รายงานเศรษฐกิจรายไตรมาส ฉบับที่ 55/2560
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2560
บริษัทไทยวิจัยและฝึกอบรมจำกัด
23 ตุลาคม 2560
ประเด็นหลักของเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นประเด็นเดิม คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP Growth Rate) ที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตัวเลขดังกล่าวสรุปได้ว่าเศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวในระดับที่ดีและมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการขยายตัว 3.3% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 และมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.7% ในไตรมาสที่ 2 ในขณะที่ธุรกิจทั่วไปประสบปัญหายอดขายสินค้าและบริการที่ลดลง ระบบเศรษฐกิจไม่มีการลงทุนขยายกำลังการผลิต รายได้การจัดเก็บภาษีอากรของรัฐลดลง ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการขยายสินเชื่อ และปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้เกิดข้อกังขาว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่แท้จริงเป็นอย่างไร ที่สำคัญคือแนวโน้มของเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร เพราะแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจของทางการจะออกมาดี แต่หากสภาพเศรษฐกิจจริงกลับเป็นไปในทิศทางตรงข้าม จะเกิดความสับสนต่อภาคธุรกิจและประชาชนในการวางแผนการลงทุนและการวางแผนการบริโภคในอนาคต
การการวิเคราะห์เศรษฐกิจในครั้งนี้จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการบรรยายให้ชัดเจน ตรงประเด็น และง่ายต่อการเข้าใจสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยจะแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 5 หมวดคือ 1. The Big Picture คือภาพใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ เมื่ออ่านแล้วจะทราบทันทีว่าสภาพเศรษฐกิจขณะนี้เป็นเช่นไร มีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง 2. กำลังซื้อภายในประเทศ ด้วยกำลังซื้อของผู้บริโภคนอกจากจะเป็นตัวจักรสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ยังสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจจริงที่ประชาชน(ผู้บริโภคภายในประเทศ)กำลังประสบอยู่ 3. เติบโตแต่ฝืดเคือง ในส่วนนี้จะอธิบายให้เห็นว่าเหตุใดตัวเลขอัตราการขยายตัวของ GDP ที่เป็นเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดจึงไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่ภาคธุรกิจและภาคเอกชนรับรู้ 4. แนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้าย จะคาดการณ์แนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เพื่อให้ผู้อ่านจะได้เห็นภาพการเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจจะได้ทำการวางแผนและปรับปรุงแผนธุรกิจและแผนการบริโภคได้ถูกต้อง สุดท้าย หมวดที่ 5 ปัญหา/อุปสรรค/ความเสี่ยง หมวดสุดท้ายจะบรรยายประเด็นปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารเติบโตได้เต็มศักยภาพ โดยจะไม่วิเคราะห์ปัญหาด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยเป็นการปรับปรุงระยะยาว แต่จะวิเคราะห์เฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการเงิน/การคลัง/อัตราแลกเปลี่ยน ที่รัฐบาลสามารถจะดูแลแก้ไขได้ในระยะสั้น
เพื่อตอบสนองแนวคิดด้านบน การบรรยายจะหลีกเลี่ยงประเด็นทางวิชาการที่ไม่จำเป็น ใช้ภาษาที่ง่ายต่อการเข้าใจ และจะบรรยายในลักษณะของ Bullet Points ที่สำคัญคือจะวิเคราะห์ในเชิง”ฟันธง” ด้วยไม่ต้องการให้ผู้อ่านต้องไปวิเคราะห์ต่อหรือหาข้อสรุปไม่ได้ อย่างไรก็ดี แม้ผู้วิเคราะห์จะใช้หลักการทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์อย่างเข้มงวดและดีที่สุด การ”ฟันธง”ของผู้วิเคราะห์ก็ไม่อาจรับรองความแม่นยำของการคาดการณ์
-
The Big Picture ของไตรมาสที่ 2 : เศรษฐกิจไทยไม่ตายแต่ไม่โต
-
ตัวเลข GDP เป็นการสังเคราะห์ทางเทคนิค ไม่ได้สะท้อนภาพเศรษฐกิจอย่างครบถ้วน ผู้ที่อ่านตัวเลข GDP จำเป็นต้องเข้าใจถึงใส้ในหรือที่มาของตัวเลข เช่น ทำการวิเคราะห์ Contribution to Growth ควบคู่ไปด้วย จึงจะเห็นภาพเศรษฐกิจที่ซ่อนอยู่ใต้ตัวเลข GDP Growth รวม
-
อัตราการขยายตัวของ GDP ในไตรมาสที่ 2 จริงที่ซ่อนอยู่ภายใต้ตัวเลขอัตราการขยายตัวรวม 3.7% ของสภาพัฒน์ฯ คือ 0.4% ซึ่งชี้ถึงสภาพเศรษฐกิจจริงที่แทบจะไม่มีการขยายตัวและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่ภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปรับรู้
-
อัตราการขยายตัว 3.3% ของ GDP ที่เหลือ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในสินค้าคงคลังหรือ Change in Inventories เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงเทคนิคที่แม้จะมีผลต่อตัวเลข GDP Growth สูง แต่ไม่สะท้อนภาพเศรษฐกิจจริง
-
เหตุที่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวอยู่ได้ในแดนบวกในไตรมาสที่ 2 มิได้มาจากกำลังของเศรษฐกิจภายใน แต่มาจากปัจจัยภายนอก (External Factors) นั่นคือ ผลผลิตภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้น 19.2% ที่ได้รับผลบวกจากสภาวะดินฟ้าอากาศและการขยายตัวของภาคบริการที่ได้รับผลดีจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัว 7.6%
-
ภาคการส่งออกไม่ได้ช่วยการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นปัจจัยฉุดรั้งให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวในระดับต่ำ ด้วยการส่งออกที่ขยายตัวถึง 6.0% ถูกหักลบด้วยการนำเข้าที่มีอัตราการขยายตัวสูงกว่าที่ 8.2% ส่งผลให้การส่งออกสุทธิ (Net Exports) มีผลต่อการขยายตัวของ GDP เป็นลบ 0.9%
-
การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวลดลง (วัดจาก Manufacturing Production Index) 0.1% ในไตรมาสที่ 2 และมีการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization) ในระดับต่ำที่ราว 60% เป็นผลให้ภาคธุรกิจไม่เห็นความจำเป็นที่จะลงทุนขยายกำลังการผลิต โดยที่ Private Investment Indicators ขยายตัวติดลบ 0.9% ในไตรมาสที่ 2 หลังจากขยายตัวติดลบมาแล้ว 0.7% ในไตรมาสที่ 1
-
เศรษฐกิจ”จริง”ที่ไม่ขยายตัวส่งผลให้รายได้ของรัฐจัดเก็บได้ลดลง โดยรัฐบาลมีรายได้ลดลง 6.1% ในไตรมาสนี้ การใช้จ่ายภาครัฐก็ลดลง 1.3% เช่นกัน
-
ปัญหาความไม่สมดุลระหว่างรายรับและรายจ่ายของรัฐ ทำให้เงินคงคลังลดลงอย่างรวดเร็วตามตารางข้างล่าง
ตารางที่ 1: เงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ
ปีงบประมาณ
|
ยอดคงเหลือ (ล้านบาท)
|
2558
|
426,182
|
2559
|
235,805
|
2560
|
74,907
|
-
กำลังซื้อภายในประเทศ
-
กำลังซื้อภายในประเทศเป็นเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ดีที่บ่งชี้ถึงภาวะ”การกินดีอยู่ดี” ของระบบเศรษฐกิจ
-
กำลังซื้อภายในประเทศเกิดจากปัจจัยหลัก 2 ปัจจัยคือ รายได้ปัจจุบันและรายได้ในอนาคต
-
ตัวแทนของรายได้ในอนาคตคือ “สินเชื่อภาคครัวเรือน” ซึ่งเป็นการกู้ยืมรายได้ของอนาคตมาใช้จ่ายในปัจจุบัน
-
ตารางที่ 2 แสดงคือการขยายตัวของการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในปี 2560 แยกตามหมวดสินค้า 3 หมวดหลัก
-
สินค้าสิ้นเปลือง (Non-Durable Goods) เป็นสินค้าที่ใช้บริโภคประจำวัน บริโภคแล้วหมดไป มีความจำเป็นต้องบริโภคอย่างต่อเนื่อง
-
หมวดสินค้ากึ่งคงทน (Semi-Durable Goods) เป็นสินค้าที่มีอายุการใช้งานสั้น มีความจำเป็นที่ต้องบริโภคทดแทนเมื่อครบอายุการใช้งาน เช่น เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์
-
หมวดสินค้าคงทน (Durable Goods) เป็นสินค้าที่มีการใช้งานระยะยาว(และมักมีมูลค่าสูง) ไม่จำเป็นต้องเร่งบริโภค เช่น บ้าน รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์
ตารางที่ 2: อัตราการขยายตัวของดัชนีการบริโภคแยกตามหมวดสินค้า
(% เพิ่มจากเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า)
|
ไตรมาสที่ 1
|
ไตรมาสที่ 2
|
กรกฎาคม
|
Non-Durable
|
-0.7
|
-0.6
|
0.3
|
Semi-Durable
|
0.0
|
-0.2
|
-1.1
|
Durable
|
11.1
|
5.7
|
8.2
|
-
ตารางที่ 2 ชี้ชัดว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคถดถอยอย่างต่อเนื่องในหมวดสินค้าที่จำเป็น (Non-Durable และ Semi-Durable) ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 สวนทางกับตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวเกิน 3%
-
เหตุผลหลักคือ “รายได้ในอนาคต” ลดลง ตามความสามารถในการกู้ยืมสินเชื่อเพื่อการบริโภคลดลง ส่งผลให้รายได้รวม (รายได้ปัจจุบัน+รายได้ในอนาคต) ลดลง
-
การสำรวจล่าสุดของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยพบว่า ภาคครัวเรือนมีหนี้สินเฉลี่ย 299,266 บาทต่อครัวเรือน มีภาระที่จะต้องชำระหนี้สินคืน 15,438 บาทต่อเดือน และ 79% ของลูกหนี้มีหรือเคยมีปัญหาในการชำระหนี้สิน
-
ด้วยภาระ “หนี้สินล้นพ้นตัว” อีกทั้งมีภาระต้องชำระหนี้เทียบเท่ารายได้เฉลี่ยต่อเดือน (Monthly Per-Capita Income) จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นการลดทอนการใช้จ่ายสินค้าที่จำเป็น
-
ที่น่าสนใจคือในขณะที่มีการลดค่าใช้จ่ายในหมวดสินค้าที่จำเป็น กลับมีการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายในหมวดสินค้าที่ไม่จำเป็น (Durable Goods) ซึ่งคาดเดาว่าเกิดจากรายได้ภาคการเกษตรที่ดีขึ้นอย่างมากใน 2 ไตรมาสแรก ที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ 18.4% และ 17.0% ตามลำดับ รายได้ที่เพิ่มขึ้นชั่วคราวถูกนำไปใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่จำเป็น โดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งชี้ถึงการขาดวินัยในการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการละเลยความสำคัญของการออม
-
เติบโตแต่ฝืดเคือง
-
ดังที่กล่าวมาก่อนหน้า ตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ไม่สามารถบ่งชี้สภาพทางเศรษฐกิจได้อย่างตรงตัว ต้องวิเคราะห์องค์ประกอบอื่นของ GDP ด้วย
-
องค์ประกอบของ GDP ที่ควรจะพิจารณาคือ Domestic Demand ซึ่งเป็นเครื่องวัดความต้องการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศ และ Adjusted Domestic Demand ซึ่งหักลบการเปลี่ยนแปลงในสินค้าคงคลังออกจาก Domestic Demand ด้วยสินค้าคงคลังเป็นสินค้าที่มิได้ถูกนำออกมาจำหน่าย แต่ผลิตเพื่อเก็บไว้ในสต๊อค
-
ตารางที่ 3 เปรียบเทียบ GDP Growth(GDP), Domestic Demand(DD), และ Adjusted Domestic Demand(Adj. DD) คำนวณแบบวิธี Contribution to Growth ของ 6 ไตรมาสที่ผ่านมา
ตารางที่ 3: เปรียบเทียบ GDP Growth และองค์ประกอบของ GDP Growth ( %)
|
16Q1
|
16Q2
|
16Q3
|
16Q4
|
17Q1
|
17Q2
|
GDP
|
3.1
|
3.6
|
3.2
|
3.0
|
3.3
|
3.7
|
DD
|
-4.2
|
-0.1
|
0.2
|
2.9
|
5.8
|
5.5
|
Adj. DD
|
3.8
|
3.3
|
1.0
|
2.0
|
2.0
|
2.2
|
-
การอ่านตัวเลขเศรษฐกิจแต่ละตัวจะให้ผลการอ่านที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หากอ่านเฉพาะตัวเลข GDP จะสรุปได้ว่าเศรษกิจไทยเป็นขาขี้น มีจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว และขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสถัดมา บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน แต่หากอ่านตัวเลข Adj. DD จะให้ภาพว่าเศรษฐกิจไทยเป็นขาลง เพราะชะลอตัวตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2559 ในครึ่งแรกของปีนี้เศรษฐกิจไทยก็ยังไม่มีสัญญาการฟื้นตัวที่ชัดเจน
-
แม้ตัวเลข Adj.DD จะอยู่ในระดับพอใช้ในภาพรวม แต่การใช้จ่ายของประชาชนกลับมุ่งไปที่สินค้าคงทนที่ไม่จำเป็นต่อการบริโภค ทำให้ภาคเศรษฐกิจส่วนที่เหลือมีการใช้จ่ายลดลง จึงนำไปสู่ความฝืดเคืองของภาคธุรกิจและภาคประชาชน สวนทางกับตัวเลขเศรษฐกิจรวมที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
-
แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4
-
แม้ชณะนี้จะอยู่ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 แต่ตัวเลขเศรษฐกิจทางการ(อ้างอิงตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหลัก)มีล่าสุดถึงเดือนกรกฎาคม 2560 ทำให้การวิเคราะห์ภาพเศรษฐกิจของไตรมาสที่ 3 นับว่าเป็นการคาดการณ์ (Projections) มิใช้การประมาณการ (Estimates)
-
หากมองในเชิงลึกแล้ว ภาพเศรษฐกิจในครึ่งหลังของปีควรถดถอยกว่ากว่าภาพเศรษฐกิจในครึ่งแรกเนื่องจาก
-
ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนถดถอยลงจากรายได้ที่คงที่หรือลดลง กอรปกับภาวะ”ดอกทบต้น” ส่งผลให้ต้องปรับลดการบริโภคเพิ่มขึ้น
-
ปัจจัยภายนอกที่เป็น One Time Factor ซึ่งไม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่น สภาวะดินฟ้าอากาศที่ดีและการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ ในทางตรงกันข้าม กลับมีปัจจัยลบแบบ One Time Factor เข้ามา เช่น อุทกภัย
-
แม้การส่งออกจะขยายตัวได้ดี แต่การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนที่ขยายตัวในอัตราที่สูงกว่า ทำให้การส่งออกส่งผลดีเฉพาะผู้ผลิตต้นน้ำ ในขณะที่ผู้ผลิตกลางน้ำและปลายน้ำถูกทดแทนด้วยการนำเข้า ทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมการผลิตอ่อนแอ
-
อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นกว่า 8% ตั้งแต่ต้นปีมีผลลบต่อภาคการส่งออกและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
-
ฐานะการคลังที่ตึงตัวทำให้รัฐบาลไม่อาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้
-
แม้จะมีปัจจัยลบพอควร แต่ยังคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปีในเชิงบวก (Optimistic View) ตามตารางที่ 4 เพราะมิว่าตัวเลขของ GDP จะอยู่ในระดับใด ภาพเศรษฐกิจจริงไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีจากการปราศจากปัจจัยบวกที่ชัดเจน
-
เศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการขยายตัว 3.5% และ 3.2% ในไตรมาสที่ 3 และ 4 ตามลำดับ และมีอัตราการเติบโตของ GDP เฉลี่ยทั้งปีที่ 3.4%
ตารางที่ 4: การประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจรายไตรมาสของปี 2560 (เปอร์เซ็นต์)
|
ไตรมาส 1
Act.
|
ไตรมาส 2
Act.
|
ไตรมาส 3
Proj.
|
ไตรมาส 4
Proj.
|
การบริโภค
ภาคเอกชน
ภาครัฐบาล
|
3.2
0.3
|
3.0
2.7
|
2.5
3.7
|
2.3
2.8
|
การลงทุน
การลงทุนถาวร
การเปลี่ยนแปลงในสินค้าคงคลัง
|
1.7
59.2
|
0.4
59.8
|
2.4
26.2
|
1.9
-67.8
|
การส่งออก
|
2.7
|
6.0
|
5.7
|
4.9
|
การนำเข้า
|
6.1
|
8.2
|
6.5
|
5.4
|
GDP
|
3.3
|
3.7
|
3.5
|
3.2
|
5. ปัญหา/อุปสรรค/ความเสี่ยง
-
ประเด็นแรกเป็นปัญหาเรื้อรังที่ขาดการดูแลแก้ไขคือการถดถอยของ “ความเร็วของเงิน (Velocity of Money)” โดยค่าความเร็วของเงินสำหรับปี 2560 นี้คำนวณคร่าวๆ ได้ที่ 0.804 (ใช้ Broad Money เป็นฐานในการคำนวณ) หมายความว่าการใส่เม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะมีผลต่อ GDP เพียง 80% เช่น รัฐบาลเพิ่มงบประมาณ 10,000 ล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เศรษฐกิจจะดีขึ้นเพียง 8,040 ล้านบาท
-
ตัวเลขนี้ยังต่ำกว่ามาตรฐานสากลมาก ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามีค่าความเร็วของเงินอยู่ที่ 1.427 ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 แต่ค่าความเร็วของเงินของระบบเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ราว 1.0 (ปรับจาก Broad Money Based เป็น M2 Based เพื่อเปรียบเทียบกันได้) แปลว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาสามารถใช้นโยบายการเงิน/การคลังกระตุ้นเศรษฐกิจมีประสิทธิผลกว่ารัฐบาลไทย 40%
-
ระบบการเงินที่ไม่ทำงานจะทำให้นโยบายการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ผลไม่เต็มที่
-
อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ที่แข็งขึ้นราว 8.5% ตั้งแต่ต้นปีจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง
-
การพึ่งพาเศรษฐกิจจีนเป็นหลักมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากหนี้สินภาคครัวเรือนของจีนทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วและอยู่ในระดับที่สูงถึง 46.8% ของ GDP จะทำให้ผู้บริโภคจีนจะต้องลดค่าใช้จ่าย ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวในระยะยาว
ตารางที่ 5: เปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญ
|
ครึ่งแรก 2560
|
ครึ่งหลัง 2560
|
อัตราการเติบโต
|
+
+
-
|
-
-
-
|
อัตราเงินเฟ้อ*
|
-
|
+
|
สภาพคล่อง
|
-
|
-
|
การส่งออก (US$)
|
+
|
+
|
การนำเข้า (US$)
|
++
|
++
|
- - หมายถึงการอัตราเติบโตที่ติดลบ
หมายเหตุ : รายงานเศรษฐกิจฉบับนี้เป็นรายงานที่บริษัท ไทยวิจัยและฝึกอบรม จำกัด จัดทำขึ้นเพื่อเสนอต่อกลุ่มทีซีซีเป็นรายไตรมาส
บริษัท ไทยวิจัยและฝึกอบรม จำกัด
|