วันนี้ก็เป็นศุกร์อีกแล้วนะครับ เพื่อน Blog OKnation หลายคนก็คงนึกอยากจะไปเที่ยวกันบ้าง หลังจากซีเรียสรี่มากับหลายเรื่องหลายราวกับชีวิตประจำวัน . หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากจะหาที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก เดินทางสะดวก ไปกลับได้ในหนึ่งวัน และมี Concepts ท่องเที่ยว ในมุมมองของวัฒนธรรมท้องถิ่น โบราณสถาน ธรรมชาติริมน้ำใหญ่และอาหารการกินพร้อมมูล . ผมขอแนะนำ .....นี่เลย "ทุกวันหยุด เที่ยวสุด ๆ ใกล้กรุงเทพฯ ที่สามโคก กับ อยุธยาที่ซ่อนเร้นและสัมผัสอารยธรรมมอญโบราณ" . และนี่ก็คือเรื่องราวที่ผมจะขอนำเสนอเป็น"ข้อมูลเบื้องต้น" เพื่อคุณจะได้ใช้ในการตัดสินใจ หากจะเลือกท่องเที่ยวในมุมนี้ . "สามโคก" เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดปทุมธานี ชุมชนมอญเก่าแก่จะตั้งเรียงรายอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำ บนเส้นทางเดินเรือที่จะผ่านไปออกปากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสายน้ำใสก่อนเข้าสู่กรุงเทพมหานคร . เราสามารถเดินทางโดยรถยนต์ ตามเส้นทางวงแหวนตะวันตก ระยะทางจากบางบัวทอง ถึงแยกเสนา สามโคก ประมาณ 50 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามแยกก็จะเข้าสู่อำเภอสามโคกทางทิศเหนือ หรือประมาณ 6 กิโลเมตรหากเดินทางจากตัวจังหวัดปทุมธานี . เมืองสามโคกในอดีตเปลี่ยนชื่อมาเป็น "เมืองประทุมธานี" และยกฐานะขึ้นเป็นเมืองชั้นตรี สืบเนื่องมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พร้อมด้วยกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ได้ประพาสเมืองสามโคกเพื่อเยี่ยมเยียนชาวมอญที่อพยพเข้ามาอาศัยแถบนี้ และทรงประทับแรม ณ พลับพลาริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกเยื้องเมืองสามโคก . ทรงรับดอกบัวหลวงจากชาวมอญที่นำมาทูลเกล้าฯ ถวายเป็นจำนวนมาก และประกอบกับในช่วงนั้นเป็นเดือน 11 ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลากนั้น มีดอกบัวบานหลวงออกดอกบานสะพรั่งอยู่ทั่วไป จึงพระราชทานนามเมืองสามโคกใหม่ว่า "เมืองประทุมธานี" ซึ่งมีปรากฏในนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ว่า . ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า พระพุทธเจ้าบำรุงซึ่งกรุงศรี ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว . เมืองสามโคกจึงย้ายไปตั้งใหม่ทางทิศใต้ กลายมาเป็นตัวจังหวัดปทุมธานี ในปัจจุบัน ส่วนตัวสามโคกเดิม รัชกาลที่ 5ได้ทรงโปรดตั้งเมืองสามโคกเดิมขึ้นเป็นอำเภอสามโคกอีกครั้ง . ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของอำเภอสามโคก น่าจะเริ่มได้จากการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Group) มอญ (Mon) หรือจะเรียกว่า เมง รามัญ ตเลง เป็นสำคัญ . . ราวปี 2202 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา "สมิงเปอ" กับพรรคพวกมอญ รวม 11 คนได้พาครอบครัวมอญ ประมาณ 10, 000 คน อพยพหนีความกดขี่ของพม่าอังวะเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวมอญไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ "บ้านสามโคก" ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก บริเวณระหว่างวัดตำหนักกับวัดสะแก ชุมชนมอญได้ขยายตัวตั้งเป็น "เมืองสามโคก" ขึ้นบริเวณใกล้วัดสิงห์ ในเวลาไม่นานนัก . . ต่อมาได้มีการอพยพของชาวมอญอีก 2 ครั้ง คือ ในปี 2317 ซึ่งตรงกับสมัย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยมี "พระยาเจ่ง ตะละเส่ง ตละเก็บ" กับ"พระยากลาง" เป็นหัวหน้า ได้พาพรรคพวกครอบครัวมอญที่ถูกพม่ากวดต้อนไปหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา กลับเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอีกครั้ง จึงทรงโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงกัน . ปี 2358 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย "สมิงรามัญ" เมืองเมาะตะมะ และพรรคพวกได้อพยพครอบครัวมอญเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอีกครั้งหนึ่ง . ชาวมอญที่อพยพมาทั้ง 2 ครั้งหลังนี้ ส่วนหนึ่งไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองสามโคก และอีกส่วนหนึ่งขยายตัวไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ปากเกร็ด เมืองนนทบุรี และเมืองนครเขื่อนขันธ์ พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ . สามโคก จึงเป็น ถิ่นของคนมอญที่ถูกกล่าวถึงบ่อย ๆ ในวรรณกรรม โดยเฉพาะในนิราศเรื่องต่าง ๆ ของ "สุนทรภู่" กวีเอกแห่งสยาม เพราะเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เส้นทางสัญจรไปมาที่สำคัญในอดีต เช่นในนิราศพระบาท ที่สุนทรภู่แต่งขึ้นเมื่อครั้งตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปไหว้พระพุทธบาทที่สระบุรี สุนทรภู่พูดถึงหญิงชาวมอญว่า . ถึงสามโคกต้องแดดยิ่งแผดแสง ให้รุ่มร้อนอ่อนจิตระอิดแรง เห็นมอญแต่งตัวเดินมาตามทาง ตาโถงนุ่งอ้อมลงกรอมซ่น เป็นแยบยลเมื่อยกยับย่าง เห็นขาขาววางแวบอยู่ว่างกลาง ใครยลนางก็เป็นน่าจะปรานี . . ในนิราศวัดเจ้าฟ้าก็บรรยายลักษณะคนมอญว่า . เห็นพวกชายฝ่ายมอญแต่ก่อนมา ล้วนสักขาเขียนหมึกจารึกพุง ทั้งตาห่มตาหรี่เหมือนสีรุ้ง ทั้งผ้านุ่งนั้นก็อ้อมลงกรอมตีน เมื่อยกเท้าก้าวย่างสว่างแวบ เหมือนฟ้าแลบแลผาดแทบขาดศีล นี่หากเห็นเป็นเด็กแม้นเจ็กจีน เจียนจะปีนซุ่มซ่ามไปตามนาง . อีกตอนหนึ่งของนิราศวัดเจ้าฟ้า มีกล่าวถึงสภาพที่วัด ความเป็นอยู่ของคนมอญ ว่า . ชาวบ้านนั้นปั้นอีเลิ้งใส่เพิงพะ กระโถนกระทะอ่างโอ่งกระโถงกระถาง เขาวานน้องร้องถามไปตามทาง ว่าบางขวางหรือไม่ขวางพี่นางมอญ . ในนิราศพระประธมมีตอนหนึ่งกล่าวถึงชาวมอญสามโคกว่า . ถึงบางขวางปางก่อนว่ามอญขวาง เดี๋ยวนี้นางไทยลาวล้วนสลอน น่ายกย่องขวางแขนแสนแง่งอน ถึงนางมอญก็ไม่ขวางเหมือนนางไทย . จากนิราศของสุนทรภู่ที่กล่าวมานี้ สะท้อนให้เห็นสภาพทางสังคมและวัฒนธรรมของคนมอญในถิ่นสามโคก ยังคงรักษาลักษณะความเป็นมอญไว้ได้อย่างมากมายมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ผู้หญิงนุ่งผ้าถุง มีผ้าคลุมไหล่ ลายผ้ามีตะโกงตะกี่ และเกล้าผมมวย และพวกผู้ชายนิยมสักร่างกายไม่ใส่เสื้อ ต่างไปจากคนไทยที่นุ่งผ้าหาง (จูงกระเบน) และไว้ผมทรงทัดผมปีก . . ชาวมอญสามโคกในอดีตมีอาชีพปั้นโอ่งอ่าง กระถางเร่ขายไปตามเมืองต่าง ๆ และนิยมปลูกเรือนขวางลำแม่น้ำจึงมักถูกเรียกว่า "มอญขวาง" ในขณะที่พวกคนไทยนิยมปลูกเรือนขนานไปกับแม่น้ำ นอกจากเรื่องลักษณะความเป็นอยู่ของคนมอญแล้วใน นิราศวัดเจ้าฟ้า ยังกล่าวถึงความเก่าแก่ของท้องถิ่นเมืองสามโคกไว้ว่า . พอเลยนาคบากข้ามถึงสามโคก เป็นคำโลกสมมุติสุดสงสัย ถามบิดาว่าผู้เฒ่าท่านกล่าวไว้ ว่าท้าวไทพระอู่ทองเธอกองทรัพย์ หวังจะไว้ให้ประชาเป็นค่าจ้าง ด้วยจะสร้างบ้านเมืองเครื่องประดับ พอห่ากินสิ้นบุญไปสูญลับ เป็นคำโลกสมมุติสุดแถลง ครั้งพระโกศโปรดปรานประทานแปลง ที่ตำแหน่งมอญมาสามิภักดิ์ . อาณาเขตของเมืองสามโคกทางเหนือนั้นผ่านตำบลบางกระบือไปสุดที่ตำบลท้ายเกาะ ต่อจากนั้นก็เข้าเขตอำเภอบางไทร ในนิราศพระบาท มีความว่า . ถึงทุ่งขวางกลางย่านบ้านกระบือ ที่ลมอื้อนั้นค่อยเหือดด้วยคุ้งขวาง ถึงย่านหนึ่งน้ำเซาะเป็นเกาะกลาง ต้องแยกทางสองแควกระแสชล ปางบุรำบุราณขนานนาม ราชครามเกาะใหญ่เป็นไพรสณฑ์ ในแถวทางกลางย่านกันดารคน นาวาดลเดินเบื้องบูรพา โอ้กระแสแควเดียวทีเดียวหนอ มาเกิดก่อเกาะถนัดสกัดหน้า ต้องแยกคลองออกเป็นสองทางคงคา นี่หรือคนจะมิน่าเป็นสองใจ . นั่นก็คือ เมื่อเลยวัดท้ายเกาะขึ้นไปจะเป็นเขตว่างคน เคยเป็นที่ตั้งของเกาะใหญ่ "ราชคราม" เกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เต็มไปด้วยป่าไม้ใหญ่น้อยและเป็นเครื่องหมายในการเดินทางในสมัยโบราณ แต่ปัจจุบันกลายเป็นเกาะเล็ก ๆ เพราะการดูดทรายในลำน้ำเจ้าพระยา ทำให้เกาะขาดหายไปเกือบหมด .
. ชาวมอญสามโคกในอดีตมีอาชีพทำการเกษตรกรรมเพาะปลูกข้าวและร่องเรือค้าขาย อีกทั้งยังมีอาชีพผลิตเครื่องปั้นดินเผา โดยเฉพาะภาชนะที่เรียกว่า"ตุ่มสามโคก" . ในปัจจุบันชุมชนมอญสามโคก ไม่ได้ทำอาชีพเช่นในสมัยก่อนแล้วครับ เพราะว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก แรงงานวัยหนุ่มสาวหายไปจากหมู่บ้านเกือบทั้งหมดแล้ว . ชาวมอญใน "กวาน" หรือ "กลุ่มบ้าน" ต่าง ๆ ที่ตั้งชื่อกลุ่มบ้านของตนตามชื่อของวัดในรัฐมอญเดิม ยังคงรักษาประเพณีของชาวมอญสืบมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการนับถือผีบรรพบุรุษและการสืบสานพระพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่น จึงปรากฏหลักฐานวัฒนธรรมประเพณี และวัดวาอารามทั้งที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีรูป "เสาหงส์" เป็นสัญลักษณ์สำคัญด้านหน้าของ "วัดมอญ" ที่สังเกตเห็นได้ง่ายหากเมื่อเดินทางเข้าไปนมัสการหรือท่องเที่ยวครับ . จุดเด่นที่สำคัญของแหล่งท่องเที่ยวตามสายน้ำที่สามโคก คือ "กลิ่นอาย อดีตแห่งกรุงศรีอยุธยา (Living Ayutthaya) ที่ซ่อนเร้น" อยู่ในบริเวณที่เรียกว่าอำเภอ สามโคกในปัจจุบันครับ . จากหลักฐานทางวรรณกรรม ประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้พบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น (ราวพุทธศตวรรษที่ 20) จากกำสรวลสมุทรหรือกำสรวลศรีปราชญ์ . ต่อมาชุมชนเริ่มหนาแน่นขึ้นเมื่อชาวมอญ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานนับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งแผนที่ของชาวฝรั่งเศสในยุคนั้นก็ได้ระบุชื่อของหมู่บ้านสามโคก Samcok และกลุ่มบ้านมอญริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ในแผนที่อย่างชัดเจน . "ทุ่งพญาเมือง" คือเมืองเก่าแก่ที่สุดของสามโคกครับ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดป่างิ้ว บริเวณนี้มีคูคันดินล้อมรอบ มีซากวัดร้างที่มีชื่อว่า วัดพญาเมือง พบหลักฐานพระพุทธรูปศิลาแบบอู่ทอง และมีโคกเนินซากโบราณสถานอยู่หลายแห่ง เศษภาชนะดินเผาเคลือบแบบสังคโลกสุโขทัย รวมทั้งเครื่องลายครามในสมัยราชวงศ์หยวนและเหม็งปะปนอยู่ . แต่อย่าเข้าไปเลยครับ ไม่มีอะไรเหลืออยู่แล้ว !!! . มีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาเกี่ยวกับวัดนี้ว่า ในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อพระยาตากยกกองทัพจากจันทบุรีเข้ามาต่อรบชนะพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้นแล้ว ระหว่างเดินทางล่องเรือมายังเมืองธนบุรี ได้แวะพักไพร่พลหุงหาอาหารที่วัดพญาเมืองและวัดนางหยาดด้วย . วัดหลายวัดของสามโคกเป็นวัดของชาวมอญที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีร่องรอยการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปและศาสนวัตถุจากวัดเดิม ๆ ที่มีมาก่อนหน้า เข้ามาเก็บรักษา ปรับปรุง บูรณะในวัดที่ชุมชนชาวมอญสร้างขึ้นใหม่ ดังเห็นได้จากพระพุทธรูปสำคัญของวัดต่าง ๆ ที่เป็นพระพุทธรูปหินทรายและมีศิลปะเป็นแบบอู่ทอง อย่างเช่น พระพุทธรูปหลวงพ่อนรสิงห์วัดกร่าง พระพุทธรูปวัดสิงห์ พระพุทธรูปหลวงพ่อขาว วัดเกาะเกรียง วัดอำเภอเมือง ปทุมธานี เป็นต้น . ความหนาแน่นของชุมชนมอญก็ค่อย ๆ เติบโตขึ้นในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นศูนย์กลางที่สำคัญในการผลิตเครื่องปั้น หม้อ ไห ดินเผา ดังเห็นได้จากหลักฐานของโคกเนินขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งเตาเครื่องปั้นดินเผาถึงสามแห่ง อันเป็นเหตุให้ถูกเรียกว่า "สามโคก" ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงโคกใหญ่ที่ "เตาโอ่งอ่าง" หน้าวัดสิงห์เพียงโคกเดียวเท่านั้น . . เราเริ่มต้นท่องเที่ยวอยุธยาที่ซ่อนเร้น โดยเริ่มต้นเดินทางจาก "วัดสิงห์" วัดโบราณวัดแรกของชุมชนมอญโบราณ ชม โบสถ์ วิหารและพระเจดีย์ย่อมุมไม้ และพระพุทธบาทไม้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งล้วนสร้างขึ้นในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ อีกทั้งวัดสิงห์ยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุศิลปะมอญ และแท่นบรรทมของล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสามโคกอีกด้วย . . . ใกล้ ๆ กันกับวัดสิงห์ เป็นที่ตั้งของ "โบราณสถานเตาโอ่งอ่าง" หรือ "เตาสามโคก" ที่มีการจัดภูมิทัศน์เป็นอาคารนิทรรศการเปิด เป็นซากเตาเผาขนาดใหญ่และมีร่องรอยอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องปั้นดินเผานานาชนิด . . . จากนั้นเราเดินทางไปขึ้นท่าน้ำที่ "วัดสะแก" ชมวิหารโบราณลายมอญผสมตะวันตก ซึ่งหน้าบันของวิหารวัดสะแกนี้ ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นเป็นลวดลายศิลปะ "ร็อคโคโค" (Rococo) แบบตะวันตก ประดิษฐ์เป็นลายก้านขดใบและดอก "อะแคนธัส" (Acanthus) ก้านดอกตั้งตรงอยู่บนฐานหน้าสิงห์ . . หน้าบันแบบตะวันตกนี้จะไม่มีช่อฟ้าและหางหงส์อย่างหน้าบันในศิลปกรรมของไทย ด้านหลังหน้าบันด้านในวิหารมีศิลปกรรมก่ออิฐเป็นช่องโค้งสามเหลี่ยมยอดแหลมที่เรียกว่า "อาร์ค" ตามแบบศิลปะ "โกธิค" เชื่อว่านายช่างจากฝรั่งเศสเป็นผู้มาสร้างวิหารนี้ไว้ในสมัยพระนารายณ์มหาราช ซึ่งในช่วงเวลานั้นสังคมสมัยอยุธยามีความนิยมชมชอบการก่อสร้างตามแบบเปอร์เซียและตะวันตก . ภายในวิหารวัดสะแกประดิษฐานพระประธานบนฐานชุกชีก่อด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทองประทับนั่งปางมารวิชัย หันหลังพิงกัน 4 องค์ โดยมีสถูปเจดีย์อยู่ตรงกลาง . เล่ากันมาว่า เจดีย์ที่อยู่ตรงกลางพระพุทธรูปทั้ง 4 องค์นั้นใต้ฐานจะเป็นอุโมงค์ สร้างไว้เป็นที่หลบภัยพม่าในอดีตครับ !!! . . พระพุทธรูป 4 องค์นั้น หมายถึงอดีตพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ คือ พระกกุสันโธ พระโกนาคมน์ พระกัสสปะ และพระสมนโคดม รูปแบบการก่อสร้างพระพุทธเจ้า 4 พระองค์นี้น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากศิลปมอญโดยเอาแบบอย่างมาจาก "เจดีย์ไจปุน" (Kyai pun Pagoda) ที่เมืองหงสาวดี ซึ่งสร้างโดย "พระธรรมเจดีย์" กษัตริย์มอญแห่งกรุงหงสาวดี . . . . . . . นอกจากวัดโบราณในกลิ่นอายอดีตแห่งกรุงศรีอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์แล้ว สามโคกยังมีวัดใน"วัฒนธรรมมอญ" หลายแห่งให้เที่ยวชมนะครับ เช่นที่วัดจันทร์กะพ้อ ก็เป็นวัดสำคัญของชาวมอญที่รวบรวมสิ่งของเครื่องใช้และเก็บรวบรวมองค์ความรู้ของชาวมอญมาจัดเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน . . . วัดเจดีย์ทอง มีพระเจดีย์สถาปัตยกรรมมอญที่เลียนแบบมาจากเจดีย์จิตตะกองในประเทศเมียนม่าร์ วัดสองพี่น้อง วัดศาลาแดงเหนือ วัดป่ามะม่วง วัดเมตารางค์ วัดพลับสุธาวาส ก็ล้วนเป็นวัดใน"กวาน" หรือชุมชนชาวมอญที่กระจายตัวอยู่ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา . . . . . วัดไผ่ล้อม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นกัน ที่วัดนี้มีฝูง "นกปากห่าง" เข้ามาอาศัยในป่าข้างวัดอยู่เป็นจำนวนมาก บรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดกว้างขวาง ลมเย็นสบายและมีฝูงปลามากมายมารอคอยรับอาหาร . สิ้นสุดการเดินทางที่ วัดท้ายเกาะ วัดปลายสุดท้ายของชุมชนชาวมอญทางทิศเหนือของแม่น้ำ เป็นที่ตั้งของมหาเจดีย์ทรงมอญทองอร่ามที่ใหญ่ที่สุดของชุมชนมอญในสามโคกครับ . . ก่อนจะเดินทางกลับ ร้านอาหารอร่อยที่จะขอแนะนำ คือ สวนอาหารอี๊เติ้ง-อี๊ต้อย ตรงถนนวงแหวนตะวันตกกก่อนเลี้ยวเข้าสามโคก ร้านครัวท้ายเกาะ แยกถนนวงแหวนตรงเชิงสะพานข้ามแม้น้ำเจ้าพระยาและ ร้านอาหารเอี้ยเซี้ยฮวด ในตัวอำเภอสามโคกครับ . แวะไปเที่ยวเมืองปทุมธานีครั้งหน้า เผื่อเวลากันซักนิดกับระยะทางไม่ถึง 10 กิโลเมตรจากตัวเมือง หรือ ประมาณ 30 กิโลเมตร จากฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต ลองแวะไปเที่ยวชมกลิ่นอายของอดีตแห่งอยุธยาที่ซ่อนเร้นและวัฒนธรรมมอญที่สามโคก ตามสายน้ำสะอาดของแม่น้ำเจ้าพระยากันดูนะครับ . แล้วมุมมองท่องเที่ยวเชิง "วัฒนธรรม" ของคุณจะกว้างขึ้นอีกมากมายครับ !!! . เพลงตะลุงมอญซ่อนผ้า จาก Blog คุณสอนสุพรรณครับ . Entry นี้ส่วนหนึ่งปรับปรุงมาจากงานเขียนของ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อาจารย์วีรวัฒน์ วงศ์ศุปไทย ปราชญ์ชาวสามโคก |
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |
สำรวจบันทายฉมาร์ - บันทายทัพ | ||
![]() |
||
พาคณะ ร่วมเดินทางสำรวจ ถ่ายภาพ- เรียนรู้ ปราสาทบันทายทัพและปราสาทบันทายฉมาร์ ระหว่างวันที่ 4 6 พฤษภาคม 2560 ผู้ร่วมเดินทางรวม 18 คน |
||
View All ![]() |
งานวันผู้ไทโลก ครั้งที่ 8 | ||
![]() |
||
งานวันผู้ไทโลก เท่อที่ 8 "พระธาตุศรีมงคลงามสง่า บูซาเจ้าปู่มเหศักดิ์ โฮมฮักผู้ไทโลก" วันที่ 4 - 6 เมษายน 2560 ณ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร |
||
View All ![]() |
<< | สิงหาคม 2007 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | 3 | 4 | |||
5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 |
12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 |
19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 |
26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 |