จากการสำรวจแหล่งโบราณคดียุคเชื่อมต่อที่มีอยู่มากมาย อาจจะมีเหตุของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ผมเชื่อว่า การเปลี่ยนผู้มีอำนาจในการคุมทรัพยากรจากแดนชมพูทวีป ย่อมเกิดการฆ่าฟันและต่อสู้เพื่อการบังคับเข้ารีตและไม่ยอมเข้ารีต!!!
การไม่ยอมเข้ารีต หลายกลุ่มที่เคยเป็นเครือข่ายการค้าตามเส้นทางการค้าและคมนาคมยุคโบราณ ต้องรับการหลั่งไหลของผู้คนต่างชาติพันธุ์ นักรบ นักบวชแลศาสนาความเชื่อที่ตนไม่เคยรู้จัก จะต้องเผาศพคนและลอยตะกอน จากที่เคยฝังและใส่เครื่องใช้เครื่องประดับเอาไว้ใช้ในโลกหน้า จากที่เคยเชื่อในเรื่องของการเกิดใหม่ กลายเป็นความเชื่อเกี่ยวกับการดับสูญ
รายละเอียดของการผสมผสาน น่าจะ"รุนแรง"และ"โหดร้าย" กลุ่มอำนาจหลากหลายจากอินเดียโบราณประสบชัยชนะ ชุมชนพื้นเมืองเริ่มถูกกลืนและกลายเป็นลูกผสม ซึ่งในเวลานั้นเอง ชนกลุ่มมองโกลอยด์จากแผ่นดินจีนก็เคลื่อนย้ายลงมาผสมด้วย แต่แตกต่างส่วนผสมกันตามภูมิประเทศใกล้ไกล
ปรากฏการณ์ทวารวดี จึงเป็นช่วงเวลาการผสมผสานระหว่างผู้คน กลุ่มคนกลายมาเป็นกลุ่มคนกลุ่มใหม่ กลุ่มใหญ่ที่เข้าครอบครองสุวรรณภูมิอย่างสมบูรณ์ในช่วงปรากฏการณ์ทวารวดี โดยมีความเหมือนกันคือ หลัก Buddo นี่เอง
กลุ่มคนนี้ มีภาษาในกลุ่มออสโตรนิเชียน (มอญ-เขมร) จนหลายครั้งที่นักวิชาการมักจะบอกว่า ชาวทวารวดีเป็นคนมอญและบางส่วนเป็นคนเขมรในปัจจุบัน
ส่วนผมก็เชื่อว่า คนทวารวดี ก็คือคนที่กลายมาเป็นคนสยามส่วนหนึ่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 - 22 และกลืนกลายกับลูกผสมมองโกลอยด์ภาษาตระกูลไท พวกออสโตร-ไท จนกลายมาเป็นชาวสยามในยุค 22 - 24 และหลายส่วนก็ผสมกับจีนมองโกลอยด์รุ่นหลังอีกครั้งหนึ่งในพุทธศตวรรษที่ 24 - 25 กลายมาเป็นคนไทยที่หลากหลายในปัจจุบัน
ปรากฏการณ์ทวารวดี ได้ก่อให้เกิดเมืองรูปวงกลมขึ้นในฐานะของเมืองควบคุมเส้นทางการค้าและเส้นทางของการควบคุมคน ไพร่พลและแรงงานในระบบของรัฐแบบหลวม ๆ ผมเชื่อว่า ทุกเมืองมีความสัมพันธ์กันแต่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมระหว่างกัน ในช่วงเวลานั้น เมืองโบราณทวารวดีจะมีกลุ่มบ้านใหญ่(โคตรตระกูล) กระจายตัวอยู่รอบ ๆ เมืองเป็นกลุ่ม ๆ หรืออาจะเรียกกันได้ว่า ทวารวดีเป็น"รัฐเริ่มแรก"หรือ "เมืองเริ่มต้น"ของสยามประเทศก็ไม่น่าจะผิดนัก
.
ภาพ : เหรียญเงินในวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์และทวารวดี รูปพระอาทิตย์และตราศรีสัตสะ

จริง ๆ Blog นี้ผมตั้งใจจะพาพวกเราไปเที่ยวตามเส้นทางสายโบราณคดี ในเรื่องแรกนี้ผมจึงขออนุญาตพาท่านไปเที่ยวตามเส้นทางทวารวดีตะวันตก (จังหวัดนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี) กันนะครับ!!!
เส้นทางสายตะวันตก เราสามารถเดินทางได้ 3 สายเส้นทางใหญ่ จัด Routing ได้ 2 แบบ แบบแรก ผ่านนครปฐมไปจบที่เพชรบุรี เส้นทางท่องเที่ยวนี้จะเก็บเมืองโบราณแบบทวารวดีได้ทั้งหมดภายใน 1 วัน โดยออกเดินทางจากถนนบรมราชชนนี เข้านครปฐม ออกราชบุรี และไปจบที่ชะอำ ปลายสุดของทวารวดีแดนใต้
เส้นทางที่สองเอาแบบพาครอบครัวไปเที่ยวแบบ ชิว ๆ ก็เดินทางจากกรุงเทพมาตามเส้นทางถนนธนบุรี - ปากท่อ แวะเที่ยวพิพธภัณฑ์ที่เขาวัง เราจะพบเครื่องปูนปั้นทวารวดีชิ้นเอกจากเจดีย์ทุ่งเศรษฐีจัดแสดงอยู่ - เดินทางไปพักผ่อนชายทะเลที่ชะอำ หรือหาดเจ้าสำราญ แต่ขอแนะนำที่หาดเจ้าสำราญเพราะเงียบสงบกว่า อาหารทะเลก็ถูก - เดินทางกลับมาทางปากท่อ แวะเมืองโบราณทวารวดีที่คูบัว - แวะเมืองโบราณนครปฐม นมัสการพระปฐมเจดีย์ในช่วงเย็น - แวะชมเจดีย์โบราณที่วัดพระประโทณ และค่อยเดินทางกลับ อย่าลืมซื้อส้มโอหวานและน้ำตาลสดกลับมาฝากคนที่รักด้วยนะครับ
เส้นทางสายทวารวดีตะวันตก เริ่มต้นจากเมืองโบราณนครปฐม ที่เชื่อว่าเมื่อประมาณ 1,600 - 2,000 ปีที่แล้ว หรือในราวพุทธศตวรรษที่ 8 ภูมิสัญฐานธรณีของพื้นดินในปริเวณนี้ เป็นแนวสันทรายทะเลตม น้ำทะเลขึ้นสูงกว่าในปัจจุบันราว 10 เมตร น้ำทะเลท่วมถึงนครปฐมและค่อยงวดลงมาเมื่อราว 1,000 ปีที่แล้ว หรือในราวพุทธศตวรรษที่ 15 ลงมา

เมืองโบราณนครปฐม มีลักษณะตั้งเมืองตามลำน้ำโบราณแนวตะวันออก - ตะวันตก มีเจดีย์หลักกลางนคร คือ"เจดีย์พระประโทณเจดีย์" (ที่ปัจจุบันกำลังมีการบูรณะ(อย่างน่าระอาใจ)อยู่) และเจดีย์จุลประโทนที่มีชื่อเสียงของภาพปูนปั้นรอบฐานปะทักษิณองค์เจดีย์ ภาพปูนปั้นเป็นเรื่องราวในชาดก ซึ่งเป็นอิทธิพลของพุทธศาสนแบบมหายาน อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 13 มีพระปฐมเจดีย์เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่นอกเมือง แต่ด้วยเวลาผ่านไป เส้นการเดินทางทางน้ำและบกนำให้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 เสด็จมาพบพระปฐมเจดีย์ก่อน จึงทรงสร้างพระสถูปลังกาใหญ่ครอบทับตามตำนานพระยากงพระยาพานที่กำลังเป็นนิทานเรื่องนิยมในท้องถิ่นนั้น และทรงใส่เรื่องราวของสมณทูตจากชมพูทวีป(ในพุทธศตวรรษที่ 3 อ้างในคัมภีร์ลังกาวงศ์พุทธศตวรรษที่ 20)เป็นปฐมเรื่องของการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ
ปูนปั้นชาดกที่สวยงามและหลักฐานของทวารวดีโบราณ ท่านสามารถชมและจินตนาการความหลากหลายของศาสนาและผู้คนในยุคนั้นได้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ที่อยู่ในรั้วของวัดพระปฐมเจดีย์นั่นเอง
แต่ก็ขอแนะจำให้ลองเดินบนฐานปะทักษิณชั้นสองขององค์พระปฐมเจดีย์ที่นั่นจะมีพิพิธภัณฑ์ของวัด เป็นที่เก็บรวบรวมศิลปโบราณวัตถุมากมาย และแปลกตา แปลกใจ แปลกประหลาดก็มากโขอยู่
ในช่วงรัชกาลที่ 4 วัตถุโบราณจำนวนมากถูกเคลื่อนย้ายและบูรณะตามสมัยนิยม ซึ่งก็ไม่ได้เก็บเรื่องราวทาง"วิทยาศาสตร์" ไว้ซักเท่าใดนัก แต่กก็ยังดีที่เรายังสามารถพบเห็นเสาพระธรรมจักรเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญ เป็นเสาที่ตั้งขึ้นตามแบบของอินเดียโบราณไม่ผิดเพี้ยน และใช้วัสดุจากอินเดีย จึงเชื่อได้ว่านำเข้ามาในยุคแรก ๆ ของการครอบครองสุวรรณภูมิโดยสถานีการค้าหรืออาณานิคมของกรีก - อินเดียในยุคต้น
พระประโทนเจดีย์ มีการสร้างปรางค์(ขาว)ค่อมทับไว้ตามคติความเชื่อต่อจากรัชกาลที่ 4 ที่ทรงวินิจฉัยเจดีย์ร้างนอกเมืองของนครปฐมโบราณว่า ในสมัยหนึ่งมีการสร้างปรางค์อยู่ด้านบน ซึ่งปรางค์ดังกล่าวเป็นไปได้ที่ "อาจจะ" เป็น "ปราสาท" แบบศิลาแลงที่สร้างขึ้นใหม่ทับองค์เจดีย์เดิมในราวพุทธศตวรรษที่ 18 เช่นเดียวกับที่พบที่ราชบุรี พงตึก โกสินารายณ์และกำแพงแลง
หลักฐานอิทธิพลของอโรคยศาลาถูกปิดตายไปพร้อมกับปริศนา ด้วยการสร้างพระมหาสถูปอันเป็นปฐมครอบทับเชื่อมโยงกับความเชื่อของการเผยแพร่พระศาสนาและผสมกับนิทานพระยากง พระยาพาน กลายมาเป็นการประมวลประวัติศาสตร์ใหม่จัดเป็นเรื่องราว และกลายเป็นภาพเขียนฝาผนังในวิหารด้านด้านหนึ่งของระเบียงคด ซึ่งก็สวยงามและเป็นประวัติศาสตร์แบบไทย ๆ
พระประโทณเจดีย์กำลังบูรณะ ในขณะที่ใกล้ ๆ กัน ถนนข้างโรงเรียนเทคนิคนครปฐม จะพาท่านไปพบกับสถูปโบราณที่มีชื่อเสียง คือเจดีย์จุลประโทน ที่พบร่องรอยและปูนปั้นชาดกเรื่องเล่าทางคติมหายาน ปัจจุบัน สภาพแวดล้อมดูไม่ได้ เพราะรกชัฏและเสื่อมสภาพลงอย่างรุนแรง
ภาพเจดีย์จุลประโทนเมื่อครั้งขุดแต่งเสร็จสิ้น

เจดีย์จุลประโทนในปัจจุบัน

เจดีย์พระประโทณ กำลังบูรณะแต่งเติมให้"เต็ม" แต่รู้สึกว่ากรมศิลปากรจะทำงาน"กระจอกไปหน่อย " น่าจะเติมให้เต็มทั้งปูนปั้นรูปยักษ์แคระและรูปชาดกซะเลย หรือว่าแต่งแค่ใช้อิฐมัน"ประหยัด"งบ"รับประทาน"คล่องกว่า ก็ไม่รู้ได้ ?

หากเดินทางจากพระประโทณเจดีย์ นมัสการพระปฐมเจดีย์ที่บรรจุพระอังคารของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 หลังพระร่วงโรจนฤทธิ์แล้ว ก็เดินทางต่อออกมาทางเส้น Bypass ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดหน้าพระเมรุ กองอิฐจากการบูรณะอีกโบราณสถานหนึ่ง วัดนี้มีความสำคัญที่เพราะค้นพบพระทวารวดีปางปฐมเทศนาขนาดใหญ่ และเชื่อว่าถูกเคลื่อนย้ายไปที่กรุงศรีอยุธยาด้วย (ส่วนหนึ่งบูรณะสมบูณ์อยู่หน้าทางขึ้นองค์พระปฐมเจดีย์)
จากนครปฐม แนะนำให้เดินทางมายังบ้านโป่งตามเส้นทางไปยังจังหวัดราชบุรี ทางซ้ายมือเมื่อข้ามแม่น้ำแม่กลอง ท่านจะเห็นพระปรางค์เก่าแก่อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 19 สร้างทับอโรคยศาลาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 จนกลายมาเป็นพระมหาธาตุของเมืองเช่นเดียวกับที่นครปฐม แต่ฐานปรางค์ไม่ได้สร้างค่อมทับเจดีย์สมัยทวารวดี แต่มีจุดเด่นที่โคปุระและกำแพงล้อมที่มีภาพพระไภสัชยคุรุประภานั่งประทับในซุ้มเรือนแก้ว แกะสลักจากหินทรายสีแดงสวยงาม

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติราชบุรี ก็เป็นน่าไปเที่ยวนะครับ เป็นที่เก็บวัตถุโบราณสำคัญในสมัยทวารวดียุคหลังของเมืองคูบัว ที่เชื่อว่ามีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 15 - 16 ช่วงที่น้ำทะเลเริ่มงวดลงแล้ว ปูนชั้นชิ้นเอกของเมืองคูบัวภาพ "ปัญจดุริยสตรี" อันเป็นเอกลักษณ์ของทวารวดีที่นักดนตรีชั้นสูงกลับเป็น"หญิง"ในขณะที่ในอินเดียนักดนตรีจะเป็น"ชาย" แสดงให้เห็นว่า ลัทธิชายเป็นใหญ่ของอินเดียถูกผสมผสานด้วยพื้นเมืองนิยม ดั่งสิทธิสตรีของสุวรรณภูมิไม่ได้ต่ำไปกว่าชาย นี่คืออีกหนึ่งในปริศนาที่ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันของปรากฏการณ์ทวารวดี!!!

เมืองโบราณคูบัวตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองราชบุรีไปประมาณ 10 กิโลเมตร แผนผังของเมืองโบราณเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตัวตามแนวเหนือ-ใต้ มีคูน้ำคันดินกำแพงเมืองล้อมรอบขนาดความกว้าง 800 เมตร ความยาว 2,000 เมตร ภายในและนอกเขตกำแพงเมืองโบราณพบโบราณสถานที่ก่อสร้างด้วยอิฐจำนวนมากกว่า 60 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นพุทธสถานทั้งฝ่ายหินยาน เถรวาทและมหายาน ที่มีการประดับตกแต่งด้วยประติมากรรมรูปพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ เทวดา บุคคล และลวดลายต่างๆ ที่ทำมาจากดินเผาและปูนปั้น ในเขตพื้นที่เมืองคูบัวมีการสำรวจพบปูชนียวัตถุที่ทำขึ้นเนื่องในพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก เป็นต้นว่า พระพิมพ์ดินเผา พระพุทธรูป พระธรรมจักร รวมทั้งโบราณวัตถุอันเป็นเครื่องประดับหรือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา แวดินเผา ตะคันดินเผา ตุ้มหู แหวน กำไล ลูกปัด หินบด เป็นต้น

เมืองคูบัวมีเจดีย์ทวารวดีปรากฏทรากมากมาย ส่วนใหญ่ถูกบูรณะและ"สร้างใหม่"แล้ว ตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา ถ้าเดินทางโดยรถไฟ เราจะตัดผ่าเมืองคูบัวทางทิศตะวันออกโดยไม่รู้ตัว

เจดีย์วัดโขลง เป็นเจดีย์หลักของเมืองคูบัว

ที่เมืองโบราณคูบัว มีชาวกลุ่มชาติพันธุ์ลาวยวนหรือไทยยวน ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่ครั้งต้นรัตนโกสินทร์ มีสินค้าขึ้นชื่อคือ "ผ้าทอลายตีนจก" อันเป็นสินค้าขึ้นชื่อของคูบัว นอกจากนี้ยังมี "จิปาถะสถาน" อันเป็นที่รวบรวมประวัติศาสตร์สังคมและวิถีชีวิตของชาวคูบัวมาตั้งแต่ครั้งทวารวดี สร้างขึ้นโดยกลุ่มผู้อวุโสชาวไทยยวนร่วมกันรวบรวมสิ่งของและประวัติศาสตร์ของบ้านคูบัวไว้ จัดเป็นนิทรรศการที่ทันสมัยน่าเยี่ยมชมเป็นอย่างมาก
จากเมืองคูบัว ตามเส้นทางสายปากท่อเข้าสู่จังหวัดเพชรบุรีเพียง 50 กว่ากิโลเมตร และออกจากเพชรบุรีไปทางชะอำอีก 40 กิโลเมตรมาถึงอำเภอชะอำ ทางซ้ายมือท่านจะเห็น"เขาใหญ่" ให้เลี้ยวซ้ายเข้าชุมชนโคกเศรษฐี จะพบกับหน้าผาเขาจอมปราสาท อันเป็นที่ตั้งของสถูปทวารวดีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและอยู่ทางใต้สุดของทวารวดีในสุวรรณภูมิ
เจดีย์ทุ่งเศรษฐีเป็นสถูปเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ ก่ออิฐสอดิน(ผสมยางไม้ตามสูตรโบราณ) ฉาบปูนขาวตำจากหอยทะเล ส่วนฐานมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดความกว้างประมาณ 25 เมตร เป็นฐานประทักษิณซึ่งมีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออกและตะวันตก รองรับฐานเจดีย์ที่มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกเก็จบริเวณกึ่งกลางด้านและมุมทั้งสอง ชั้นล่างสุดเป็นฐานหน้ากระดานซ้อนกันสองชั้น รองรับฐานบัววลัย มีส่วนของท้องไม้ขยายสูง มีลวดบัวตรงกึ่งกลางจำนวน ๓ แนว แถวบนและล่างก่อเรียบ ส่วนแถวกลางก่ออิฐยื่นสลับกันบริเวณที่อิฐนูนขึ้นมาฉาบปูนเป็นรูปสี่เหลี่ยมปาดมุม ทำให้เกิดช่องว่างสลับกับปุ่มนูนโดยรอบ ถัดจากท้องไม้ขึ้นไปเป็นหน้ากระดานมีการประดับเสาติดผนังและแบ่งเป็นช่องๆ ช่องละประมาณ ๘๐ เซนติเมตร เพื่อประดับประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระแบก เหนือขึ้นไปเป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยมรองรับผนังก่ออิฐมีเสาประดับผนังตกแต่งคล้ายส่วนแรก แต่มีขนาดความกว้างและความสูงมากกว่า ถัดจากผนังส่วนนี้ขึ้นไปเป็นส่วนบนขององค์เจดีย์ซึ่งมีสภาพชำรุดพังทลายลงมาเกือบหมด จากหลักฐานชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมที่พบ สันนิษฐานได้ว่ารูปทรงสัณฐานขององค์เจดีย์ทุ่งเศรษฐีส่วนบนน่าจะเป็นทรงกลมมีเจดีย์บริวารทรงกลมขนาดเล็กที่มุมทั้งสี่ บริเวณส่วนยอดเป็นปล้องไฉนประดับด้วยอมลกะ ดังลักษณะของสถูปเจดีย์จำลองและยอดสถูปที่พบจากเมืองอู่ทอง
เจดีย์ทุ่งเศรษฐีสมัยก่อนมีการลักลอบขุดลงไปตรงแก่นกลาง คาดว่าน่าจะได้พระบรมสารีริกธาตุ วัตถุโบราณมีค่าและพระเครื่องดินเผาไปแล้ว ก่อนหน้าปี 2520 หลังจากนั้นก็ยังมีการลักลอบขุดหาสมบัติอยู่เสมอ จนแทบไม่เหลือโบราณวัตถุที่มีค่า มีสำนักสงฆืไปตั้งอยู่ใกล้ ๆ เมื่อปี 2535 ผมเดินทางเข้าไปก็พบปูนปั้นสวยงามรูปเทวดาและรูปอื่น ๆ ตกอยู่เกลื่อนกลาด กรมศิลป์เข้าไปบูรณะและสร้างใหม่สมบูรณ์เมื่อปี 2541 กลายเป็น"ปัจจุบันสถาน"อีกแห่งหนึ่ง
ภาพ : สถูปทุ่งเศรษฐี เมื่อขุดแต่งเสร็จสิ้น

ภาพ : ตอนบูรณะและสร้างใหม่ (ทำไมไม่ใส่ปูนปั้นเลียนแบบของเก่าเข้าไปด้วย จะได้สมบูรณ์ถูกใจ"การท่องเที่ยว"มากกว่านี้)

นอกจากเจดีย์ทุ่งเศรษฐี ทวารวดีแห่งแดนใต้นี้แล้ว ในระหว่างทางกลับเข้าเพชรบุรี แถวบ้านยาง หนองปรง ไปจนถึงเขาย้อย หลายแห่งล้วนมีร่องรอยของทวารวดีอยู่อย่างหนาแน่น มีร่องรอยเจดีย์อีกประมาณ 3 - 5 แห่ง เศษวัตถุโบราณ ทั้งที่เป็นโกลนพระพุทธรูป เป็นธรรมจักร เป็นกวางหมอบและอีกมากมาย
อย่าลืมซื้อของฝากกลับบ้านนะครับ เพชรบุรีเลื่องชื่อเรื่องน้ำตาลหวาน ขนมหม้อแกงที่"อร่อยที่สุดในโลก" (เพราะที่อื่นเขาไม่ทำกัน )แวะเที่ยวเขาวัง หรือปราสาทกำแพงแลง (อโรคยศาลาแบบท้องถิ่นเพชร)ก็ไม่เลวนะครับ
