ความหมายและหน้าที่ของข้าราชการที่ดี
การสอบบรรจุรับราชการ โดยเฉพาะข้าราชการพลเรือนซึ่งส่วนใหญ่จะต้องสอบ ก.พ. หรือสอบ ก.พ. ภาค ก.ให้ได้ก่อนเพื่อใช้เป็นใบเบิกทางไปสู่การสอบในตำแหน่งที่ต้องการหรือตรงกับวุฒิการศึกษาและความสามารถที่มีอยู่ และสิ่งสำคัญการเตรียมความพร้อมเพื่อรับราชการนอกจากวิชาความรู้และทักษะความสามารถที่จะต้องใช้ในการสอบ การรู้ความหมายรวมทั้งรับรู้บทบาทหน้าที่ของข้าราชการที่ดี ยังเป็นการเตรียมความรู้ที่เป็นประโยชน์ทั้งนำไปใช้สอบและการเป็นข้าราชการที่ดีในอนาคตอีกด้วย
ความหมายและหน้าที่ของข้าราชการที่ดี
ข้าราชการ หมายถึง บุคคลซึ่งรับการบรรจุแต่งตั้งให้รับราชการปฏิบัติหน้าที่และรับเงินเดือนในกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ของประเทศไทย ส่วนองค์กรที่บุคคลดังกล่าวปฏิบัติงานอยู่นั้นเรียกส่วนราชการ สำหรับข้าราชการในประเทศไทยนั้นมีหลายประเภท และส่วนใหญ่การเปิดรับสมัครสอบบรรจุข้าราชการที่ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ซึ่งจะมีเปิดสอบเป็นประจำทุกปีที่เรียกกันว่า สอบ ก.พ. หรือ สอบ ภาค ก. ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนสามัญ
ข้าราชการพลเรือนสามัญ คือ ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการในกระทรวง ทบวง กรมฝ่ายพลเรือน ซึ่งได้รับการบรรจุแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับปัจจุบันคือ พ.ศ. 2551) การคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ นอกจากจะดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนหรือ ก.พ. ในบางกรณีอาจมีการมอบหมายให้กรมต้นสังกัด เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก เช่น การสอบท้องถิ่น เป็นต้น
ข้าราชการและแนวทางการเป็นราชการที่ดี
แนวทางการเป็นข้าราชการที่ดี นอกจากการทำงานตามบทบาทหน้าที่ในกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ โดยมีวินัยข้าราชการเป็นเครื่องมือควบคุมความประพฤติข้าราชการให้ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของกฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้เพื่อให้ทุกคนถือปฏิบัติร่วมกันแล้ว ข้าราชการที่ดียังต้องเข้าใจถึงปรัชญาและหลักการปฏิบัติงานในภาคราชการ เข้าใจบทบาทหน้าที่และพึงตระหนักถึงความรับผิดชอบของงานราชการ ซึ่งมีหลักปฏิบัติอยู่ 3 ประการ ได้แก่ หลักการครองตน ครองคน และครองงาน
- หลักการครองตน แนวทางปฏิบัติ ได้แก่
- การพึ่งตนเอง หมายถึงข้าราชการที่ดี ต้องมีความขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบงานในหน้าที่และมีความตั้งใจที่จะทำงานในหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วง มีความอดทนไม่ย่อท้อต่อปัญหาอุปสรรค มีความรับผิดชอบต่อตนเอง และผู้อื่นอย่างจริงใจ ตระหนักดอยู่เสมอว่าประชาชนจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาอาศัยข้าราชการ
- ทำงานด้วยความประหยัดและเก็บออม รู้จักใช่จ่ายตามควรแก่ฐานะ ใช้ทรัพย์สินของทางราชการให้เป็นประโยชน์และประหยัด รวมทั้งบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กรและประชาชน
- การรักษาระเบียบวินัยและเคารพกฎหมาย การครองตนให้เป็นข้าราชการที่ดีต้องเป็นผู้ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา และบุคคลโดยทั่วไปอย่างสม่ำเสมอ ให้ความเคารพเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา เป็นผู้ตรงต่อเวลาทั้งในเรื่องงาน และวินัยส่วนตัว ให้ความสำคัญกับการนัดหมายหรือการติดตามงานตามแผนผังกำกับงานให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา
- การปฏิบัติตนตามหลักคุณธรรม ข้าราชการที่ดีต้องครองตนให้เป็นบุคคลที่ประพฤติปฏิบัติตนในฐานะพุทธศาสนิกชนที่ดี โดยละเว้นต่อการประพฤติชั่วและไม่ลุ่มหลงอบายมุข เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อตนเองและผู้อื่น
- จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ข้าราชที่ดีต้องเป็นผู้ส่งเสริม สนับสนุนระบบประชาธิปไตย และปฏิบัติตามนโยบายของทางราชการและรัฐบาลอย่างจริงจังและทุ่มเท ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามพระบรมราโชวาทเป็นกิจวัตรปกติ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีและเถิดทูนในสถาบัน
- หลักการครองคน แนวทางปฏิบัติ ได้แก่
- ข้าราชการที่ดีต้องครองใจคนได้ โดยเป็นผู้มีความสามารถในการประสานสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา และผู้มาติดต่องาน รวมทั้งเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น กล้าและรับผิดชอบในสิ่งที่ได้กระทำ มีน้ำใจ ช่วยเหลือ และให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงาน
- มีความสามารถในการทำงานเป็นทีม สามารถจูงใจให้เกิดการยอมรับและให้ความช่วยเหลือเป็นผู้มีความสามารถในด้านองค์ความรู้และทักษะในการในการคิดและเสนอเหตุผล ให้ความเห็น ปรึกษา และเสนอแนะในงานที่รับผิดชอบ มีส่วนร่วมในงานที่รับผิดชอบ และเปิดโอกาสยอมรับและฟังความคิดเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชา
- มีความเสมอภาค ข้าราชการที่ดีต้องให้บริการแก่ผู้มาติดต่องานด้วยความเสมอภาคเป็นผู้มีความสำนึกและถือเป็นหน้าที่ ที่จะต้องให้บริการ ช่วยเหลือ แนะนำในสิ่งที่ดี ตลอดจนให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ให้การบริการด้วยความเต็มใจ และเสมอภาคทุกระดับ มีอัธยาศัยดี เป็นกันเอง และสุภาพต่อทุกคน
- การเป็นผู้มีความเป็นธรรมทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น เป็นผู้ประพฤติและปฏิบัติตรงตามหลักเกณฑ์ กฎ ระเบียบ ที่ทางราชการกำหนด ถือประโยชน์ของทางราชการหรือส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ตัดสิน วินิจฉัย หรือแก้ปัญหาโดยใช้เหตุผล
- เสริมสร้างความสามัคคีและร่วมกิจกรรมของหมู่คณะทั้งในและนอกหน่วยงาน ส่วนภายในหน่วยงานนั้นได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของทีมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา ให้ความสำคัญยกย่องและให้เกียรติผู้ร่วมงาน
- หลักการครองงาน แนวทางปฏิบัติ ได้แก่
- มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เป็นผู้ใฝ่ศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงานอยู่เสมอ มีความตั้งใจปฏิบัติงานให้ได้รับความสำเร็จ สนใจและเอาใจใส่งานที่รับผิดชอบโดยการกำหนดนโยบาย การบริหารแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ สนับสนุนช่วยเหลือให้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายอย่างมี ประสิทธิภาพ
- มีความรู้ ความสามารถ และความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน ข้าราชการที่ดีที่สามารถครองงานหรือปฏิบัติงานในหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ควรเป็นผู้มีความรู้และเข้าใจในหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบ กฎ ข้อบังคับ มติ กฎหมาย และ นโยบายอย่างถ่องแท้ และมีทักษะความสามารถในการนำความรู้ที่มีอยู่ไปใช้ในการปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี สามารถแก้ปัญหา ด้วยมีปฏิภาณ ไหวพริบเป็นอย่างดี รักและชอบงานที่ทำอย่างเต็มใจ จริงใจและทุ่มเท
- เป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และปรับปรุงงาน ข้าราชการที่ดีควรมีความสามารถในการคิดริเริ่ม หาหลักการ แนวทาง วิธีการใหม่ ๆ มาใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสามารถทำงานที่ยาก หรืองานใหม่ให้สำเร็จเป็นผลดี
- มีความพากเพียรในการทำงาน ข้าราชการที่ดีและสามารถครองงานหรือมีผลงานที่เป็นที่น่าพอใจ ควรเป็นผู้มีความกระตือรือร้นต้องการที่จะปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายจนสำเร็จ ขยันหมั่นเพียร เสียสละ และอุทิศเวลาให้งาน จนได้รับการยกย่องในความสำเร็จของงานอยู่เป็นประจำ
- การคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมและประชาชน การ ปฏิบัติงานได้ยึดหลักผลประโยชน์ของส่วนรวมและประชาชนเป็นสำคัญ และ สอดคล้องกับความต้องการของส่วนรวมและประชาชน โดยคำนึงถึงการใช้วัสดุ อุปกรณ์และสาธารณูปโภคได้อย่างประหยัดและเหมาะสม ตลอดจนร่วมมือ ช่วยเหลือ และประสานงานระหว่างราชการกับประชาชนอย่างทุ่มเทและจริงใจ
หลักปฏิบัติในการเป็นข้าราชการที่ดี
สำหรับการสอบบรรจุรับราชการทุกเส้นทาง ทั้งการสอบ ก.พ.ภาค ก หรือการออบ ก.พ. กับ ท้องถิ่นเพื่อสอบบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ แม้ส่วนราชการต่าง ๆ จะมีข้อบังคับและระเบียบวินัยให้ข้าราชการถือปฏิบัติอยู่แล้ว แต่วิธีคิดและหลักปฏิบัติในการเป็นข้าราชการที่ดีซึ่งเปรียบเสมือนกรอบให้ข้าราชการที่สอบบรรจุใหม่ ๆ ได้ศึกษาเรียนรู้มี 11 แนวทาง ดังนี้
- มีทักษะทางความคิดและการนำความคิดไปสู่การปฏิบัติ
- คิดวางแผนในภาพรวม ให้กว้างไกลและไม่หยุดความคิด พัฒนาและต่อยอดความคิดอยู่เสมอ
- มีความคิดที่สร้างสรรค์ โดยการปรับยืดหยุ่นตามความเหมาะสม เพื่อให้การทำงานลื่นไหลและผ่านไปได้ โดยคิดวิเคราะห์ถึงผลได้ผลเสียอย่างเป็นระบบ
- คิดวางแผนทำงานเชิงรุก โดยมีการพัฒนาอยู่เสมอ
- คิดวางแผนป้องกันก่อนลงมือปฏิบัติจริงเสมอ หลักคิดสู่การเป็นข้าราชการที่ดีต้องคิดเสมอว่าการป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ปัญหา
- มีกรอบแนวทางการทำงานให้บรรลุผลสัมฤทธิ์
- กระบวนทัศน์ หรือกระบวนคิดวิเคราะห์ วิธีคิด วิธีปฏิบัติ ต้องปรับเปลี่ยนได้เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยและสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ยึดติออยุ่กับกระบวนการเดิม ๆ
- มีการสร้างเครื่องมือไว้ชีวัดผลการดำเนินงาน ซึ่งเครื่องมือที่นำมาใช้ มีหลายรูปแบบ เช่น การทำแบบสอบถาม การสัมภาษณ์ หรือใช้การประเมินผลรูปแบบต่าง ๆ
- ทุกการทำงานควรมีกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จ และต้องทำงานให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด
- ข้าราชการที่ดีต้องอุทิศซึ่งเวลา ไม่แสวงหาผลประโยชน์
- สร้างสัมพันธ์กับผู้รับบริการหรือประชาชนด้วยมิตรภาพ
- มีแนวทางในการบริหารทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
- การปฏิบัติงานต้องคำนึงถึงต้นทุน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งคนและสิ่งของให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ ทำให้รักองค์กร
- นอกจากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ต้องจักดูแลและบำรุงรักษาเพื่อคงไว้หรือให้เพิ่มพูนมากขึ้น
- มีแนวทางสร้างความสามารถและทักษะในการสื่อสาร
- ศึกษาหาความรู้ เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ
- รู้จักสร้างเครือข่ายเพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงานทั้งภายในองค์กรและนอกองค์กร
- นำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร รวมทั้งประชาสัมพันธ์องค์กรต่อสังคมภายนอก
- แนวทางในการสร้างความน่าเชื่อถือไว้วางใจ
- ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คิดคอรัปชั่น
- พร้อมรับผิดชอบตรวจสอบได้
- สร้างศรัทธาให้เกิดกับประชาชน
- บริการประชาชนให้ได้รับความพึงพอใจตามกฎระเบียบที่วางไว้
- แนวทางการมุ่งเน้นให้บริการแก่ประชาชน
- เน้นให้บริการแบบโปร่งใส ไม่เป็นไปในทางลับ
- คำนึงถึงความต้องการและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
- การทำงานมุ่งที่ผลสัมฤทธิ์คือผลผลิตและผลลัพธ์ขององค์กรหรือหน่วยงาน
- การทำงานมีความเสมอภาคเป็นธรรม ไม่เห็นแก่พวกพ้อง
- ให้บริการประชาชนโดยไม่ทำตนเป็นนาย
- แนวทางสร้างจริยธรรม
- เป็นผู้มีศีลธรรมและมีพฤติกรรมเป็นแบบอย่าง
- ปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนอย่างชาญฉลาด
- เป็นผู้มีสติปัญญา ไม่ประมาท ใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ
- เป็นผู้มีความเสียสละไม่เห็นแก่ตัว มีความอดทนอดกลั้น
- มีความเป็นระเบียบวินัย
- แนวทางสร้างความสามารถในการปฏิบัติงาน
- เป็นผู้มีความรู้ รู้จริง รู้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
- การทำงานมุ่งเน้นให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ไม่ทำงานตามใจหรือตามความคิดของตนเอง
- สามารถอธิบายหรือชี้แจงรายละเอียดของงานที่ทำได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง
- มุ่งเน้นและเห็นความสำคัญของการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ไม่ยึดติดกับแนวคิดหรือวิธีการเดิม ๆ
- แนวทางการแก้ไขปัญหา
- ไม่หนีปัญหา แต่จะศึกษาวิเคราะห์และพยายามหาแนวทางแก้ไข
- กล้าสู้ปัญหา แก้ปัญหาด้วยสติปัญญาหรือพร้อมที่จะขอรับคำชี้แนะจากผู้มีประสบการณ์ แม้จะมีคุณวุฒิวัยวุฒิน้อยกว่า
- มองวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยการคิดวิเคราะห์ปัญหาไม่นำปัญหามาเป็นอุปสรรค
- มีแนวทางในการทำงานเป็นทีม
- คุณสมบัติของข้าราชการที่ดี ต้องเป็นผู้มีมนุษย์สัมพันธ์กับผู้อื่น เพื่อสร้างโอกาสในการทำงานร่วมกัน
- ร่วมคิดร่วมทำ ไม่นำความคิดของตนเองมาเป็นใหญ่
- แบ่งปันความรู้หรือแลกเปลี่ยนแนวคิดการทำงาน รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
- มีเหตุผล รับฟังข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดในการทำงานเพื่อหาแนวทางป้องกัน มากกว่าจ้องจับผิด
- ให้คำชื่นชมด้วยความจริงใจ ตำหนิในเชิงก่อหรือสร้างสรรค์ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้ทีมงาน
- แนวทางสร้างความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี
- ฝึกฝนหรือศึกษาเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์ การใช้โปรแกรมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน
- ใช้เทคโนโลยีอย่างคุ้มค่าไม่เก็บเครื่องมือเหล่านั้นไว้โดยไม่เกิดประโยชน์
- ดูแลรักษาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีต่าง ๆ ด้วยความระมัดระวัง
- ซ่อมแซมเมื่อสึกหรอหรือเมื่อเกิดการชำรุดเสียหายแทนการสั่งซื้อใหม่ หากยังอยู่ในสภาพที่ซ่อมแซมไ
จรรยาบรรณของข้าราชการ
การสมัครสอบแข่งขัน สอบ ก.พ. ภาค ก. หรือสอบ ภาค ข และ ภาค ค.หลังจากที่สอบผ่านภาค ก. จาก ก.พ. แล้ว สิ่งที่ข้าราชการจะต้องถือปฏิบัติก็คือจรรยาบรรณในอาชีพ เพื่อการเป็นข้าราชการที่ดี โดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 ได้ออกข้อบังคับ ก.พ. ว่าด้วยจรรยาบรรณของข้าราชการพลเรือนไว้ ดังนี้
- จรรยาบรรณต่อตนเอง
- ข้าราชการพลเรือนพึงเป็นผู้มีศีลธรรมอันดี และประพฤติตนให้เหมาะสมกับการเป็นข้าราชการ
- ข้าราชการพลเรือนพึงใช้วิชาชีพในการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์ และไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ในกรณีที่วิชาชีพใดมีจรรยาวิชาชีพกำหนดไว้ ก็พึงปฏิบัติตามจรรยาวิชาชีพนั้นด้วย
- ข้าราชการพลเรือนพึงมีทัศนคติที่ดี และพัฒนาตนเองให้มีคุณธรรม จริยธรรม รวมทั้งเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ และทักษะ ในการทำงานเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ราชการมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลยิ่งขึ้น
- จรรยาบรรณต่อหน่วยงาน
- ข้าราชการพลเรือนพึงปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความสุจริต เสมอภาคและปราศจากอคติ
- ข้าราชการพลเรือนพึงปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกำลังความสามารถ รอบคอบ รวดเร็วขยันหมั่นเพียร ถูกต้องสมเหตุสมผล โดยคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการและประชาชนเป็นสำคัญ
- ข้าราชการพลเรือนพึงประพฤติคนเป็นผู้ตรงต่อเวลา และใช้เวลาราชการให้เป็นประโยชน์ต่อทางราชการอย่างเต็มที่
- ข้าราชการพลเรือนพึงดูแลรักษาและใช้ทรัพย์สินของทางราชการอย่างประหยัด คุ้มค่า โดยระมัดระวังมิให้เสียหายหรือสิ้นเปลืองเยี่ยงวิญญูชนจะพึงปฏิบัติต่อทรัพย์สินของตนเอง
- จรรยาบรรณต่อผู้บังคับบัญชา ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา และผู้ร่วมงาน
- ข้าราชการพลเรือนพึงมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน การให้ความร่วมมือช่วยเหลือกลุ่มงานของตนทั้งในด้านการให้ความคิดเห็น การช่วยทำงาน และการแก้ปัญหาร่วมกัน รวมทั้งการเสนอแนะในสิ่งที่เห็นว่าจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนางานในความรับผิดชอบด้วย
- ข้าราชการพลเรือนซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา พึงดูแลเอาใจใส่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทั้งในด้านการปฏิบัติงาน ขวัญ กำลังใจ สวัสดิการ และยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ตลอดจนปกครองผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาด้วยหลักการและเหตุผลที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
- ข้าราชการพลเรือนพึงช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทางที่ชอบ รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจในบรรดาผู้ร่วมงานในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
- ข้าราชการพลเรือนพึงปฏิบัติต่อผู้ร่วมงานตลอดจนผู้เกี่ยวข้องด้วยความสุภาพ มีน้ำใจ และมนุษยสัมพันธ์
- ข้าราชการพลเรือนพึงละเว้นจากการนำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน
- จรรยาบรรณต่อประชาชนและสังคม
- ข้าราชการพลเรือนพึงให้บริการประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถด้วยความเป็นธรรมเอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ และใช้กิริยาวาจาที่สุภาพอ่อนโยน เมื่อเห็นว่าเรื่องใดไม่สามารถปฏิบัติได้หรือไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนจะต้องปฏิบัติ ควรชี้แจงเหตุผลหรือแนะนำให้ติดต่อยังหน่วยงานหรือบุคคลซึ่งตนทราบว่ามีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ ต่อไป
- ข้าราชการพลเรือนพึงประพฤติตนให้เป็นที่เชื่อถือของบุคคลทั่วไป
- ข้าราชการพลเรือนถึงละเว้นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งมีมูลค่าเกินปกติวิสัยที่
วิญญูชนจะให้กันโดยเสน่หาจากผู้มาติดต่อราชการ หรือผู้ซึ่งอาจได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ราชการนั้น หากได้รับไว้แล้วและทราบภายหลังว่าทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่รับไว้มีมูลค่าเกินปกติวิสัย ก็ให้รายงานผู้บังคับบัญชาทราบโดยเร็ว เพื่อดำเนินการตามสมควรแก่กรณี
หลักการปฏิบัติงานเพื่อความสำเร็จและความก้าวหน้าของข้าราชการที่ดี
- พึงปฏิบัติตน
- ประพฤติตนให้เหมาะสมทั้งทางวาจา กิริยามารยาท การแต่งกาย บุคลิกและการวางตัว
- ไม่ประพฤติในทางเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อตนเองและต่อสำนักงาน
- ใฝ่ใจในการพัฒนาตนเอง เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ พัฒนางานของตนเองและสำนักงาน หรือองค์กรให้บังเกิดผลดียิ่งขึ้น
- มีศีลธรรมจรรยาในการประพฤติตน และยึดมั่น สร้างสรรค์ความสามัคคีทั้งภายนอกและภายในองค์กร
- ข้อพึงปฏิบัติในการทำงาน
- ศึกษาและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งภายในและระหว่างประเทศ และข้อกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ คำสั่ง หนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่
- ศึกษางานในหน้าที่รับผิดชอบอย่างจริงจัง เพิ่มพูนขีดความสามารถของตนเองอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา
- ศึกษาและพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถ ในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วยการสร้างระบบและการใช้ข้อมูลข่าวสาร คอมพิวเตอร์ ตลอดจนเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัยอื่น ๆ
- รักษาความลับของทางราชการอย่างเคร่งครัด
- ไม่ให้ข่าวสารที่เกี่ยวกับงานโดยไม่มีหน้าที่ หรือไม่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจสั่งการ
- ข้อพึงปฏิบัติในฐานะผู้บังคับบัญชา
- ผู้บังคับบัญชาระดับสูงต้องกำหนดนโยบายวางแผนจัดระบบบริหารงานและบุคคล สร้างระบบสภาพแวดล้อมการทำงานใหม่และเอื้อต่อการเรียนรู้ขององค์กร โดยยึดหลักความถูกต้องและชอบธรรม
- เปนผนผู้นำที่มีกระบวนทัศน์ใหม่ในการปฏิบัติราชการและเป็นแบบอย่างที่ดี มีวิจารณญาณอันชอบธรรม ให้เกียรติไว้วางใจผู้ใต้บังคับบัญชา และสามารถครองใจผู้ใต้บังคับบัญชาได้
- มีศีลธรรม คุณธรรม และมีความยุติธรรม ไม่ลำเอียง
- สอนง่าย แนะนำงาน ถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์และพัฒนาความรู้และศักยภาพแก่ ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
- ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ใต้บังคับบัญชาให้มีความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานโดยเปิดโอกาสให้มีการริเริ่ม สร้างสรรค์ แสดงความรู้ความสามารถ
- เอาใจใส่ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา เปิดกว้างรับฟังปัญหาและข้อคิดเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชา ให้กำลังใจมีเหตุผล และมีความเมตตากรุณา
- เสริมสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ส่งเสริมความสามัคคีให้เกิดขึ้นในองค์กร
- ข้อพึงปฏิบัติในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา
- ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบแบบแผน และข้อปฏิบัติของทางราชการ
- เคารพในวิจารณญาณของผู้บังคับบัญชา ไม่แสดงอาการก้าวร้าว หากมีปัญหาในเรื่องใดอาจขอปรึกษาหารือได้ด้วยการใช้กิริยาวาจาอันสุภาพ
- เต็มใจปฏิบัติงานตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายด้วยความรวดเร็วและเต็มความสามารถเพื่อให้งานที่ได้รับมอบหมายเป็นผลสำเร็จทันเวลา
- มีความสุจริตใจ ให้เกียรติ รู้กาลเทศะ และนบน้อมถ่อมตน
- มีความจริงใจในการสนับสนุนการทำงานของผู้บังคับบัญชา หาโอกาสเสนอความคิดเห็นเพื่อการปรับปรุงระบบการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
- ประพฤติปฏิบัติตนต่อผู้บังคับบัญชาตามวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงาม
- ข้อพึงปฏิบัติในฐานะผู้ร่วมงาน
- ให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานด้วยความจริงใจและเต็มความสามารถ
- ปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงาน ด้วยความสุภาพปราศจากอคติให้เกียรติซึ่งกันและกัน
- รับฟังข้อคิดเห็นของเพื่อนร่วมงาน อดทน อดกลั้น รู้จักข่มใจและให้อภัยซึ่งกันและกัน
- แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับเพื่อนร่วมงานและนำมาปรับปรุงงานให้ก้าวหน้า
- เป็นผู้มีวัฒนธรรมอันดี ยึดถือระเบียบปฏิบัติและคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายระเบียบแบบแผนและข้อปฏิบัติของทางราชการอย่างเคร่งครัด
- รู้จักสามัคคี และละเว้นการกระทำที่สร้างความแตกแยก
- มีความเสียบสละเพื่อส่วนรวม ส่งเสริมและร่วมกิจกรรมที่สร้างความสามัคคีของหมู่คณะ
- ข้อพึงปฏิบัติต่อหน่วยงานอื่น
- ให้ความร่วมมือด้วยความเต็มใจกับหน่วยงานอื่น ๆ และพร้อมที่จะให้ข้อคิดอย่างเป็นกลางในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ แก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่ร้องขอ
- อำนวยการ กำกับดูแล และติดตามประเมินผลการปฏิบัติติตามนโยบาย แนวทางปฏิบัติมาตรการต่าง ๆ ที่หน่วยปฏิบัติรับไปดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ
- ประสานงานและสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับหน่วยราชการในประชาชมข่าวกรองเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการให้ข่าวเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคง
- สร้างความสัมพันธ์อันดีในทุกระดับกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยมุ่งหมายให้เกิดความร่วมมือที่ดี และมีเอกดภาพในการปฏิบัติงานเพื่อเสริมสร้างผลประโยชน์และความมั่นคงแห่งชาติ
สรุป นอกจากข้าราชการจะหมายถึง บุคคลซึ่งรับการบรรจุแต่งตั้งให้รับราชการปฏิบัติหน้าที่และรับเงินเดือนในกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ของประเทศไทย ซึ่งเมีหลากหลากหลายเส้นทางในการสอบบรรจุรับราชการ โดยเฉพาะการสอบ ก.พ. กับท้องถิ่น เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ คำว่า ข้าราชการยังหมายถึง ผู้รับใช้ หรือผู้ทำงานต่างพระเนตร พระกรรณ พระมหากษัตริย์ ในการให้บริการดูแลประชาชน เนื่องจากเมื่อพิเคราะห์และจำแนกคำว่า ข้าราชการออกเป็นคำ จะได้แก่ ข้า + ราช + การ ซึ่งคำว่า ข้า หมายถึง ผู้ทำงานในเชิงบริการ ราช หมายถึง พระมหากษัตริย์ และคำว่า การ หมายถึง การกระทำ ดังนั้นการเป็นข้าราชการที่ดีจึงต้องรู้ความหมายและหน้าที่ของตนเองอย่างถูกต้อง เพื่อยึดแนวทางปฏิบัติที่จะทำให้งานของแผ่นดินเรียบร้อยสมบูรณ์และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด
https://gorporonline.com/articles/meaning-and-duties-of-good-civil-servant/
|