*/
<< | สิงหาคม 2012 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | 3 | 4 | |||
5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 |
12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 |
19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 |
26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 |
![]() ศาลเจ้าเล่งจูเกียง(เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) วันนี้ตามรอย กูรู อ.เจริญ
ตันมหาพราน นักประวัติศาสตร์ชุมชน บรรยายเกี่ยวกับ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
คิดว่าหลายท่านส่วนใหญ่คงเคยได้ยินเรื่องราวมาบ้างเกี่ยวกับศาลเจ้าแห่งนี้ วันนี้ลองมาดูรายละเอียดเจาะลึก พร้อมภาพสะสมเก่าๆ
ของ อ.เจริญ กันครับ... ............................................................ Copy//ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง
เป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานนับร้อยๆ ปี
โดยไม่ปรากฏศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ณ
ดินแดนประเทศอื่นที่ชาวจีนอพยพเข้าไปตั้งรกรากอีกเลย
แม้กระทั่งในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ เหตุที่เป็นเช่นนั้น เนื่องมาจากตำนานได้ระบุว่า
เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวได้เดินทางข้ามน้ำทะเลเข้ามาในประเทศไทย
เช่นเดียวกับการอพยพของจีนในอดีตนั่นเอง
โดยมีประวัติของเจ้าแม่ปรากฏอยู่ในเอกสารต่างๆ ดังนี้ ชีวประวัติหรือชาติภูมิของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
ในหนังสือที่ระลึกสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ศาลเจ้าเล่งจูเกียง จัดพิมพ์เมื่อ
พ.ศ.๒๕๒๗ มีใจความว่า เจ้าแม่กำเนิดในครอบครัวของตระกูลลิ้ม
มีชื่อเต็มว่าลิ้มกอเหนี่ยวบางตำนานของแถบไต้หวันกล่าวนามเจ้าแม่ว่า จินเหลียง แปลว่า บัวทอง เพราะคำว่า
กอเหนี่ยวเป็นคำที่ชาวจีนใช้ยกย่องหญิงสาวที่ยังมิได้แต่งงาน
ส่วนภูมิลำเนาเข้าใจว่าอยู่ทางมณฑลฮกเกี้ยน จดหมายเหตุราชวงศ์เหม็ง ได้บันทึกไว้ว่าเป็นชาวเมืองจั่วจิว
แขวงเมืองฮกเกี้ยน แต่หนังสือภูมิประวัติเมืองแต้จิ๋ว เล่มที่ ๓๘ เรื่อง ชีวประวัติลิ้มเต้าเคียน กล่าวว่า
มีพื้นเพเดิมเป็นชาวอำเภอฮุยไล้ แขวงเมืองแต้จิ๋ว เรื่องราวของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
อยู่ในสมัยพระเจ้าซื่อจงฮ่องเต้แห่งราชวงศ์เหม็ง (ครองราชย์ระหว่างพ.ศ.๒๐๖๕-๒๑๐๙) เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นบุตรคนหนึ่งของครอบครัวตระกูลลิ้ม ซึ่งมีบุตรสองคน
บุตรคนโตเป็นชายชื่อว่าลิ้มเต้าเคียนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถสูงและมีอัธยาศัยดีงาม อีกทั้งรูปร่างสูงสง่างาม
มีความเจนจัดในการสู้รบ โดยเฉพาะฝีมือในเชิงดาบ ส่วนบุตรคนเล็กเป็นหญิงมีชื่อว่าจินเหลียง(ทุกคนรู้จักกันในนามลิ่มกอเหนี่ยว)เป็นผู้ที่มีรูปโฉมสะคราญ น้ำใจงดงาม มีความกตัญญูสูง
และน้ำใจกล้าหาญเด็ดเดี่ยว (แต่ทว่าภายในศาลเจ้าเล่งจูเกียง
ยังมีรูปปั้นเจ้าแม่อีกองค์หนึ่งวางคู่กับรูปปั้นของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
มีชื่อระบุบอกว่าเป็นน้องเจ้าแม่ฯ) ทายาทตระกูลลิ้มสองพี่น้องได้ร่ำเรียนศิลปะแขนงต่างๆจนมีความเชี่ยวชาญ
โดยเฉพาะลิ้มเต้าเคียนผู้พี่พอเจริญวัยเป็นหนุ่ม
จึงได้เข้ารับราชการเป็นพนักงานอำเภอ
แต่ด้วยความมีจิตใจที่ทระนงองอาจและรักความเป็นธรรม
ทำให้ชาวบ้านต่างก็ให้ความนับถือรักใคร่
ขณะเดียวกันบรรดาขุนนางกังฉินก็พากันริษยาและเกรงกริ่งอยู่ พิธีแห่เจ้าแม่ลงแม่น้ำปัตตานีใต้สะพานเดชานุชิต จำลองเหตุการณ์เจ้าแม่ข้ามน้ำ-ข้ามทะเลมาตามหาพี่ชายที่เมืองปัตตานี (ภาพเก่า ปี ๒๕๑๒) มูลเหตุที่ทำให้เจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยวเดินทางมาประเทศไทยนั้น สืบเนื่องมาจาก
ลิ้มเต้าเคียน ผู้เป็นพี่ชายเดินทางมาอยู่ในประเทศไทยก่อน โดยกล่าวกันเป็นสองทาง
คือ ในสมัยของพระเจ้าซื่อจงฮ่องเต้
ได้มีโจรสลัดญี่ปุ่นชุกชุมเที่ยวปล้นสดมภ์ชาวเมืองตามชายฝั่งทะเลจีนอยู่เสมอ
จนสร้างความเดือดร้อนไปทั่วทุกระแหง และยังได้ทำการเข้าปล้นโจมตีเมืองจิเกียง
ทางเมืองหลวงจึงได้แต่งตั้งขุนพลเช็กกีกวงดำรงตำแหน่งแม่ทัพเรือไปปราบปรามโจรให้ราบคาบ
และได้โอกาสเดียวกันนั้นปรักปรำลิ้มเต้าเคียนว่า
ได้สมคบกับโจรสลัดญี่ปุ่นส้องสุมกำลังผู้คนและอาวุธ เตรียมทำการกบฏก่อความวุ่นวาย
ทางราชการจึงได้ออกหมายประกาศจับลิ้มเต้าเคียน ลิ้มเต้าเคียนรู้ตัวว่ายากที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์
และขืนทำการแข็งข้อกับทัพหลวง ผลที่จะเกิดขึ้นมีแต่ร้ายมากกว่าดี
จึงได้เกลี้ยกล่อมชักชวนพรรคพวกของตนที่หลบหนีอยู่ พากันอพยพหลบภัยฝ่าวงล้อมกองทัพหลวง
นำเรือสามสิบกว่าลำออกสู่เกาะไต้หวันอย่างปลอดภัย
แต่ก็ไม่กล้าตั้งมั่นอยู่ที่นั่นตลอดไป เพราะกลัวว่าทัพหลวงจะออกไปติดตามไปโจมตี
อีกทั้งยังต้องคอยป้องกันการถูกลอบโจมตีจากโจรสลัดญี่ปุ่น พิธีแห่เจ้าแม่ลุยไฟ(ภาพเก่า ปี
๒๕๑๒) จดหมายราชวงศ์เหม็ง เล่มที่ ๓๒๓ ประวัติเมืองกีลุ่ง(ไต้หวันปัจจุบัน ขณะที่ยังอยู่ในความปกครองของสเปน)
ถูกกองทัพเรือรบของสเปนโจมตีที่นอกฝั่งเกาะลูซอน
ลิ้มเต้าเคียนพาสมัครพรรคพวกต่อต้านสุดความสามารถ
ทำให้เรือรบของสเปนถูกทำลายย่อยยับหลายลำ
แต่จำเป็นต้องล่าถอยด้วยขาดเสบียงอาหารและกำลังหนุน เหตุการณ์สู้รบครั้งนี้
ทำให้นักภูมิศาสตร์จีนพากันยกย่องลิ้มเต้าเคียนเป็นยอดนักรบ
นักผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ของจีน พร้อมกับให้เกียรติตั้งชื่อเกาะในทะเลจีนใต้ว่าเกาะเต้าเคียน จดหมายเหตุราชวงศ์เหม็งประวัติเมืองลูซอน บันทึกว่าเมื่อปีบวนที่
๔ ตรงกับปีพุทธศักราช ๒๑๑๙ ชาวเมืองลูซอนได้ฟื้นฟูสัมพันธไมตรีกับจีน
เนื่องจากได้ช่วยเหลือราชการจีนปราบปรามลิ้มเต้าเคียน จดหมายราชวงศ์เหม็ง เล่มที่
๓๒๓ บันทึกว่าลิ้มเต้าเคียนได้หลบหนีการจับกุม
ไปอาศัยอยู่ที่เมืองปัตตานี มีท่าเรือเรียกว่าท่าเรือเต้าเคียน บางตำนานได้เล่าว่า ลิ้มเต้าเคียนเคยอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา
ต่อมาได้มาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองปัตตานี
เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในครั้งแรก ขณะที่เข้าอยู่ที่ปัตตานี
ลิ้มเต้าเคียนได้เข้ารีตถือศาสนาอิสลาม
และได้ภรรยาเป็นเชื้อพระวงศ์ของเจ้าเมืองปัตตานี
แต่ลิ้มเต้าเคียนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถสูง
เจ้าเมืองปัตตานีจึงโปรดปรานเป็นอันมาก
จึงได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหัวหน้าด่านศุลกากรเก็บส่วยสาอากร
นับเป็นตำแหน่งสูงมากของชาวต่างชาติที่มาอาศัยอยู่ในปัตตานีสมัยนั้น
ผลงานที่ลิ้มเต้าเคียนได้สร้างขึ้น ระหว่างที่ได้มาอาศัยอยู่ที่เมืองปัตตานี คือ
มัสยิดกรือเซะ และ ปืนใหญ่พญาตานี พิธีแห่เจ้าแม่ลุยไฟ(ภาพเก่า ปี
๒๕๑๒) ส่วนมูลเหตุที่ลิ้มเต้าเคียนเข้ามาอยู่ในปัตตานี
ซึ่งได้จากการบันทึกของคุณสุวิทย์ คณานุรักษ์ คหบดีใหญ่แห่งปัตตานี
ซึ่งได้รวบรวมจากปากคำบอกเล่าของพระยาจีนคณานุรักษ์ ผู้สร้างศาลเจ้าเล่งจูเกียง
ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว มีใจความดังนี้ ลิ้มเต้าเคียนเป็นพ่อค้าวาณิชได้นำสินค้ามาจากประเทศจีน
โดยบรรทุกเรือสำเภาเข้ามาค้าขายในกรุงสยามและท่าเรือสุดท้ายที่ขายสินค้า คือ
เมืองกรือเซะ อำเภอปัตตานีในปัจจุบัน กรือเซะในสมัยก่อน
สันนิษฐานว่าคงเป็นแหล่งชุมชนใหญ่แห่งหนึ่งมีอายุเก่าแก่
จึงได้มีการสร้างมัสยิดกรือเซะขึ้น เจ้าผู้ครองนครกรือเซะสมัยนั้นเป็นมุสลิม
มีธิดาผู้งามพร้อมเป็นกุลสตรีนางหนึ่ง ซึ่งธรรมเนียมของพ่อค้าสมัยก่อน
เวลานำเรือสินค้าเข้าจอด ณ เมืองใด
มักนำผ้าแพรพรรณที่งดงามและสิ่งของมีค่าขึ้นถวายเจ้าผู้ครองเมือง เพื่อเป็นของกำนัลและเป็นการผูกไมตรี
ลิ้มเต้าเคียนได้จัดผ้าแพรพรรณและสิ่งของไปถวายเจ้าเมือง
ผลปรากฏว่าเป็นที่พอพระทัยของเจ้าผู้ครองนครเป็นอย่างยิ่ง
เจ้าเมืองกรือเซะได้ให้ความสนิทสนมและเป็นกันเองกับลิ้มเต้าเคียนเป็นอย่างดี ลิ้มเต้าเคียนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีอัธยาศัยดีงาม
รูปร่างก็สมชายชาตรี มีความเชี่ยวชาญในการสู้รบ
จึงเป็นที่นิยมชมชอบของธิดาเจ้าเมืองกรือเซะ
ซึ่งลิ้มเต้าเคียนเองก็พึงพอใจอยู่เช่นกัน
ในที่สุดบุคคลทั้งสองได้เจ้าพิธีวิวาห์กันแบบอิสลาม
โดยลิ้มเต้าเคียนเองก็ไม่ขัดข้อง เพราะถือเอาความรักเป็นใหญ่
ถึงกับยอมเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามด้วยความเต็มใจส่วนลูกเรือที่มากับลิ้มเต้าเคียน
ต่างก็ไม่ยอมกลับคืนสู่เมืองจีน ยอมอยู่กับลิ้มเต้าเคียนผู้เป็นเจ้านายทั้งหมด
และได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม มีภรรยาตามไปด้วย
ปัจจุบันจึงมีชาวอิสลามที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมาก ที่มีชื่อเป็นยาวี
แต่ใช้แซ่ลิ้มอยู่ทั่วไป ประชาชนที่หลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศเพื่อมาเข้าร่วมชมพิธีแห่เจ้าแม่
(ภาพเก่า ปี ๒๕๑๒) กาลเวลาผ่านไปหลายปี มารดาของลิ้มเต้าเคียนที่อยู่ทางเมืองจีน
ไม่พบเห็นบุตรชายกลับมาจากการค้าขายดังปรกติ ก็มีความคิดถึงและเป็นห่วง
จนไม่เป็นอันกินอันนอน ฝ่ายลิ้มกอเหนี่ยวและน้องสาวคอยเฝ้าปรนนิบัติอยู่มีความสงสาร
ประกอบกับมีความเป็นห่วงพี่ชาย ที่จากไปนานและมิได้ส่งข่าวคราวมาให้ทราบ
จึงรับอาสามารดาออกติดตามพี่ชาย เพื่อจะพากลับมาบ้านให้จงได้ หนังสือที่ระลึกงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวกล่าวไว้ว่า มารดาของลิ้มเต้าเคียนมีความห่วงใย ถึงกับล้มป่วยอยู่เนืองๆลิ้มกอเหนี่ยวเฝ้าปฏิบัติจนอาการหายป่วยเป็นปรกติ ด้วยความกตัญญูกตเวทิตาจึงได้ขออนุญาตจากมารดา อาสาออกติดตามหาพี่ชายให้กลับบ้าน แต่มารดาไม่อนุญาตเกรงว่า การเดินทางจะได้รับความลำบากและเสี่ยงต่ออันตราย แต่จำต้องยอมจำนนต่อเหตุผลและคำอ้อนวอนของบุตรสาว ลิ้มกอเหนี่ยวได้จัดแจงสัมภาระเครื่องเดินทาง เสร็จแล้วชักชวนญาติมิตรสนิทหลายคนไปด้วย ก่อนจากนางได้ร่ำลามารดาด้วยสัจจะวาจาว่าหากแม้นพี่ชายไม่ยอมกลับมาหามารดาแล้วไซร้ ตนก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่อีกต่อไป บันทึกที่รวบรวมโดยคุณสุวิทย์ คณานุรักษ์ อดีตผู้จัดการธนาคารนครหลวง
สาขาปัตตานี มีใจความว่าการออกติดตามของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวครั้งนี้
นางได้คัดเลือกชายฉกรรจ์ที่มีฝีมือในการสู้รบ อีกทั้งเจนจัดในฝีมือเชิงดาบจำนวน ๗๐
คนและใช้เรือสำเภาออกติดตามมาจนถึงแดนเซียมก๊ก(เมืองสยาม)
โดยแวะที่ท่าเรือเมืองนครศรีธรรมราชเป็นแห่งแรก และได้สืบหาพี่ชายเรื่อยมาทางใต้
จนกระทั่งถึงหน้าเมืองกรือเซะก็ได้ทอดสมอหยุดเรือที่อ่าวหน้าเมือง
ฝ่ายทางเมืองกรือเซะเข้าใจว่าเป็นเรือของข้าศึกยกมาตีเมือง
จึงจัดส่งทหารออกไปขับไล่หลายครั้ง แต่ก็พ่ายแพ้กลับมาทุกครั้ง
เจ้าเมืองกรือเซะเห็นว่าทหารของตนไม่มีฝีมือเทียบข้าศึกได้
อีกทั้งยังไม่มีใครกล้าอาสาออกรบอีก
จึงขอร้องให้ลิ้มเต้าเคียนกับพวกที่มาจากเมืองจีนช่วยนำทัพออกไปสู้กับฝ่ายตรงข้าม เนื่องจากลิ้มเต้าเคียนและลิ้มกอเหนี่ยวเรียนวิชามาจากอาจารย์สำนักเดียวกัน
แต่เป็นคนละรุ่น ลิ้มเต้าเคียนแต่งกายเป็นชายมุสลิม
ลิ้มกอเหนี่ยวและน้องสาวแต่งกายเป็น ผู้ชายจีน ประจวบกับเป็นเวลากลางคืน
และฝีมือเพลงดาบก็คล้ายคลึงกัน เมื่อสู้รบกันเป็นเวลานาน ต่างก็สงสัยว่า
ทำไมเพลงดาบจึงเหมือนกัน ในที่สุดก็ได้พักรบและถามไถ่กันตามธรรมเนียมจีน
จึงได้รู้ว่าเป็นพี่น้องกัน การสู้รบเลยยุติและพากันกลับเข้าเมืองไปพบเจ้าเมือง หนังสือที่ระลึกงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวบันทึกว่า ครั้นพบพี่ชายแล้ว
ลิ้มกอเหนี่ยวก็เล่าความประสงค์ที่ได้ติดตามมาในครั้งนี้ว่า
พี่ได้ทอดทิ้งมารดาและน้องสาวจากบ้านมาอยู่แดนไกลเสียเช่นนี้หาควรไม่
แม้นพี่กลับไปอยู่บ้านเดิมก็พอทำกินเป็นสุขได้อีก
ทั้งทุกคนจะได้อยู่ใกล้ชิดพร้อมหน้ากันก่อนที่มารดาจะหาบุญไม่แล้ว เรื่องนี้เป็นที่น่าชวนสงสัยอยู่ว่า ถ้าลิ้มเต้าเคียนเป็นนักโทษอาญาแผ่นดิน
เหตุไฉนลิ้มกอเหนี่ยวถึงชวนพี่ชายกลับเมืองจีน
และทำไมครอบครัวทางเมืองจีนได้อยู่อย่างสุขสบาย มิได้ถูกลงโทษตามไปด้วย ลิ้มเต้าเคียนคิดตรึกตรองแล้วว่าพี่นี้ใช่จะเนรคุณต่อมารดาและน้องสาวไม่
ด้วยโทษที่ทางราชการเมืองจีนกล่าวหาเป็นโจรสลัด
ทำให้ต้องพลัดพรากหนีมาพึ่งพาอาศัยอยู่ที่นี่ ขืนไปตอนนี้เท่ากับหาความยุ่งยากใจให้กับตนเอง
เพราะทางราชการยังมิได้อภัยโทษให้ ส่วนทางเมืองกรือเซะนี้ซิ
กลับให้พี่ได้อาศัยหลบภัยและมีความเป็นอยู่อย่างสุขสมบูรณ์ ไม่ต้องระหกระหินพเนจร
บัดนี้ภารกิจทางเมืองกรือเซะมีมากมาย เพราะได้อาสาท่านเจ้าเมืองก่อสร้างมัสยิด
จึงมิอาจตามน้องกลับไปในขณะนี้ได้ ในหนังสือเล่มเดียวกันหน้าที่ ๒๑ ยังมีใจความอีกว่าขณะนั้นเจ้าเมืองปัตตานีถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชรา
ไม่มีบุตรที่จะยกให้ครองสืบไป พวกศรีตวันกรมการต่างปรึกษาหารือกันว่า
จะเลือกบุตรพระญาติวงศ์องค์ใดที่จะยกให้เป็นเจ้าเมือง แต่ยังไม่ทันจะจัดแจง
เหตุการณ์ร้ายแรงที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น คือ เกิดกบฏแย่งชิงอำนาจเป็นใหญ่
ถึงกับรบพุ่งนองเลือดระหว่างพระญาติวงศ์ของเจ้าเมือง พวกกบฏได้เตรียมการล่วงหน้า
ผิดกับฝ่ายเจ้าเมืองที่ไม่ระวังมาก่อน จึงมิอาจต่อต้านได้ทันท่วงที
ลิ้มเต้าเคียนกับทหารผู้ภักดีได้ต่อสู้กับพวกบฏอย่างเต็มความสามารถ
ลิ้มกอเหนี่ยวประสบกับเหตุการณ์ครั้งนี้เข้า
ด้วยความเป็นห่วงพี่ชายจะได้รับอันตราย
จึงได้เสี่ยงชีวิตเข้าช่วยพี่ชายสู้รบกับพวกกบฏอย่างห้าวหาญ
จนพวกกบฏแตกพ่ายถอยหนีไป
ความเก่งกาจสามารถของลิ้มกอเหนี่ยวเป็นที่กล่าวขวัญทั่วเมืองปัตตานี เมื่อลิ้มกอเหนี่ยวเห็นเมืองปัตตานีมีเหตุการณ์ยุ่งยากเช่นนี้
จึงได้เร่งเร้าพี่ชายกลับไปยังเมืองจีนโดยเร็วที่สุด ตามคำบอกเล่าของขุนพจน์สารบัญ คุณปู่ของคุณสุวิทย์ คณานุรักษ์
ซึ่งเป็นผู้สร้างองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและน้องสาว ตลอดจนศาลเจ้าเล่งจูเกียง
เล่าว่า ระยะเวลาที่ลิ้มกอเหนี่ยวกับพี่ชายมีปากเสียงกันนั้น
อยู่ในระหว่างที่ลิ้มเต้าเคียนกำลังก่อสร้างสุเหร่าที่เมืองกรือเซะ
และกำลังก่อสร้างถึงยอดโดม
ลิ้มกอเหนี่ยวเห็นว่าพี่ชายหลงรักธิดาเจ้าเมืองกรือเซะมากกว่ามารดา
ถึงกับยอมทิ้งขนบธรรมเนียมเดิม หันมานับถือศาสนาอิสลามและคงหมดหนทางที่จะนำตัวพี่ชายกลับบ้านได้แล้ว
เลยโกรธมากตัดสินใจยอมสละชีวิต
โดยการผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์(ซึ่งอยู่หลังสุสานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
ที่ตำบลกรือเซะทุกวันนี้) ก่อนที่จะผูกคอตายได้กล่าวคำสาปแช่งไว้ว่า จะไม่ยอมให้พี่ชายสร้างสุเหร่านี้ได้สำเร็จ สุสานเจ้าแม่ ตั้งอยู่ใกล้ๆ
กับมัสยิมกรือเซะ (ภาพเก่า ปี ๒๕๑๒) ส่วนน้องสาวพอทราบว่า พี่สาวยอมสละชีวิตก็ฆ่าตัวตายตามไปด้วย
รวมทั้งลูกเรือที่ติดตามมาทุกคนพากันแล่นเรืออกไปกลางทะเล
แล้วกระโดดน้ำให้ฉลามกัดตายจนหมดทั้งสิ้น ตามตำนานได้เล่าไว้ว่า
มีแต่นายท้ายเรือของลิ้มกอเหนี่ยว ชื่อ จูก๋ง ผู้ใจเด็ดได้ตั้งคำสัตย์ปฏิญาณไว้ว่า
ตราบใดที่ลิ้มเต้าเคียนไม่ยอมตามตนกลับไป ตนจะขออยู่เฝ้าเรือจนกว่าจะสิ้นชีวิต
พอเรือจม จูก๋งก็ตายพร้อมกับเรือลำนั้นตามที่ได้ตั้งคำสัตย์ไว้
ปัจจุบันศาลเจ้าเล่งจูเกียงยังมีแผ่นป้ายจารึกนามของจูก๋งไว้สักการบูชา ตามตำนานกล่าวอีกว่า เรือสำเภาที่ลิ้มกอหนี่ยวนำมามีอยู่เก้าลำ
เมื่อขาดการดูแลเรือได้จมลงทะเลหมด เหลือแต่เสากระโดง ซึ่งทำด้วยต้นสนเก้าต้น
เลยเรียกสถานที่ตรงนั้นว่า"รูสะมิแล ซึ่งแปลว่า สนเก้าต้น เมื่อเหตุการณ์กบฏได้สงบราบคาบลง
ศรีตะวันกรมการผู้ใหญ่จึงประชุมเลือกผู้ครองเมืองสืบไป สุดท้ายมติที่ประชุมตกลงเลือกบุตรีของเจ้าเมืองเป็นนางพญาครองเมือง
โดยได้ทำนุบำรุงบ้านเมืองอาณาประชาราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข
นางพญาได้มอบหมายให้ลิ้มเต้าเคียนเป็นนายช่าง
ควบคุมการก่อสร้างสุเหร่ากรือเซะต่อไป
ขณะที่สร้างคานบนจะสร้างโดมก็ปรากฏเหตุการณ์ประหลาด ฟ้าได้ผ่าลงมาถูกยอดโดมพังทะลายหมด
แม้ลิ้มเต้าเคียนได้ใช้ความพยายามทำการก่อสร้างโดมอยู่ถึง ๓ ครั้ง
แต่ก็ถูกฟ้าผ่าพังทะลายทุกครั้ง
สร้างความประหลาดใจให้แก่ลิ้มเต้าเคียนรำพึงในใจว่าชะรอยตนมีความอกตัญญู
มิรู้คุณมารดาและทำให้น้องสาวที่ติดตามมาต้องเสียชีวิตด้วย เทพแห่งฟ้าดินจึงลงโทษแก่ตน
ในที่สุดลิ้มเต้าเคียนก็ยอมแพ้และเลิกล้มความคิดสร้างสุเหร่าต่อ
ทำให้มัสยิดกรือเซะคงค้างคามิได้สร้างต่อมาจนทุกวันนี้ ต่อมาลิ้มเต้าเคียนได้หล่อปืนใหญ่ถวายนางพญาไว้สำหรับเมือง
ปืนที่หล่อสามกระบอก มีชื่อคล้องจองกันดังนี้ กระบอกที่หนึ่ง ชื่อ "นางพญาตานี" กระบอกที่สอง ชื่อ "เสรีนครา" กระบอกที่สาม ชื่อ "มหาหลาหลอ" ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
หรือที่ชาวจีนเรียกกันว่าศาลเจ้าเล่งจูเกียง
อยู่ที่ถนนอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี (ภาพเก่า ปี ๒๕๑๒) ในตำนานเล่าว่า ลิ้มเต้าเคียนได้อยู่ในช่วงรัชสมัยนางพญารายาบีรู ราว
พ.ศ.๒๑๕๙-๒๑๖๗ พอหล่อปืนสำเร็จแล้ว จึงบรรจุดินปืนทำการทดลอง
เกิดมีกระบอกหนึ่งจุดชนวนหลายหนแต่ไม่ลั่น แม้จะพยายามอยู่สักเท่าใดก็ไม่สำเร็จ
ลิ้มเต้าเคียนเห็นเป็นอัศจรรย์ใจ
ในที่สุดก็ทราบว่าเป็นด้วยอำนาจคำสาปของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวผู้เป็นน้องสาว
ด้วยสำนึกผิดในบาปที่ตนได้กระทำลงไป
จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้ปืนที่หล่อได้ทั้งหมดสามารถใช้การได้
ตนยินดียอมตายถวายชีวิตด้วยอำนาจปืนที่หล่อนี้
และแล้วลิ้มเต้าเคียนได้ลงมือจุดชนวนเอง
โดยตนเองได้ยืนอยู่ตรงปากกระบอกปืนใหญ่นั้น
อำนาจกระสุนปืนใหญ่ได้ปะทะร่างของลิ้มเต้าเคียนระเบิดลอยไปในอากาศ
จบชีวิตดั่งที่ได้ลั่นคำสัตย์ปฏิญาณไปในทันที สำหรับเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวหลังจากสิ้นชีวิตแล้ว
ดวงวิญญาณได้สิงสถิตอยู่ที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ที่ผูกคอตาย
ก่อเกิดอภินิหารให้เห็นอยู่เนืองๆผู้ใดที่ได้รับความเจ็บป่วยหรือได้รับความเดือดร้อนประการใด
เมื่อได้ไปบนบานที่นั่นก็จะหายป่วยพ้นจากความเดือดร้อนได้ดั่งปรารถนา คุณพระจีนคณานุรักษ์(ต้นตระกูลคณานุรักษ์) ชาวจีนที่มีความอุตสาหะ ในการประกอบอาชีพสร้างตนเองและครอบครัว
จนประสบความสำเร็จและเป็นหัวหน้าชาวจีนในปัตตานี
และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ วันหนึ่ง คุณพระฯ ท่านป่วยเป็นโรคประหลาด
พยายามไปให้หมอรักษาสักเท่าใดก็ไม่หาย
เมื่อจนปัญญาก็ไปกราบไหว้พระเซ๋าซูก๋ง(พระหมอ) ซึ่งคุณพระท่านได้สร้างศาลเจ้าเล็กๆ
ให้อยู่ที่ตลาด(ถนนอาเนาะรู) พระเซ๋าซู๋ก๋งได้บอกให้คุณพระฯ
ไปหาเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและขอให้ช่วยรักษาโรคด้วย เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมาประทับทรงและบอกจะรักษาโรคให้หาย
แต่พอหายป่วยคุณพระจีนคณานุรักษ์สร้างศาลเจ้าที่เมืองปัตตานีให้ท่านกับน้องสาว
พร้อมทั้งขอให้แกะรูปเคารพเจ้าแม่กับน้องสาว
โดยจัดให้ประทับร่วมศาลเจ้าเดียวกับพระเซ๋าซูก๋ง
คุณพระฯรับปากตามเงื่อนไขทุกประการ ในที่สุดพระคุณจีนคุณานุรักษ์ก็หายจากโรคประหลาดและได้ปฏิบัติตามสัญญา
คือให้นายช่างจีนแกะสลักรูปเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวด้วยไม้มะม่วงกิ่งที่ผูกคอตาย
จนรูปเจ้าแม่กับน้องสาวเสร็จเรียบร้อย
ต่อจากนั้นคุณพระจีนคุณานุรักษ์ได้สร้างศาลเจ้าหลังใหม่ขึ้น
ดังที่ปรากฏมาจนถึงปัจจุบัน ป้ายศาลเจ้าเล่งจูเกียง อยู่ที่ถนนอาเนาะรู อำเภอเมือง
จังหวัดปัตตานี (ภาพเก่า ปี ๒๕๑๒) ศาลเจ้าเล่งจูเกียงจึงค่อยๆ เจริญขึ้นเรื่อยๆ
จนกลายเป็นที่เคารพสักการะของชาวปัตตานีและจังหวัดข้างเคียง
ตลอดจนถึงชาวต่างประเทศในแถบเอเชีย โดยในทุกปีจะมีงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ (หลังจากตรุษจีน ๑๕ วัน) ซึ่งจะมีประชาชนที่เคารพนับถือและศรัทธาในองค์เจ้าแม่หลั่งไหลมาทั่วสารทิศ
เพื่อคอยเฝ้าชมบารมีของเจ้าแม่ฯ ส่วนมูลเหตุที่ทางภาคใต้นิยมมีการแห่เจ้าแม่ฯ ด้วยการข้ามน้ำลุยไฟ อันเป็นพิธีที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากนั้น เพราะเชื่อกันว่าในปีหนึ่งๆ จะมีสิ่งเลวร้าย และอุบาทว์ทั้งหลายพยายามเข้ามาสิงสู่ในครอบครัว คอยรังควาญให้เกิดความเดือดร้อนล้มเจ็บป่วยไข้ ทำมาหากินติดขัดและมีเคราะห์กรรมต่างๆ เกิดขึ้นเสมอ ดังนั้นพวกชาวจีนจำเป็นต้องจัดงานประจำปีขึ้น เพื่อเป็นการอ้อนวอนหรือขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ได้ช่วยเหลือปกป้องคุ้มครองบันดาลความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ชีวิตอีกครั้ง |
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |