ครั้งแรกที่ผมย่างก้าวเข้ามาใน รามาธิบดี ผมได้เกิดความสงสัยมาตลอดว่านาม รามาธิบดีนี้มีความเป็นมาอย่างไร หากฟังจากบทเพลงขั้นต้นก็คงพอจะทำให้ทราบว่านามอันสูงค่านี้พวกเราได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน แต่ผมก็ยังเกิดคำถามมาตลอดว่าทำไมคณะแพทยศาสตร์แห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์(มหาวิทยาลัยมหิดลในขณะนั้น)จึงต้องชื่อ รามาธิบดี?? เมื่อผมได้กลับไปค้นข้อมูลเบื้องต้นดูก็พบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระราชทานนาม รามาธิบดี เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๐๘ ตามหนังสือเลขที่ รล ๐๐๐๒/๑๙๖๕ ส่วนเหตุผลที่ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยพระราชทานนามนี้นั้นมิได้ปรากฏอยู่ในหนังสือฉบับดังกล่าว อนึ่งนาม รามาธิบดี นั้นหมายถึงพระรามผู้เป็นใหญ่ ตามคติความเชื่อของชาวฮินดูนั้นพระวิษณุจะอวตารลงมาโลกมนุษย์เพื่อปราบยุคเข็ญอย่างกรณีของพระรามในมหากาพย์รามายณะก็เรียกว่า รามาวตาร ซึ่งคติความเชื่อนี้ก็ได้รับความนิยมแพร่หลายในดินแดนสุวรรณภูมิรวมถึงสยามประเทศเองด้วย ดังจะเห็นได้จากพระเจ้าอู่ทองจารึกพระนามในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงตั้งนามพระนครแห่งใหม่ว่า กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา และทรงส่งพระราเมศวร(ราม+อิศวร)พระโอรสองค์โตไปครองเมืองละโว้(ลพบุรี) ล้วนเป็นไปตามคติของมหากาพย์รามายณะทั้งสิ้น ต่อเมื่อผมได้พบกับศาสตราจารย์นายแพทย์สมพล พงศ์ไทยผู้ที่ได้บัญญัติศัพท์และเป็น รามาธิบดีนิยม(Ramathibodiism) ขณะเดินทางไปทัศนศึกษามรดกโลกตอนอยู่ปี ๓ จึงทำให้ผมได้คลายข้อสงสัยนี้ลง อาจารย์สมพลท่านเล่าให้ฟังครับว่านาม รามาธิบดี นี้ไม่มีใครทราบว่าเหตุใดพระองค์จึงทรงพระราชทานนามนี้ลงมาให้พวกเรา แต่อาจารย์ก็ได้สันนิษฐานจากหลักฐานต่างๆแล้วคิดว่านามนี้น่าจะมีความเกี่ยวพันกับถนนพระรามที่ ๖ อันเป็นสถานที่ที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์จะสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ ถนนพระรามที่ ๖ นั้นเดิมชื่อถนนประทัดทอง(ต่อมาเพี้ยนเป็นบรรทัดทอง) สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาหลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเฉลิมฉลองพระปรมาภิไธยใหม่ได้ทรงเปลี่ยนชื่อถนนเป็นที่ระลึก ดังนี้ ถนนปทุมวันเปลี่ยนเป็นถนนพระรามที่ ๑ ถนนหัวลำโพงนอกเปลี่ยนเป็นถนนพระรามที่ ๔ ถนนฮกเปลี่ยนเป็นถนนพระรามที่ ๕ และถนนประทัดทองเป็นถนนพระรามที่ ๖ (เชื่อมจากถนนพระรามที่ ๑ไปยังสะพานพระรามที่ ๖) จากประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๙ จะพบว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับนาม รามาธิบดี มาก ดังนี้ ...ในพระบรมราชวงศ์มหาจักรีนี้ จำเดิมแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เสวยราชสมบัติเปนประถมบรมกษัตริย์ในพระบรมราชวงษ์นี้แล้ว ต่อแต่นั้นมาก็ได้สืบสันตติวงศ์โดยตรงลงมาจนปัตยุบันนี้หาได้มีการยักเยื้องผันแปรอย่างใดไม่ ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 2 แลที่ 3 ก็ได้ทรงพระนามสมเด็จพระรามาธิบดีต่อเนื่องกันมา พึ่งมาเปลี่ยนพระราชประเพณีใช้คำอื่นนำพระนามเมื่อในรัชกาลที่ 4 อาไศรยเหตุนี้ จึงควรเฉลิมพระปรมาภิไธย ให้ทรงพระนามสมเด็จพระรามาธิบดีทุกรัชกาลด้วย... ทำให้พระองค์ทรงเปลี่ยนพระปรมาภิไธยจาก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ...พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เถลิงพระปรมาภิไธยใหม่เป็น พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ...พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(โดยคงสร้อยท้ายเดิมไว้) หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๖(Rama VI) ทรงเปลี่ยนพระปรมาภิไธยย่อจาก ว.ป.ร. เป็น ร.ร.๖ เพราะฉะนั้นถนนพระรามที่ ๖ จึงเปรียบเป็นถนนของพระองค์นั่นเอง ครั้นการที่จะตั้งนามโรงพยาบาลแห่งใหม่ตามพระนามของพระรามที่ ๖ หรือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นก็จะไปพ้องกับนามโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าที่ใช้บริเวณของพระราชวังพญาไท อาจารย์สมพลจึงตั้งข้อสันนิษฐานว่าด้วยพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจึงได้เลือกพระราชทานนาม รามาธิบดี อันเป็นพระปรมาภิไธยที่ทรงเฉลิมขึ้นมาใหม่แทน สำหรับตราสัญลักษณ์ รามาธิบดี นั้นได้มีดำริให้มีการประกวดตราสัญลักษณ์ของคณะขึ้นในสมัยศาสตราจารย์นายแพทย์บุญชอบ พงษ์พาณิชย์ เป็นคณบดี เนื่องจากในสมัยนั้น รามาธิบดี ยังไม่มีตราสัญลักษณ์ มีแต่เพียงตราของมหาวิทยาลัยที่ใช้มาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๑๒ (เดิมใช้ตราของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์) ผิดกับโรงพยาบาลศิริราชที่มีตราสัญลักษณ์เป็นของตัวเอง(รูปพญานาคขดเป็นตัวศ.และงูพันไม้เท้าภายใต้มหาพิชัยมงกุฎ ออกแบบโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อวย เกตุสิงห์) ทางคณะจึงได้แต่งตั้งให้รองศาสตราจารย์(ตำแหน่งในขณะนั้น)นายแพทย์สมมาตร แก้วโรจน์ เป็นประธานคณะกรรมการตัดสินการประกวดตราสัญลักษณ์รามาธิบดี โดยมีหลักเกณฑ์ว่าต้องเป็นตราที่แสดงถึงความเป็นคณะแพทย์สมัยใหม่ที่มีความเป็นวิชาการและจรรโลงวัฒนธรรมไทย ในครั้งนั้นต้องจัดประกวดถึง ๒ ครั้ง เนื่องจากตราสัญลักษณ์ที่ชนะเลิศในการประกวดครั้งแรกไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะ จึงได้จัดการประกวดใหม่อีกครั้งซึ่งผู้ชนะเลิศในการประกวดตราสัญลักษณ์รามาธิบดี คือ นายสุรพล แสงโสภิต (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวนัปติ ทำงานที่หน่วยภาพพยาธิวิทยา) ได้รับรางวัลเป็นเงินสด ๒๐,๐๐๐ บาท โดยออกแบบตราสัญลักษณ์เป็นรูปตัวร. หมายถึง รามาธิบดี อยู่ในรูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์บ่งบอกถึงความเป็นไทย และมียอดแหลมแสดงถึงความรุ่งโรจน์ โดดเด่น สูงสง่า ได้กำหนดให้ตัวร.ใช้สีน้ำเงินฟ้าแสดงถึงความสงบ ความสดใส ความมั่นคง ความมีน้ำใจ และบริเวณยอดปลายแหลมคล้ายยอดช่อฟ้าสีชมพูแดงแสดงถึงความสดชื่น อ่อนหวานและความสุข ที่ประชุมคณะได้รับรองตราสัญลักษณ์นี้ในการประชุมครั้งที่ ๑๐/๒๕๔๐ วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ต่อมาในการประชุมคณะครั้งที่ ๒๑/๒๕๔๑ เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ ได้มีการพิจารณาสีตราสัญลักษณ์รามาธิบดีใหม่โดยให้ผู้ชนะเลิศไปทำตัวอย่างตราสัญลักษณ์จากสามสี คือ สีน้ำเงินยอดเทา สีน้ำเงินยอดชมพู และสีน้ำเงินยอดทอง ที่ประชุมได้พิจารณาด้วยเสียงส่วนใหญ่มีมติให้เลือกสีน้ำเงินยอดเทาเป็นสีตราสัญลักษณ์รามาธิบดี จากนั้นตราสัญลักษณ์ รามาธิบดี ที่เป็นรูปตัวร.ก็เป็นที่แพร่หลายใช้งานกันโดยทั่วไปในคณะ แต่เป็นการใช้โดยประดิษฐ์ตกแต่งสีขึ้นมาเองตามหน่วยงานต่างๆ ไม่ได้ควบคุมให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน เช่น เสื้อกาวน์นักศึกษาแพทย์ปี ๔-๕ จะใช้สีเขียวล้วน เสื้อกาวน์นักศึกษาแพทย์ปี ๖ ใช้สีแดงล้วน(เริ่มมีการปักตราสัญลักษณ์รามาธิบดีบนอกเสื้อครั้งแรกในExtern รุ่น ๓๔ ปีการศึกษา ๒๕๔๖) เสื้อกาวน์อาจารย์ใช้สีเขียวยอดทอง เป็นต้น จนในที่สุดเมื่อคณะมีความต้องการ Rebranding ตราสัญลักษณ์และต้องการสร้างความเป็น Unity ขึ้นมาใหม่จึงได้มีการปรับเปลี่ยนสีตราสัญลักษณ์คณะทั้งหมด และพอดีกับทางมหาวิทยาลัยมหิดลต้องการสร้างตราสัญลักษณ์ให้มหิดลเป็นหนึ่งเดียวกันตามนโยบายมุ่งสู่การเป็นหนึ่งในร้อยของมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกภายใน ๔ ปี ตามหนังสือเลขที่ ปชส. ๒๕๗/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๒ ตราสัญลักษณ์ที่ใช้กันในปัจจุบันจะมี ๒ ตรา คือ ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดลที่มีชื่อคณะอยู่ด้านใต้กำกับเลข ๒๕๐๘ อันเป็นปีที่มีพระราชกฤษฎีกาก่อตั้งคณะใช้กันมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๑๒ ตรานี้จะใช้ในลักษณะเป็นทางการและในโอกาสที่ติดต่อกับภายนอกคณะ(ดูสีได้จากตราบนเสื้อกาวน์นักศึกษาแพทย์ปี ๔ ปีการศึกษา ๒๕๕๒ เป็นต้นไป) ส่วนตราสัญลักษณ์รามาธิบดีนั้นก็ได้เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินธงชาติยอดสีชมพูแดงทับทิมสยามมีชื่อคณะอยู่ด้านใต้ ใช้ในกิจการภายในคณะและเสื้อที่บุคลากรภายในคณะจัดทำขึ้น มาถึงตรงนี้ก็คงพอที่จะทำให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆและบุคคลากรต่างๆใน รามาธิบดี ได้เข้าใจเรื่องราวความเป็นมาและเป็นไปของสิ่งใกล้ตัวอย่างชื่อนามและตรา รามาธิบดี ที่ปักอยู่บนอกเสื้อและก่อเกื้อเป็นความประทับตราตรึงอยู่ในใจของพวกเราทุกคน นามนี้ที่พระปิ่นจักรีภูมิพลพระราชทานให้มา..........รามาธิบดี ขุมทรัพย์เพชร. วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๓ เวลา ๒๑.๑๘ น. ...นามนี้เป็นพระปรมาภิไธยในปฐมบรมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นพระปรมาภิไธยของบูรพมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ถึงรวมแล้ว ๘ พระองค์ จึงนับเป็นนามมหามงคลยิ่งกว่านามใดๆในแผ่นดินนี้... ศาสตราจารย์นายแพทย์สมพล พงศ์ไทย ปาฐกถารจิต บุรีครั้งที่ ๒๐ ณ ห้องประชุมอารี วัลยะเสวี |
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |
<< | มีนาคม 2010 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | |
7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 |
14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 |
28 | 29 | 30 | 31 |