ใน ตำราพุทธนิมิต ของหลวงปู่ทิม คำว่า พุทธนิมิต อธิบายความตามตำราได้ว่าหมายถึง รูปนิมิตของพระพุทธเจ้า ซึ่งรูปนิมิตที่ว่านี้จะหมายถึงหรือจะเป็นรูปอะไรก็ได้ตามแต่ที่พระพุทธเจ้าท่านจะทรงเนรมิต สิทธิการิยะ ถ้าผู้ใดพบเห็นพระคาถาพุทธนิมิต ให้ใช้ตามอุปเท่ห์เถิด หาอุปมามิได้เลย แม้ถ้าไปอยู่ในบ้านผู้ใด ก็เป็นสิริมงคลแก่ผู้นั้น เสนียด จัญไร มิอาจมาถึงผู้นั้นเลย ฯ ในส่วนของตำราพุทธนิมิตนั้น หลวงพ่อเล่าว่าในเมืองไทยมีอยู่หลายตำราด้วยกัน ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่สืบทอดมานั้นได้มาจากสายไหน แต่ของท่านเป็นตำราที่ถ่ายทอดมาจากหลวงปู่ทิมครับ อย่างไรก็ตามเมื่อมองกันในภาพรวม โดยสากลแล้วในทางพุทธคุณหลวงพ่อท่านว่ามักจะคล้ายๆ กัน จะมีแตกต่างกันไปบ้างก็เป็นในส่วนของ เนื้อหา และ วิธีการสร้าง เช่นในตำราโบราณเกี่ยวกับการสร้างมีด ซึ่งขั้นตอนในการทำใบมีดที่ต้องมีการเขียนยันต์ประเภทต่างๆ ในลักษณะแบบลบถมไปถมมา หนึ่งในจำนวนยันต์ที่สำคัญคือ ยันต์พุทธนิมิต สำหรับในขั้นตอนการบรรจุอิทธิคุณต่างๆ ลงในด้ามมีด เช่นผงพุทธคุณ ผงอาถรรพ์ต่างๆ ฯลฯ ในตำราก็ระบุว่าผงที่เหลือจากการบรรจุ ให้นำมาสร้างเป็นพระปิดตาไว้สำหรับพกติดตัว ท่านว่าขมังและเด็ดขาดนัก นอกจากนี้ก็ยังมีคณาจารย์สำคัญๆ อีกหลายท่านครับ ที่สร้างวัตถุมงคลในรูปแบบของพุทธนิมิต เช่นผ้ายันต์พุทธนิมิตของหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นผ้ายันต์รูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในขณะที่ทรงเข้านิโรธสมาบัติ เป็นต้น ย้อนมาดูตำราพุทธนิมิตของหลวงปู่ทิมกันบ้าง.. หลวงพ่อสาครเล่าว่าในตำราประกอบด้วยวิชาที่มีคุณอเนกอนันต์หลายวิชา โดยหลวงปู่ทิมท่านจะเลือกถ่ายทอดให้แก่ลูกศิษย์เป็นรายๆ ไป ขึ้นอยู่กับท่านพิจารณาว่าเหมาะสมกับผู้ที่จะรับหรือไม่ ซึ่งในตำรานี้มีอุปเท่ห์หรือฝอยเกี่ยวกับการสร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่างครับ แต่ถ้าหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างพระปิดตา ในตำราได้มีการบันทึกถึงขั้นตอนไว้ประมาณนี้ครับ ผู้ใดพบ พระพุทธนิมิตหรือพระควัม บุคคลผู้นั้นว่าถึงโสดาบัน ถ้าเป็นของวิเศษอันใหญ่หลวง ให้สร้างเป็นพระขึ้นสามองค์ ปิดหูหนึ่งองค์ ปิดตาหนึ่งองค์ ปิดปากหนึ่งองค์ นำพระทั้งสามองค์ที่สร้างขึ้นมารวมกันห่อหุ่มด้วยชันโรง พอกด้วยผง นำไปวางลงบนใบไม้เจ็ดอย่าง แล้วเสกด้วยพระคาถาพุทธนิมิต ซึ่งอุปเท่ห์ตามตำรานี้ เมื่อราวปี ๒๕๒๘ หลวงพ่อสาครท่านได้นำมาสร้างเป็นพระผงเพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานฉลองสมณศักดิ์ ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธนั่งขัดสมาธิ ด้านหลังเป็นยันต์พุทธนิมิต พร้อมกับขนานนามพระผงนี้ว่า พระพุทธนิมิต
พระพุทธนิมิตนี้นอกเหนือจากการเป็นพระเครื่องชุดแรกๆ ในชีวิตของหลวงพ่อสาครแล้ว ยังถือเป็นพระเครื่องที่ประกาศความเป็นตัวตนของหลวงพ่อเป็นครั้งแรกเช่นกัน เพราะโดยองค์รวมแล้ว หลวงพ่อท่านเป็นผู้ออกแบบเอง แกะพิมพ์เอง ลบผงเอง กดเอง ฯลฯ ในด้านประสบการณ์ของพระพุทธนิมิต ก็มีให้เล่ากันอย่างเหลือเฝือครับ ทั้งเมตตาเปลี่ยนศัตรูให้กลับกลายเป็นมิตร ขับรถมอเตอร์ไซด์ชนเสาไฟฟ้าข้างทางแต่ไม่เป็นอะไร รวมไปถึงทหารเรือสัตหีบพกพระพุทธนิมิตติดตัว ไปเหยียบกับระเบิดก็ยังรอดตายกลับมารายงานตัวที่วัด ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้ถือเป็นการยืนยันความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่องที่สร้างขึ้นจากตำราพุทธนิมิตอย่างเป็นรูปธรรมครับ เชื่อว่าเพื่อนๆ คงจะเคยได้ยินคำนี้ องคาพยพ องคาพยพ หมายถึง อวัยวะน้อยใหญ่ที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวตนของมนุษย์ ดังนั้นการจะเป็นมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์จะต้องมีองคาพยพครบถ้วน ในเชิงไสยศาสตร์ก็เช่นกันครับ นอกเหนือจากพิธีกรรมจะต้องสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว การปลุกเสกก็ต้องสมบูรณ์ครบถ้วนตามที่ครูบาอาจารย์สอนสั่งมาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะไม้แรกเริ่มวิ่งและไม้สุดท้ายก่อนเข้าเส้นชัย ซึ่งหลวงพ่อบอกว่าคือเรื่องของ ธาตุ ประมาณว่ากินยาต้องกินทั้งก่อนอาหารและหลังอาหารแหละครับ เกี่ยวกับประเด็นนี้ท่านว่านอกจากต้องปฏิบัติตามตำราแล้ว ที่เหลือเป็นเรื่องของประสบการณ์เฉพาะตัวครับ
ว่ากันว่าในโลกเรานี้ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากองค์ประกอบสี่อย่าง ในทางพุทธศาสนาเรียกองค์ประกอบทั้งสี่อย่างนี้ว่า ธาตุทั้งสี่ ธาตุทั้งสี่ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ซึ่งความเชื่อดังกล่าวได้สอดคล้องกับความเป็นจริงว่าหากผู้ใดศึกษาจนเขาใจ ถึงขั้นสามารถผสม สลับสับเปลี่ยน ธาตุทั้งสี่นี้ได้ ผู้นั้นก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีพลังจิตที่เข้มแข็ง
ปรับธาตุก็เหมือนการปรุงอาหารนั่นแหละ รสไหนเหมาะกับอาหารอะไร รู้จักอาหาร เข้าใจทำ ก็อร่อย... การสร้างพระปิดตาในสมัยนี้มีการสร้างขึ้นหลายวัด แต่ว่าถ้าคนสร้างและคนเสกเป็นคนที่เข้าใจในศาสตร์ที่เรียนและเข้าใจในเคล็ดที่สอน อย่างเช่นหลวงพ่อสาคร ผมว่ามันดูเหมาะสมและได้ใจดีครับ เหมือนกับการปรุงอาหารนั่นแหละ รู้จักอาหาร เข้าใจทำก็อร่อย.... โดยส่วนตัวแล้ว ผมรู้จักหลวงพ่อสาครในฐานะที่ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ เป็นพระที่เชื่อมั่นในตนเองและมั่นคงในครูบาอาจารย์ ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นคุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของผู้ที่จะเสกของได้ขลัง แต่เมื่อได้มีโอกาสเข้ามากราบนมัสการท่านบ่อยครั้งเข้า ผมจึงพบว่าสิ่งที่หลวงพ่อเป็นมากกว่าที่ผมทราบก็คือ หลวงพ่อเป็นพระที่มีจิตใจดีและให้ความอบอุ่นกับลูกศิษย์ได้เสมอ โดยเฉพาะกับแง่มุมของความมุ่งมั่นและตั้งใจในการทำอะไรสักอย่าง จะว่าไปแล้วถึงหลวงพ่อสาครท่านจะบอกว่าสร้างขึ้นเพื่อสะท้อนถึงความเป็นครูบาอาจารย์และความเป็นเอกลักษณ์ แต่โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการสร้างพระปิดตามหาอุตฺตโมของหลวงพ่อยังหมายถึงการตอกย้ำในเรื่องที่ หลวงปู่ทิม อิสริโก เคยกล่าวไว้ว่า หลวงพ่อสาครองค์นี้ คือผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากท่าน อีกด้วย...สวัสดีครับ
กราบขอบพระคุณ หลวงพี่กิติศักดิ์ กิติสุขิโต ที่เมตตาให้ข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ขอขอบคุณ เอกสารอ้างอิง หนังสืออาณาจักรพระปิดตามหาอุตม์ โดย รองศาสตราจารย์นิพัทธ์ จิตรประสงค์ เอื้อเฟื้อภาพถ่ายจาก คุณโยธิน สกุลแพทย์ คุณพรชนก สุขพงษ์ไทย คุณนภดล ดวงฤดีสวัสดิ์ และคุณไก่ เพื่อนต่อกับคำแนะนำ คุณสมบูรณ์ ร้านนายฮ้อ สระบุรี กับกำลังใจทีมีให้ตลอดมาครับ
|
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |
<< | กรกฎาคม 2010 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | 3 | ||||
4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 |
11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 |
25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 |